การเลือกปฏิบัติ : ภัยคุกคามความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย

การเลือกปฏิบัติ : ภัยคุกคามความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย

ถ้าผู้มีอำนาจไม่เลือกปฏิบัติ ทำไม? รมว.กระทรวงยุติธรรมจัดปาร์ตี้แล้วเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 #ไม่พบการดำเนินคดี แต่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์กลับถูกดำเนินคดี


“การห้ามเลือกปฏิบัติ” ในทางกฎหมาย ประเทศไทยเป็นภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อบทที่ 26 ได้บัญญัติว่า “บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันตามกฎหมาย และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมาย โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ ในกรณีนี้ กฎหมายจะต้องห้ามการเลือกปฏิบัติใดๆ และต้องประกันการคุ้มครองบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาคและเป็นผลจริงจังจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลใด เช่น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นๆ” ซึ่งสอดรับกับกฎหมายสูงสุดของประเทศไทย คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 27 วรรคสอง “…การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้…”

 

ดังนั้นรัฐจึงต้องให้ความคุ้มครองประชาชนอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้าตามกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายสูงสุดภายในประเทศอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่การใช้อำนาจตามความพอใจ โดยเลือกให้ความคุ้มครองต่อบางคนหรือบางกลุ่มเท่านั้น เพราะถ้าหากรัฐผู้มีอำนาจ ใช้อคติเพื่อเลือกปฏิบัติต่อประชาชนผู้อยู่ใต้อำนาจ ผลลัพธ์รูปธรรมที่จะตามมาก็คือ ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ไว้วางใจ และหมดความเชื่อมั่นในรัฐ

 

แต่เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ชลธิชา แจ้งเร็ว และโชคชัย ร่มพฤกษ์ ถูกพนักงานสอบสวน สน. พหลโยธิน แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา คือ ฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค  และเดินขบวนกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ จากการเข้าร่วมกิจกรรม #ม็อบ6มีนา ที่จัดโดยกลุ่ม REDEM มีจุดประสงค์เรียกร้องสิทธิประกันตัว โดยทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยการนำขยะไปทิ้งหน้าศาลอาญารัชดา กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ชลธิชาและโชคชัย ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว และไม่ปรากฎรายงานการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากกิจกรรมดังกล่าว

 

ขณะเดียวกัน ไม่ปรากฎการดำเนินคดีใดๆ ต่อ “คลัสเตอร์รดน้ำดำหัว” ของนายสมศักดิ์ เทพสุทินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและกลุ่มเพื่อน จัดขึ้นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดสุโขทัยวันที่ 12 เม.ย.64 ตามรายงานข่าวพบผู้ติดเชื้อจากการร่วมกินอาหารที่ร้าน 18 คน และมีการกระจายเชื้อไปสู่ครอบครัวและผู้ใกล้ชิดรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 49 คน ถ้ากรณีการจัดกิจกรรมที่มีรายงานข่าวชัดเจนว่าทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและเพื่อน เป็นบรรทัดฐานว่าไม่มีใครสมควรถูกดำเนินคดี จากการจัดกิจกรรมบนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมาย เหตุใด ชลธิชา แจ้งเร็ว และโชคชัย  ร่มพฤกษ์ ผู้ใช้สิทธิตามกฎหมายเข้าร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องสิทธิประกันตัว จึงถูกดำเนินคดี?

 

ทั้งนี้ จากรายงาน “1 ปี สถานการณ์ฉุกเฉินรับมือโควิด : ผลกระทบต่อเสรีภาพในการชุมนุม” ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (https://tlhr2014.com/archives/27551) ระบุว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 373 คน แม้จะไม่ปรากฎรายงาน ว่าการชุมนุมทางการเมืองทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้นสักครั้ง จนเกิด #พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมโรคหรือคุมม็อบ?

 

นอกจากนี้ “การไม่เลือกปฏิบัติ” ยังเป็นหนึ่งในสาระสำคัญของ “นิติธรรม” (Rule of law)  หรือการถือกฎหมายเป็นใหญ่ในการบริหารประเทศ องค์ประกอบหลักที่ยืนยันว่าสังคมนั้นถูกปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบเผด็จการที่ปกครองด้วย “นิติวิธี” (Rule by law)  หรือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือและข้ออ้างเพื่อปกครองโดยผู้มีอำนาจบางคน หรือบางกลุ่มเท่านั้น จากปรากฏการณ์การเลือกปฏิบัติโดยรัฐข้างต้น อาจเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่ารัฐเข้าใกล้การใช้ตัวบทกฎหมายเพื่อควบคุมประชาชนเท่านั้น ไม่ได้มุ่งปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อนำความยุติธรรมมาสู่สังคม ซึ่งน่าสังเกตว่าประชาชนรู้สึกปลอดภัย ไว้ใจ และเชื่อมั่นในวิธีดังกล่าวของรัฐหรือไม่?

 

ที่ผ่านมา ประชาชนไทยได้เรียกร้องความเท่าเทียมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยจัดกิจกรรมบนท้องถนนจนนำมาสู่ #ย้ายประเทศกันเถอะ ที่กลายเป็นปัญหาความมั่นคง, บ้างก็ไม่เชื่อในข้อมูลข่าวสารที่มาจากรัฐบาล อาทิ กรณีวัคซีนโควิด-19 ที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการบริหารจัดการของรัฐและการเข้าถึงของประชาชน, และที่น่ากลัวก็คือประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม โดยสังเกตจากกระแสสังคมเปรียบเทียบคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ระหว่างกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับกรณีนายธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ต่อมาปรากฎข่าวว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2564 ที่เผยแพร่นั้นไม่ตรงกับที่ตุลาการอ่านในวันตัดสิน (https://bit.ly/2SkOt3i) ทั้งยังมีการเรียกร้อง #สิทธิประกันตัว หรือสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม

 

นี่เป็นภาพสะท้อนว่า การเลือกปฏิบัติอาจไม่ใช่เพียงแค่ปรากฏการณ์ แต่กลายเป็นวัฒนธรรมการเลือกปฏิบัติที่ทำให้ประชาชนเกิดความคับข้องใจต่อมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล และหน่วยงานรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น นี่คือภารกิจเร่งด่วนของรัฐที่ต้องแก้ไข เพื่อให้ประชาชนยังคงมั่นใจได้ว่า กระบวนการยุติธรรมและการบริหารประเทศยังคงยึดมั่นในหลัก “นิติธรรม” (Rule of law) และประเทศไทยนี้เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง