ชวนจับตามอง 5 เรื่องกระบวนการยุติธรรมไทย

ชวนจับตามอง 5 เรื่องกระบวนการยุติธรรมไทย

วันที่ 10 ธันวาคม เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอเสนอ 5 เรื่องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมไทย ที่อยากชวนทุกคนมาร่วมกันจับตามอง และย้ำเตือนให้คิดถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในประเทศไทย

๐ จับตามอง…คดีบิลลี่ จากคดีคนหายสู่คดีฆาตกรรม

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แถลงข่าวการพบเบาะแสการหายตัวไปของบิลลี่ หรือ พอละจี รักจงเจริญ ที่หายไปอย่างไร้ร่องรอยมาเป็นเวลากว่า 5 ปี ภายหลังจากที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (อ่านเรื่องนี้ต่อได้ที่ : https://naksit.net/2019/09/dsi-billy030919/ )

จากที่ภรรยาของบิลลี่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บิลลี่เป็นบุคคลสาบสูญ เนื่องจากบิลลี่หายไปครบ 5 ปี ตามกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นคำร้องให้ศาลสั่งบุคคลที่หายไปเป็นบุคคลสาบสูญได้ เพื่อให้มีผลเป็นบุคคลที่เสียชีวิตลงแล้วตามกฎหมาย การพบเบาะแสดังกล่าวนี้ทำให้รูปคดีเปลี่ยนไป จากคดีคนหายเป็นคดีฆาตกรรม

ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งหมดที่รวบรวมได้ ดีเอสไอขออนุมัติหมายจับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวกรวม 4 คน ในข้อหาทำร้ายผู้อื่นจนเสียชีวิต ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับตามที่ขอ และในวันต่อมา นายชัยวัฒน์ และพวกรวม 4 คน ได้เข้ามอบตัว และในวันเดียวกันนายชัยวัฒน์ และพวกรวม 4 คนได้รับการประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นจำนวนคนละ 8 แสนบาท กระบวนการต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร คดีคนหายสู่คดีฆาตกรรมจะสามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่ ชวนทุกคนมาจับตามองไปด้วยกัน

๐ จับตามอง…การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัยกรณีผู้พิพากษายิงตัวเอง

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 มีการเผยแพร่คำแถลงการณ์ของนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา เป็นจำนวน 25 หน้า โดยมีเนื้อหาสำคัญกล่าวถึงการถูกแทรกแซงกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดี รวมไปถึงการกล่าวถึงสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาพิพากษาคดีและการรับฟังพยานหลักฐานของศาล จากพยานหลักฐานหรือการรับสารภาพของจำเลยที่เกิดขึ้นขณะที่จำเลยถูกควบคุมตัวเป็นระยะเวลานานภายใต้กฎหมายพิเศษ (อ่านเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/naksit.org/photos/a.135675933167580/2458772354191248/?type=3&theater )

ต่อมาคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ได้มีการรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ โดยมีมติให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนายคณากร ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 68 คือ เป็นกรณีที่ถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย และมีมติให้นายคณากรไปช่วยทำงานชั่วคราวกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น (อ้างอิง : https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_3067010 )

จากเหตุการณ์ผู้พิพากษายิงตัวเอง ได้มีนักวิชาการหลายคนออกมาพูดถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งภายในงานเสวนาทางกฎหมายในหัวข้อ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” สัญหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) ได้กล่าวถึงหลักการสากลว่าด้วยเรื่องการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัยของผู้พิพากษาไว้ว่า ต้องเป็นกลาง และมีความโปร่งใสต่อสาธารณะ โดยอ้างอิงจากหลักการใน Istanbul Declaration ในวรรค 15 ที่พูดถึงคณะกรรมการสอบสวนวินัยไว้ละเอียดว่า คำว่าเป็นกลาง ในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสอบสวนทางวินัยควรเป็นการผสมกันระหว่างผู้พิพากษาที่ทำงานอยู่ และผู้พิพากษาที่เกษียณไปแล้ว รวมถึงมีคนนอกด้วย และต้องมีความโปร่งใสต่อสาธารณะด้วย คือให้มีการมอนิเตอร์ได้ (อ่านเรื่องนี้ต่อได้ที่ : https://naksit.net/2019/10/academic-seminar111019/ ) และไม่ว่าผลของการตรวจสอบจะเป็นอย่างไร อยากชวนทุกคนมาจับตามองร่วมกัน

๐ จับตามอง…คดีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ กล้องวงจรปิดก็หาย คดีจะไปทางไหนดี

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 นายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม ณ บริเวณด่านตรวจบ้านรินหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าชัยภูมิมียาเสพติดไว้ในครอบครองกว่าสองพันเม็ด และมีพฤติการณ์จะขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ จึงเป็นเหตุต้องวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิในขณะนั้น และหลังจากเหตุการณ์นี้ ได้มีความพยายามของหลายฝ่ายในการเรียกร้องขอให้เปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดในบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ แต่ท้ายที่สุด ได้รับการตอบกลับจากกองทัพบกว่าไม่มีภาพของวันที่ 17 มีนาคม 2560 เนื่องจากเป็นระบบบันทึกซ้ำอัตโนมัติของเครื่อง (อ่านเพิ่มเติม : https://naksit.net/2018/08/article/ )

ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพนายชัยภูมิ ป่าแส ความว่า “เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ถูกพลทหารสุรศักดิ์ รัตนวรรณ ใช้อาวุธปืน เอ็ม 16 ยิง กระสุนเข้าที่ต้นแขนซ้ายด้านนอกทะลุต้นแขนซ้ายด้านใน และกระสุนแตกเข้าไปในลำตัวบริเวณสีข้างด้านซ้ายเหนือราวนม กระสุนปืนทำลายเส้นเลือดใหญ่หัวใจและปอดจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย” โดยคำสั่งดังกล่าวนี้ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยถึงประเด็นความจำเป็นในการกระทำวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าภายหลังจากศาลมีคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพแล้ว คดีวิสามัญฆาตกรรมหรือคดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหาจะไปทางไหนต่อ เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มีความคืบหน้าว่าอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องในคดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหา

และเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 แม่และครอบครัวชัยภูมิ ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย จากกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยศาลมีคำสั่งให้ส่งประเด็นไปสืบพยานประเด็นโจทก์ทั้ง 9 ปาก ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะมีการสืบพยานในวันที่ 21-23 มกราคม 2563 (อ่านเพิ่มเติม : https://naksit.net/2019/05/แม่ชัยภูมิ-อะเบ-ยื่นฟ้อ/ ) จึงอยากชวนทุกคนมาร่วมจับตามองการสืบพยานในคดีเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทัพบก และความคืบหน้าในคดีที่เจ้าหน้าที่ทหารตกเป็นผู้ต้องหาไปด้วยกัน

๐ จับตามอง…แกนนำทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ สู่การเป็นจำเลยในคดีป่าแหว่ง

คดีป่าแหว่ง หรือกรณีสำนักงานศาลยุติธรรมแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณากับแกนนำและสมาชิกแกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ผู้ถูกกล่าวหาในคดีประกอบด้วย นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ แกนนำเครือข่ายฯ ถูกสำนักงานศาลยุติธรรมแจ้งความ 2 คดี จากการให้สัมภาษณ์กับนักข่าว 2 ครั้งภายหลังจากการถูกตรวจค้นบ้าน และนายเรืองยศ สิทธิโพธิ์ สมาชิกของเครือข่ายฯ ภายหลังจากถูกค้นบ้าน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ส่วนคดีของนายเรืองยศ สินธิโพธิ์ สมาชิกเครือข่ายฯ ถูกสำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งความจากการแชร์รูปภาพข้อความจาก Facebook ชื่อว่า “เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” จากเว็ปไซต์สำนักข่าวมติชนออนไลน์ ซึ่งมีข้อความว่า “ย่ำยีหัวใจคนเชียงใหม่ ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่เคารพดอยสุเทพ” และระบุรายชื่อตุลาการ (ชุดแรก) ที่ยังพักอาศัยในอาคารชุดป่าแหว่ง

ความคืบหน้าคดีป่าแหว่งเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 62 พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาต่อพนักงานอัยการ (อ่านเรื่องนี้ต่อได้ที่ https://naksit.net/2019/11/teerasak_rueangyod/ )

๐ จับตามอง…คำพิพากษาคดีฟ้องหมิ่นประมาทนักข่าว Voice TV ปมทวิตเรื่องคดีแรงงานฟาร์มไก่ 14 คน

จากการรายงานข่าวการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในภาคการเกษตรและเผยแพร่ข้อความในทวิตเตอร์ โดยเผยแพร่ข้อความต่อจากนายอานดี้ ฮอลล์ อดีตที่ปรึกษาเครือข่ายด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ในวันที่ 14 กันยายน 2560 ว่า “ศาลสูงสุดมีคำสั่งให้เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ จ.ลพบุรี อดีตหนึ่งในฟาร์มส่งไก่ให้บริษัทเบทาโกร จ่ายเงินชดเชยคนงานพม่า 14 คน 1.7 ล้านบาท กรณีใช้แรงงานทาส” โดยโพสต์ประกอบกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 597/2560 ซึ่งในคดีนี้ได้มีการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้วในวันที่ 5-8 พฤศจิกายน 2562 โดยศาลจังหวัดลพบุรีได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 24 ธันวาคม 2562 เวลา 09.00 น. (อ่านเรื่องนี้ต่อได้ที่ https://naksit.net/2019/10/voicetv-journalist-case/ )