กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศเสี่ยงถูกเลือกปฏิบัติ-รับผลกระทบหลายด้านในภาวะโควิด19 ระบาด – หากจะแก้ปัญหา รัฐควรรับฟังปัญหา : ชิษณุพงศ์ นิธิวนา ผู้ก่อตั้ง Young Pride Club

กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศเสี่ยงถูกเลือกปฏิบัติ-รับผลกระทบหลายด้านในภาวะโควิด19 ระบาด – หากจะแก้ปัญหา รัฐควรรับฟังปัญหา : ชิษณุพงศ์ นิธิวนา ผู้ก่อตั้ง Young Pride Club

“สถานการณ์การระบาดอย่างร้ายแรงของโควิด19 ในปัจจุบัน กลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นกลุ่มที่ถูกเลือกปฏิบัติเช่นกัน เท่าที่เห็นในเชิงรูปธรรม ก็คือในเรื่องของเศรษฐกิจ หลายคนถูกพักงาน หรือไม่ได้มีรายได้มาเป็นเดือนแล้ว หลายคนทำงานส่งตัวเองเรียน ถ้าเรามองในมุมผู้มีความหลากหลายทางเพศ การหางานในฐานะผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ Transgender ที่อัตลักษณ์ของเขาค่อนข้างเห็นชัด เวลาไปสมัครงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน มักจะถูกการเลือกปฏิบัติได้ง่ายกว่าคนที่มีรสนิยมทางเพศที่สามารถปกปิดได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของอาชีพในการทำงานมันก็น้อยลงอยู่แล้ว” ชิษณุพงศ์ นิธิวนา จาก Yong Pride Club กล่าวถึงผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด19 ในปัจจุบัน

มาตรการของรัฐในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค เช่น การปิดเมือง ย่อมส่งผลกระทบกับกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศทั้งด้านการงาน การเข้าถึงยา รวมไปถึงด้านจิตใจ โดยชิษณุพงศ์ สะท้อนในประเด็นนี้ว่า “ผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายคนทำงานในกลุ่มของ ความบันเทิง หรือว่าการท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันมีผลกระทบอย่างมาก เพราะรัฐบาลได้ชะลอการเปิดเมืองไปถึงเดือนมิถุนายน บางคนที่ทนไม่ไหวก็อาจจะกลับไปอยู่ที่บ้าน ไปอยู่ในสังคมที่เราไม่รู้ว่าเขาจะยอมรับในตัวตนเราหรือเปล่า ทำให้เยาวชนบางคนรู้สึกไม่สะดวกใจกับการที่ต้องกลับไปบ้าน หรืออาจจะมีผลกระทบทางด้านจิตใจ คือมันไม่ใช่แค่ตัวเขา แต่มันอาจจะเป็นจิตใจครอบครัวที่บ้าน โดยเฉพาะคนที่เป็นคนข้ามเพศ หรือว่าผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ HIV ที่เขาจะต้องใช้ยา การกลับไปอยู่ในพื้นที่ที่การเข้าถึงยายาก มันก็จะเริ่มมีปัญหา อย่างที่ได้ยินกัน เป็นสาวข้ามเพศ มันก็จะง่ายกว่าใช่ไหม ถ้าจะไปซื้อยาคุม แต่ถ้าเป็นชายข้ามเพศ บางคนเขาต้องฉีดยา บางคนก็ต้องไปพบแพทย์ ซึ่งก็มีผลสำหรับคนที่เขาต้องการใช้ฮอร์โมนในระยะยาว บางคนก็มีผลกระทบทางด้านอารมณ์ ร่างกาย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงประเด็นทางสุขภาพอย่างการทำแท้ง หรือการทับซ้อนเชิงอัตลักษณ์อย่างการเป็น LGBT และผู้พิการ คนไร้สัญชาติ เป็นต้น

ในภาวะที่ฉุกเฉินและมีความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด19 ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำและเสียงสะท้อนจากLGBT มองในภาพรวม การจัดการของรัฐบาล การเข้าไปมีส่วนร่วม หรือการตัดสินใจ ส่วนมากผู้ที่ตัดสินใจจะเป็นผู้ที่มีอำนาจ ซึ่งแน่นอนว่าการรับฟังความคิดเห็นของคนทั่วไปก็น้อยลง LGBT ที่ต้องเผชิญกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ พวกเขาก็ไม่มีเสียงที่จะเข้าไปสะท้อนหรือตัดสินใจได้ อย่างเช่น เสียงของ Sex Workers ซึ่งไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ก็ไม่มีเสียงสะท้อนไปถึงรัฐบาล ปัจจุบันมีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะแต่ละพื้นที่มีความหลากหลาย ถ้าใช้ในระยะเวลาสั้นมันอาจจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ถ้าใช้ในระยะเวลาที่ยาว มันส่งผลเสียมากขึ้นในแต่พื้นที่ และไม่อยากให้มอง กลุ่มความหลากหลายทางเพศก็เป็นแค่คนกลุ่มหนึ่ง แต่อยากให้มองว่าเป็นเครือข่ายที่ต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนทุกคน”

ในส่วนของมาตรการเยียวยาของภาครัฐในสถานการณ์ปัจจุบันต่อกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ ชิษณุพงศ์กล่าวว่า “ทางภาครัฐยังไม่มีมาตรการคุ้มครองหรือนโยบายสำหรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เช่น เรื่องเทคฮอร์โมน หรือการเยียวยาทางการเงิน อย่างภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ ก็ไม่ได้มีมาตรการเยียวอะไรทั้งนั้น คนทุกกลุ่มต้องได้รับการเยียวยาอย่างเท่ากัน แต่พอมาเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ค่อนข้างที่จะละเอียดอ่อน อยากเสนอแนะให้รัฐเร่งดำเนินการช่วยเหลือในตัวกลุ่มองค์กรต่างๆ ให้ LGBT มีสิทธิในการเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัย การแพทย์ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาในเรื่องนี้ ความช่วยเหลือจากรัฐโดยตรง นอกจากด้านเศรษฐกิจที่ให้เงิน รัฐควรจะมีการกระจายอำนาจให้มากกว่านี้ ในการรับฟังหรือเข้าใจปัญหา เพราะว่าในบางพื้นที่ ยอดผู้ป่วยก็ลดลงแล้ว รัฐจะเยียวยาในเฉพาะในแต่ละพื้นที่ได้อย่างไร เพราะคนในแต่ละพื้นที่เขาได้รับผลกระทบต่างกัน และรัฐจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ยังไงถ้าหากมีการเปิดพื้นที่แล้ว

ส่วนวิธีการรับมือ ก็คือการกระจายข่าวให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เข้าใจ หรือรับฟังปัญหา ท้ายที่สุดแล้วการที่จะแก้ไขปัญหาจริงๆ ต้องให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือ เพราะกลุ่มเราไม่มีเครื่องมือทางด้านเศรษฐกิจที่สามารถใช้เงินเข้าไปช่วยเหลือเขาได้ หน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือในตอนนี้ก็จะมี NGO ด้วยกัน มาช่วยในการกระจายข่าว แต่ก็จะมีแหล่งทุนจากต่างประเทศ หรือระดับภูมิภาคเข้ามาช่วยเหลือ อย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ มูลนิธิเพื่อพนักงานบริการ (Swing) และหลายๆองค์กรที่เขารับบริจาคแล้วก็นำข้าวไปแจก แต่ก็ยังไม่เห็นในส่วนของประเด็นเฉพาะ ดังนั้นในการที่เราเป็นนักศึกษา และเป็น LGBT ที่เจอปัญหาเรื่องนี้ มันก็ค่อนข้างยากที่จะได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานเหล่านี้”

 

ชิษณุพงศ์ ทำงานเกี่ยวข้องกับ Young Pride Club ซึ่งส่วนมากจะผลักดันประเด็นความหลากหลายทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ “เราทำโปรเจค เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ภาวะผู้นำ ของเยาวชนในการส่งเสริม สิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม และความหลากหลายทางเพศ จุดเริ่มต้นมาจากการเป็นนักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาสตรีศึกษา หรือศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (WSC) และเราเห็นการถูกเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเพศมันยังเกิดในมหาวิทยาลัย สิทธิของนักศึกษาที่เป็นคนข้ามเพศ ไม่ว่าจะเป็นชายข้ามเพศ หรือหญิงข้ามเพศ อย่างเช่น เรื่องของการแต่งกาย หรือว่าเรื่องรับปริญญา หรือว่าล่าสุดที่มันเป็นเรื่องของบัตรนักศึกษา ไม่สามารถแต่งกายตามเพศสภาพของตนเองในการทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับวิชาการ เราพยายามจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้คนในสังคมเข้าใจ และเหมือนจะเป็นการ Empower ตัวนักศึกษาด้วยเหมือนกัน ว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้ยังไง มันมีกลไกอะไรที่สามารถช่วยเหลือได้

แต่พอมีสถานการณ์โควิด19 มันก็มีผลกระทบ เนื่องจากเราไม่สามารถจัดกิจกรรมที่เป็นกิจกรรมภาคพื้นได้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นแบบออนไลน์ และนอกจากกิจกรรมภาคพื้น ก็จะมีจัดกิจกรรม Gender Talk, Movie Night ซึ่งช่วงนี้ก็ต้องหายไป อย่างช่วงที่ผ่านมาก็จัด Chiang Mai Pride ถือว่าโชคดีมากเพราะช่วงนั้นโควิด19 ยังไม่ระบาดเป็นวงกว้างเท่าตอนนี้ ปัจจุบันก็จะเน้นมาทำออนไลน์มากขึ้น Contents ส่วนมากก็จะเกี่ยวกับประเด็น LGBT ความหลากหลายทางสังคม ตอนนี้เราก็มีช่องทางการติดตามที่หลากหลาย อาทิ Facebook Instagram หรือ Twitter อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนพูดคุย สร้างความเข้าใจ เพราะว่าเรามองว่า ประเด็นแบบนี้ คือวิธีการขับเคลื่อนของรุ่นใหม่ แต่ผลกระทบที่เจอก็คือ การดำเนินการแบบออนไลน์มันทำให้ไม่เห็นสีหน้า ไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกได้ ถึงแม้ว่ามันจะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ แต่มันก็ไม่สามารถนอกรอบได้ คือบางทีความรู้สึกในเรื่องที่มันเป็นประเด็นความหลากหลาย และละเอียดอ่อน คือเราต้องสัมภาษณ์ใช่ไหม ต้องเจอกับคนที่ให้ข้อมูลเรา และส่วนมากผู้ที่ให้ข้อมูลในประเด็นความหลากหลายทางเพศ ข้อจำกัดของผู้ให้สัมภาษณ์จะเป็นเรื่องความเป็นส่วนตัว รสนิยมทางเพศ หรือกลุ่มคนที่เขายังไม่เปิดเผยตัว การสัมภาษณ์ออนไลน์ หรือทางโทรศัพท์มันค่อนข้างมีความกังวลใจในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล การสร้างความน่าเชื่อถือมันก็จะค่อนข้างยาก ซึ่งก็จะได้รับผลกระทบในตัวของกระบวนการตรงนี้”

ชิษณุพงศ์ กล่าวถึงความสำคัญของการผลักดันประเด็นความหลากหลายทางเพศว่า “ปัจจุบันประเด็นความหลากหลายทางเพศมันถูกทำให้หยุดชะงักไว้ เนื่องจากสังคมมองว่าการปรากฏตัว หรือปัญหาของคนเหล่านี้มันไม่ได้มีอยู่ต่อไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงปัญหาของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBT มันยังมีอยู่ ดังนั้นเราเลยอยากจะ เป็นพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้เขาได้มีสิทธิมีเสียงได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยน และถ้าพูดถึงเรื่องความท้าทาย เราพยายามจะเคลื่อนไหวในมหาลัย แต่ว่าความตระหนักของแต่ละคนอาจจะไม่ได้มีมาก หรือเขาอาจจะมองว่ามันไม่เป็นปัญหา เพราะว่าบางคนที่เขามีประสบการณ์ หรือเป็น LGBT เหมือนกัน ตัวเขาเองอาจจะมองว่าไม่ได้เกิดปัญหานี้ มันก็เลยกลายเป็นกลุ่มคนน้อยในสังคมที่เจอปัญหา และหลายๆครั้งปัญหานี้มันก็ไม่ถูกสะท้อนมา หรือไม่มีเสียงดังพอในสังคม”

____________________

#HRLAmember บอกเล่าเรื่องราวนักกฎหมาย ทนายความ หรือผู้ที่ทำงานและสนใจผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดโรคไว้รัสโควิด19 ระบาดไปทั่วโลก หลายภาคส่วนต้องประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน สุขภาพ หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ รัฐอาจตกหล่นในการดูแล ปรับปรุง และแก้ไข สนส.จึงขอเป็นพื้นที่หนึ่งในการสะท้อนปัญหา และข้อเสนอแนะผ่านมุมมองและเรื่องราวของคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่แตกต่าง และอยู่ในหลากหลายพื้นที่กัน