เมื่อกฎหมายตกเป็นเครื่องมือ ในการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อยุติการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง

เมื่อกฎหมายตกเป็นเครื่องมือ ในการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อยุติการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง

เมื่อกฎหมายตกเป็นเครื่องมือ

ในการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อยุติการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง

“รัฐต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อประกันสิทธิและความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น ในการแสดงออก ในการชุมนุม และการคบค้าสมาคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” และ “รัฐต้องสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการบรรลุซึ่งสิทธิมนุษยชน โดยประกันว่าการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต้องไม่เป็นความผิดอาญา หรือไม่ถูกจำกัดโดยข้อจำกัดที่ขัดแย้งกับพันธกรณีภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” มติของสมัชชาสหประชาชาติ วันที่ 17 ธันวาคม 2558[1]

แต่นับแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองในประเทศไทยต่างถูกจำกัดในหลายทาง เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 สั่งห้ามมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12. ห้ามมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป จนถึงปัจจุบันนี้คำสั่งทั้งสองฉบับนี้ได้ก่อให้เกิดการดำเนินคดีกับประชาชนที่ชุมนุมกันทางการเมืองหลายร้อยคน ทั้งที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการแสดงออก และ ในการชุมนุม อันเป็นสิทธิที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น

แม้มติของสมัชชาสหประชาชาติ วันที่ 17 ธันวาคม 2558 จะเป็นแนวทางให้รัฐบาลไทยได้ดำเนินการเพื่อรับรองสิทธิของพลเมืองไทย แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ได้แสดงความจริงใจในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมติของสมัชชาสหประชาชาติดังกล่าวแต่อย่างได้ เห็นได้จากกรณีที่ยังคงมีการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่ออกมารณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตย เช่น กรณีกลุ่มนักกิจกรรม นักศึกษา 14 คน อาทิ นายรังสิมันต์ โรม นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว  นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์  นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นายรัฐพล ศุภโสภณ เป็นต้น ซึ่งที่เคยจัดกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ในวาระครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยังคงได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน  ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคดี ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และมาตรา 215 ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562  นี้

จากกรณีเดียวกันนี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ก็ถูกพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวันออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 ที่ผ่านมาเช่นกัน เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แจ้งความกล่าวหาว่า นายธนาธร ในความผิดตามมาตรา 116 และ 189 แห่งประมวลกฎหมายอาญา รวมถึงกรณี คสช. มอบอำนาจให้ฝ่ายกฎหมาย แจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (กก.3 บก.ปอท) เพื่อเอาผิดกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เพราะเหตุ “เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ยุบพรรคไทยรักษาชาติและได้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่เว็ปไซต์ http://futureforwardparty.org/

นอกจากคำสั่งต่างๆของ คสช. ที่ออกมาเพื่อลดทอน หรือยุติการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว  คสช. ยังได้แจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนเพื่อให้ยุติการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างน้อย 611 ราย (ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw, 2562) อันเป็นการขัดกับภารกิจของรัฐบาลที่ควรสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองและพัฒนาประชาชนให้เป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น (active citizen) ทางการเมือง อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้เป็นสังคมประชาธิปไตย แต่รัฐบาลกลับปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางสังคมของพลเมืองโดยใช้การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ หรือฟ้องปิดปาก (SLAPPs) มาใช้เพื่อยุติการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคมของประชาชน

“ทั้งนี้ การที่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในการดำเนินคดีกับประชาชนนั้น ทำให้เกิดประเด็นข้อถกเถียงว่าหน่วยงานรัฐมีสิทธิและมีความชอบธรรมที่จะดำเนินคดีกับประชาชนหรือไม่”

เมื่อกล่าวถึงการดำเนินคดีในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อยุติการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือการฟ้องปิดปาก (SLAPPs)[2] คนจำนวนมากมักจะนึกถึงคดีประเภทหมิ่นประมาท แต่ในความเป็นจริงมีการใช้ข้อหาตามกฎหมายอื่นอีกมากมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชน และส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา โดยสามารถแบ่งกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

ความผิดทางกฎหมายและความเกี่ยวพันกับ SLAPPs

  1. กลุ่มความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ได้แก่
    • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
    • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือที่มักถูกเรียกว่า “ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น”  กฎหมายมาตรานี้มักถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับการใช้สิทธิทางการเมืองใน 2 รูปแบบ คือการเสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะในกรณีที่มีการชุมนุมและมีประกาศเชิญชวนและการปราศรัย/การแสดงความคิดเห็นในการชุมนุม บรรดาผู้ที่ถูกมองว่าเป็นแกนนำจะถูกดำเนินคดีตามมาตรานี้
    • ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216 (มั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง) ถือเป็นอีกข้อกล่าวหาหลักที่ถูกนำมาใช้กับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และศาลมักจะมีคำพิพากษายกฟ้อง
    • ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะมาตรา 14 ซึ่งมักถูกใช้กับการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกโดยการใช้ช่องทางออนไลน์ และจะถูกใช้ควบคู่กับกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีการใช้อยู่ 2 มิติหลักคือ ในมิติด้านความมั่นคง มาตรา 14 (2) (3) จะถูกใช้ควบคู่กับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 แต่หากเป็นมิติที่กระทบชื่อเสียงส่วนตัว มาตรา 14 (1) จะถูกใช้ร่วมกับข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ซึ่งมิติการใช้ควบคู่กับข้อหาหมิ่นประมาทไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ได้แก้ไขมาตรา 14 (1) ไม่ให้ใช้กับการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ในช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นว่าหลายคดีเมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือฟ้องมาตรา 14 (1) ไปพร้อมกับข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา พนักงานอัยการก็จะสั่งไม่ฟ้องในข้อหา มาตรา 14 (1) หรือหากมีการฟ้องไปศาลก็จะพิพากษายกฟ้องในข้อหาดังกล่าวแล้วแต่กรณี
    • ความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กฎหมายนี้ตราขึ้นโดยสภานิติ

บัญญัติแห่งชาติซึ่งแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร คสช. อ้างว่าเป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับการจัดระเบียบการชุมนุม หลังจากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 เป็นต้นมา ข้อหาตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ โดยเฉพาะข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม

นอกจากนี้ ยังมีข้อหาอื่นๆพ่วงเข้ามาอีก เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน  ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535  พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493  พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 เป็นต้น

  1. กลุ่มความผิดเกี่ยวกับการปกครองและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่
    • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 (แจ้งความเท็จ), มาตรา 172, 173 (แจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา) พบในกรณีการใช้สิทธิในการร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐ
    • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140 (ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน) มักเป็นข้อหาที่พ่วงมากับข้อหาอื่นๆจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุม
    • ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม มีการนำประมวลกฎหมายมาตรา 198 (ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา) มาใช้กับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานศาลหรือคำพิพากษา
  1. กลุ่มความผิดฐานหมิ่นประมาท

3.1 หมิ่นประมาททางอาญา ประมวลกฎหมายมาตรา 326 (หมิ่นประมาท) และมาตรา 328  (หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา) เป็นข้อกล่าวหาที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ทั้งโดยเอกชนและหน่วยงานรัฐสำหรับคุกคามการเคลื่อนไหวประเด็นสาธารณะ

3.2 หมิ่นประมาททางแพ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 423 (หมิ่นประมาท) เป็น   ฐานทางกฎหมายในการฟ้องคดีแพ่งต่อชาวบ้านและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

  1. 4. ความผิดอื่นๆ

4.1 ความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 296

4.2 ความผิดต่อเสรีภาพ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309, 310 (ข่มขืนใจ)

4.3 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 (ลักทรัพย์) มาตรา 352

(ยักยอกทรัพย์) มาตรา 358, 360 (ทำให้เสียทรัพย์) และมาตรา 362, 364, 365 (บุกรุก) ในกลุ่มนี้ ข้อหาบุกรุกเป็นข้อหาที่พบมากที่สุด และมักจะมาพร้อมกับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่ต้องเข้าไปในสถานที่ของคู่พิพาท สถานที่ดำเนินโครงการของเอกชน สถานที่ของหน่วยงานราชการหรือสถานที่สำหรับจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์)

4.5 ความผิดตามกฎหมายที่ไม่ปกติ เป็นความผิดตามกฎหมายที่ถูกกำหนดขึ้นในบางช่วงเวลา

เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ออกมาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกของประชาชน  ซึ่งถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางเพื่อสร้างภาระและข่มขู่ผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและ คสช. หรือเคลื่อนไหวกระทบต่อนโยบายของ คสช. (สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, 2562)

จะเห็นได้ว่ามีกฎหมายเป็นจำนวนมากซึ่งควรเป็นเครื่องมือของรัฐในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้ถูกรัฐบาลและ คสช. นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ การสื่อสาร และตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยได้ทำไว้ ที่ว่าจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น รัฐบาลควรยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการยุติการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมควรใช้กฎหมายเพื่อผดุงความยุติธรรมและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และไม่มุ่งใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง

*****************************

อ้างอิง

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw). (2562) สถิติการดำเนินคดี. [ออนไลน์]

https://freedom.ilaw.or.th/node/209.  เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562.

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน. (2562). คู่มือทนายความ ในคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วม

ในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuit Against Public Participation : SLAPP ) หรือ “การฟ้องคดีปิดปาก”)  

*************************

[1] เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ประเทศไทยเข้าร่วมกับอีก 127 ประเทศในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยประเทศไทยได้รับรองมติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นมติที่เรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ งดเว้นจากการคุกคามหรือตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและอนุญาตให้มีการแสดงความคิดเห็นต่างจากรัฐได้อย่างสงบและอย่างเสรี เป็นมติที่เรียกร้องให้ภาคธุรกิจเคารพสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและจำแนก แก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนร้ายแงที่เกิดขึ้นจากกิจการของตน โดยให้มีการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับกลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

[2] การฟ้องปิดปาก (Strategic Lawsuit Against Public Participation หรือ SLAPPs) เป็นรูปแบบหนึ่งของการคุกคามหรือละเมิดโดยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (Legal abuse หรือ Judicial Harassment) โดยการฟ้องปิดปากจะเกี่ยวข้องกับการคุกคามต่อบุคคลที่เข้าไปมีส่วนร่วมสาธารณะหรือทางการเมือง