ถกถามเรื่องการปฏิรูปศาลในฐานะเสาหลักอันศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรม

ถกถามเรื่องการปฏิรูปศาลในฐานะเสาหลักอันศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรม

บันทึกเสวนาวิชาการ “เสาหลักต้องเป็นหลักอันศักดิ์สิทธิ์ : บทบาทศาลท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน”

 

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เมื่อมีผู้คนมากมายแสดงออกทางการเมือง ออกมาชุมนุมบนท้องถนนหรือสถานที่ต่างๆ และการชุมนุมทางการเมืองกลายมาเป็นความผิดทางกฎหมาย หรือในสถานการณ์ที่มีการออกหมายจับหรือหมายค้นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในกรณีต่างๆ และการออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมการแสดงออกบริเวณศาล หากฝ่าฝืนจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น ทำให้ตุลาการหรือศาลเข้ามามีบทบาทในสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดการถกเถียงกันโดยทั่วไปว่า ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองนี้ ศาลควรจะมีบทบาทอย่างไร ในฐานะเสาหลักอันศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรม

 

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) จัดงานเสวนาวิชาการ “เสาหลักต้องเป็นหลักอันศักดิ์สิทธิ์ : บทบาทศาลท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน” เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 เพื่อวิเคราะห์ แลกเปลี่ยน และทบทวนบทบาทของอำนาจตุลาการในฐานะเป็นเสาหลักอันศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมในสถานการณ์ปัจจุบัน และขอบเขตของฐานความผิดละเมิดอำนาจศาล ผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองของ ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) และรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

 

คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวเปิดงาน พร้อมตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันตุลาการท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน “ในปัจจุบัน ประชาชนมีความตื่นตัวในการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อเรียกร้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชน ถ้านับช่วงอายุของตนเอง (30+) ช่วงระหว่างปี 49 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยมีความท้าทายเป็นอย่างมาก ท้าทายให้ประชาชนลุกขึ้นมาส่งเสียงของตนเองเพื่อปลดแอกจากพันธนาการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ท้าทายรัฐที่จะบัญญัติและบริหารราชการบ้านเมืองที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในนามความชอบธรรมด้วยกฎหมาย ท้าทายสถาบันตุลาการที่จะใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือสยบยอมต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม ในนามสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เราขอเรียกร้องให้ทุกอำนาจในประเทศนี้มีพันธกิจหลักในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่เพียงแต่ในนามของกฎหมาย แต่ในนามของสิทธิมนุษยชนที่คนทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคภายใต้หลักการของ Rule of Law เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ขั้นต้น สถาบันตุลาการก็ถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่มีบทบาทในการยืนยันความศักดิ์สิทธิของหลักการ Rule of Law และท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนมีความตื่นรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิเสรีภาพตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และเราหลายคนในที่นี้ก็น่าจะเคยพบเจอสถานการณ์ด้วยตนเอง หรือความรับรู้ของตัวเองว่าตุลาการ ณ ปัจจุบันนี้ได้แสดงบทบาทของตัวเองตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้อย่างไร เช่นในกรณีที่มีการอนุมัติหมายจับ หมายค้น หรือการเพิกถอนการประกันตัวของประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการออกมาตรการกำหนดเพื่อป้องปรามประชาชนที่มารวมตัวกันที่ศาล โดยใช้อำนาจทางกฎหมายเรื่องการละเมิดอำนาจศาล เป็นต้น จากเหตุการณ์เหล่านี้ สนส.จึงตั้งคำถามถึงบทบาทของตุลาการในสถานการณ์ความท้าทายนี้ เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นจะเกิดจากการรับฟังคนอื่นที่พูดถึงเรา และเกิดจากความกล้าหาญที่จะใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเราก็เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นจะเกิดจากความเป็นอิสระที่จะใช้ความกล้าหาญนั้น

 

ความผิดละเมิดอำนาจศาล ปกป้องกระบวนการยุติธรรม หรือ ปกป้องสถาบันตุลาการ

ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “กฎหมายละเมิดอำนาจศาลมีในหลายประเทศ แม้จะเป็นประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตย อาทิ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน  ส่วนประเทศฝรั่งเศสและญี่ปุ่นแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลโดยเฉพาะ แต่ก็พบในกฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับ เป็นต้น

