นัดสืบพยานโจทก์คดีฟ้องนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งเเวดล้อมฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและหมิ่นศาล

นัดสืบพยานโจทก์คดีฟ้องนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งเเวดล้อมฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและหมิ่นศาล

คดี ป้ายปากมูล-หมิ่นศาลและผู้ว่าราชการจังหวัด อุบลฯ

16 ธันวาคม 2562 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดอุบลราชธานี นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ ในที่ คดีหมายเลขดำที่ 99/2562 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี โจทก์ กับ นายกฤษกร ศิลารักษ์ (ป้ายปากมูล) ในฐานความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และหมิ่นประมาทศาล จากกรณีที่นายกฤษกร นำข้อมูลโพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพลงเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะ

การนัดสืบพยานโจทก์ในครั้งนี้นับครั้งที่ 2 ต่อเนื่องมาจากวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 แล้ว จึงเหลือการสืบพยานอีกโจทก์ 2 ปาก

เหตุแห่งคดีนี้เกิดจากการที่นายกฤษกร ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณี ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี พิจารณาคดีของนายดวงเด่น สุทธาคง ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เกาะดอนคำพวง ตำบลกุดชมพู อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งมีการตัดโค่นต้นไม้เป็นจำนวนมากและไม้ที่ถูกตัดนั้นมีไม้ยางนาซึ่งเป็นไม้ต้องห้ามรวมอยู่ด้วยหลายต้น

ทั้งนี้เมื่อนายกฤษกรติดตามการพิจารณาคดีแล้วพบว่ายังมีข้อมูลที่ขาดไปจึงด้วยความหวงแหนต่อทรัพยากรธรรมติในพื้นที่ จึงได้โพสต์ข้อความซึ่งเป็นข้อมูลลงเฟซบุ๊คของตนเองโดยตั้งค่าเป็นสาธารณะ เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เห็นว่าตกหล่นและไม่ได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณา นอกจากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการพิจารราคดีของศาลจังหวัดอุบลแล้ว นายกฤษกรยังได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการบุกรุกเกาะและการตัดไม้ต้องห้ามในพื้นที่อย่างต่อเนื่องหลายข้อความ จึงเป็นเหตุให้นายจักรกฤช วิเศษชลธาร ข้าราชการบำนาญกรมสวบสวนคดีพิเศษ ผู้เสียหายที่ 1 ผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุบล ผู้เสียหายที่ 2  และศาลจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เสียหายที่ 3 แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 , 326 และมาตรา 328

นอกจากคดีข้างต้นแล้วนายกฤษกร (ป้าย ปากมูล) ยังถูกฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งศาลจังหวัดอุบลราชธานีตัดสินลงโทษฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 2 ปี ฐานนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จและเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ จำคุก 2 ปีและปรับ 50,000 บาท รวมจำคุก 4 ปี และปรับ 110,000 บาท (อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่2445/2561)

คดีหมายเลขดำที่ 2445/2561 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี โจทก์ กับ นายกฤษกร ศิลารักษ์ จำเลย ในฐานความผิดนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะทำให้เกิดคามเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นให้เหตุให้ประชาชนตื่นตกใจและดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าด้วยการโฆษณา

ข้อเท็จจริงคดี

นายกฤษกรได้โพสข้อความลงในเฟสบุ๊คส่วนตัว โดยพิมพ์ข้อความ พร้อมกับลงรูปภาพ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 โดยมีการแสดงความคิดเห็นว่า ในกรณีเปิด-ปิดเขื่อนปากมูล ที่หน่วยงานราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้มีหนังสือเรียกประชุมอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งในขณะนั้นมีปริมาณน้ำมากมายมหาศาลที่เขื่อนอุบลรัตน์ ระบายลงจนท่วมจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และไหลลงสู่แม่น้ำชี และต่อมาจะไหลเข้าสู่จังหวัดอุบลฯ และประกอบกับปริมาณน้ำในลำน้ำมูล มีปริมาณมากกำลังเอ่อท่วมจังหวัดศรีษะเกษก็กำลังไหลเข้าสู่ตัวเมืองอุบลฯ ซึ่งหากมีการปิดประตูเขื่อนปากมูล จะทำให้มวลน้ำเหล่านี้ท่วมเมืองอุบลฯ เพราะไม่สามารถไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้ ซึ่งโจทก์เห็นว่า การโพสในลักษณะนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ซึ่งนายสฤษดิ์ ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีและในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ผู้เสียหาย เป็นผู้ดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ ได้กล่าวว่าข้อมูลที่จำเลยกล่าวเป็นข้อมูลอันเป็นความเท็จ

นายกฤษกร ศิลารักษ์ คือใคร

นายกฤษกร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ปากมูล ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ที่ปรึกษาชมรมอนุรักษ์ดอนคำพวง จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ และคณะทำงานประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมภาคประชาชนอาเซียน (APF/ACSC 2019)

นายกฤษกร เริ่มต้นการเข้าทำกิจกรรมกับชุมชน จากการเป็นตัวแทนของครอบครัวในการยื่นเรื่องเรียกร้องความเป็นธรรมจากความเดือดร้อนของชาวบ้านในการที่รัฐบาลสร้างเขื่อนราษีไศลในปี 2535 โดยได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้รวบรวมเอกสาร ข้อมูลต่างๆ และประสานงานกับตัวแทนชาวบ้าน เนื่องจากเป็นผู้รวบรวมเอกสารและประสานงานกับตัวแทนชาวบ้าน จึงเป็นตัวแทนร่วมกับแกนนำเขื่อนราษีไศล มาร่วมก่อตั้ง “สมัชชาคนจน” และถูกแต่งตั้งให้เป็นพ่อครัวใหญ่ ในเวทีสมัชชาคนจนด้วย อีกทั้งยังได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในตัวแทนเจรจากับรัฐบาลในช่วงปี 2539

ภายหลังจากการจ่ายค่าชดเชยกรณีเขื่อนราศีไศล ในปี 2540 ป้ายต้องเดินทางลี้ภัยที่ต่างประเทศ เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย และในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา ได้รับการร้องขอจากเทศบาล กำนันผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านในชุมชน ตำบลกุดชมพู อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ให้เข้าไปช่วยเหลือกรณีที่ดินดอนคำพวง ที่กำลังถูกบุกรุกโดยนายทุน เนื่องจากมีประสบการณ์และเป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ จากกรณีเป็นหนึ่งในผู้นำ เรียกร้องความเป็นธรรม จากการสร้างเขื่อนราศีไศล ดังนั้นนายกฤษกร เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเพื่อสาธารณะชนคนหนึ่ง

ผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี
การถูกดำเนินคดีทั้ง 2 คดี ทำให้นายกฤษกรถูกกีดกันไม่สามารถใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้อย่างเต็มที่ การดำเนินการเช่นนี้ ถือเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน หรือ Strategic Lawsuit Against Public Participation (SLAPPs) หรือ การฟ้องปิดปาก อันเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการยุติการมีส่วนร่วมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

การถูกดำเนินคดีดังกล่าวยังได้สร้างภาระให้กับนายกฤษกรโดยตรง คือสร้างความกังวล หวาดกลัวว่าจะต้องถูกลงโทษ ก่อให้เกิดภาระในการต่อสู้คดีที่จะต้องใช้ทั้งเงินและเวลาในการต่อสู้คดี ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานรณรงค์และกิจกรรมเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้ประชาชนและส่วนรวมต้องถูกจำกัดหรือต้องยุติไปโดยปริยาย นอกจากนี้ยังเป็นการเบี่ยงเบนการต่อสู้ในประเด็นสาธารณะประโยชน์ให้เป็นประเด็นส่วนตัว อันทำให้การเรียกร้องในประเด็นหลักคือการปกป้องประโยชน์สาธารณะไม่ถูกพิจารณาหรือต้องยุติไป

ทั้งนี้ การใช้ความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญามาดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวนั้น มีต้นทุนน้อย กล่าวคือ เป็นการใช้กลไกของรัฐในการดำเนินการทั้งหมด ตั้งแต่ชั้น ตำรวจ อัยการ ศาล ทั้งที่การดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิเช่นนี้ เป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐไปโดยไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง แต่นักปกป้องสิทธิที่เรียกร้องประโยชน์สาธารณะ ต้องเผชิญกับต้นทุนในการต่อสู้คดีที่สูงมาก ทั้งเงินประกันตัว ค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายในการเตรียมคดีและการเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ตามหมายเรียกในชั้นต่างๆ และอาจต้องติดคุกหากศาลพิพากษาว่ามีความผิดเห็นได้ว่าการดำเนินคดีกับนายกฤษกร ซึ่งเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเช่นนี้ ถือเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (SLAPPs) ซึ่งถือเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมในการคุกคามและปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแสดงความเห็นและการแสดงออก เป็นการฟ้องร้องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือฟ้องเพื่อปิดปาก หรือเพื่อทำให้เกิดความยากลำบากกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการที่จะทำหน้าที่ของตน ซึ่งรัฐบาลไทยยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการคุกคามในรูปแบบนี้และรูปแบบอื่นๆ ทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังต้องตกอยู่ในความเสี่ยงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :