ความเห็นทางกฎหมาย: กรณีการดำเนินคดีกับสฤณี อาชวานันทกุล และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ความเห็นทางกฎหมาย: กรณีการดำเนินคดีกับสฤณี อาชวานันทกุล และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

                                                            ความเห็นทางกฎหมายกรณีการดำเนินคดีกับสฤณี อาชวานันทกุล

        และบรรญาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ศาลฎีกาโดยนายฉันทวัธน์ วรทัต ผู้พิพากษา ได้มีหมายเรียกนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล และบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ให้ไปให้การต่อศาลฎีกาในวันที่ 9 กันยายน2562 เวลา 10.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 2 ห้อง 208 ศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำที่ ลอ. 1/2562 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2562  เกี่ยวกับกรณีการเผยแพร่บทความในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2562 หน้า 9 คอลัมน์ประชาชน 2.0  เรื่อง “อันตรายของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (อีกที) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส.” โดยในหมายเรียกระบุชื่อนายสุประดิษฐ์ จีนเสวก เลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาเป็นผู้กล่าวหา

ในบันทึกข้อความ ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ที่ผู้กล่าวหาได้เสนอประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา สรุปใจความสำคัญได้ว่า บทความดังกล่าว ซึ่งมีนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล เป็นผู้เขียนหรือประพันธ์บทความ มีข้อความที่ไม่เป็นจริงกล่าวหาว่า ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตีความกฎหมาย “มักง่าย” และใช้กฎหมายแบบ “ตะพึดตะพือ” ตีความตัวบทอย่างเกินเลยและไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ถือเป็นการรายงานกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่เป็นกลางและไม่ถูกต้อง และเป็นการวิภาคโดยไม่เป็นธรรมซึ่งการดำเนินคดี ทำให้เสื่อมเสียต่อศาลฎีกา เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (คดีคุณสมบัติ) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

บทความดังกล่าวจึงมีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาล หรือเหนือคู่ความ   หรือเหนือพยานในระหว่างการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรื่องอื่น ๆ  ในอนาคต ซึ่งอาจมีประเด็นอย่างเดียวกันกับคดีที่ผู้ประพันธ์ได้กล่าว หรือแสดงในบทความ และผู้กล่าวหายังเห็นว่าบทความดังกล่าวไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการต่อคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพราะคำว่า “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” ไม่ใช่วิชาการ แต่เป็นเรื่องที่ต้องการตำหนิเพียงอย่างเดียว จึงเข้าข่ายเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 (2)

พร้อมกันนี้ ผู้กล่าวหายังได้เสนอให้ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกามีคำสั่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาไต่สวนเพื่อพิจารณาและพิพากษาคดีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลดังกล่าว โดยเสนอให้นายฉันทวัธน์ วรทัต ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาเป็นเจ้าของสำนวน นายพันธุ์เลิศ บุญเลี้ยง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายชัยชนะ ตัญจพัฒน์กุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นองค์คณะพิจารณาและพิพากษาคดี ซึ่งประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาก็ได้เห็นชอบตามข้อเสนอ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มีความห่วงกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลดังกล่าว จึงมีความเห็นทางกฎหมายในประเด็นที่สำคัญดังต่อไปนี้

1. การเผยแพร่บทความ “อันตรายของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (อีกที) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส.” ทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 ไม่เข้าข่ายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 (2)

เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบทความเรื่อง “อันตรายของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (อีกที) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส.” ซึ่งถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2562 เป็นบทความที่กล่าวถึงคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่มีคำสั่งถอนชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดสกลนคร จากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาเป็นที่สุดเมื่อเดือนมีนาคม 2562  ดังนั้น การเผยแพร่บทความทางหนังสือพิมพ์ดังกล่าว  จึงไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 (2) เนื่องจากการกล่าวหรือแสดงข้อความหรือความคิดเห็นนั้น เป็นการกระทำหลังจากศาลได้มีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว ไม่ใช่การกล่าวหรือแสดงข้อความหรือความคิดเห็นระหว่างการพิจารณาอันจะเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 (2) ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าการกล่าวหรือแสดงข้อความหรือความเห็นนั้นประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาลหรือเหนือคู่ความหรือเหนือพยานแห่งคดี ซึ่งพอเห็นได้ว่าจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป

2. การใช้และการตีความกฎหมายที่มีโทษทางอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัด

เห็นว่าแม้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยให้ความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่ 444/2528 เรื่อง ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดอาญาหรือไม่ (ตีความมาตรา 31  มาตรา 32 และมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง) ว่าการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่ใช่ความผิดทางอาญา แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดที่ได้มีการกำหนดโทษทางอาญาไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 (ข) การบังคับใช้และตีความกฎหมายที่มีโทษทางอาญา ซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลจะต้องตีความโดยเคร่งครัดตามหลักการตีความกฎหมายอาญา โดยหลีกเลี่ยงการตีความขยายความออกไปจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน ดังนั้น เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 (2) บัญญัติเพียงว่า “ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ ได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ในระหว่างการพิจารณาแห่งคดีไปจนมีคำพิพากษาเป็นที่สุด…”

