วันที่ 16 กันยายน 2562 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกฟ้องคดีหมายเลขที่ 1586/2562 ระหว่างพนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง โจทก์ และนางสาวมาริษา สำเภาทอง โจทก์ร่วม กับ นายโม่ ซิน อ่าว จำเลยที่ 1 และนายจอโซวิน หรือจอโซเว่น จำเลยที่ 2 โดยพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิด และให้ยกคำขอในส่วนแพ่งด้วย
สืบเนื่องมาจากจากกรณีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 นางสาวอรวี สำเภาทอง หรือน้องแอปเปิ้ล ถูกคนร้ายใช้มีดแทงเสียชีวิตที่ซอยสำนักสงฆ์สะพานปลา ข้างโรงเจ หมู่ที่ 5 ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดระนอง ได้ทำการจับกุมจำเลยทั้ง 4 คน คือ นายโมซินอ่าว นายไซกะเดา นายจอโซวิน และนายซอเล และดำเนินคดีในฐานความผิดต่อชีวิต ญาติของจำเลยได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ สถานทูตเมียนมาร์ประจำประเทศไทย ว่าระหว่างการควบคุมตัวมีการทำร้ายร่างกายและข่มขู่ให้จำเลยรับสารภาพ โดยกรณีนี้ถูกแยกฟ้องคดีอาญาเป็น 2 ศาล เนื่องจากมีจำเลย 2 คนมีฐานะเป็นเยาวชนอยู่ โดยแบ่งเป็นคดีศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง คดีหมายเลขดำที่ 7/2559 จำเลยคือ นายโมซินอ่าว และนายจอโซวิน และคดีศาลจังหวัดระนอง คดีหมายเลขดำที่ 115/2559 จำเลยคือนายเมาเซ้น หรือเซกะดอ และนายซอเล
และเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 ศาลจังหวัดระนอง และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง มีคำพิพากษาว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิด อ่านคำพิพากษาศาลจังหวัดระนองฉบับเต็ม และ อ่านคำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนองฉบับเต็ม
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2562 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องนายเมาเซ้นและนายเลว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น อ่านเพิ่มเติมสรุปคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8
และล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็ยกฟ้องนายโม่ ซิน อ่าว และนายจอ โซ วิน เช่นเดียวกัน โดยมีรายละเอียดคำพิพากษาของศาลุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยกฟ้องคดีฆ่าน้องแอปเปิ้ล ดังต่อไปนี้
พยานโจทก์ซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุเห็นหน้ากลุ่มชายที่วิ่งผ่านไปไม่ชัดเจน
นายปราโมทย์ คฤหเดช และพนธกรหรือเหรียญ รุจิวัฒนกุล ซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุมาเป็นพยานเบิกความสรุปว่าบริเวณที่พยานนั่งอยู่มีหลอดไฟนีออนอยู่ที่หอระฆังซึ่งสูงกว่าพื้นดินประมาณ 5 เมตร แสงสว่างจากหลอดไฟนีออนดังกล่าวมีความสว่างไม่พอทำให้ไม่สามารถเห็นใบหน้าและจำนวนคนได้ชัดเจน และไม่สามารถบอกได้ว่า ชายวัยรุ่นทั้งสี่คนที่พยานเห็นนั้นเป็นคนเดียวกับจำเลยทั้งสองหรือไม่ เนื่องจากในคืนเกิดเหตุเห็นหน้ากลุ่มชายที่วิ่งไม่ชัดเจน และมีระยะไกลและมืด มีแสงสว่างไม่พอ จึงไม่สามารถบอกตำหนิ รูปพรรณ และรายละเอียดของเสื้อผ้าที่กลุ่มชายดังกล่าวสวมใส่ได้
อีกทั้งพยานยังยืนยันว่าภาพที่ปรากฏจากกล้องบ้านสีเขียว ที่มีภาพชายสองคนวิ่งตามหลังชายคนเมานั้น หากเปรียบเทียบกับคนที่วิ่งในสำนักสงฆ์แล้ว ชายสองคนจะมีลักษณะอ้วนไป ประกอบกับพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า ในคืนเกิดเหตุจำเลยทั้งสองไม่ใช้เส้นทางผ่านบ้านสีเขียว กับไม่ได้เดินผ่านไปสำนักสงฆ์แต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า ภาพชายสองคนจากกล้องวงจรปิดบ้านสีเขียวที่ผ่านเข้ามาในเวลาใกล้เคียงกับเวลาที่เกิดเหตุเป็นจำเลยทั้งสอง ดังนั้น ที่โจทก์อ้างว่าภาพในกล้องวงจรปิดบ้านสีเขียวเป็นภาพจำเลยที่ 1 กำลังวิ่งเพื่อนำอาวุธมีดไปทิ้ง จึงยังไม่อาจรับฟังได้
คำรับสารภาพของจำเลยเป็นคำรับสารภาพที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อไม่ปรากฏว่ามีประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ แม้จำเลยทั้งสองกับพวกจะให้การรับว่าเป็นคนร้ายที่ทำร้ายผู้ตายในชั้นสืบสวนก็ตาม แต่ก็เป็นการให้การโดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และมิได้กระทำต่อหน้าสหวิชาชีพ คำรับดังกล่าวจึงเป็นคำรับที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
อีกทั้งจำเลยทั้งสองเบิกความว่าเป็นการรับสารภาพโดยถูกข่มขู่บังคับและซ้อมทรมานเพื่อให้จำเลยทั้งสองรับสารภาพ โดยมีภาพร่องรอยบาดแผลมาแสดง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในส่วนนี้จึงยังไม่สามารถรับฟังเชื่อมโยงได้ว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสองกับพวกพบผู้ตายและมีการโต้เถียงกัน จนกระทั่งจำเลยทั้งสองกับพวกโกรธแค้นเป็นเหตุให้ร่วมกันทำร้ายผู้ตาย
มากไปกว่านั้น ยังมีคำให้การในชั้นสืบสวนของนายชลิตหรือลิต ชัยสินธิ์ ที่ให้การว่าหลังเกิดเหตุได้พบนายก้านและนายพงษ์ศักดิ์ แซ่ตั้ง นายพงษ์ศักดิ์ได้บอกนายชลิตว่าตนไม่อาจอยู่ในพื้นที่ได้อีกต่อไป เนื่องจากร่วมกับพวกใช้รถจักรยานยนต์ 2 คัน ไปแทงผู้หญิงตายที่ซอยสำนักสงฆ์ซึ่งตรงกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่กลับไม่มีการขยายผลว่านายพงษ์ศักดิ์กับพวกเป็นคนร้ายในคดีหรือไม่
มีภาพยืนยันว่าขณะเกิดเหตุนายเมาเซ้นและนายเลยังอยู่บ้าน
ในส่วนของนายเมาเซ้นและนายเล ปรากฏภาพยืนยันว่าช่วงเวลาเกิดเหตุมีภาพนายเมาเซ้นและนายเลเดินเข้าไปบริเวณด้านข้างแพมณเฑียร ซึ่งเป็นทางเข้าบ้านของนายเมาเซ้น ซึ่งตรงกับภาพในล้องวงจรปิดเวลา 19.30.37 น. และเดินออกจากบริเวณดังกล่าวในเวลา 19.40.15 น. ซึ่งหากถือตามเวลาที่พันตำรวจเอกเชิดพงษ์เทียบเวลาไว้ว่าเวลาในกล้องเร็วกว่าเวลาจริง 53 วินาทีแล้ว จะเห็นว่าช่วงเวลาที่เกิดเหตุคือระหว่างเวลาประมาณ 19.35 น.ถึง 19.37 น. เศษ นายเมาเซ้นและนายเลยังอยู่บริเวณบ้านของนายเมาเซ้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่นายเมาเซ้นจะไปปรากฎอยู่ในที่เกิดเหตุจนมีเหตุแทงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย
ไม่พบดีเอ็นเอของจำเลยทั้งสองบริเวณเล็บของผู้ตาย
นายแพทย์กฤติน มีวุฒิสม พยานโจทก์เบิกความว่า พยานตัดเล็บผู้ตายในวันที่ตรวจสภาพศพ และมอบให้พนักงานสอบสวนรับไปเพื่อส่งตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอกับบุคคลต้องสงสัย แต่จากรายงานการตรวจพิสูจน์นั้นระบุว่าตรวจพบดีเอ็นเอเพศหญิงซึ่งตรงกับผู้ตายติดอยู่ที่ของกลาง แต่ไม่พบดีเอ็นเอของบุคคลอื่น
และพยานไม่สามารถยืนยันได้ว่าบาดแผลยาวบริเวณใบหน้าซ้ายของจำเลยที่ 1 มาจากรอยข่วนหรือมาจากอะไรหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานที่ระบุว่า ตรวจพบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 1 เป็นดีเอ็นเอต่างจากที่ตรวจพบที่เล็บของกลาง ทั้งไม่พบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 2 นายเมาเซ้นและนายเลเช่นเดียวกัน
หากจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริง เลือดของผู้ตายน่าจะมีโอกาสติดตามตัวบ้าง
พิจารณาจากภาพถ่ายกองเลือดของผู้ตายที่ไหลออกมาจากร่างกายจำนวนมากแล้ว เชื่อว่าเลือดน่าจะติดตัว เสื้อผ้า หรือรองเท้าของผู้กระทำผิดบ้างไม่มากก็น้อย ประกอบกับที่นายนาวโซ๋เบิกความว่าเป็นผู้ขี่จักรยานมารับจำเลยที่ 1 หน้าบ้านไซกะเดาเวลา 19.13.19 น. ซึ่งตรงกับเวลาจริงตามตารางที่พันเอกเชิดพงษ์เทียบไว้คือ 19.43.19 น. และเวลาตามกล้องวงจรปิดที่พยานจูงรถจักรยานออกมาพร้อมจำเลยที่ 1 จากบริเวณหน้าบ้านนายเมาเซ้นคือเวลา 19.16.37 น. ตรงกับเวลาจริงตามตารางคือ 19.46.37 น. ช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาหลังเกิดเหตุเพียง 6 นาที
หากเป็นไปตามทางนำสืบของโจทก์ที่ว่าเป็นช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 วิ่งไปทิ้งมีด แต่เหตุใดยังมีภาพของจำเลยที่ 1 ปรากฏอยู่ในกล้องวงจรปิดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ยังคงสวมเสื้อผ้าชุดเดิม ดังนั้นหากจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดจริงย่อมมีโอกาสเป็นไปได้ที่โลหิตของผู้ตายจะติดเสื้อของจำเลยที่ 1 และอย่างไรเสียเพื่อปกปิดข้อพิรุธ จำเลยที่ 1 ควรจะเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่ออำพรางความผิดที่ตนเองกระทำไว้ พยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงขัดแย้งกับพยานหลักฐานที่ปรากฏในกล้องวงจรปิด
พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาจึงยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดหรือไม่ จึงเห็นควรยกประโยชน์ให้จำเลยทั้งสอง และที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น ดังนั้นข้อเท็จจริงในส่วนแพ่งจึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ตาย อันจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม จึงต้องยกคำขอส่วนแพ่งด้วย อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฉบับเต็ม
คดีนี้ ได้มีนักกฎหมายจากองค์กรต่างๆร่วมกันให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ สภาทนายความแห่งประเทศไทย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(Human Rights Lawyers Association) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Human Rights and Development Foundation-HRDF) มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (Foundation for Education and Development-FED) และศูนย์สังคมพัฒนามูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี (DISAC) เพื่อให้จำเลยในคดีซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงความยุติธรรมและรณรงค์ให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ถูกจับด้วยเหตุความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการห้ามใช้วิธีซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพซึ่งเป็นการกระทำที่บ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
รัษฎา มนูรัษฎา (ทนายความ) 081- 439-4938
สุพรรษา มะเหร็ม (ทนายความ) 085-171-8200
คุณัญญา สองสมุทร (ทนายความ) 088-753-5774