แนวโน้มคนไร้บ้านมากขึ้นหลังโควิด19 – ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีที่อยู่ มาตรการของรัฐยังซ้ำเติมกลุ่มคนไร้บ้าน : นพพรรณ พรหมศรี กลุ่มคนไร้บ้าน

แนวโน้มคนไร้บ้านมากขึ้นหลังโควิด19 – ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีที่อยู่ มาตรการของรัฐยังซ้ำเติมกลุ่มคนไร้บ้าน : นพพรรณ พรหมศรี กลุ่มคนไร้บ้าน

หลังจากวิกฤตโควิด19 จะมีการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนไร้บ้านอย่างแน่นอน เพราะว่าก่อนหน้าโรคระบาด เป็นช่วงขาลงของเศรษฐกิจอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้เราเห็นคนที่เริ่มมาเป็นคนไร้บ้านมากขึ้นจากการตกงาน พอช่วงสถานการณ์โควิด19 ยิ่งเห็นชัดมาก เราลงไปในพื้นที่สาธารณะ ก็เจอคนกลุ่มนี้เยอะมากขึ้น ยกตัวอย่าง แรงงานก่อสร้าง เดินทางข้ามจังหวัดไม่ได้ ไซต์งานต่างๆ ก็ถูกปิด จากเมื่อก่อนอาศัยอยู่ตามไซต์งาน พอไซต์งานปิดก็ไม่มีที่พักอาศัย กลับบ้านก็ไม่ได้ ตอนนี้ก็มาอยู่เป็นคนไร้บ้าน มานอนในที่สาธารณะ ไม่มีเงินด้วย เพราะคนกลุ่มนี้ได้รายได้รายวัน ไม่ทำงานก็ไม่มีรายได้

สถิติที่นักวิชาการประเมินมาแล้ว กลุ่มคนไร้บ้านจะเพิ่มจำนวนขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ และในกรณีที่ทยอยออกจากเรือนจำ ที่มีนโยบายในตอนนี้ ก็ไม่รู้เลยว่าคนกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นแค่ไหน เพราะว่าส่วนหนึ่งของคนไร้บ้านเดิม มาจากกลุ่มที่ พ้นโทษมาจากเรือนจำ ครอบครัวหรือสังคมจะไม่ค่อยยอมรับเท่าไหร่ เขาก็จะกลายมาเป็นคนไร้บ้าน อันนี้ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนหาทางแก้ไขไม่ได้

เราได้ไปเห็นสภาพปัญหาของกลุ่มคนไร้บ้านที่ได้รับผลกระทบมาจากสภาพสังคม เศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย เลยเริ่มทำงานผลักดันประเด็นคนไร้บ้านมาตั้งแต่ปี 2544 เริ่มแรกเราเริ่มทำงานด้านที่พักอาศัยก่อน ที่พักอาศัยเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ กลุ่มคนเหล่านี้จะได้ไม่ต้องทนตากแดดตากฝน รวมไปถึงการมีบัตรประชาชน การเข้าถึงสิทธิเรื่องผู้สูงอายุ สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ถ้ากลุ่มคนไร้บ้านได้เข้าถึงสิทธิต่างๆ พวกเขาจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น และเราก็อยากให้พวกเขาได้เข้าถึงความมั่นคงในทุกๆ ด้าน

และเนื่องจากตอนนี้ที่มีสถานการณ์เกี่ยวกับโรคระบาดโควิด19 เกิดขึ้น ทำให้กลุ่มคนไร้บ้านได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะพวกเขาไม่มีแหล่งอาศัยถาวร พวกเขามีความลำบากมาก ผลกระทบที่เห็นชัดๆมีอยู่ 3 ส่วน

ส่วนแรก การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร พวกเขาไม่รู้ว่าโรคนี้มันรุนแรงแค่ไหน อุปกรณ์ป้องกันก็ไม่มี

ส่วนที่สอง เรื่องอาหาร เดิมทีกลุ่มคนไร้บ้านวิถีชีวิตปกติของพวกเขา จะได้รับอาหารที่บริจาคจากพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอาหาร หรือน้ำดื่มก็จะมีจุดบริการที่มีน้ำบริการทั่วไป แต่พอเกิดสถานการณ์แบบนี้ พวกร้านค้าหรือสถานที่ต่างๆ ก็ปิดหมด จึงมีปัญหาเรื่องการอดข้าวอดน้ำตามมา

ส่วนที่สาม เรื่องของวิถีชีวิตประจำวันที่พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากรัฐประกาศเคอร์ฟิว เวลา 4ทุ่ม-ตี4 ไม่ให้อยู่ข้างนอก ถ้าเจอก็โดนจับโดนปรับ แต่ว่าคนไร้บ้านเขาไม่มีที่พัก บางส่วนก็ต้องไปหลบตามใต้สะพาน หรือในพื้นที่สาธารณะ บางพื้นที่ก็ยังดีหน่อย เขาก็ยังมีการยกเว้นให้

ในสถานการณ์แบบนี้ ทำให้เห็นช่องโหว่ในด้านสิทธิของกลุ่มคนไร้บ้านในทุกๆ ด้านเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงสุขภาพ เรื่องของการรักษาพยาบาล ถ้าเกิดเขาเจ็บป่วยขึ้นมาจะไปรักษาที่ไหน รวมไปถึงเรื่องของการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่มีมาตรการดูแลที่ชัดเจนเลย

ส่วนตอนนี้หน่วยงานที่เข้ามาช่วยดูแลหลักๆ จะเป็นภาคประชาสังคม โดยการลงพื้นที่ไปให้ความรู้ แจกอุปกรณ์ป้องกันโรค แนะนำวิธีการดูแลตัวเอง โดยมีคนในสังคมช่วยกันสนับสนุนเครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ และได้มีการไปพูดคุยกับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เขามาสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง และในตอนนี้ก็มีหน่วยงานเริ่มเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น ตอนนี้เราได้ไปคุยกับหลายหน่วยงานว่าจะมีมาตรการยังไงต่อไปดี จะสนับสนุนเขาในระยะกลาง และระยะยาวยังไงบ้าง และในขั้นต่อไปที่กำลังทำคือ เรื่องหาสถานที่ สร้างที่พักชั่วคราว หรือปรับปรุงที่สถานที่ที่มีอยู่เพื่อให้พวกเขา กลุ่มคนไร้บ้านได้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง

เบื้องต้นอยากเสนอแนะให้รัฐเยียวยากลุ่มคนไร้บ้าน โดยอยากให้มีมาตรการยกเว้นสำหรับกลุ่มคนไร้บ้าน ในเรื่องของการประกาศเคอร์ฟิว ที่งดออกนอกสถานที่ ตั้งแต่เวลา 4ทุ่ม-ตี4 เพราะวิถีชีวิตประจำวันเขาเป็นแบบนั้น เพราะเขาไม่มีที่พักอาศัย ยกตัวอย่างต่างประเทศ เขามีสถานที่ให้เข้าไปอยู่ แต่สำหรับบ้านเรามันไม่มี หรือถึงแม้มี แต่สถานที่นั้นเข้าไปอยู่ไม่ได้ เนื่องจากเต็มหรืออะไรก็ตาม ถ้ารัฐไม่มีมาตรการที่มันชัดเจนในเรื่องของการรองรับ หรือมาตรการที่จะช่วยเหลือดูแลก็อย่าไปทำร้ายพวกเขามากกว่านี้เลย

มากไปกว่านั้น อยากเสนอในเรื่องของการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อยากให้มีการวางแผน หรือครอบคลุมกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มคนชายขอบ หรือกลุ่มคนยากจน กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำมากกว่านี้  ถ้าจะประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ก็ควรมีมาตรการเพื่อรองรับกลุ่มคนไร้บ้าน หรือกลุ่มคนยากจนด้วย

_____________________
#HRLAmember บอกเล่าเรื่องราวนักกฎหมาย ทนายความ หรือผู้ที่ทำงานและสนใจผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดโรคไว้รัสโควิด19 ระบาดไปทั่วโลก หลายภาคส่วนต้องประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน สุขภาพ หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ รัฐอาจตกหล่นในการดูแล ปรับปรุง และแก้ไข สนส.จึงขอเป็นพื้นที่หนึ่งในการสะท้อนปัญหา และข้อเสนอแนะผ่านมุมมองและเรื่องราวของคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่แตกต่าง และอยู่ในหลากหลายพื้นที่กัน