กฎหมายละเมิดอำนาจศาลมีหลักการที่เริ่มมาจากการทำหน้าที่และภารกิจของผู้พิพากษา โดยหน้าที่ดังกล่าวก็คือหน้าที่ในการค้นหาความจริงกับคดีที่ขึ้นมาสู่ศาล และหน้าที่ในการกำหนดอัตราโทษ หรือมาตรการในการลงโทษกรณีที่ศาลเห็นว่ามีความผิดจริง กล่าวคือ หน้าที่หลักของศาลคือยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้น กฎหมายจึงต้องมีเครื่องมือบางประการให้ผู้พิพากษาในการดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่ให้มีใครมาขัดขวาง

นอกจากนี้ อีกเหตุผลที่มีกฎหมายละเมิดอำนาจศาล เนื่องมาจากหลักเรื่องความเป็นอิสระและความเป็นกลางของศาล ซึ่งต้องไม่มีใครมาแทรกแซง หรือสร้างอิทธิพลบางอย่าง เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นว่ากฎหมายละเมิดอำนาจศาลจึงไม่ใช่แค่ กฎเกณฑ์ที่ดูแลเฉพาะในช่วงของการพิจารณาคดีเท่านั้น แต่บางประเทศจะมีข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการกระทำอะไรบางอย่างของประชาชนนอกศาลด้วย เช่น การไปทำข่าวของสื่อมวลชนในลักษณะที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างอิทธิพลบางอย่างเกี่ยวกับคดีที่นำไปสู่การตัดสินทางสังคมไปก่อนที่คดีจะสิ้นสุด กฎหมายละเมิดอำนาจศาลก็จะมีเพื่อควบคุมกรณีเช่นนี้ หลักการของกฎหมายละเมิดอำนาจศาล คือเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยเรียบร้อย และเพื่อให้ศาลสามารถเป็นกลางและเป็นอิสระจากการถูกแทรกแซง

 

ประเทศอังกฤษ : จุดเริ่มต้นของกฎหมายละเมิดอำนาจศาลมาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบกฎหมายแบบ Common Law โดยในระบบนี้ผู้พิพากษาจะมีบทบาทที่สำคัญมากกว่าระบบ Civil Law  กล่าวคือ ผู้พิพากษาไม่ได้ทำหน้าที่เพียงตัดสินคดีเท่านั้น แต่ผู้พิพากษาในระบบ Common Law มีหน้าที่วางหลักหลักกฎหมายด้วย บ่อเกิดของกฎหมายจึงมาจากตัวผู้พิพากษาด้วย การมีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลเพื่อจะคุ้มครองผู้พิพากษาในการทำหน้าที่

กฎหมายละเมิดอำนาจศาลในประเทศอังกฤษมีลักษณะการคุ้มครองผู้พิพากษาที่กว้างมาก อาทิ การรักษาความสงบเรียบร้อยในศาล ห้ามขัดคำสั่งศาลหรือหมายเรียก ห้ามแทรกแซงพยานหรือจำเลยตลอดจนคู่ความต่างๆ รวมไปถึงการคุ้มครองเกียรติยศชื่อเสียงของผู้พิพากษาด้วย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของประเทศอังกฤษซึ่งมีระบบกฎหมายแบบ Common Law คือไม่ใช่เพียงแค่ให้ผู้พิพากษามีเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยในศาล แต่ดูแลและคุ้มครองเกียรติยศ ชื่อเสียงของผู้พิพากษาเพื่อให้ผู้พิพากษาสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ด้วย

 

ประเทศสหรัฐอเมริกา : มีระบบกฎหมายแบบ Common Law เช่นกัน และกฎหมายละเมิดอำนาจศาลของอเมริกาก็รับหลักการมาจากประเทศอังกฤษ แต่ว่ากฎหมายละเมิดอำนาจศาลของอเมริกามุ่งเน้นไปที่การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในศาลมากกว่าการมุ่งไปที่เรื่องการดูหมิ่นเกียรติยศชื่อเสียงของศาล เนื่องจากในอเมริกาได้ให้ความสำคัญในเรื่องของหลักเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้ จึงเปิดโอกาสให้พลเมืองของศาลสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลได้

 

ประเทศเยอรมัน : มีระบบกฎหมายแบบ Civil Law คำตัดสินของศาลจะเป็นการตีความกฎหมาย สำหรับกฎหมายละเมิดอำนาจศาลของประเทศเยอรมันจะค่อนข้างชัดเจน คือเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยระหว่างการพิจารณาคดีเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์นอกศาล หากเป็นกรณีที่มีการดูหมิ่นเกียรติยศชื่อเสียงของศาลจะต้องไปว่ากันตามกระบวนการทางอาญา ผู้พิพากษาจะต้องไปยื่นฟ้องเอง ไม่สามารถใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาล ซึ่งไม่มีการฟ้องคดีหรือเป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาแบบพิเศษได้ และโทษในข้อหาละเมิดอำนาจศาลในเยอรมัน ไม่มีโทษจำคุก มีเพียงการให้ออกจากห้องพิจารณา หรือให้กักขังเต็มที่ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลในเยอรมันจะมีบทหนึ่งที่ใกล้เคียงกับ มาตรา 30 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้ศาลมีอำนาจในการออกข้อกำหนด หากมีการฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาล จะลงโทษจำคุก 7 วัน ในขณะที่ประเทศไทยโทษกำหนดไว้ 6 เดือน

 

ประเทศไทย : กฎหมายละเมิดอำนาจศาลมีมาตั้งแต่กฎหมายตราสามดวง ลักษณะตระลาการ มาตรา 7 บัญญัติว่า “หากคู่ความทะเลาะโต้เถียงกันกลางศาลให้ผู้พิพากษาห้ามปรามเสีย หากคู่ความฝ่ายใดไม่เชื่อฟังก็ให้เสมียนศาลเอาขื่อจำผู้นั้นไว้จนค่ำ”

ถัดมาในสมัยที่มีการใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ร.ศ.127 ได้มีการบัญญัติเรื่องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้ว่า “ถ้าคู่ความผู้ใดประพฤติอาการไม่เรียบร้อย ผู้พิพากษาต้องมีคำสั่งขับไล่ให้ออกจากศาล แล้วให้พิจารณาคดีต่อไปได้” (มาตรา 134), “ผู้ใดจงใจปลอมเข้ามาเป็นพยานฝ่ายโจทก์หรือจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตฝ่ายโจทก์หรือจำเลย ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 12 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” (มาตรา 135), “ผู้ใดหมิ่นประมาทแก่ผู้พิพากษาในเวลาทำการตามหน้าที่ในศาล ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 12 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” (มาตรา 136) หรือศาลจะสั่งให้จับตัวผู้หมิ่นประมาทคุมขังไว้หรือขับไล่ไม่ให้เข้าศาลมีกำหนดเวลาเท่าใดก็ได้ (มาตรา 137)

กระทั่งปัจจุบัน กฎหมายละเมิดอำนาจศาลอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30-33 ส่วนข้อหาดูหมิ่นศาล จะอยู่ในมาตรา 198 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีลักษณะที่บิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ค่อนข้างมาก”

สัณหวรรณ ศรีสด ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวถึงในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเองก็มีพันธะผูกพันอยู่ ได้วางหลักเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ผู้พิพากษาไว้ว่า “หากต้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกใดๆ ข้อจำกัดนั้นจะต้องเขียนไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย ให้บุคคลนั้นสามารถควบคุมการกระทำดังกล่าวได้ และข้อจำกัดนี้ต้องจำเป็นและได้สัดส่วน ซึ่งการตีความกฎหมายนี้ในเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ในกรณีของผู้พิพากษาซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ควรจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้มากกว่า และผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์จะต้องไม่ได้รับโทษทางอาญา

ยกตัวอย่างศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีการวินิจฉัยกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส และตุรกีที่ใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลต่อทนายความ นักข่าว และอาจารย์ที่นำคดีไปพูดวิจารณ์ในห้องเรียนว่า ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา และระบุว่าการที่จะใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลนั้น จะทำได้ต่อเมื่อคำวิจารณ์นั้นกระทบต่อความเป็นกลางหรืออำนาจตุลาการในการพิจารณาคดี”

สัณหวรรณ กล่าวถึงหลักการสากล เกี่ยวกับความผิดฐานละเมิดไว้ 7 ข้อ ดังนี้

  1. ผู้พิพากษาต้องใช้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นทางเลือกสุดท้าย ในกรณีที่ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว
  2. ผู้พิพากษาต้องใช้อำนาจนี้ด้วยความระมัดระวัง
  3. ผู้พิพากษาต้องรักษาสมดุลระหว่างการปกป้องกระบวนการพิจารณาคดี กับการที่ให้สาธารณชนสามารถถกเถียงและมีส่วนร่วมในประเด็นในคดีได้
  4. ผู้พิพากษาจะต้องไม่อ่อนไหวจนเกินไป
  5. ผู้พิพากษาไม่ได้มี Immunity หรือ การคุ้มครอง ปกป้องจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์
  6. สาธารณชนจะต้องแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะได้ เมื่อเห็นว่ามีข้อผิดพลาด หรือมีปัญหาในตัวผู้พิพากษา หรือคำพิพากษา
  7. ผู้พิพากษาไม่ควรที่จะตอบโต้เมื่อมีการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยการฟ้องคดี

สัณหวรรณกล่าวถึงหลักการของผู้พิพากษาชื่อว่า The Latimer House Guidelines on Commonwealth ซึ่งเขียนเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ผู้พิพากษาไว้อย่างชัดเจนว่า “การวิพากษ์วิจารณ์ศาล ผู้พิพากษา หรือคำพิพากษาในสาธารณะถือเป็นหลักประกันความรับผิดของผู้พิพากษา ถ้าผู้พิพากษากระทำผิด ผู้พิพากษาก็จะต้องรับโทษด้วย และให้ผู้พิพากษาหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายในลักษณะของการละเมิดอำนาจศาล ห้ามไม่ให้มีโทษทางอาญา”

สัณหวรรณยังกล่าวถึงประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงนักคือ ความรับผิดของผู้พิพากษาว่า “กรณีที่จะรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ผู้พิพากษาจะรับผิด คนที่ต้องค่อยติดตามและตรวจสอบก็คือคู่ความ และสาธารณชนนั่นเอง ซึ่งในทางมาตรฐานระหว่างประเทศมีการกล่าวถึงเรื่องความรับผิดของผู้พิพากษา มีช่องทางในการเอาผิดกับผู้พิพากษาที่ผิดวินัยทั้งทางแพ่งและทางอาญาอย่างโปร่งใสและสาธารณชนเข้าถึงได้ ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทยที่จะเป็นการตรวจสอบกันเฉพาะแต่ภายใน ผ่านองค์กรที่เรียกว่า สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.)”

ผศ.สาวตรี เพิ่มเติมว่า “กรอบของกฎหมายละเมิดอำนาจศาล ที่กำหนดไว้เพื่อให้ผู้พิพากษาใช้ให้อยู่กับร่องรอย คือ Code of Conduct คล้ายกับประมวลจริยธรรมของตุลาการ ข้อหนึ่งกล่าวถึง ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล การตีความต้องเคร่งครัด การใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลอย่างจำกัด และตีความอย่างจำกัด เพราะกฎหมายนี้เป็นเครื่องมือพิเศษของผู้พิพากษา เพื่อป้องกันให้การปฏิบัติหน้าที่อย่างราบรื่น ทั้งนี้แม้ว่าจะมี Code of Conduct  นี้อยู่แต่ยังไม่มีบทลงโทษ หากผู้พิพากษาฝ่าฝืน ตีความหรือขยายความกฎหมายกว้างเกินไปก็ยังไม่มีบทลงโทษ”

 

