ประเทศไทยในวันผู้สูญหายสากล บิลลี่และคนอื่นยังคงหาย กฎหมายก็ยังไร้วี่แวว

ประเทศไทยในวันผู้สูญหายสากล บิลลี่และคนอื่นยังคงหาย กฎหมายก็ยังไร้วี่แวว

วันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันผู้สูญหายสากล (International Day of Disappearance) ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อรำลึกถึงบุคคลที่สูญหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ในภาวะสงคราม การปราบปรามจากรัฐ หรือการก่อการร้าย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังมีผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่อง

จากสถิติในรายงานของคณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ (Report of the Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances) ปี 2560 ระบุว่า นับตั้งแต่เริ่มรับเรื่องร้องเรียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ถึงเดือนพฤษภาคม 2560 คณะทำงานได้ส่งมอบกรณีที่เกิดขึ้นรวม 56,363 ราย ให้แก่ 112 รัฐ และมีกรณีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการอยู่อีก 45,120 ราย ในทั้งหมด 91 รัฐ สำหรับประเทศไทย ในรายงานระบุว่ามี 82 กรณี ทุกกรณียังไม่มีการคลี่คลาย[1] ซึ่งเป็นข้อมูลเพียงบางส่วนที่มีการร้องเรียนและบันทึกไว้

ตัวอย่างกรณีที่น่าสนใจของประเทศไทย ก็เช่น กรณีคุณทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน และเป็นผู้ที่ต่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้หายไปวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ก่อนวันที่จะเดินทางไปเป็นผู้แทนคนงานไทยในประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่นครเจนีวา จากวันนั้นจนวันนี้กว่า 26 ปีแล้ว ครอบครัวยังรอคอยความยุติธรรม

กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำงานช่วยเหลือทางคดีความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อให้ผู้คนในพื้นที่เข้าถึงความยุติธรรมท่ามกลางสภาวะที่รัฐมีอำนาจล้นเกิน ถูกทำให้หายไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ครอบครัวของทนายสมชาย ได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดการค้นหาความจริง แต่ก็น่าผิดหวัง การเดินทางกว่า 12 ปีเพื่อพิสูจน์ความจริงและความยุติธรรม จบลงด้วยศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558

กรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ภายหลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัว เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ผ่านมากว่า 4 ปี แล้ว ที่การตามหาตัวของบิลลี่ยังคงไม่มีความคืบหน้า ไม่มีผู้ใดสามารถรับรู้ได้ว่าบิลลี่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และยังไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้

บิลลี่คือหนึ่งในตัวอย่างร่วมสมัยของการเข้าถึงความยุติธรรมที่ยากลำบากของเหยื่อบังคับสูญหาย

นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ เกิดที่บางกลอยบน หรือ ใจแผ่นดิน เป็นหลานชายของปู่คออี้ แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ของชาวบ้านบางกลอย บิลลี่ได้แต่งงานกับนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มุนอ และมีบุตรด้วยกัน 5 คน บิลลี่ไม่มีที่ดินทำกินภายหลังจากที่ถูกบังคับอพยพออกมาจากพื้นที่ดั้งเดิม จึงต้องออกไปรับจ้างเฝ้าสวน ส่วนภรรยามีอาชีพรับจ้างรายวันทั่วไป แต่เนื่องจากบิลลี่เป็นเด็กชาติพันธุ์เพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือจึงมีความรู้ และสามารถสื่อสารภาษาไทยได้อย่างชัดเจน เขาจึงมีส่วนสำคัญในการทำงานในด้านต่างที่ได้รับมอบหมายจากปู่คออี้ รวมถึงการเข้ามาทำงานในด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อปกป้องชุมชนที่ตนเองเกิด และอยู่อาศัยด้วย จนกระทั่งมีเหตุการณ์การรื้อเผาบ้านชาวกระเหรี่ยงที่หมู่บ้านบางกลอยบน บิลลี่ก็ได้เข้ามาเป็นพยานปากสำคัญ และผู้ประสานงานให้กับทนายความในคดีดังกล่าวอีกด้วย

การสูญหายของบิลลี่และความเชื่อมโยงกับการต่อสู้เพื่อสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยงในพื้นที่แก่งกระจาน

ชาวบ้านกระเหรี่ยงในพื้นที่แก่งกระจานมีวิถีชีวิตผูกพันกับพื้นที่นี้มาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย โดยมีหลักฐานมากมายที่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาใช้ชีวิตอยู่กับผืนป่าแห่งนี้มาช้านานแล้ว ก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานในปี พ.ศ.2524 หลักฐานที่จะสามารถยืนยันได้ก็อย่างเช่น เหรียญชาวเขาที่รัฐทำขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.2506 เพื่อแจกชาวเขาทั่วประเทศไว้แสดงตนว่าเป็นพลเมืองไทย และทะเบียนราษฎรชาวเขาที่ยืนยันความเป็นคนดั้งเดิมของที่นี่ อีกทั้งหลักฐานดังกล่าวยังสอดคล้องกับเอกสารของมูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบุว่ารายงานการสำรวจเขตแดนระหว่างรัฐบาลสยามกับอังกฤษในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เมื่อปีพ.ศ. 2407 เพื่อปักปันเขตแดนไทย-อังกฤษก็ระบุว่ามีชาวกะเหรี่ยงและละว้าอยู่ตามชายแดนต้นน้ำตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นความจริง

เมื่อปี พ.ศ.2509 เขื่อนแก่งกระจานได้สร้างเสร็จอย่างเป็นทางการ ก็เริ่มมีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการกดดันปราบปรามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฯ และแนวร่วมอย่างหนักระหว่างปี พ.ศ.2508-2514 ชาวบ้านกระเหรี่ยงจึงอพยพโยกย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ในเขตป่าดงดิบเข้าไปถึงต้นน้ำเพชรบุรี ห้วยแม่ประโดน ห้วยแม่เพรียง แม่น้ำบางกลอยโป่งลึก บ้านใจแผ่นดิน แต่วิถีชีวิตก็ไม่เหมือนเดิม เนื่องจากการหาอาหารประทังชีวิตเป็นได้อย่างยากลำบาก อีกทั้งพื้นที่ทำมาหากินก็มีจำกัดอีกด้วย จนกระทั่งมีการกดดันให้ชาวบ้านกระเหรี่ยงออกจากป่าอย่างจริงจัง และในเหตุการณ์ช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2554  เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยง มีการเผาบ้านและเผายุ้งฉางจำนวนกว่า 20 ครอบครัว ตาม “โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทยพม่า” เพื่อขับไล่ชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่

จากเหตุการณ์รื้อเผาบ้านชาวบ้านกระเหรี่ยงที่หมู่บ้านบางกลอยนี้เอง บิลลี่ได้เข้ามาเป็นปากเป็นเสียงสำคัญของชาวกะเหรี่ยง เขาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความ และเป็นพยานปากสำคัญในคดีที่ชาวบ้านกระเหรี่ยงยื่นฟ้องต่อ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำเลยที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลยที่ 2 ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 การฟ้องร้องในครั้งนี้นอกจากบิลลี่จะเข้ามาเป็นพยานปากสำคัญในคดีแล้วนั้น บิลลี่ยังเป็นแกนนำในการยื่นฟ้องคดีอีกด้วย นอกจากนั้นบิลลี่ยังเตรียมตัวที่จะถวายฎีกาเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้วย

การหายตัวไปของบิลลี่ กับคำถามว่าใครต้องรับผิดชอบ?

วันที่ 17 เมษายน 2557 ช่วงเย็นๆ บิลลี่เดินทางออกมาจากบ้านบางกลอย หลังจากกลับจากเยี่ยมแม่ และมีข้อมูลว่าเขาจะนำฎีการ้องทุกข์ของชาวกะเหรี่ยงไปยื่น แต่เมื่อรถจักรยานยนต์ของเขาเคลื่อนผ่านด่านเขามะเร็ว ซึ่งเป็นด่านตรวจของอุทยานและเป็นเหมือนประตูของการเข้าออกหมู่บ้านบางกลอย  บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเรียกให้หยุดและถูกควบคุมตัว โดยอ้างว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองเป็นจำนวน 6 ขวด ซึ่งการครอบครองน้ำผึ้งป่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่อุทยานฯจึงควบคุมตัวบิลลี่ไว้ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่เจอตัวบิลลี่อีกเลย  แม้เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ได้ว่ามีการปล่อยตัวบิลลี่ไปจริงหรือไม่

เช้าของวันที่ 18 เมษายน 2557 บิลลี่ยังไม่กลับบ้าน มุนอ ภรรยาของบิลลี่ จึงเดินทางไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน และออกค้นหาตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ก็ไม่พบร่องรอยของบิลลี่แต่อย่างใด

