กรณีนายกฤษกร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ปากมูล นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องหมิ่นประมาท

กรณีนายกฤษกร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ปากมูล นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องหมิ่นประมาท

นายฤษกร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ปากมูล ในอดีตเคยเป็นแกนนำต่อต้านการสร้างเขื่อนราษีไศลปิดกั้นแม่น้ำมูล ไปจนสู่การเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว ในปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกรณีปิดเขื่อนปากมูล และเรียกร้องให้ยุติการออกโฉนดในที่ดินสาธารณะเกาะดอนคำพวง

จากการเป็นแกนนำในการรณรงค์เรียกร้องแทนชาวบ้านในกรณีเรียกร้องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ติดตาม ตรวจสอบ การปิดเขื่อนปากมูล และกรณีเรียกร้องให้รัฐยุติการออกโฉนดในที่ดินสาธารณะ เกาะดอนคำพวง จึงถูกเจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานของรัฐฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท

 

คดีนายกฤษกร (ป้าย ปากมูล) แกนนำเรียกร้องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ติดตาม ตรวจสอบ การปิดเขื่อนปากมูล ถูกฟ้องหมิ่นประมาท

คดีนี้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2445/2561 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี โจทก์ กับ นายกฤษกร ศิลารักษ์ จำเลย ในฐานความผิดนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะทำให้เกิดคามเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นให้เหตุให้ประชาชนตื่นตกใจและดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าด้วยการโฆษณา

ข้อเท็จจริงคดี

นายกฤษกรได้โพสข้อความลงในเฟสบุ๊คส่วนตัว โดยพิมพ์ข้อความ พร้อมกับลงรูปภาพ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 โดยมีการแสดงความคิดเห็นว่า ในกรณีเปิด-ปิดเขื่อนปากมูล ที่หน่วยงานราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้มีหนังสือเรียกประชุมอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งในขณะนั้นมีปริมาณน้ำมากมายมหาศาลที่เขื่อนอุบลรัตน์ ระบายลงจนท่วมจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และไหลลงสู่แม่น้ำชี และต่อมาจะไหลเข้าสู่จังหวัดอุบลฯ และประกอบกับปริมาณน้ำในลำน้ำมูล มีปริมาณมากกำลังเอ่อท่วมจังหวัดศรีษะเกษก็กำลังไหลเข้าสู่ตัวเมืองอุบลฯ ซึ่งหากมีการปิดประตูเขื่อนปากมูล จะทำให้มวลน้ำเหล่านี้ท่วมเมืองอุบลฯ เพราะไม่สามารถไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้

ซึ่งโจทก์เห็นว่า การโพสในลักษณะนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ซึ่งนายสฤษดิ์ ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีและในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ผู้เสียหาย เป็นผู้ดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ ได้กล่าวว่าข้อมูลที่จำเลยกล่าวเป็นข้อมูลอันเป็นความเท็จ

 

คดีนายกฤษกร (ป้าย ปากมูล) แกนนำรณรงค์เรียกร้องให้รัฐยุติการออกโฉนดในที่ดินสาธารณะ เกาะดอนคำพวง ถูกฟ้องหมิ่นประมาท

คดีนี้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 99/2562 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี โจทก์ กับ นายกฤษกร ศิลารักษ์ จำเลย ในฐานความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และหมิ่นประมาทศาล

ข้อเท็จจริงคดี

กรณีที่เรียกร้องให้ยุติการออกโฉนดที่ดินสาธารณะเกาะดอนคำพวง นายกฤษกรเป็นแกนนำรณรงค์ในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเกาะดอนคำพวง เป็นเกาะขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำมูล และมีเอกชนอ้างว่าครอบครองที่ดินบริเวณดอนคำพวง ประมาณ 400 ไร่ และมีการออกโฉนดที่ดินแล้วบางส่วน ทั้งที่เกาะดอนคำพวงตั้งอยู่กลางแม่น้ำมูลบนพื้นที่ระหว่าง ตำบลกุดชมภู อำเภอพิบูลมังสาหาร และ ตำบลคันไร่ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่สาธารณะและประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันตลอดมา ทำให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงออกมาคัดค้านการออกโฉนดดังกล่าว ตลอดถึงการร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดค้านการออกโฉนดที่ดินบนเกาะดอนคำพวง รวมถึงรณรงค์ผลักดันให้มีการออกโฉนดชุมชนให้เกาะดอนคำพวงเพื่อสงวนไว้ให้สาธารณชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ในระหว่างที่ดำเนินการอยู่นั้น เมื่อต้นปี 2559 ได้มีบุคคลเข้าไปทำการตัดไม้ยืนต้นขนาดใหญ่บนเกาะดอนคำพวง เช่น ไม้ยางนา เป็นจำนวนมาก และตำรวจ สภ.พิบูลมังสาหารสามารถจับกุมและอายัดของกลางไว้ได้ และได้มีการดำเนินคดีกับผู้ทำการตัดไม้ดังกล่าว

นายกฤษกรซึ่งเป็นแกนนำในการรณรงค์เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการรังวัดออกโฉนดที่ดินบนเกาะดอนคำพวง เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการออกโฉนดที่ดินอันเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ได้ติดตามการดำเนินคดีบุคคลซึ่งไปตัดไม้ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟสบุ๊ค เกี่ยวกับการบุกรุกเกาะ การตัดไม้ และการพิจารณาคดีของศาล อย่างต่อเนื่องหลายข้อความ เป็นเหตุให้ถูกฟ้อง เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 99/2562 ในฐานความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและหมิ่นประมาทศาล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 , 326 และมาตรา 328 โดยพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนได้ขอให้ศาลนับโทษจำคุกในคดี 2445/2561 รวมกับโทษในคดีอาญาคดีนี้ (99/2562) ด้วย

 

ประวัติโดยย่อของนายกฤษกร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ปากมูล

นายกฤษกร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ปากมูล ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ที่ปรึกษาชมรมอนุรักษ์ดอนคำพวง จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ และคณะทำงานประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมภาคประชาชนอาเซียน (APF/ACSC 2019)

เริ่มต้นการเข้าทำกิจกรรมกับชุมชน จากการเป็นตัวแทนของครอบครัวในการยื่นเรื่องเรียกร้องความเป็นธรรมจากความเดือดร้อนของชาวบ้านในการที่รัฐบาลสร้างเขื่อนราษีไศลในปี 2535 โดยได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้รวบรวมเอกสาร ข้อมูลต่างๆ และประสานงานกับตัวแทนชาวบ้าน

เนื่องจากเป็นผู้รวบรวมเอกสารและประสานงานกับตัวแทนชาวบ้าน จึงเป็นตัวแทนร่วมกับแกนนำเขื่อนราษีไศล มาร่วมก่อตั้ง “สมัชชาคนจน” และถูกแต่งตั้งให้เป็นพ่อครัวใหญ่ ในเวทีสมัชชาคนจนด้วย อีกทั้งยังได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในตัวแทนเจรจากับรัฐบาลในช่วงปี 2539

ภายหลังจากการจ่ายค่าชดเชยกรณีเขื่อนราศีไศล ในปี 2540 ป้ายต้องเดินทางลี้ภัยที่ต่างประเทศ เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย และในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา ได้รับการร้องขอจากเทศบาล กำนันผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านในชุมชน ตำบลกุดชมพู อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ให้เข้าไปช่วยเหลือกรณีที่ดินดอนคำพวง ที่กำลังถูกบุกรุกโดยนายทุน เนื่องจากมีประสบการณ์และเป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ จากกรณีเป็นหนึ่งในผู้นำ เรียกร้องความเป็นธรรม จากการสร้างเขื่อนราศีไศล ซึ่งถือได้ว่าป้ายเป็นหนึ่งในนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเพื่อสาธารณะชนเป็นหลัก

 

นักปกป้องสิทธิมนุษย์กับผลพวงจากการถูกดำเนินคดี

การถูกดำเนินคดีทั้ง 2 คดี ทำให้นายกฤษกรถูกกีดกันไม่สามารถใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้อย่างเต็มที่ การดำเนินการเช่นนี้ ถือเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน หรือ Strategic Lawsuit Against Public Participation (SLAPPs) หรือ การฟ้องปิดปาก อันเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการยุติการมีส่วนร่วมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

การถูกดำเนินคดีดังกล่าวยังได้สร้างภาระให้กับนายกฤษกรโดยตรง คือสร้างความกังวล หวาดกลัวว่าจะต้องถูกลงโทษ ก่อให้เกิดภาระในการต่อสู้คดีที่จะต้องใช้ทั้งเงินและเวลาในการต่อสู้คดี ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานรณรงค์และกิจกรรมเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้ประชาชนและส่วนรวมต้องถูกจำกัดหรือต้องยุติไปโดยปริยาย นอกจากนี้ยังเป็นการเบี่ยงเบนการต่อสู้ในประเด็นสาธารณะประโยชน์ให้เป็นประเด็นส่วนตัว อันทำให้การเรียกร้องในประเด็นหลักคือการปกป้องประโยชน์สาธารณะไม่ถูกพิจารณาหรือต้องยุติไป

อนึ่งการใช้ความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญามาดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวนั้น มีต้นทุนน้อย กล่าวคือ เป็นการใช้กลไกของรัฐในการดำเนินการทั้งหมด ตั้งแต่ชั้น ตำรวจ อัยการ ศาล ทั้งที่การดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิเช่นนี้ เป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐไปโดยไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง แต่นักปกป้องสิทธิที่เรียกร้องประโยชน์สาธารณะ ต้องเผชิญกับต้นทุนในการต่อสู้คดีที่สูงมาก ทั้งเงินประกันตัว ค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายในการเตรียมคดีและการเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ตามหมายเรียกในชั้นต่างๆ และอาจต้องติดคุกหากศาลพิพากษาว่ามีความผิด

การดำเนินคดีกับนายกฤษกร ซึ่งเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเช่นนี้ ถือเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Strategic Lawsuit Against Public Participation หรือ SLAPPs) ซึ่งถือเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ในการคุกคาม ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแสดงความเห็นและการแสดงออก เป็นการฟ้องร้องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือฟ้องเพื่อปิดปาก หรือเพื่อทำให้เกิดความยากลำบากกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการที่จะทำหน้าที่ของตน ซึ่งรัฐบาลไทยยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการคุกคามในรูปแบบนี้และรูปแบบอื่นๆ ทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังต้องตกอยู่ในความเสี่ยงต่อไป

 

อ่านเพิ่มเติม :

รายงานข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี

คู่มือประชาชนจากการถูกฟ้องคดีปิดปาก