เจตนารมณ์ที่ถูกบิดเบือน ปัญหากฎหมายละเมิดอำนาจศาลในไทย

ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ปัญหาเรื่องวาทกรรมที่ผู้พิพากษามักใช้คือ การที่ผู้พิพากษาจะบอกว่าคำพิพากษาของตนเองเป็นในนามของพระปรมาภิไธย ซึ่งตกทอดมาตั้งแต่ยุคที่ประเทศไทยปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเต็ม ศาลเป็นตัวแทนของกษัตริย์ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ศาลควรจะทำงานภายใต้อำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ซึ่งวาทกรรมที่ตกทอดมาจากอดีตนี้มีปัญหา ที่ศาลมองว่าตนเองอยู่เหนือกว่า มีความศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง และได้รับพระปรมาภิไธยจากกษัตริย์ในการปฏิบัติหน้าที่ จึงทำให้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลขยายเกินขอบเขต และบิดเบือนเจตนารมณ์ไป กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

อีกทั้งปัญหาของกฎหมายละเมิดอำนาจศาลคือ องค์คณะที่ตัดสินคดีนั้นเป็นคู่ขัดแย้งในคดีเสียเอง และโทษละเมิดอำนาจศาลในประเทศไทยยังมีโทษที่สูง มากไปกว่านั้นเมื่อเจอคดีละเมิดอำนาจศาล สิทธิของผู้ต้องหาหายไปทั้งหมด ไม่ว่าจะดูหมิ่นผู้พิพากษาโดยตรงในห้องพิจารณาคดี หรือโดยอ้อมภายนอก ก็ไม่มีการไต่สวน ไม่มีหลักประกันผู้ต้องหา ไม่มีทนายความ รวมถึงไม่มีการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ต่างจากต่างประเทศที่มีการกำหนด Due process ชัดเจน”

สัณหวรรณ ศรีสด ตัวแทนจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวถึงความผิดฐานหมิ่นศาลและละเมิดอำนาจศาลในประเทศไทยว่า “ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198  เขียนกรณีดูหมิ่นไว้ค่อนข้างกว้าง และอาจจะตีความมากกว่าหลักกฎหมายระหว่างประเทศได้ อีกทั้งยังมีโทษจำคุกซึ่งเป็นโทษทางอาญา และกฎหมายละเมิดอำนาจในประเทศไทยมีส่วนที่ย้อนแย้งหลากประการ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 กำหนดห้ามจดบันทึกในศาล แต่หากสื่อมวลชนรายงานข่าวเกี่ยวกับคดีผิดหรือบิดเบือนไปก็จะมีโทษ เป็นต้น”

สัณหวรรณจึงเสนอว่า “กฎหมายละเมิดอำนาจศาลและข้อกำหนดของศาลของไทยควรจะต้องมีการทบทวนให้ชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์หลัก คือ ความจำเป็นและได้สัดส่วน”

ผศ.สาวตรี กล่าวถึงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) ว่า “มีลักษณะการตีความกฎหมายที่กว้างมากทั้งในแง่ของพื้นที่ที่ครอบคลุมทั้งในและนอกพื้นที่ศาล ในเวลาและนอกเวลา ซึ่งความจริงควรจะต้องกำหนดเฉพาะในห้องพิจารณา หรือ บริเวณที่มีการเชื่อมโยงของศาล หากเทียบกับกฎหมายเยอรมัน จะหมายถึงในกรณีที่ประพฤติไม่เรียบร้อยในระหว่างการพิจารณาคดีเท่านั้น แต่ประเทศไทยระบุทั้งในและนอกกระบวนการพิจารณาซึ่งทำให้เกิดการปิดกั้นการเคลื่อนไหว และการแสดงความคิดเห็นของสาธารณชน

ในส่วนประเด็นเรื่องการแทรกแซงความเป็นอิสระของศาลโดย กต. ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา ทั้งนี้ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่เรามักตั้งคำถามกับการที่ศาลถูกแทรกแซงจากข้างนอก แต่ความจริงแล้วมีการแทรกแซงกันภายในซึ่งเราไม่เคยตั้งคำถามเลย”

 

ความเท่าเทียมในการแสดงออกระหว่างฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน มีจริงหรือไม่?

ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “มีความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องการเปิดพื้นที่การแสดงออกและการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยผู้ที่เห็นต่างถูกดำเนินคดี และศาลพิจารณารับฟ้องคดี กล่าวคือ ถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวในลักษณะที่เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาล พื้นที่สาธารณะนั้นก็จะถูกเปิดมากกว่า และจะไม่ถูกดำเนินคดี ขณะที่หากเป็นเคลื่อนไหว ชุมนุมเพื่อโต้แย้งการทำงานของรัฐหรือผู้มีอำนาจ พื้นที่สาธารณะก็จะถูกปิด และมีการใช้กฎหมายมาดำเนินคดี ลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นในระบอบอำนาจนิยม ไม่ใช่ในอุดมการณ์ประชาธิปไตย”

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงประสบการณ์การช่วยเหลือคดีต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองต่อรัฐบาลว่า “กรณีที่ศาลออกข้อห้ามชุมนุมต่อภาณุพงศ์ จาดนอก นักกิจกรรมทางการเมือง เป็นเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งหลังจากมีการให้ประกันตัว มีการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการประกัน เนื่องจากอ้างว่าผิดเงื่อนไขประกัน สำหรับคดีนี้ การที่ภาณุพงศ์ และอานนท์ไปชุมนุมในสถานที่ต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองมีความผิด และไม่ได้เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สุดท้ายภาณุพงษ์จึงไม่วางหลักประกันและยอมให้ควบคุมตัวเข้าเรือนจำ หลังจากนั้นศาลก็ออกคำสั่งให้ปล่อยตัว ภาณุพงษ์และอานนท์ ผมเห็นว่าศาลไม่ควรจะรับตัวทั้งสองคนไว้ตั้งแต่แรก”

สัณหวรรณ ศรีสด กล่าวถึงการตีความหลักสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในเรื่องการชุมนุม ว่า “ตีความการชุมนุมโดยสงบว่าคือการชุมนุมที่ไม่มีความรุนแรง เจ้าหน้าที่รัฐ มีหน้าที่ในการทำให้การชุมนุมมีความราบรื่น แม้ว่าจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้อื่น (การชุมนุมย่อมกระทบต่อการจราจร และการดำเนินชีวิตของผู้อื่นเป็นปกติ) และไม่ควรดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม หากมีการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม ศาลในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีกฎหมายกลั่นกรองคดีฟ้องกลั่นแกล้งก็จะยกฟ้องโดยทันที ซึ่งประเทศไทยมีกฎหมายที่ใกล้เคียงกับต่างประเทศ คือ มาตรา 161/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ยังไม่มีการนำมาใช้

และสำหรับในต่างประเทศ ยังมีการกำหนดสถานที่ชุมนุม จะต้องเป็นสถานที่ที่กลุ่มเป้าหมายของเราจะสื่อสารถึง และสามารถเข้าถึงได้ เช่น หากประชาชนต้องการสื่อสารถึงศาล ในบริเวณศาลก็ควรจะเป็นสถานที่ที่ชุมนุมได้ ซึ่งแตกต่างจาก พ.ร.บ.ชุมนุมของไทย ที่ห้ามชุมนุมใกล้สถานที่ต่างๆ”

 

ข้อเสนอปฏิรูปศาลในฐานะเสาหลักอันศักดิ์สิทธิ์

ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า “1.ควรมีกฎหมายเอาผิดศาลที่ใช้กฎหมายบิดเบือน และควรเป็นโทษทางอาญา และมีบทบัญญัติที่ชัดเจน 2.เรียกร้องให้มีองค์กรภายนอกศาลที่ตรวจสอบการทำงานของศาลได้ หากตรวจสอบกันเองภายใน ต่อไปองค์กรตุลาการก็จะไม่แตกต่างจากศาลทหาร 3.การแก้ไขกฎหมายละเมิดอำนาจศาล”

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “เห็นด้วยเรื่องการมีองค์กรที่จะตรวจสอบอำนาจของผู้พิพากษา โดยเสนอเรื่องการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ของผู้พิพากษา และเรื่องคำพิพากษาของศาลด้วย”

สัณหวรรณ ศรีสด ตัวแทนจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) เสนอเพิ่มเติมว่า “การตรวจสอบผู้พิพากษาหรือศาลต้องรวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย หากจะมีหน่วยงานข้างนอกมาตรวจสอบ จะต้องออกแบบให้ยังคงความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ สุดท้ายกฎหมายหมิ่นประมาทใดๆก็ตามไม่ควรเป็นโทษทางอาญา”