รัฐควรมีมาตรการเชิงรุกตรวจสอบและเยียวยาลูกจ้างที่ตกหล่นจากการคุ้มครองของรัฐ ในภาวะโควิด19ระบาด : คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ เครือข่ายทนายสิทธิแรงงาน

รัฐควรมีมาตรการเชิงรุกตรวจสอบและเยียวยาลูกจ้างที่ตกหล่นจากการคุ้มครองของรัฐ ในภาวะโควิด19ระบาด : คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ เครือข่ายทนายสิทธิแรงงาน

เริ่มทำประเด็นแรงงานมาตั้งแต่ประมาณปี 2551 ค่ะ เป็นทนายชุมชน แรงบันดาลใจมาจาก ตอนนั้นเราพึ่งเรียนจบมาใหม่ ถ้าได้ทำงานเกี่ยวกับเรื่องแรงงาน กฎหมายแรงงาน ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนมา มาปรับใช้ได้มากที่สุด ตอนนี้มีสถานการณ์โรคโควิด19 ระบาดเกิดขึ้น ทำให้แรงงานไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากยอดการผลิตลดน้อยลง สำหรับลูกจ้างที่ทำงานภายในสถานประกอบการ บางสถานประกอบการมีการให้หยุดพักงาน หรือที่เลวร้ายที่สุดก็คงเป็นการที่ลูกจ้างถูกโดนเลิกจ้าง

ถ้าพูดกันตามหลักความเป็นจริง สถานการณ์ปัญหาของแรงงานมันมีมาตลอดอยู่แล้ว นับตั้งแต่ปี 2562 ก็มีการประกาศปิดกิจการ เลิกจ้าง หรือว่าลดคนงานมาตั้งแต่ช่วงกลางปี ถ้าจะได้ยินอย่างพวกข่าวดังๆ ก็คือ เชฟโรเล็ต ก็ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ในอนาคตจะเปลี่ยนรถที่ต้องใช้น้ำมันเป็นระบบไฟฟ้าแทน มันก็เลยเป็นเรื่องของการเปลี่ยนคนทำงาน ลดคนทำงาน มาเรื่อยๆ

เศรษฐกิจในช่วงของปี 2562 ก็ว่าหนักแล้ว พอมาในปี 2563 มาเจอสถานการณ์โควิด19 อีก มันก็เป็นอย่างที่เราทราบข่าว มันกระทบทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ แต่ในส่วนของแรงงานไทย มันก็มีทั้ง แรงงานที่เขาทำงานอยู่ในประเภทที่รัฐสั่งปิด แล้วลูกจ้างพวกนี้เขาก็ยังไม่ได้รับค่าจ้างหรือได้ค่าจ้างลดลง บางสถานประกอบการนายจ้างโอเคหน่อยถึงแม้ว่ารัฐจะสั่งปิด เขาก็จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างบ้าง 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประเภทที่รัฐไม่ได้สั่งปิด อย่างออฟฟิศ หรือในบางธุรกิจ อย่างเช่นก่อสร้าง หรืองานทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยว หรือห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ แต่นายจ้างปิดเอง หรือหยุดกิจการชั่วคราวเอง ก็จ่ายไม่น้อยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ตามที่กฎหมายบังคับให้จ่าย

ในสถานการณ์โรคระบาดนี้ ทำให้เห็นช่องโหว่ในด้านสิทธิของแรงงานคือ จะมีนายจ้างบางรายที่อาศัยสถานการณ์ในช่วงนี้ มาขอลดค่าจ้างลูกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หรือถ้าในกรณีที่แย่หน่อยก็คือนายจ้างให้ลูกจ้างลาออกไปก่อน เพราะว่านายจ้างได้รับผลกระทบ แล้วอ้างว่าถ้าเดี๋ยวสถานการณ์ดีขึ้น ก็ค่อยกลับเข้ามาสมัครใหม่และจะรับพิจารณาเป็นรายแรกที่จะรับกลับเข้าทำงานก็มี หรือว่าบางส่วนก็เลิกจ้างไปเลย แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีนายจ้างที่ดีๆ ที่เขาช่วยเหลือลูกจ้างและรักษาความเป็นนายจ้างลูกจ้างกันไว้ บางที่ก็จ่าย 100 เปอร์เซ็นต์ก็มี บางที่ก็แบบช่วยกันนะระหว่างลูกจ้างนายจ้าง จ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ หรือว่าบางส่วนให้ลูกจ้างไปรับความช่วยเหลือจากรัฐ และอีกส่วนหนึ่งก็รับจากนายจ้าง ก็เป็นประมาณนี้

