เพราะการมองเห็นชีวิตผู้คนทำให้ทำคดีสิทธิ : ทนายแป๋ม (ทนายคดีบิลลี่)

เพราะการมองเห็นชีวิตผู้คนทำให้ทำคดีสิทธิ : ทนายแป๋ม (ทนายคดีบิลลี่)

เปิดบทสัมภาษณ์เส้นทางการทำงานในวงการสิทธิของทนายวราภรณ์ อุทัยรังษี หรือ ทนายแป๋ม เส้นทางและมุมมองกว่าจะมาเป็นทนายความที่ให้ความช่วยเหลือคดีการหายตัวไปของบิลลี่ รวมถึงคดีเผาไล่รื้อบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่แก่งกระจาน

จุดเริ่มต้นในการเข้ามาทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

“เอาจริงๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร แต่ว่าพอได้นั่งนิ่งๆ และได้คิดย้อนไปนึกไปถึงคือมีอยู่ความทรงจำเดียวตอนป. 4 หรือ ป.5 เนี่ยแหละ มันมีเรื่องที่เราตั้งคำถามก็คือ เรื่องการเบิกจ่ายค่าเล่าเรื่อง และค่ารักษาพยาบาล ตอนนั้นเราก็สงสัยว่า ทำไมบ้านที่เขาเป็นข้าราชการ ลูกเขาถึงสามมารถเบิกได้ แล้วก็ด้วยความที่บ้านเราเนี่ยเป็นแบบชาวสวนธรรมดา ทำไมเราถึงเบิกไม่ได้ แต่ก็คิดนะว่าตอนนั้น เออ ไม่รู้ว่าเราอิจฉาเขารึเปล่า แต่ว่ามันก็ผ่านไป หลังจากนั้นเราก็คือเรียนหนังสือตามปกติ ทำหน้าที่อะไรของเราไปจนเข้ามหาวิทยาลัย แล้วเราก็ได้มาเรียนคณะนิติศาสตร์ ถามว่าทำไมถึงเรียนนิติศาสตร์ ตอนนั้นคิดว่าน่าจะเป็นค่านิยมของภูมิภาคมากกว่า เพราะเราก็ไม่อยากเรียนตั้งแต่แรก จริงๆ คือเราชอบพวกงานศิลปะ ทุกแขนงเลยที่เป็นศิลปะ แต่ว่าตอนนั้นมีการโต้แย้งในครอบครัวว่า เรียนไปจะเอาอะไรกิน ก็เลยเลือกเรียนนิติศาสตร์

พอเข้ามหาวิทยาลัยได้มีโอกาสไปค่ายทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ จริงๆ แล้วคืออยากไปเที่ยว ตอนนั้นคือเพราะว่าบ้านเราอยู่ภาคใต้ เราไม่เคยได้เจออากาศหนาวเลย เรามีแค่สองฤดูคือ ฤดูร้อนกับฤดูฝน ตื่นเต้นมากกับการได้ไปเชียงราย ไปออกค่ายครั้งแรกเลย

มันก็ได้เห็นวิถีของคนกะเหรี่ยงตั้งแต่ตอนนั้นเลย เราไปอยู่หมู่บ้านชาวเขาเกือบเดือน ประมาณยี่สิบวัน ก็ถือเป็นการเรียนรู้ ไปดูว่าเขาใช้ชีวิคกันอย่างไร และในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยก็เหมือนเป็นช่วงเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ แต่มันไม่ได้ผ่านการคิดวิเคราะห์หาคำตอบอะไร ก็คิดว่าชีวิตช่วงมหาวิทยาลัยเป็นเส้นทางในการหาคำตอบ สำหรับคำถามที่เราตั้งไว้ตอนเด็ก ตอนเด็กๆ เรายังไม่สามารถคิดได้ว่า เนี่ย มันคือความไม่เท่าเทียมในสังคม ตอนนั้นเรายังเด็ก เรายังคิดไม่ได้ แต่ว่าพอเราโต เราเริ่มคิดแล้ว

มาจนถึงจุดที่เรากำลังจะเรียนจบแล้ว ก็เริ่มคิดแล้วว่าเราจะเอาตัวเองไปอยู่ตรงไหน เราจะทำงานอะไรหลังจากนี้ แล้วก็ปีที่เราเรียนจบเป็นปีที่มีการรัฐประหาร ปี 2549 เหมือนจะนานมาก ณ ตอนนั้นมันมีโครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นโครงการของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

พอเราจบมา เราก็คิดว่ามันน่าจะใช่แบบที่เราคิด เราอยากเอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ ก็สมัครเข้าไป ไปเจอเพื่อนที่จบนิติศาสตร์เหมือนกัน ก็ได้ไปเรียนรู้อะไรร่วมกับเพื่อน ประเด็นงานด้านสิทธิต่างๆ ช่วงชีวิตการทำงานเนี่ยแหละ เป็นช่วงชีวิตที่ทำให้เราได้รู้จักกับคำว่าสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการเลย”

จุดเริ่มต้นในการเข้ามาให้ความช่วยเหลือในคดีการหายตัวไปของบิลลี่

“ย้อนไปแปดปีที่แล้ว ตอนนั้นเป็นอนุกรรมการสิทธิมนุษชนด้านชนชาติของสภาทนายความ ตอนนั้นเกิดเหตุการณ์เผาบ้านกะเหรี่ยง ก็คือบ้านของปู่โคอี้ ได้มีการร้องเรียนเข้ามาที่สภาทนายความ ตัวเราเองก็เลยได้เข้าไปทำคดีนี้ด้วย ได้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง แล้วต่อมาก็ได้เกิดการหายตัวไปของบิลลี่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนก็ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือคดีนี้ เราก็เลยได้เข้าไปยื่นคำร้องให้กับภรรยาของบิลลี่ เป็นการไต่สวนการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 90”

ความท้าทายในการทำคดีเกี่ยวกับชาติพันธุ์

“มันจะมีอยู่แล้วก็คือเรื่องเกี่ยวกับทัศนคติของสังคมกับเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับความเข้าใจในเรื่องชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการทำกินที่เป็นไร่หมุนเวียน ก็ไม่แปลกที่สังคมจะไม่เข้าใจอะไรแบบนี้ เพราะก่อนหน้านี้ เรื่องราวของกะเหรี่ยงยังไม่ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะมาก่อน มันเพิ่งจะออกมาเยอะในช่วงนี้แหละค่ะ

ความยากนอกจากจะเป็นเรื่องที่ถูกคุมคาม ข่มขู่ ถูกติดตามตัว ถูกทำให้กลัว มันก็ยังมีเรื่องอำนาจการต่อรองระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ อันนี้มันมาจากทัศนคติ และนโยบายรัฐล้วนๆ เลย”

ความคาดหวังต่อคดีการหายไป (ฆาตรกรรม) บิลลี่

สำหรับของคดีก็ให้เป็นไปตามกระบวนการ คาดหวังว่าจะมีการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้ แต่ว่าสิ่งที่คาดหวังมากกว่านั้นคือการคาดหวังกับสังคมที่จะมีความเข้าใจเกี่ยวกับชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ของไทย หรือไม่ก็ของมนุษย์โลกเลย ให้เขามีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์มากขึ้น

เหตุผลที่มาทำคดีสิทธิมนุษยชน

“การทำงานของเราโดยปกติจะแบ่งเป็นสองพาร์ทด้วยกัน เราทำคดีทั่วไปด้วย เป็นคดีที่เราได้ค่าจ้างตามปกติ และแบ่งเวลามาทำคดีสิทธิด้วย แต่ว่าหลักคิดในการทำงานเหมือนกันเลย ไม่ได้แบ่งแยกว่าอันนี้คดีทั่วไป อันนี้คดีสิทธิ ก็หลักคิดเหมือนกัน

แล้วก็ที่ยังทำคดีสิทธิอยู่ทุกวันนี้ เพราะว่างานมันขัดเกลาตัวเรา มันทำให้เราได้เห็นชีวิตคนอื่น จริงๆ งานด้านสิทธิ ตัวเราไม่ได้มองว่าเป็นการเสียสละอะไรเลย การที่เราลงไปทำ เราก็ไม่ได้มีบุญคุณต่อใคร แค่เราอยู่ในจุดที่สามารถเห็นชีวิตคนอื่นได้เยอะขึ้น และเราอยากทำให้มันดีขึ้น และเราก็คิดว่าถ้าเราไปทำ สังคมมันต้องดีขึ้น แค่นั้นเอง”

มองเห็นตัวเองในอนาคตเป็นอย่างไร

“ทุกวันนี้ก็ยังเชื่อว่า เราทุกคนเกิดมาเพื่อทำให้โลกนี้มันดีขึ้น และในอนาคตก็คิดว่าตัวอยากจะทำแบบนี้ต่อไป และก็คิดอีกว่า พวกเราทุกคนก็สามารถทำแบบนี้ได้ ไม่ว่าจะอยู่จุดไหน ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกจ้าง จะเป็นนายจ้าง ถ้าคุณมองเห็นชีวิตคนอยู่ในนั้น คุณจะไม่คิดที่จะเอาเปรียบเขาเลย หรือแม้แต่คุณเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าคุณมองเห็นชีวิตคน มองเห็นชีวิตของประชาชน คุณก็จะไม่คิดที่จะทุจริต คุณจะทำงานทุกอย่างอย่างโปร่งใส”

“ก็อยากจะชวนทุกคนออกมาดูชีวิตคนกันเยอะๆ เพื่อที่เราจะได้ช่วยกันทำให้โลกนี้มันดีขึ้น”

สามารถรับชมคลิปสัมภาษณ์ได้ทาง  https://www.youtube.com/watch?v=oPsfFB-1R_8&t=1s