รายงานข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี

รายงานข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี

บทนำ

การมีส่วนร่วมสาธารณะ (Public Participation) ถือเป็นหลักการและแนวปฏิบัติทางการเมือง ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ได้รับรองสิทธิในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมสาธารณะได้ เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการสมาคมสิทธิในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ สิทธิชุมชน สิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการเข้าไปมีส่วนร่วมสาธารณะ มักจะถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ อยู่เสมอ ทั้งการใส่ร้ายป้ายสี การทำลายภาพลักษณ์ การเยี่ยมบ้าน การทำร้ายร่างกาย การใช้กองทัพหรือตำรวจปราบปราม การลอบสังหาร การบังคับให้สูญหาย เป็นต้น และอีกรูปแบบหนึ่งที่พบมากในปัจจุบันคือ “การคุกคามด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม”

การคุกคามการด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในลักษณะการฟ้องคดีต่อบุคคลที่เข้าไปมีส่วนร่วมสาธารณะนั้น มักถูกเรียกว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” (Strategic Lawsuits Against Public Participation หรือ SLAPPs) บางครั้งอาจเรียกว่า “การฟ้องปิดปาก”

SLAPPs มักถูกนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่บริษัทเอกชนและรัฐฟ้องคดีต่อนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว แกนนำหรือสมาชิกชุมชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น การร้องเรียน การชุมนุมหรือการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่าง ๆ ที่กระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน ของบริษัทเอกชน การดำเนินนโยบายการพัฒนาของรัฐบาล หรือตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการสร้างอุปสรรค ลดทอนทรัพยากร สร้างบรรยากาศแห่งความกลัวและยับยั้งประชาชนจากการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการร้องเรียนต่อรัฐบาลและพูดถึงประเด็นสาธารณะ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำงานเพื่อสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายให้สอดคล้อง กับหลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และความเป็นธรรมทางสังคม เห็นว่าปัญหาเรื่องการฟ้องคดี SLAPPs ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการคุกคามประชาชนที่ใช้สิทธิและเสรีภาพ เพื่อการมีส่วนร่วมสาธารณะนั้น เป็นเรื่องที่ควรมีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงเป็นที่มา ของการศึกษาและจัดทำรายงานชิ้นนี้ขึ้นมา ด้วยคาดหวังว่าจะนำไปสู่การถกเถียงเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ อย่างเป็นระบบต่อไป

แนวทางการจัดทำรายงาน

รายงานชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจภาพรวมสถานการณ์และปัญหาการฟ้องคดี SLAPPs รวมทั้งสำรวจกฎหมายและกลไกทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่ใช้จัดการกับการฟ้องคดี SLAPPs แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำข้อเสนอในการป้องกันการฟ้องคดี SLAPPs ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ในส่วนของการศึกษาสภาพปัญหาและสถานการณ์นั้น รายงานชิ้นนี้จะรวบรวมข้อมูลคดีที่เกิดขึ้นหลังจากปี 2540 จนถึงปัจจุบัน (พฤษภาคม 2562) เหตุที่ถือเอาช่วงเวลาดังกล่าว เพราะเป็นช่วงหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งรับรองและก่อให้เกิดสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมหลายประการ โดยเฉพาะสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ฯลฯ รัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้กระแสการมีส่วนร่วมสาธารณะขยายวงออกไปในระดับต่างๆ

สำหรับเกณ์การพิจารณาว่ากรณีใดบ้างเข้าข่ายเป็น SLAPPs นั้น จะพิจารณาโดยถือเกณฑ์ว่ากรณีนั้นเป็น “การฟ้องเพื่อคุกคามการใช้สิทธิภายใต้การคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับประเด็นประโยชน์สาธารณะ หรือการดำเนินการอื่นใดเพื่อสนับสนุนการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะหรือประเด็นประโยชน์สาธารณะ” หรือไม่ หากเป็น ถือได้ว่าเข้าข่าย SLAPPs ดังนั้น SLAPPs จึงไม่รวมกรณีการใช้กฎหมายจำกัดเสรีภาพที่ไม่ใช่การฟ้องร้องดำเนินคดี และจะรวบรวมเฉพาะกรณีที่ชัดเจนว่าผู้ถูกดำเนินคดีเป็นผู้กระทำตามที่ถูกฟ้องจริง ไม่ใช่คดีที่ยังมีความคลุมเครือหรือยังต่อสู้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ รวมถึงคดีที่มีการจับผิดตัว หรือไม่ได้เป็นผู้กระทำการที่ชัดเจน

ในรายงานชิ้นนี้ อาจจะไม่นับรวมการฟ้องคดีในบางข้อหาและบางกฎหมาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการฟ้องตามข้อหาหรือกฎหมายเหล่านั้นไม่เป็น SLAPPs แต่เป็นปัญหาทางเทคนิคของการจัดทำรายงาน ส่วนแรกคือข้อจำกัดในการจำแนกข้อมูล โดยคดีบางประเภทไม่สามารถเข้าถึงรายละเอียดได้ ทำให้ยากแก่การจำแนกว่ากรณีใดบ้างเข้าข่ายเป็น SLAPPs หรือไม่ โดยเฉพาะคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งหลายกรณีมีการปกปิดและไม่เผยแพร่เนื้อหาคดี ดังนั้น รายงานชิ้นนี้ จึงยังจะไม่นับรวมคดีดังกล่าว แต่จะมีการยกบางกรณีที่ชัดเจนว่าเข้าข่าย SLAPPs เป็นตัวอย่างประกอบในบางส่วนของรายงาน และรายงานชิ้นนี้จะไม่นับรวมคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง (กฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในฯ)

ทั้งนี้ ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานชิ้นนี้ จะใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเกี่ยวกับคดีลักษณะนี้ อาทิ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพของโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ทนายความ ผู้ถูกฟ้องคดี เป็นต้น การจัดเวทีสัมมนาและการจัดประชุม ได้แก่ การเสวนาวิชาการ เรื่อง การพัฒนากฎหมายและกลไกป้องกันการ “ฟ้องคดีปิดปาก” เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ วันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ณ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย การเวทีเสวนา “การฟ้องคดีปิดปาก กรณีโรงไฟฟ้าและทางออก” วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมจัดโดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน EIA/EHIA Watch Thailand และกรีนพีซ และการประชุมกลุ่มย่อย (focus group) เพื่อรับฟังข้อมูล ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการพัฒนากฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีปิดปาก (SLAPPs) ในประเทศไทย วันที่ 30 มกราคม 2562 ณ อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม จัดโดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และบางกรณีใช้ข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อมวลชนที่น่าเชื่อถือ

Download รายงานข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี