คดีป่าแหว่ง: สำนักงานศาลยุติธรรมฟ้องหมิ่นประมาทแกนนำและสมาชิกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

คดีป่าแหว่ง: สำนักงานศาลยุติธรรมฟ้องหมิ่นประมาทแกนนำและสมาชิกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

ความคืบหน้าคดีป่าแหว่ง 

DATENOTE
28/11/2018สำนักงานศาลยุติธรรมแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ กับแกนนำและสมาชิกแกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ผู้ถูกกล่าวหาในคดีประกอบด้วย ได้แก่ นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ แกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ และนายเรืองยศ สิทธิโพธิ์ สมาชิกของเครือข่ายฯ โดยได้แจ้งความดำเนินคดีไว้ทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ สน.พหลโยธิน กรุงเทพฯ
20/11/2019 พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ผู้รับผิดชอบได้มีความเห็นส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมส่งตัวนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณและนายเรืองยศ สินธิโพธิ์ ต่อพนักงานอัยการ ขณะเดียวทั้งสองคนได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 7
24/12/2019 อัยการนัดฟังคำสั่ง (เลื่อนครั้งที่1)
24/01/2020อัยการนัดฟังคำสั่ง (เลื่อนครั้งที่2)
28/02/2020อัยการนัดฟังคำสั่ง (เลื่อนครั้งที่ 3 )
27/03/2020อัยการนัดฟังคำสั่ง ครั้งที่ 4: อัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง ส่งเรื่องกลับไปที่ ผบ.ตร.ให้พิจารณาต่อ
19/06/2020อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 เวลา 11.00 น.นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ นายเรืองยศ  สินธิโพธิ์ 2 ผู้ถูกกล่าวหาและทนายความจากสมาคมสิทธิเสรีภาพและสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางไปที่สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 7 ถนนรัชดาภิเษก โดยพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ผู้รับผิดชอบได้มีความเห็นส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมส่งตัวนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณและนายเรืองยศ  สินธิโพธิ์ ต่อพนักงานอัยการ ขณะเดียวทั้งสองคนได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 7
กรณีปัญหาหมู่บ้านข้าราชการตุลาการเชิงดอยสุเทพ (ป่าแหว่ง) เป็นคดีระหว่าง สำนักงานศาลยุติธรรมแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ กับแกนนำและสมาชิกแกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ผู้ถูกกล่าวหาในคดีประกอบด้วย ได้แก่ นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ แกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ และนายเรืองยศ สิทธิโพธิ์ สมาชิกของเครือข่ายฯ
สำหรับคดีของนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ถูกสำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ 2 คดี เนื่องจากนายธีระศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว ภายหลังจากถูกค้นบ้านเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 61[1] และการให้สัมภาษณ์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 61[2]
ส่วนกรณีนายเรืองยศ สินธิโพธิ์ ถูกสำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท จากการแชร์รูปภาพข้อความจาก Facebook  ชื่อว่า “เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” จากเว็ปไซต์สำนักข่าวมติชนออนไลน์ ซึ่งมีข้อความว่า “ย่ำยีหัวใจคนเชียงใหม่ ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่เคารพดอยสุเทพ” และระบุรายชื่อตุลาการ(ชุดแรก)ที่ยังพักอาศัยในอาคารชุดป่าแหว่ง
ข้อสังเกตต่อประเด็นการฟ้องคดี
ประการแรก การให้สัมภาษณ์รวมถึงการเคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างบ้านพักศาลตุลาการในพื้นที่ป่าดอยสุเทพ นับเป็นการกระทำที่เป็นไปเพื่อป้องกันผลกระทบต่อผืนป่าดอยสุเทพและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่[3] เป็นความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งกระบวนการสำคัญหนึ่งในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดช่องทางให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามามีบทบาทในการตัดสินธิใจทางการเมืองหรือนโยบายของรัฐ
ประการที่สอง ในการแจ้งความดำเนินคดี สำนักงานศาลยุติธรรมไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจกล่าวโทษหรือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
ประการสุดท้าย กรณีนายธีระศักดิ์ที่สำนักงานศาลแจ้งความที่ สน. พหลโยธิน ภาระได้เริ่มต้นตั้งแต่ ผู้ถูกกล่าวหาต้องเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา และยื่นคำให้การเพิ่มเติม ถือได้ว่าการดำเนินคดีต่อผู้ถูกดำเนินได้สร้างภาระ ทั้งในแง่ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ระยะเวลา ซึ่งตามหลักสากลทั่วไป รัฐโดยเฉพาะหน่วยงานฝ่ายตุลาการจำเป็นต้องส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวกและรวดเร็ว กล่าวคือ พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจในท้องที่เกิดเหตุ คือพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ถูกกล่าวหามีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และพยานหลักฐานรวมถึงพยานบุคคลส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อความสะดวกแก่การสอบสวนและพิจารณาคดีและเพื่อให้โอกาสจำเลยได้เข้าถึงสิทธิการพิจารณาคดี ในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม การเพิ่มภาระในการต่อสู้คดี กรณีการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งให้ยุติการเคลื่อนไหวก็นับเป็นการลงโทษผู้บริสุทธิ์โดยอาศัยกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองในการเดินทางของผู้ถูกกล่าวหาและพยานบุคคลต่าง ๆ โอนคดีจากสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินไปยังท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม[4]
ภายหลังจากพนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 คน ต่อพนักงานอัยการอัยการแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีหรือขอให้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 ประกอบระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด  ว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติหรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ  พ.ศ. 2554 ข้อ 5 ข้อ 6 และ ข้อ 9 ทั้งนี้ พนักงานอัยการได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 24 ธันวาคม เวลา 10.00 น.
————
[1] ข้อความบางส่วนจากการให้สัมภาษณ์ต่อนักข่าวของนายธีระศักดิ์ “ผมถือว่าเป็นการคุกคามประชาชนโดยกลุ่มผู้พิพากษากลุ่มหนึ่งนะฮะ ซึ่งการกระทำของท่านเช่นนี้ ผมว่ามันขัดแย้งกับความเป็นจริงต่อคุณธรรม ต่อจริยธรรมของท่าน ผู้พิพากษากลุ่มนี้แจ้งความเอาผิดกับประชาชนน่ะ แล้วถ้าเกิดเรื่องมันไปถึงศาล พวกผู้พิพากษาก็เป็นพวกผู้พิพากษาเป็นคนตัดสินคดีมันยุติธรรมมั้ย” “แต่ตอนนี้ท่านอาศัยอำนาจที่มีอยู่ อำนาจตุลาการซึ่งตำรวจก็เกรงกลัวท่าน ใครก็เกรงกลัวท่าน ท่านส่งเจ้าหน้าที่มาคุกคามประชาชนถึงบ้านมันถูกต้องมั้ย ผมถาม ถามจริงๆ นะ ประเทศไทยเนี่ย คุณรุกป่ามันก็เป็นเรื่องจริง” ข้อมูลจากสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
[2] ดูเนื้อหาแถลงข่าว. [ออนไลน์] https://www.youtube.com/watch?v=yZSSkfzMZaA และ https://www.youtube.com/watch?v=ZhPY049PPQM. เข้าถึงเมือวันที่ 2 เมษายน 2562.
[3] ผืนป่าดอยสุเทพ มีสภาพเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง เป็นผืนป่าใกล้เมืองจึงเป็นทั้งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งธรรมชาติที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และประการสำคัญคือเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานเป็นที่เคารพสักการบูชาของชาวเชียงใหม่และผู้คนโดยทั่วไป นอกจากความสำคัญในแง่ของประวัติศาสตร์ ความเคารพศรัทธา ศิลปวัฒนธรรมแล้ว ดอยสุเทพยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นทั้งคนเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เกษตรกรและกลุ่มคนทุกหมู่เหล่า
[4] คำให้การเพิ่มเติมถึงประธานศาลฎีกา เรื่องขอให้ยุติคดีที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนที่เรียกร้องกรณีหมู่บ้านป่าแหว่ง ข้อมูลจากเครือข่ายคณะทำงาน ภายใต้ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เป็นองค์กรหลักที่ให้ความช่วยเหลือทางคดี