ภาคีฯ ออกหนังสือถึงรมต.กระทรวงยุติธรรมให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำ

ภาคีฯ ออกหนังสือถึงรมต.กระทรวงยุติธรรมให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำ

สนส. ๓๙/๒๕๖๔

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔

เรื่อง      สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรโรนา ๒๐๑๙ ในเรือนจำ

เรียน      รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

สำเนาถึง   อธิบดีกรมราชทัณฑ์

ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

 

ตามที่ปรากฏว่านายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน และนายอานนท์ นำภา ติดเชื้อไวรัสโรโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวและถูกคุมขังอยู่ ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตามที่ท่านทราบดีอยู่แล้วนั้น

นับแต่เกิดกรณีดังกล่าวขึ้น นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ได้ให้ข้อมูลสื่อมวลชนเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๔ ว่ากรมราชทัณฑ์ยังคงเน้นย้ำและเพิ่มมาตรการคัดกรองป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-๑๙ อย่างเคร่งครัด ขอให้พี่น้องประชาชนและญาติผู้ต้องขังมั่นใจในการควบคุมดูแล อย่าได้วิตกกังวล กรมราชทัณฑ์พร้อมรายงานสถานการณ์ให้ทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป[1] และต่อมาเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ ได้ให้ข้อมูลสื่อมวลชนว่านานอานนท์ นำภา ติดเชื้อพร้อมกับผู้ต้องขังอีก ๑ ราย ที่เป็นกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ผู้ต้องขังทั้งสองรายได้เข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว[2]  หลังจากนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด มาตรการคัดกรอง/ป้องกัน หรือมาตรการในการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อให้ประชาชนและญาติผู้ต้องขังได้รับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่องแต่อย่างใด

ปัจจุบัน ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลจากทนายความสมาชิกภาคีฯ ว่าได้ขอเข้าเยี่ยมจำเลยที่ต้องขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา แต่ไม่สามารถเข้าพบจำเลยได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งว่าจำเลยหลายคนติดเชื้อโควิด-๑๙ จึงไม่สามารถเยี่ยมได้ จะเยี่ยมได้เฉพาะจำเลยที่ยังไม่ติดเชื้อฯ เท่านั้น และทราบข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อเป็นจำนวนมาก รวมถึงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ด้วย

ภาคีฯ เห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพนั้น อยู่ในภาวะน่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากสภาพแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมีทั้งหมดจำนวน ๓,๒๗๔ คน เป็นนักโทษเด็ดขาดจำนวน ๒,๔๗๗ คน ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณารวม ๗๙๖ คน (ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาแบ่งเป็นระหว่างไต่สวน ๒๗๖ คน ผู้ต้องขังระหว่างสอบสวน ๑๘๗ ผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ๓๓๓ คน)[3]  หรือมีผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีคิดเป็น ๒๔.๓๑% ของผู้ต้องขังทั้งหมด

การมีผู้ต้องขังระหว่างพิจารณากว่า ๒๔% ที่ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นศาลและก่อนฟ้องคดี ย่อมขัดต่อหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๙ วรรคสอง โดยสิ้นเชิง รวมทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๐๘/๑, คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓[4] และหนังสือของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ  เรื่องการชะลอการส่งตัวผู้ต้องขังเข้าเรือนจำ ฉบับลงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๔[5] ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้สามารถดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ อันจะนำไปสู่มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพได้  แต่ที่ผ่านมา ศาลโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ได้คำนึงถึงปัญหาความแออัดและสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙  แต่อย่างใด ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งในแง่หลักการกฎหมายและไม่ถูกต้องทั้งในแง่ความเหมาะสมในสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ

ภาคีฯ จึงขอเรียกร้องให้ท่าน ในฐานะที่มีภารกิจในการดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการของ กระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นเอกภาพ โปร่งใส เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โปรดพิจารณาดำเนินการดังต่อนี้

  • สั่งการให้มีการจัดทำข้อมูลผู้ติดเชื้ออย่างเป็นระบบโดยเร่งด่วน และแถลงชี้แจงสถานการณ์การแพร่ระบาดในเรือนจำ แนวทางการแก้ไขสถานการณ์และมาตรการการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ ทั้งนี้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข และหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ให้ร่วมกันแก้ปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดในเรือนจำพิเศษกรุงเทพและเรือนจำอื่นที่พบการแพร่ระบาด
  • บริหารกระบวนการยุติธรรมในช่วงการแพร่ระบาด โดยแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด โดยชะลอการส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเข้าสู่เรือนจำ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๙ วรรคสอง มาตรา ๕๕ วรรคหนึ่ง, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๐๘/๑, คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓ และหนังสือของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ เรื่องการ ฉบับลงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๔
  • ขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรมโดยเร่งด่วนเพื่อหารือมาตรการในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดในเรือนจำ เช่น การชะลอการส่งตัวผู้ต้องขังเข้าเรือนจำ การปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปชั่วคราวตามตามระยะเวลาหนึ่งที่มีกำหนดในระหว่างการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง หรือการพิจารณาโดยพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาล เป็นต้น ตามแนวทางในหนังสือของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฉบับลงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๔

จึงเรียนมาเพื่อได้โปรดพิจารณาดำเนินการเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้ผู้ต้องขังและนักโทษในเรือนจำได้รับสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ และให้ผู้ต้องขังได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวตามหลักกฎหมายต่อไป และขอให้ท่านชี้แจงข้อมูลการดำเนินการต่อสาธารณะโดยเร็ว

ขอแสดงความนับถือ

(นางสาวคอรีเยาะ มานุแช)

ตัวแทนภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน


ข้อมูลอ้างอิง

[1] สำนักข่าวบิบิซี, โควิด-19: ราชทัณฑ์รับ “จัสติน” ติดโควิด-19 ทำให้ จนท.-ผู้ต้องขัง 35 คนกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง https://www.bbc.com/thai/international-56871605

[2] The Standard, ราชทัณฑ์ยืนยัน ทนายอานนท์ติดโควิด-19, https://thestandard.co/anon-nampa-infected-covid-19/

[3] กรมราชทัณฑ์, รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ สำรวจ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2564, http://www.correct.go.th/rt103pdf/report_table.php?date=2021-05-02&area=10&report=

[4] ศาลจังหวัดหลังสวน, คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓ (ลงวันที่ ๒๔ มิ.ย. ๖๓), https://lnsc.coj.go.th/th/content/page/index/id/200684

[5]กรมราชทัณฑ์, เรื่องการชะลอการส่งตัวผู้ต้องขังเข้าเรือนจำ, http://www.correct.go.th/infosaraban64/letter/filepdf/1619767144.pdf

 

[pdf-embedder url=”https://naksit.net/wp-content/uploads/2021/05/หนังสือร้องเรียนถึงรมตยุติธรรม.pdf”]