รายงาน “สถานการณ์การฟ้องคดีปิดปากในประเทศไทย: มีกลไกกลั่นกรองแล้วแต่ทำไมแนวโน้มคดียังสูงขึ้นต่อเนื่อง”

รายงาน “สถานการณ์การฟ้องคดีปิดปากในประเทศไทย: มีกลไกกลั่นกรองแล้วแต่ทำไมแนวโน้มคดียังสูงขึ้นต่อเนื่อง”

 

เนื้อหาในรายงาน

  • บทนำ
  • สถานการณ์ฟ้องปิดปากในประเทศไทยในปัจจุบัน
  • กลไกกลั่นกรองคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทยกับปัญหากฎหมาย นโยบายและแนวปฏิบัติ
  • ข้อเสนอแนะ

 

บทนำ

การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน (Strategic Lawsuits Against Public Participation) หรือ การฟ้องคดีปิดปาก (SLAPPs) คือการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีต่อบุคคล เพื่อปิดกั้น จำกัด ทำให้หยุดพูด หยุดแสดงความคิดเห็น หรือหยุดเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะที่กำลังโต้แย้งกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมือง การตรวจสอบการทุจริต การตรวจสอบกระบวนการยุติธรรม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

การดำเนินคดีดังกล่าว เจตนาภายในลึก ๆ แล้ว ผู้ดำเนินคดีอาจไม่ได้หวังผลชนะในทางคดี หรือรู้อยู่แล้วว่าไม่อาจชนะคดีได้ แต่ก็ฟ้องไปเพื่อเป็นการสร้างภาระ ทั้งด้านเวลา ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีและสร้างความกลัวทั้งต่อตัวผู้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมและประชาชนคนอื่นในสังคมที่อาจเข้ามาเป็นแนวร่วมสนับสนุน เพื่อทำให้พวกเขาถอยห่างออกไปหรือหยุดกล่าวถึงหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นนั้น ๆ ซึ่งจะทำให้ประเด็นปัญหาที่มีการถกเถียงกันอยู่นั้นไม่ถูกกล่าวถึงและไม่ถูกตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส

การฟ้องคดีต่อบุคคลที่นำเสนอประเด็นสาธารณะ ถือเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และสิทธิในการมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมืองตามที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และไม่เป็นผลดีต่อการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจหรือการดำเนินกิจการของรัฐ

สถานการณ์การฟ้องคดีปิดปากในปัจจุบันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ที่รัฐเองเป็นผู้เล่นสำคัญในการดำเนินคดีกับประชาชน แม้นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา จะได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1[1]  ซึ่งกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ศาลสามารถพิจารณาคำฟ้องและยกฟ้องได้เลย หากเห็นว่าเป็นการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย หรือเป็นการฟ้องคดีโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้ตามปกติธรรมดา ซึ่งมีการอธิบายจากผู้เสนอกฎหมายว่า กฎหมายมาตราดังกล่าวสามารถนำมาใช้กับการฟ้องคดีปิดปากด้วย[2]  อย่างไรก็ดี กลไกนี้ก็ยังไม่ถูกนำมาใช้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังมีช่องว่างของการนำมาใช้ กล่าวคือ ไม่สามารถนำมาใช้จัดการกับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ได้ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์การฟ้องคดีปิดปากของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่า การฟ้องคดีปิดปากที่เกิดจากรัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ที่รัฐเองเป็นผู้เล่นสำคัญในการดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นทางการเมือง ซึ่งกลไกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 ไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ เพราะเป็นคดีที่พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตของกฎหมายดังกล่าวที่จะเข้าไปจัดการได้

 

 

[1] เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 34) พ.ศ. 2562

[2] มติชน. ศาลเสนอเพิ่มเติม ป.วิอาญา 161/1ให้อำนาจศาลตรวจคำฟ้อง ป้องกันกลั่นแกล้งฟ้องเป็นคดีความ. [ออนไลน์]. https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_95191.