การปรับใช้และตีความกฎหมายดังกล่าวก็ควรจำกัดอยู่เฉพาะคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาและเป็นคดีที่ถูกกล่าวถึงโดยตรงเท่านั้น ไม่ควรรวมไปถึงคดีอื่นที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึง  การที่ผู้กล่าวหาอ้างว่าบทความดังกล่าวจะกระทบต่อการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เรื่องอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งอาจมีประเด็นอย่างเดียวกันกับคดีที่ผู้ประพันธ์ได้กล่าว หรือแสดงในบทความนั้น จึงถือเป็นการปรับใช้และตีความกฎหมายขยายความจากตัวบทกฎหมายและเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 (2) ย่อมเป็นการใช้และการตีความกฎหมายที่ขัดต่อหลักการตีความกฎหมายที่มีโทษทางอาญา

3. การเขียนและการเผยแพร่บทความของผู้ถูกกล่าวหาได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักการเสรีภาพ ในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพสื่อมวลชน ตามที่ระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศ
ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

เห็นว่า เมื่ออ่านบทความทั้งหมดแล้วจะพบว่าบทความดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักในการวิพากษ์วิจารณ์การตีความกฎหมายของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง กรณีที่มีคำสั่งถอนชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดสกลนคร จากพรรคอนาคตใหม่ (คำสั่งศาลฎีกาที่ 1706/2562 โดยใจความสำคัญของบทความเป็นการแสดงความเห็นว่า การตีความกฎหมายของศาลในคดีดังกล่าวไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ย่อมเห็นเจตนาของผู้เขียนว่ามีความประสงค์ที่จะวิพากษ์และนำเสนอความคิดเห็นทางวิชาการต่อคำพิพากษาในคดีดังกล่าว แม้บทความจะมีถ้อยคำที่ไม่ใช่ถ้อยคำทางวิชาการดังเช่นที่ผู้กล่าวหายกมาอ้าง ดังเช่นคำว่า “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” ก็ตาม แต่ยังถือได้ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินและการตีความกฎหมายของศาลในเชิงวิชาการเป็นสำคัญ และยิ่งเป็นการกระทำต่อคดีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ย่อมสามารถการวิพากษ์วิจารณ์หรือติชมใด ๆ ได้ ไม่ถือเป็นการละเมิดต่อกฎหมายและไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 34

4. ความเห็นเพิ่มเติมกรณีการดำเนินคดีกรณีการละเมิดอำนาจศาลที่กระทำลงภายนอกศาล 

การดำเนินกระบวนการดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลที่กระทำลงภายนอกศาล ต้องใช้กระบวนการเช่นเดียวกับคดีอาญาปกติ เนื่องจากไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องรีบเร่งในการจัดการเพื่อให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาเป็นไปโดยเรียบร้อยดังเช่นกรณีการกระทำความผิดที่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาล ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลที่ไม่ได้กระทำต่อหน้าศาล จึงควรต้องไปใช้กระบวนการดำเนินคดีผ่านกลไกการร้องทุกข์กล่าวโทษ การสอบสวนและฟ้องคดีโดยพนักงานอัยการ และจะต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาในการต่อสู้คดีในมาตรฐานเดียวกับจำเลยในคดีอาญาทั่วไป รวมทั้งต้องห้ามผู้พิพากษาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์นั้น เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีด้วยภายใต้หลักความเป็นกลาง

นอกจากนี้ ในการพิสูจน์ความผิด จะต้องมีการพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง มิใช่เพียงแต่ใช้พฤติการณ์ประกอบการกระทำว่าจะเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะก่อความเสียหายต่อศาลหรือกระบวนการยุติธรรม  การที่เล็งเห็นว่าเพียงแต่มีแนวโน้มจะเข้าไปแทรกแซงการบริหารความยุติธรรมยังไม่เพียงพอที่จะเป็นเหตุในการลงโทษจำเลย เพราะต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย โดยการโฆษณาที่จะมีลักษณะเป็นการละเมิดอำนาจศาลได้จะต้องแสดงให้เห็นภยันตรายที่ชัดแจ้งและใกล้จะถึงต่อการบริหารความยุติธรรมของศาล ยิ่งไปกว่านั้น การยอมรับว่าถ้อยคำดังกล่าวมีอิทธิพลอย่างร้ายแรงเหนือการพิจารณาของศาล เท่ากับเป็นการกล่าวว่าผู้พิพากษานั้นขาดความหนักแน่น

ทั้งนี้ สมาคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า  การใช้ความผิดฐานละเมิดอำนาจต่อประชาชนจะเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ภายใต้ขอบเขตและเจตนารมณ์ของกฎหมาย  และคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น และขอให้มีการกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับขอบเขตการใช้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลโดยเคร่งครัดและเท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปโดยเรียบร้อยและไม่ถูกขัดขวางเท่านั้น เพื่อไม่ให้ความผิดฐานนี้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางจนกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกตามที่ถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 และเพื่อไม่ให้ประชาชนทั่วไป เข้าใจไปได้ว่าความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลถูกใช้เพื่อจำกัดการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน (การใช้กฎหมายปิดปาก : Strategic Lawsuit Against Public Participation -SLAPP) และก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวแก่สื่อมวลชนและสังคมไทยจนไม่กล้าตรวจสอบและ/หรือวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ขององค์กรศาล รวมถึงองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐอื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันตุลาการอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

                                        ด้วยความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพของประชาชน