คดีฟ้องปิดปากสูงขึ้น ในขณะที่เพดานการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนกลับต่ำลง

คดีฟ้องปิดปากสูงขึ้น ในขณะที่เพดานการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนกลับต่ำลง

เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่จริงจังในการแก้ไขปัญหา:

คดีฟ้องปิดปากจึงสูงขึ้น ในขณะที่เพดานการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนกลับต่ำลง

กรณีการดำเนินคดีในหลายข้อหาต่อนักศึกษาและนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง จากการจัดหรือเข้าร่วมการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 รวมถึงการชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศที่มีข้อเรียกร้องเดียวกัน คือ ให้รัฐบาลให้ประกาศให้มีการยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน, กรณีการฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว นักวิจัย นักวิชาการ จากการที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อต้านการละเมิดแรงงานที่ในฟาร์มไก่กว่า 20 คน, กรณีการฟ้องคดีต่อบุคคลที่นำเสนอหรือตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล เช่น การดำเนินคดีต่อ ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี (หมู่อาร์ม) ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตเบี้ยเลี้ยงในกองทัพ หรือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาของส.ส.พรรคก้าวไกลเกี่ยวกับมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

รวมถึงการฟ้องคดีต่อผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ สะท้อนว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยได้ถูกนำใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่องและขยายวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งยังเห็นได้ชัดว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาและผลักดันให้มีการใช้กลไกการกลั่นกรองคดีฟ้องเพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพนั้นไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวอย่างจริงจัง

ในระยะหลังมานี้ สังคมไทยมักคุ้นหูกับเกี่ยวกับการฟ้องคดีปิดการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน (Strategic Lawsuits Against Public Participation) หรือที่รู้จักกันในชื่อ การฟ้องคดีปิดปาก (SLAPPs) มากขึ้น เนื่องจากมีการตื่นตัวและพบเห็นกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าของบริษัทเอกชนออกมาข่มขู่ว่าฟ้องคดีหรือแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบหรือเรียกร้องสิทธิในด้านต่างๆ ต่อหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเห็นหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ไขสถานการณ์การฟ้องคดีปิดปาก โดยการเร่งผลักดันกฎหมาย และการกำหนดเเผนการดำเนินงานต่างๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะได้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับรองสิทธิของประชาชนไว้มากมาย โดยเฉพาะสิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในกระบวนการกำหนดนโยบายและการออกกฎหมายที่จะมีผลกระทบต่อตัวเองหลายมาตรา อาทิ การรับรองให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐ ให้ดำเนินการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นไม่ดำเนินการสิ่งที่จะก่อนผลเสีย โดยที่หน่วยงานรัฐจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย ตลอดจนการกำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ การจัดทำบริการสาธารณะ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย เป็นต้น

อีกทั้ง ภายในปีเดียวกันประเทศไทยได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และ 165/2 เพื่อป้องกันการฟ้องคดีกลั่นแกล้งกัน หรือการฟ้องคดีปิดปากเพื่อให้ศาลพิจารณาเห็นในคำฟ้องของประชาชน ที่ไม่ได้เป็นการฟ้องเพื่อใช้สิทธิอย่างสุจริตเป็นการฟ้องเพื่อปิดปาก โดยในมาตรา 161/1 ซึ่งได้บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจศาลสามารถพิพากษายกฟ้องได้โดยไม่ต้องยกคดีขึ้นพิจารณาไต่สวนมูลฟ้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ผู้ตกเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องคดีปิดปากจะต้องมีภาระในการต่อสู้คดี เพราะการไต่สวนมูลฟ้องเป็นการฟังความข้างเดียวและใช้ระยะเวลาในการไต่สวนค่อนข้างนาน ทำให้ผู้ถูกฟ้องมีภาระทั้งค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี เช่น ค่าทนายความ ค่าเดินทางไปศาลและค่าใช้จ่ายในการประกันตัว ประการต่อมา เพื่อปกฟ้องคุ้มครองผู้ถูกฟ้องจากการเสื่อมเสียชื่อเสีย หากศาลได้มีการประทับรับฟ้อง ซึ่งก่อผลกระทบต่อหน้าที่การงานได้ เป็นต้น ประการสุดท้ายคือเพื่อการลดปริมาณคดีในศาลได้ด้วย

ส่วนมาตรา 165/2 ได้บัญญัติว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยสามารถแถลงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ที่จะแสดงให้ศาลเห็นว่าคดีไม่มีมูล และระบุพยานเสนอต่อศาล ซึ่งศาลสามารถเรียกพยานมาไต่สวนได้

ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights – NAP) ระยะที่ 1 (ปี 2562–2565) ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านแรงงาน (2) ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (3) ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ (4) ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ โดยแผนฉบับนี้ได้บรรจุแนวทางป้องกันการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเข้าไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลา 1 ที่ประเทศไทยมีกลไกป้องกันการฟ้องคดีปิดปากเพื่อปกป้อง คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคมนั้น จากการติดตามและเก็บข้อมูลคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย (SLAPP DATABASE CENTER) ของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยังพบว่า คดีฟ้องปิดปากในช่วงมีนาคม 2562 ถึง สิงหาคม 2563 มีลักษณะที่ทวีความรุนเเรงขึ้นดังนี้

1. การฟ้องที่ขยายวงกว้างมากขึ้น

นอกจากจะดำเนินคดีปิดปากต่อผู้ได้รับผลกระทบที่ออกมาเเสดงความคิดเห็น นำเสนอปัญหาต่อสังคมโดยตรงแล้ว ในระยะหลังนี้พบว่ามีการฟ้องที่ขยายวงกว้างมากขึ้น กล่าวคือ มีการดำเนินคดีต่อผู้ที่ติดตามสถานการณ์และสนับสนุนให้กำลังใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของบริษัทธรรมเกษตรที่ได้ฟ้องคดีต่อลูกจ้าง ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติในข้อหาแจ้งความเท็จ เนื่องจากร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ก่อนที่จะมีการดำเนินคดีต่อนักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน อาจารย์มหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่องค์กรสิทธิมนุษยชนและอดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ในข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 จากการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานการเผยแพร่แถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยุติการฟ้องร้องคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการทวีตข้อความในทวิตเตอร์เพื่อสนับสนุนนักปกป้องสิทธิที่ถูกดำเนินคดี เป็นต้น

2. การฟ้องคดีต่อบุคคลที่นำเสนอหรือตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ

โดยทั่วไปแล้วการแสดงความคิดเห็น การติดตามตรวจสอบ และการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของภาครัฐ ถือเป็นสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคมขั้นพื้นฐานที่ถูกรับรองไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับนับตั้งแต่ฉบับปี 2540 แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามีการฟ้องคดีต่อบุคคลที่นำเสนอหรือตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลหลายกรณี เช่น กรณีการดำเนินคดีต่อ ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี อดีตทหารที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตเบี้ยเลี้ยงในกองทัพ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าขัดขืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และหนีราชการในเวลาปกติ ตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 30 มาตรา 45(3) ประกอบมาตรา 46(4)

หรือการดำเนินคดีต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรคก้าวไกล ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2563 เกี่ยวกับมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่ตั้งขึ้นในช่วงก่อนที่จะมีการรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมูลนิธิฯ โดยในการอภิปรายดังกล่าว มีการกล่าวถึงกิจกรรมของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่มีหลายงานไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และการมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนที่มีความเกี่ยวโยงกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าไปเกี่ยวข้องกับมูลนิธิฯ รวมถึงการมีกลุ่มบริษัทเอกชนบางแห่งที่ได้ประโยชน์จากการทำสัญญากับรัฐเป็นผู้บริจาคให้มูลนิธิต่อเนื่องทุกปี ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณะและบุคคลสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ การตัดสินใจทางนโยบายและการใช้งบประมาณแผ่นดิน และมีผลกระทบต่อสาธารณะที่สาธารณชนควรได้รับรู้ข้อมูลพฤติกรรมและการดำเนินงานของบุคคลในคณะรัฐบาลเหล่านั้น เพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้โดยสาธารณะ

หรือกรณีคดีบริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) ดำเนินคดีต่อศิลปิน ในข้อหานำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(2) จากกรณีการใช้เฟซบุ๊กส่วนตัว โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับการคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด 19 ของสนามบินว่า ตนได้เดินทางกลับจากกรุงบาร์เซโลน่า ประเทศสเปนเข้าประเทศไทยโดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ต.ม.) สนามบินสุวรรณภูมิ เช่นเดียวกับผู้โดยสารคนอื่นอีก 500-600 คน ในเที่ยวบินลำเดียวกันและที่มากับสายการบินอื่นอีก 2-3 ลำ

3. การใช้ข้อหาความผิดลหุโทษ หรือความผิดอาญาที่ไม่มีโทษจำคุกมาใช้เป็นเครื่องมือมากขึ้น

กฎหมายที่มีความผิดเล็กน้อยต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือมากขึ้น จากที่เดิมที่การดำเนินคดีเพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วม ส่วนมากมักจะนำกฎหมายเป็นความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับความมั่นค หรือที่มีโทษสูง เช่น ข้อหายุยงปลุกปั่น ข้อหาชุมนุมมั่วสุมตามประมวลกฎหมายอาญา หรือข้อหาละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีการเรียกค่าเสียจำนวนสูง แต่ปัจจุบันนอกจากกฎหมายข้างต้นแล้ว เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ได้นำกฎหมายหยิบย่อยมาใช้ดำเนินคดีต่อประชาชนเพิ่มขึ้น

ดังที่พบในกรณีของการดำเนินคดีต่อ 4 นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่จัดกิจกรรมผูกโบขาว เรียกร้องความยุติธรรมให้ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการดำเนินคดีตามข้อหาตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 12 มาตรา 56 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 โดยนักศึกษาได้จัดกิจกรรม “ผูกโบขาว” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หน้ากระทรวงกลาโหม หน้ากองทัพบก และหน้ากองทัพภาคที่ 1 เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ ผู้ลี้ภัยชาวไทย ที่ถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ซึ่งก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าทั้ง 4 มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นการตั้งข้อหาตามระบุข้างต้น นอกจากนี้ในเหตุการณ์เดียวกัน 4 นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่จัดกิจกรรมผูกโบขาวยังได้ถูกดำเนินคดีถึง 4 สภ.

กรณีการดำเนินคดีต่อนักศึกษาและประชาชนกว่า 15 คน ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ในข้อหาความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป , ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร, ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548, พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522, พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2558, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 และ พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 เป็นต้น

รวมไปถึง การดำเนินคดีข้อหากระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือยหรือ เปิดเผยร่างกาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 388 ต่อแกนนำกลุ่มขอคืนไม่ใช่ขอทาน จากกรณีการได้จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้ประชาชนในสังคมรับทราบ และให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมอีกกว่า 16 ล้านคน ได้ให้ความสำคัญเเละหันมาเรียกร้องสิทธิในการขอเบิกเงินออมของผู้ประกันตน ที่สะสมไว้กับสำนักงานประกันสังคมเพื่อนำมาใช้ก่อนในช่วงสถานการณ์โควิด-19

4. การใช้กฎหมายพิเศษ อย่าง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มาเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

การใช้กฎหมายพิเศษที่ประกาศเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งต่ออายุกินเวลานานถึง 5 เดือน โดยที่ไม่มียอดผู้ติดเชื้อรายวันติดต่อเป็นเวลามากกว่า 1 เดือน มาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
เช่นกรณีการดำเนินคดีต่อประชาชน 2 คน ที่จัดกิจกรรมระดมทุนวันครบรอบ 6 ปี รัฐประหาร จัดกิจกรรมดนตรีเปิดหมวกระดมทุนช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนเพราะโควิด19 เนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ปีรัฐประหาร ที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ โดยได้นำภาพวาดผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่ตัวเองวาดมาแสดงและให้สัมภาษณ์ ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุม ตาม พ.ร.กฉุกเฉินฯ

การดำเนินคดีต่อแกนนำนักเคลื่อนไหวทางสังคมเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ หลบหนีการจับกุม จากกรณีการจัดชุมนุมเนื่องจาก ในลักษณะสุ่มเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด19 ที่จังหวัดระยองระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ จากกรณีที่ 1 ใน 2 คนที่ชูป้ายข้อความ ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข และนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พร้อมคณะลงพื้น จ.ระยอง ให้กำลังใจประชาชน หลังจากที่พบว่า มีการปล่อยให้มีทหารชาวอียีปต์ติดโควิดเข้ามาในพื้นที่

หรือกรณีที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กับแกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากกรณีการจัดชุมนุมที่บริเวณลานประตูท่าแพ เรียกร้องรัฐบาลให้ประกาศให้มีการยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนคดีฟ้องปิดปากยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนเเรง โดยขยายวงกว้างไปยังผู้ที่สนับสนุนและติดตามประเด็นที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้อง และมีการนำกฎหมายอื่นๆ นอกจากกฎหมายความมั่นคงและกฎหมายที่มีโทษรุนแรงมาเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วย และโดยส่วนมากกลับเป็นเป็นหน่วยงานรัฐและความมั่นคงที่เป็นผู้ดำเนินคดีต่อประชาชนเสียเอง

ไม่เพียงเท่านั้น กลไกป้องกันและคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคมทั้งที่มีอยู่เดิม อย่างพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 สั่งไม่ฟ้องคดีเพื่อป้องกันการฟ้องร้องคดีที่ไม่สุจริตได้ และกลไกที่มีขึ้นมาใหม่ ได้แก่ การรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และ 165/2 ตลอดจนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights – NAP) กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย