6 ปี…บิลลี่หาย เรียกร้อง ถม ช่องว่างความยุติธรรม

6 ปี…บิลลี่หาย เรียกร้อง ถม ช่องว่างความยุติธรรม

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แถลงข่าวว่าพบเบาะแสการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ โดยพบกระดูกคล้ายกระดูกมนุษย์ ซึ่งหลังจากการตรวจพบว่าเป็นกระดูกบริเวณศีรษะ หากไม่มีกระดูกในส่วนนี้ มนุษย์จะถึงแก่ความตาย รวมถึงพบว่าสารพันธุกรรมที่ตรวจจากกระดูกดังกล่าวสัมพันธ์กับสายโลหิตของมารดาบิลลี่ จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า บิลลี่เสียชีวิตแล้ว โดยหลังจากที่มีการสอบสวนเพิ่มเติม ดีเอสไอสรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อไป โดยตั้งข้อหา 6 ข้อหากับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกรวม 4 คน ผู้ต้องหาในคดี

แต่ต่อมาพนักงานอัยการมีหนังสือถึงดีเอสไอ มีคำสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์ กับพวกรวม 4 คน ซึ่งมีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 กล่าวถึงเหตุผลที่ไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหา เนื่องจากเห็นว่าทางคดีไม่มีประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมใดๆ เพียงพอที่จะเชื่อมโยงว่า ผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำผิด พยานหลักฐานไม่พอฟ้องจึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง อีกทั้งวิธีการตรวจสารพันธุกรรมนั้น ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าคือเป็นชิ้นส่วนของบิลลี่ และคำให้การของพยานนักศึกษา 2 คน เชื่อถือไม่ได้ เพราะมีการกลับคำให้การ รวมถึงการยกคำร้องของมึนอ ที่ขอให้ปล่อยตัวบิลลี่ออกจากการควบคุมตัวมิชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 แปลว่า ปล่อยตัวบิลลี่ออกจากการควบคุมของผู้ต้องหาแล้ว ซึ่งต่อมาทางดีเอสไอได้ทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ โดยยื่นต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้อัยการสูงสุดพิจารณาเพื่อมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องอีกครั้งหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม ลำดับเหตุการณ์กรณีการหายไปของบิลลี่ และ เปิดคำพิพากษาการดำเนินคดีมาตรา 90 ขอให้ปล่อยตัวบิลลี่ออกจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ 

 

ช่องว่างของกฎหมาย = ช่องว่างของความยุติธรรม

ประเทศไทยลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ CED) ไปเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว โดยการให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีนั้น จะทำให้ประเทศไทยมีหน้าที่ปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ซึ่งต้องมีกฎหมายภายในรองรับปกป้องไม่ให้มีบุคคลที่จะถูกบังคับให้สูญหาย หรือ อุ้มหาย แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายภายในป้องกันไม่ให้มีบุคคลที่จะถูกอุ้มหาย

ทั้งที่กระทรวงยุติธรรม และองค์กรภาคประชาสังคมเคยมีความพยายามที่จะดัน “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ….” ขึ้นมาแล้ว แต่เมื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับถูกปัดตกไป โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่ชัดเจน มีเพียงการแถลงข่าวที่อ้างว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีการรับฟังความเห็นที่รอบด้าน ทั้งที่ร่างกฎหมายดังกล่าวดำเนินการร่างขึ้นโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่ายมานานหลายปี

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 องค์กรภาคประชาสังคมรวมตัวกันเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ฉบับประชาชนต่อกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน โดยเป็นการผลักดันให้ร่างกฎหมายฉบับประชาชนนี้ยืนยันสิทธิและกลไกที่จะปกป้องประชาชนได้อย่างครบถ้วนเป็นไปตามที่อนุสัญญาฯ บัญญัติไว้

เนื่องจากการบังคับให้สูญหาย หรือ การอุ้มหาย มีลักษณะพิเศษคือเป็นอาชญากรรมที่ก่อขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือโดยความยินยอมจากรัฐ อันจะส่งผลให้ การเรียกร้องความยุติธรรม หรือการแสวงหาพยานหลักฐานเป็นไปได้ยากมากกว่าปกติ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานรัฐผู้ซึ่งมีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครองประชาชน เป็นส่วนหนึ่งในการก่ออาชญากรรมเสียเอง อีกทั้ง การที่ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้พยานเกรงกลัวต่ออำนาจของผู้กระทำความผิดอีกด้วย และส่วนใหญ่บุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายจะไม่มีศพให้พบเห็น ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการดำเนินคดี

อย่างเช่น กรณีการหายตัวไปของบิลลี่ ในภาวะที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะเพื่อเอาผิดการบังคับให้สูญหาย กรณีที่ไม่เจอศพของบิลลี่ ก็ยากที่จะแจ้งความดำเนินคดี หรือแม้กระทั่ง เมื่อเจอเบาะแสแล้ว การตั้งข้อหาฆาตกรรมต่อผู้ต้องหา ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ถ้าหากมีกฎหมายป้องกันการบังคับให้สูญหายโดยเฉพาะ ก็จะสามารถอุดช่องว่างทางกฎหมายตรงนี้ได้ อีกทั้งจะมีมาตรการป้องกันการบังคับให้บุคคลสูญหายตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว โดยจะต้องแจ้งสิทธิแก่ผู้ที่ถูกควบคุมตัว และเปิดเผยข้อมูลการควบคุมตัวให้ญาติของผู้นั้นรับรู้ด้วย มากไปกว่านั้น หากมีบุคคลหายไปหลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว ผู้ที่อยู่กับบุคคลที่หายไปเป็นคนสุดท้าย จะต้องตกเป็นผู้ต้องสงสัย และเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความจริง หรือแม้กระทั่งสามารถเอาผิดกับผู้บังคับบัญชาที่รู้เห็นกับการกระทำความผิดได้ด้วย เป็นต้น

กรณีการหายตัวไปของบิลลี่ ไม่ใช่กรณีแรกที่ยังไม่สามารถนำตัวคนกระทำความผิดมาลงโทษ คืนความยุติธรรมให้เหยื่อและครอบครัว ยังมีอีกหลายกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศไทยขาดไร้ซึ่งกฎหมายที่ปกป้องอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้โดยเร็ว

อ่านเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ฉบับประชาชน

 

ปมบิลลี่หาย…มรดกโลก กับ สิทธิชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมในพื้นที่แก่งกระจาน

หลังจากที่ผืนป่าแก่งกระจานได้ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ได้มีความพยายามไล่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานออกไปจากพื้นที่ดั้งเดิม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไล่รื้อ เผาบ้านชาวกะเหรี่ยงเกิดขึ้น บิลลี่ได้เข้าไปเป็นปากเป็นเสียงสำคัญของชาวกะเหรี่ยง เขาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความ และเป็นพยานปากสำคัญในคดีที่ชาวบ้านกระเหรี่ยงยื่นฟ้องต่อ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำเลยที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลยที่ 2 ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 การฟ้องร้องในครั้งนี้นอกจากบิลลี่จะเข้ามาเป็นพยานปากสำคัญในคดีแล้วนั้น บิลลี่ยังเป็นแกนนำในการยื่นฟ้องคดีอีกด้วย นอกจากนั้นบิลลี่ยังเตรียมตัวที่จะถวายฎีกาเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อีกด้วย ก่อนที่เขาจะหายไปและไม่สามารถกลับมาหาครอบครัวได้อีก (อ่านเพิ่มเติม คดีเผาไล่รื้อบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน )

ในปี 2554 เป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ไล่รื้อ เผาบ้านกะเหรี่ยงนั้น ประเทศไทยโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการขอขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แต่จนถึงปัจจุบันกลุ่มป่าแก่งกระจานยังไม่ถูกอนุมัติเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งล่าสุด โดยมีข้อสรุปว่า ให้ประเทศไทยกลับไปทำข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงประเทศไทยยังต้องสะสางข้อห่วงกังวลปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชน หากประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานนี้ได้ ก็มีแนวโน้มว่าในการประชุมครั้งถัดไป กลุ่มป่าแก่งกระจานก็คงจะไม่สามารถถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ เพราะคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนยังคงถูกละเมิด และวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่แก่งกระจานยังคงถูกกัดกร่อนทำลายอยู่

 

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะสะสางข้อห่วงกังวลของคณะกรรมการมรดกโลก เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน โดยรับฟังเสียงสะท้อนของชุมชน และมีการแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน และเคารพสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นที่

อีกทั้ง ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนและผลักดันให้ร่างร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ฉบับประชาชน สามารถบังคับใช้ได้เพื่อปกป้องและคุ้มครองประชาชน และยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยต่อไป รวมไปถึงการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่เรื้อรังอยู่ในสังคมไทยให้จงได้

 

วันนี้ 17 เมษายน 2563 ผ่านมา 6 ปีแล้วที่บิลลี่หายไป ครอบครัวของบิลลี่ยังคงรอคอยความยุติธรรม และยังมีครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายอีกเป็นจำนวนมากที่ยังรอคอยความยุติธรรมอยู่เช่นกัน อีกทั้งหวังให้มีการถมช่องว่างของความยุติธรรมได้เต็มเสียที