ไม่ใช่แค่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯควบคุมโควิด-19 สามจังหวัดชายแดนใต้ ยังถูกควบคุมด้วยกฎหมายพิเศษอีก 2 ฉบับ ไม่ใช่เฉพาะภาวะฉุกเฉิน-จำเป็น : อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดยะลา

ไม่ใช่แค่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯควบคุมโควิด-19 สามจังหวัดชายแดนใต้ ยังถูกควบคุมด้วยกฎหมายพิเศษอีก 2 ฉบับ ไม่ใช่เฉพาะภาวะฉุกเฉิน-จำเป็น : อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดยะลา

สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนนี้ก็ระบาดหนักอยู่เหมือนกัน พื้นที่สามจังหวัดนี่ก็คือมีแนวโน้มที่สูงขึ้น แต่ก่อนไม่มีเลย หลังจากที่คนที่ไปมาเลเซียกลับมา หรือคนนอกพื้นที่เข้ามา ทำให้ตัวเลขของคนที่ติดเชื้อสูงขึ้นแซงกว่าจังหวัดอื่นๆ หลายพื้นที่ เรื่องการใช้นโยบายเกี่ยวกับการรณรงค์ กับการใช้กฎหมาย รณรงค์ก็ได้ผลพอสมควร แต่ก็ยังมีคนที่ยังไม่เห็นความสำคัญเรื่องการกักตัว การไม่อยู่บ้าน การรวมกลุ่มก็ยังมีอยู่ และการมีมาตรการเคอร์ฟิวในเวลากลางคืนอาจจะไม่กระทบหนักเท่าไหร่เพราะช่วงเวลาสี่ทุ่มในชุมชน โดยปกติก็จะแยกย้ายเข้าบ้านอยู่ ส่วนเรื่องคนที่ทำอาชีพสวนยางในพื้นที่ ก็ยังพออนุโลมได้อยู่

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการบังคับใช้กฎหมาย 3 ฉบับทับซ้อนกันมานานแล้ว ทั้งกฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ก็บังคับใช้ในพื้นที่มากว่า 10 ปี และพ.ร.บ.ความมั่นคงในพื้นที่ ปัจจุบันที่มีเรื่องไวรัสโควิด-19 ระบาด มีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของโรคไปทั่วประเทศ ถ้าเป็นช่วงก่อนมีโควิด-19 ระบาด การบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะใช้สำหรับเหตุการณ์ที่รุนแรง การก่อเหตุรุนแรง การทำร้าย ตามมาตรา 11 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งก็จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในการก่อเหตุได้เลย แต่พอมาเป็นเหตุการณ์ที่มีไวรัสระบาดตอนนี้ ก็เลยใช้มาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นเรื่องของการควบคุมดูแลเสียมากกว่า

ผมทำงานเป็นทนายความผลักดันประเด็นความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดยะลา เรื่องการประกาศใช้ทั้งกฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทับซ้อนกันในพื้นที่มีปัญหามานาน ทั้งในกรณีการถูกควบคุมตัว โดยใช้กฎอัยการศึก ผู้ที่ถูกควบคุมตัวยังไม่ได้รับสิทธิเท่าที่ควร เป็นต้น ซึ่งได้มีการเรียกร้องมาโดยตลอดว่าต้องมีการทบทวนการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก และทั้งพ.ร.บ.ความมั่นคงในพื้นที่ที่ยังทับซ้อนกันอยู่ และเจ้าหน้าที่มีอำนาจมากตามกฎหมายพิเศษ อีกทั้งยังมีข้อยกเว้นไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษได้ ซึ่งคิดว่าควรมีการทบทวนให้แก้ไขการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ นอกจากแก้ไขเรื่องการทบทวนแล้ว ส่วนหนึ่งก็อยากให้ยกเลิกการใช้กฎหมาย ให้ใช้กฎหมายนี้ในเหตุที่จำเป็นเท่านั้น

#HRLAmember บอกเล่าเรื่องราวนักกฎหมาย ทนายความ หรือผู้ที่ทำงานและสนใจผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดโรคไว้รัสโควิด19 ระบาดไปทั่วโลก หลายภาคส่วนต้องประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน สุขภาพ หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ รัฐอาจตกหล่นในการดูแล ปรับปรุง และแก้ไข สนส.จึงขอเป็นพื้นที่หนึ่งในการสะท้อนปัญหา และข้อเสนอแนะผ่านมุมมองและเรื่องราวของคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่แตกต่าง และอยู่ในหลากหลายพื้นที่กัน