สำรวจเส้นแบ่งฟ้องหมิ่นประมาทอาญาแบบไหนเข้าข่ายฟ้องปิดปาก

สำรวจเส้นแบ่งฟ้องหมิ่นประมาทอาญาแบบไหนเข้าข่ายฟ้องปิดปาก

หมิ่นประมาทอาญาที่ใครๆ ก็นำมาใช้: สำรวจเส้นแบ่งฟ้องหมิ่นประมาทอาญาแบบไหนเข้าข่ายฟ้องปิดปาก

ความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา[1] ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแกล้งฟ้อง เนื่องจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในคดีสาธารณะ ทั้งการพูด การวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็น มักจะล่วงล้ำไปกระทบสิทธิในชื่อเสียงของปัจเจกชน และก่อให้เกิดอำนาจฟ้องแก่บุคคล ในขณะเดียวกันผู้ฟ้องเองก็ไม่ได้ตั้งใจแสวงหาความยุติธรรมหรือเรียกร้องความเป็นธรรมจากการฟ้องคดีอย่างแท้จริง

ในประเทศไทย การใช้ความผิดฐานหมิ่นประมาทเพื่อปิดปาก สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นการเสนอข่าวของนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการในการให้ความเห็นเชิงวิชาการ นักการเมืองในการดำเนินนโยบายทางการเมือง ประชาชนทั่วไปจากการตรวจสอบการทำหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ การประกอบกิจการของเอกชนที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือประเด็นสาธารณะอื่น ๆ เนื่องจากความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟ้องในแง่ที่ว่าผู้ฟ้องไม่ต้องมีค่าขึ้นศาล อีกทั้งความผิดทางอาญาส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกฟ้องโดยตรง ส่งผลให้เกิดความกลัวมากกว่าการฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ดังจะเห็นได้จากสถิติคดีหมิ่นประมาทอาญามาตรา 326- ม.333 ของสำนักแผนงานและงบประมาณที่ระบุว่าปี 2563 มีคดีฐานหมิ่นประมาทที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 565 คดี[2]

อย่างไรก็ตาม การที่จะเหมารวมว่าคดีหมิ่นประมาททางอาญาที่เกิดขึ้นทั้งหมดในประเทศไทย เป็นคดีฟ้องปิดปากย่อมไม่ถูกนัก เพราะในบางกรณีผู้ฟ้องก็มีเป้าหมายเพื่อปกป้องชื่อเสียงเกียรติยศและแสวงหาความยุติธรรมให้แก่ตนเองอย่างแท้จริง[3] ดังนั้น เพื่อแบ่งแยกการฟ้องหมิ่นประมาทอาญาว่าแบบไหนถึงเข้าข่ายเป็นการฟ้องปิดปาก สนส. จึงได้กำหนด 2 เงื่อนไขในการพิจารณา ดังนี้

  1. หลักการฟ้องคดีโดยสุจริตเพื่อแสวงหาความยุติธรรม

หลักสุจริตถือเป็นบทครอบจักวาลที่สามารถใช้ได้กับกฎหมายทุกแขนง อีกทั้งเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้ในการคุ้มครองหรือสกัดกั้นการใช้กฎหมายที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น (abuse of right) บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อแสวงหาความยุติธรรมและปกป้องชื่อเสียงของตนเองได้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้ฟ้องปิดปากจะอ้างว่าการฟ้องของตนเป็นการฟ้องโดยสุจริต และบางกรณีก็มีความคุมเครือว่าคดีที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ฟ้องมีเจตนาเพื่อคุกคามหรือก่อให้เกิดความล่าช้าในกระบวนพิจารณา ทำให้เกิดภาระหรือค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีโดยไม่จำเป็นหรือไม่ ดังนั้น ในกรณีที่จะพิสูจน์ว่าผู้ฟ้องแกล้งฟ้องหรือไม่ สามารถพิจารณาจากมูลเหตุแห่งการฟ้องว่าเกิดขึ้นมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นสาธารณะเพื่อติดต่อสื่อสาร ให้ข้อมูล หรือเรียกร้องต่อหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่

หากผู้ถูกฟ้องใช้สิทธิเสรีภาพในการพูดหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอันเป็นประโยชน์ และจำเลยสามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าการพูดหรือการแสดงความคิดเห็นของตนเป็นไปโดยสุจริต เช่น เพื่อความชอบธรรม เพื่อปกป้องหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 329 ประมวลกฎหมายอาญา ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและไม่ถือว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยที่การกระทำดังกล่าวจำเลยจะต้องกระทำไปโดยเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องสมควร ไม่ใช่เพื่อกลั่นแกล้ง บิดเบือนหรือเสียดสีใดๆ ยกตัวอย่างเช่น คดีนักข่าว voice tv ท้ายที่สุด ศาลอุธรณ์พิพากษายกฟ้องบริษัทฟาร์มไก่ โดยวินิจฉัยว่า “จำเลยในฐานะสื่อมวลชนที่มีหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานข้ามชาติโดยตรงและในฐานะของประชาชน ย่อมมีสิทธิตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นหรือข้อความอื่นใดอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริต ติชม โจทก์ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ต้องด้วยข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด”[4]

หรือคดีเหมืองหิน อำเภอเขาคูหา จังหวัดสงขลา ซึ่งต่อมาโจทก์ได้ขอถอนฟ้องและเมื่อชาวบ้านได้ฟ้องกลับศาลวินิจฉัย ว่าการใช้สิทธิทางศาลของโจทก์ในคดีก่อนเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จงใจให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยการกระทำของโจทก์เป็นการละเมิดและต้องชดใช้ค่าเสียหาย[5] เป็นต้น

  1. การวิเคราะห์ถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (freedom of expression) ภายใต้กฎหมายและหลักการสากล

ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติให้ความคุ้มครอง และรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไว้ในมาตรา 34 ดังนี้ “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของ ประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน…..”

จากบทบัญญัติดังกล่าว รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาหรือเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันด้วยวิธีการอื่น อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวไม่ใช่เสรีภาพที่รับรองโดยสมบูรณ์ หากแต่ได้กำหนดให้รัฐมีอำนาจในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนได้ เมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้ โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในเกียรติยศชื่อเสียง (right to reputation) สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเงื่อนไขไว้กฎหมายนั้นก็ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ ทั้งต้องระบุเหตุผลในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพนั้นด้วย เพื่อมิให้ฝ่ายนิติบัญญัติตรากฎหมายเพื่อล่วงล้ำสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

ด้านหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กำหนดว่า (1) บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง (2) บุคคลทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก แม้ว่าการใช้สิทธิตามที่บัญญัติข้อนี้ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย กล่าวคือ การใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่องและจำเป็นต้องเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่นและรักษาความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยหรือการสาธารณสุข หรือ ศีลธรรมของประชาชน

เมื่อวิเคราะห์ถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (freedom of expression) ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญและหลักการสากล จะพบว่า เมื่อใดก็ตามที่การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไปล่วงล้ำดินแดนแห่งสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศ ไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเป็นความพึงพอใจส่วนตัวของผู้ใช้เสรีภาพ เป็นเรื่องที่ผู้ใช้เสรีภาพที่ละเมิดสิทธิผู้อื่นต้องมีความรับผิดฐานกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงและความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญา ตัวอย่างเช่น ณัฐวุฒิ​ บัวประทุม​ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทวรงค์ เดชกิจวิกรมและณฐพร โตประยูร จากกรณีการแถลงข่าวและการโพสต์เฟซบุ๊กในลักษณะทำให้เกิดความเสียหายต่อพรรคก้าวไกล[6] กรณีพรรณิการ์ วานิช  โฆษกคณะก้าวหน้า ฟ้องหมิ่นประมาทปารีณา ไกรคุปต์ จากกรณีที่ ปารีณา โพสต์เฟซบุ๊กมีรูปภาพธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรณิการ์ ถ่ายรูปกับประชาชนในจังหวัดปัตตานี พร้อมข้อความกล่าวหาตน ธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2562[7] กรณีของอรรถพล บัวพัฒน์ ฟ้องหมิ่นประมาท ปารีณา ไกรคุปต์ จากกรณีที่ปารีณาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก กล่าวหาว่าอรรถพลจะฆ่าพระมหากษัตริย์[8] หรือ ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฟ้องหมิ่นประมาท ทรงกลด ชื่นชูผลแกนนำกลุ่มการ์ดชาตินิยม จากการพาดพิงว่า ชลิตา “มีการยุยงปลุกปั่น มีแนวคิดกบฏ แยกดินแดน มีผลประโยชน์ทางการเมือง ทำประเทศไทยพังพินาศ[9] เป็นต้น