ถ้าจะเสนอมาตรการที่อยากให้รัฐเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้าง เราคิดว่าการที่ลูกจ้างได้รับเงินเยียวยาจากประกันสังคม ในส่วนนี้เราก็คิดว่ามันเป็นมาตรการที่รัฐก็ได้ช่วยลูกจ้างและก็ช่วยนายจ้างแล้วนะ ถ้ารัฐเป็นฝ่ายสั่งปิด รัฐต้องเป็นคนดูแลจ่ายค่าจ้างเยียวยาลูกจ้างแทนนายจ้าง แต่ในอีกทางหนึ่งก็คืออยากให้ภาครัฐทำงานแบบเชิงรุกมากขึ้น เพราะว่าตอนนี้มันเป็นเรื่องที่รัฐ หรือกระทรวงแรงงาน ต้องทราบข้อมูลความเดือดร้อนของลูกจ้างอย่างชัดเจนและเป็นระบบมากขึ้น เพื่อที่จะได้ไปออกมาตรการเยียวยาที่มันครอบคลุม และชัดเจนกับลูกจ้างมากขึ้นกว่านี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด19 ในตอนนี้มันมีการละเมิดสิทธิในเรื่องของการกดดันให้ลูกจ้างลาออก ไม่จ่ายค่าจ้าง หรือลดค่าจ้าง บางสถานประกอบการที่รัฐไม่ได้สั่งหยุดแต่หยุดเอง และมาจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างแบบ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกฎหมายให้จ่ายไม่น้อยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ อยากให้รัฐมีมาตรการและลงมาตรวจสอบโดยเร็ว เพราะการที่ลูกจ้างประสบปัญหาแบบนี้ มันไม่ใช่ลูกจ้างทุกคนนะที่จะเดินเข้าไปร้องเรียน ไปยื่นคำร้องกับเจ้าหน้าที่ อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่รัฐจะต้องทำให้ลูกจ้างได้เข้าถึงสิทธิให้ได้มากที่สุด

ในเรื่องของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันเหมือนเป็นการประกาศที่มันเลยจากสถานการณ์ที่รัฐอาจจะใช้มาตรการที่มันเข้มข้นของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว เพราะว่าช่วงกลางเดือนมีนาคม เป็นช่วงที่คณะรัฐมนตรีมีมติที่เกี่ยวกับเรื่องมาตรการหลายๆอย่าง ที่เกี่ยวกับเรื่องการปิดสถานที่ทำงาน หรือสถานที่ที่รวมคนเยอะๆ เช่น สนามมวย ห้าง สนามกีฬา พอสั่งปิดคนก็กลับบ้าน มันก็เลยเป็นการแพร่กระจายคนออกไป ณ ที่ต่างๆ แบบนี้ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันมาออกช่วงปลายเดือน มันก็เลยเอามาใช้ในสถานการณ์ที่มันไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ นี้ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่งผลกระทบต่อ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ค้าขาย กลุ่มแรงงานนอกระบบ เพราะมันมีเรื่องของข้อกำหนดในการเดินทาง และระยะเวลาที่อยู่ในช่วงเคอร์ฟิว (ซึ่งเป็นเวลา 4ทุ่ม-ตี4)

และในการรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ก็คือ ลูกจ้างอย่านั่งทำงานอย่างเดียว ลูกจ้างต้องมีข้อมูลธุรกิจของนายจ้าง ต้องศึกษาข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจของตัวเอง เพราะสถานการณ์แบบนี้จะจมปัญหาอย่างเดียว หรือจะจมกับงานอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องรู้จักนายจ้างด้วยว่า นายจ้างกระทบกับสถานการณ์โควิด19 หรือเปล่า รัฐสั่งปิดไหม ถ้ารัฐสั่งปิดจริงๆ ก็ไปรับสิทธิจากประกันสังคม แต่ถ้ารัฐไม่ได้สั่งปิด ลูกจ้างก็ต้องรู้ ก็ต้องไปตรวจสอบว่าเป็นประเภทที่รัฐเขาไม่สั่งปิด โรงงานอุตสาหกรรมบางที่เขาก็ยังเปิดให้ทำงานปกติ แต่ว่านายจ้างอยากจะลดค่าใช้จ่าย ก็เลยสั่งปิดและไม่จ่ายเงินและอ้างว่าได้รับผลกระทบจากการเคอร์ฟิวก็เลยจะไม่จ่ายค่าจ้าง อันนี้ก็ไม่ใช่อีก และในส่วนนี้ลูกจ้างก็ต้องรู้ หรือศึกษาเองด้วย ว่าถ้าถูกเลิกจ้างจริงๆเราจะไปตรวจสอบว่าเราจะได้รับสิทธิในช่องทางไหนบ้าง

_____________________
#HRLAmember บอกเล่าเรื่องราวนักกฎหมาย ทนายความ หรือผู้ที่ทำงานและสนใจผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดโรคไว้รัสโควิด19 ระบาดไปทั่วโลก หลายภาคส่วนต้องประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน สุขภาพ หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ รัฐอาจตกหล่นในการดูแล ปรับปรุง และแก้ไข สนส.จึงขอเป็นพื้นที่หนึ่งในการสะท้อนปัญหา และข้อเสนอแนะผ่านมุมมองและเรื่องราวของคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่แตกต่าง และอยู่ในหลากหลายพื้นที่กัน