หลังจากนั้นไม่นาน องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลชุมชน และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ก็ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ช่วยดำเนินการร้องเรียนหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น การยื่นหนังสือต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการหายตัวไปของบิลลี่ และดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งใช้มาตรการทางศาลเพื่อให้ศาลเข้าไปตรวจสอบการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ควบคุมตัวบิลลี่ไว้

โดยวันที่ 24 เมษายน 2557 มุนอ หรือ นางสาวพิณนภา รักจงเจริญ ภรรยาของบิลลี่ พร้อมด้วยทนายความได้เดินทางไปยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี  ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจากเชื่อว่าบิลลี่ยังคงถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ด้วยความเชื่อว่าศาลจะช่วยให้ทราบได้ว่าบิลลี่อยู่ที่ไหน หากเจ้าหน้าที่อุทยานฯยังควบคุมตัวไว้โดยที่ไม่มีอำนาจควบคุม ก็ขอให้ปล่อยตัวบิลลี่ออกมา

แต่ก็น่าผิดหวัง เพราะทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาต่างยกคำร้องเนื่องจากศาลเห็นว่าคำร้องไม่มีมูล โดยมีประเด็น และข้อเท็จจริง ดังนีh

  • เมื่อศาลชั้นต้นรับคำร้องของนางสาวพิณนภา ผู้ร้อง ที่ยื่นขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่ ศาลชั้นต้นต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวแล้วพิจารณาคำร้องของผู้ร้องและพยานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนก่อนว่าคดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ หากเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลจึงมีหมายเรียกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องมาศาล แต่ศาลชั้นต้นกลับหมายเรียกนายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่ฯ มาไต่สวนโดยไม่ได้มีคำสั่งก่อนว่าคดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจนำคำเบิกความของพยานดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้
  • ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลขั้นต้นพิจารณามีคำสั่งอีก โดยพิจารณาเฉพาะคำเบิกความพยานของผู้ร้อง คือ มุนอ และนายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านโป่งลึก ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่ได้รู้เห็นว่านายชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้หรือไม่ ส่วนนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนเป็นพยานเพิ่มเติมนั้นก็เป็นเพียงพยานแวดล้อมกรณีข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ฯ กับชุมชนกะเหรี่ยง โดยไม่ได้รู้เห็นเรื่องการหายตัวไปของนายบิลลี่แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่านายชัยวัฒน์ กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนคำเบิกความของนายชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่ฯ กับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น ไม่สามารถรับฟังได้เนื่องจากเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูล จึงพิพากษายกคำร้อง

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่บิลลี่หายไป ภรรยาของบิลลี่และองค์กรต่างๆ ต่างก็พยายามเดินหน้าแสวงหาความจริงและความเป็นธรรอย่างต่อเนื่อง  และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พึงมีมติรับกรณีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินงานเพื่อสืบทราบความจริงของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) อย่างไรก็ดี เวลาระยะเวลาผ่านพ้นมาถึง 4 ปีแล้ว การค้นหาพยานหลักฐานก็อาจจะทำได้ไม่ง่ายนัก คดีนี้จึงน่าติดตามอย่างยิ่งว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไร จะเป็นกรณีแรกที่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้หรือไม่

ชะตากรรมร่างกฎหมายป้องกันการบังคับสูญหาย

แม้ประเทศไทยจะได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (CED)) ไปตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2555 แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาดังกล่าวให้เสร็จสิ้น

แม้กระทรวงยุติธรรม และภาคประชาสังคมได้ผลักดันให้เกิดการจัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ….” ขึ้นมาแล้ว แต่เมื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับถูกปัดตกไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่ชัดเจน มีเพียงการแถลงข่าวที่อ้างว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีการรับฟังความเห็นที่รอบด้าน ทั้งที่ร่างกฎหมายดังกล่าวดำเนินการร่างขึ้นโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่ายมานานหลายปี ผ่านการรับฟังความคิดเห็นหลายครั้ง ต่างกับร่างกฎหมายหลายฉบับ ที่สามารถออกมาได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายภายใต้สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ แม้จะไม่มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านก็ตาม

และปัจจุบันยังคงไร้วี่แววของร่างกฎหมายดังกล่าว เช่นเดียวกับไร้วี่แววของบิลลี่และผู้ถูกบังคับสูญหายคนอื่นๆ

[1] Report of the Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances, A/HRC/36/39, 31/07/2017, https://documents-dds-ny.un.org/doc/UNDOC/GEN/G17/229/15/PDF/G1722915.pdf?OpenElement