แต่หากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นการกระทำเพื่อติดตามตรวจสอบการทำหน้าที่ของนักการเมือง ข้าราชการประจำหรือเรื่องประโยชน์สาธารณะอื่น ๆ การใช้เสรีภาพดังกล่าวย่อมมีผลดีต่อสังคม แม้ว่าการวิพากษ์วิจารณ์ ติดตามตรวจสอบจะไปกระทบกระเทือนหรือละเมิดสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของบางคนก็ไม่ควรกำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท และถือว่าคดีเหล่านี้เป็นคดีฟ้องปิดปากด้วย ยกตัวอย่างเช่น อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ฟ้องหมิ่นประมาทนักวิชาการด้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจากกรณีการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการครอบครองเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจสอบการปฏิบัติราชการและการครอบครองไร่ชัยพฤกษ์ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่[10] กรณีบริษัทเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ฟ้องหมิ่นประมาทชาวบ้าน 2 คน จากกรณีเดินขบวนถือป้ายรณรงค์คัดค้านการทำเหมืองแร่ในอำเภออมก๋อย เพราะห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ถ่านหิน[11] กรณีสำนักงานศาลยุติธรรม ฟ้องประชาชน 2คน จากการเผยแพร่รูปภาพข้อความจากเฟซบุ๊กชื่อว่า“เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” และข้อความว่า “ย่ำยีหัวใจคนเชียงใหม่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนไม่เคารพดอยสุเทพ”[12]

รวมถึงคดีอื่นๆ ที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก วิพากษณ์วิจารณ์ ตรวจสอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือรัฐบาลโดยตรงก็ตาม เช่น การโพสต์ข้อความเกี่ยวกับประสบการณ์การเข้าพักที่โรงแรม การเผยแพร่ความเห็นเกี่ยวกับคุณภาพของเฟอร์นิเจอร์หรือรถยนต์ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป การฟ้องปิดปากด้วยฐานความผิดหมิ่นประมาท คือ การฟ้องคดีต่อบุคคลหรือกลุ่ม โดยมุ่งหวังที่จะยับยั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนและเสรีภาพในการแสดงความเห็นในประเด็นสาธารณะโดยอาศัยความรับผิดทางอาญามาเป็นเครื่องมือ โดยที่ผู้ดำเนินคดีอาญาหมิ่นประมาทไม่ได้ต้องการผลประโยชน์หลักจากคดี เช่นคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดและให้โฆษณาและจ่ายค่าเสียหาย แต่ผู้ดำเนินคดีกลับมุ่งประโยชน์ที่เป็นผลพลอยได้ คือการทำลายแรงจูงใจในการตรวจสอบประเด็นสาธารณะ ในขณะที่การฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัว เพื่อปกป้องชื่อเสียเกียรติยศของตนเอง แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะเป็นบุคคลสาธารณะ เช่น นักการเมือง Influencer  ก็ตาม ไม่ถือว่าเป็นการฟ้องคดีปิดปาก

เส้นแบ่งพร่าเลือนเพราะข้อหาหมิ่นประมาททางอาญามีปัญหาตั้งแต่ต้น

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการใช้หมิ่นประมาทอาญาไม่ชัดเจน ว่าแบบใดคือการฟ้องเพื่อปกป้องชื่อเสียงเกียรติยศและแสวงหาความยุติธรรมให้ตนเอง และแบบใดคือการฟ้องเพื่อปิดปากนั้น เพราะว่าความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท มาตรา 326, 328, 329 และ 330 ประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย ยังคงมีปัญหาเรื่องความคลุมเครือและการตีความได้กว้างเกินไปเป็นเหตุให้วิญญูชนไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ว่าจะควบคุมการปฏิบัติของตนอย่างไรเพื่อไม่ให้ต้องรับโทษทางอาญา

ในช่วงที่สังคมไทยเริ่มตระหนักถึงปัญหาการฟ้องคดีปิดปาก ปัญหาและข้อเสนอเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาถูกกล่าวถึงจากหลายภาคส่วน อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้เสนอประเด็นเรื่องการไม่ลงโทษทางอาญาต่อประเด็นการหมิ่นประมาท โดยคณะกรรมการฯ ระบุว่า กฎหมายหมิ่นประมาทจะต้องมีการจัดทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสอดคล้องกับกกติกาสากลว่าด้วยเสรีภาพในการคิดและแสดงออกข้อที่ 19 วรรค 3 และไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อยับยั้งซึ่งเสรีภาพในการแสดงออก อย่างน้อยในประเด็นที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นต่อบุคคลสาธารณะ การพิจารณาคดีเหล่านี้ควรจะหลีกเลี่ยงการลงโทษหรือมิฉะนั้นแล้วต้องตีความอย่างเที่ยงธรรม ต่อถ้อยแถลงที่ไม่เป็นความจริงที่ได้มีการเผยแพร่ด้วยความไม่ตั้งใจ โดยไม่ได้มีเจตนามุ่งร้าย ในกรณีใดก็ตาม ผลประโยชน์ของสาธารณะในประเด็นแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ควรจะได้รับการยอมรับว่าเป็นเกราะคุ้มกัน[13]

ด้านผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติได้มีข้อเสนอแนะและเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ (1) เพิกถอนกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา ดำรงไว้เพียงกฎหมายความแพ่ง (2) ​จำกัดการลงโทษความผิดหมิ่นประมาท เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะไม่ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความน่าสะพรึงกลัวต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (3) ห้ามหน่วยงานรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีหมิ่นประมาทด้วยเป้าหมายเพื่อการป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือแม้แต่เพื่อการรักษาความเรียบร้อยของบ้านเมือง (4) สร้างหลักประกันว่ากฎหมายหมิ่นประมาทสะท้อนถึงความสำคัญของการเปิดให้มีการถกเถียงได้อย่างเปิดเผย ในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์สาธารณะ และตามหลักการที่ว่าบุคคลสาธารณะจำเป็นจะต้องอดทนอดกลั้นต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ได้สูงกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป[14]  สอดคล้องกับข้อเสนอในรายงานขององค์กร Article 19[15] ที่ระบุให้ประเทศไทยควรปฏิบัติตามพันธกรณีตามข้อ 19 ของ ICCPR และยกเลิกมาตรา 326-333 ของประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้จนกว่าจะมีการยกเลิกโทษดังกล่าว ฝ่ายตุลาการ ควรใช้มาตรา 161/1 และ 165/2 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือบทบัญญัติในข้ออื่นในการไม่รับฟ้องการกล่าวหาเลื่อนลอยหรือเพื่อกลั่นแกล้ง ที่ถูกใช้ในการโต้ตอบการใช้เสรีภาพในการแสดงออก การวิพากษ์วิจารณ์ การรายงานหรือการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือประเด็นสาธารณะอื่น ๆ ฝ่ายตุลาการควรละเว้นการพิจารณาจำคุกในคดีหมิ่นประมาท และพนักงานอัยการควรใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.อัยการและพนักงานอัยการในการเสนอแนะให้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาที่ไม่เกี่ยวกับประโยชน์ของสาธารณชน


 

[1] ความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาของ ประเทศไทย มาตรา 326, 328, 329 และ 330

[2] รายละเอียดเพิ่มได้ที่ สำนักแผนงานและงบประมาณ, รายงานจำนวนข้อหาความผิดอาญา ฐานหมิ่นประมาท มาตรา 326 – ม.333 ศาลทั่วราชอาณาจักรประจำปี พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2564, ข้อมูล ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2564.

[3] ปัจจุบันมีการเรียกร้องและให้ความเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคมว่าความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาไม่ควรถูกนำมาใช้ เนื่องจากมีบทลงโทษหนักถึงขึ้นจำคุก ทำให้เกิดความหวาดกลัว จนกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก และสิทธิที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของประชาชนในสังคม

[4] ศาลอุทธรณ์พิพากษา “ยกฟ้อง” คดีบริษัทธรรมเกษตร ฟ้องหมิ่นประมาทนักข่าว Voice TV, https://www.slappdatabase.org/articles/3

[5] พลเมืองข่าว: (คดี) ปิดปาก (21 เม.ย.59), https://www.youtube.com/watch?v=uTBGsOiSH90

[6] Voice online, ก้าวไกล ฟ้องหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหายทางเเพ่ง ‘หมอวรงค์-ณฐพร’ คนละ 24,062,475 บาท ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง 21 มิ.ย. นี้ https://www.voicetv.co.th/read/NggK-sBuc

[7] ประชาไท, ฟ้องกันไปมา: ช่อฟ้องปารีณาหมิ่นประมาท ย้ำไม่หวังถึงขั้นคุก ด้าน ‘ปารีณา’ ฟ้องสวนปมเเถลงข่าวใส่ร้าย https://prachatai.com/journal/2019/08/83757 , ศาลสั่งจำคุกปารีณา8 เดือนรอลงอาญา คดีหมิ่นพรรณิการ์-ธนาธรhttps://prachatai.com/journal/2021/04/92457

[8] Voice online, ‘ครูใหญ่’ ฟ้อง’ปารีณา’ฐานหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 2.4 ล้านบาท, https://www.voicetv.co.th/read/Eq2kFShFE

[9] Voice online, ศาลอนุญาตเลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้อง คดี ‘ดร.ชลิตา’ ฟ้องหมิ่นประมาท ‘ผู้กองปูเค็ม’ เหตุทนายฝั่งจำเลยเตรียมตัวไม่ทัน นัดอีกครั้ง 27 ก.พ. 63, https://www.voicetv.co.th/read/CjWUXVsAS

[10] ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนักวิชาการกะเหรี่ยงฯและอดีต ผอ. สำนักอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, https://naksit.net/2019/11/wut_boonlert-slapp/

[11] ฐานข้อมูลคดีฟ้องปิดปาก,  https://www.slappdatabase.org/cases/218

[12] ฐานข้อมูลคดีฟ้องปิดปาก,  https://www.slappdatabase.org/cases/218

[13] Human Rights Committee, General Comment No 34, Freedoms of Opinion and Expression (Article 19),

CCPR/C/GC/34, 12 September 2011 para 47.

[14] UNITED NATIONS  Economic and Social Council, CIVIL AND POLITICAL RIGHTS, INCLUDING THE QUESTION

OF FREEDOM OF EXPRESSION, E/CN.4/2001/64, 13 February 2001, para 43 -47, http://undocs.org/E/CN.4/2001/64

[15]  ความจริงที่ต้องพูดถึงการสนับสนุนการยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาในประเทศไทย (มีนาคม 2564) https://www.article19.org/wp-content/uploads/2021/03/Thailand_Truth_be_told_decriminalise_defamation_THAI.pdf