สนส. ร่วมนิติฮับ เข้าพบนายกสภาทนายความฯ ขอให้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

สนส. ร่วมนิติฮับ เข้าพบนายกสภาทนายความฯ ขอให้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส. หรือ HRLA) และตัวแทนจากนิติฮับ (Nitihub) เข้าพบนายกสภาทนายความฯ ขอให้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

วันที่ 17 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น.  นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน ตัวแทนจากนิติฮับ (Nitihub) นางสาวพริม มณีโชติ และทนายความที่ได้รับความเสียหายจากข้อบังคับสภาทนายความเรื่องการแต่งกายของทนายความ เข้าพบนายกสภาทนายความฯ ดร. วิเชียร ชุบไธสง ขอให้สภาทนายความฯ แก้ไขข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529  หมวด 5 มรรยาทในการแต่งกายข้อ 20 (2) ซึ่งกำหนดให้ “ทนายความหญิงแต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น” โดยขอให้แก้ไขให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ 

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ที่ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความมีผลใช้บังคับ ทนายความหญิงถูกกำหนดให้ต้องแต่งกายด้วยกระโปรง ส่งผลให้ทนายความหญิงที่สวมใส่กางเกงว่าความ ต้องถูกผู้พิพากษาตักเตือน ตำหนิ ติเตียน ซึ่งการฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าว ยังเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ มีความผิดตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มีโทษสามสถาน คือ ภาคทัณฑ์ ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปี หรือลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ

สนส. ได้รับการร้องเรียนทนายความหญิงที่เป็นสมาชิก สนส. ซึ่งสวมใส่กางเกงว่าความและได้รับความเสียหายจากข้อบังคับฯ อันเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ จึงได้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ที่กำหนดให้ทนายความไม่น้อยกว่า 100 คนมีสิทธิเสนอขอให้คณะกรรมการสภาทนายความพิจารณาแก้ไขข้อบังคับฯ ได้ โดยได้รณรงค์และรวบรวมรายชื่อทนายความจำนวน 126 รายชื่อ เข้าพบตัวแทนสภาทนายความฯ ในวันที่ 10 มิถุนายน 2563 เพื่อขอให้คณะกรรมการสภาทนายความพิจารณาแก้ไขข้อบังคับฯ แต่สภาทนายความฯ ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขแต่อย่างใด

การเรียกร้องให้ทนายความหญิงสามารถสวมใส่กางเกงว่าความได้นั้น เหมือนกับเป็นเรื่องของทนายความหญิง แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องของทุกคน สนส. และนิติฮับ (Nitihub) จึงได้ร่วมกันรณรงค์เพื่อให้ทนายความหญิงมีสิทธิในการสวมใส่กางเกงว่าความได้ โดยมีประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ทนายความหญิงสามารถใส่กางเกงไปศาลได้ทางเว็บไซต์  โดยมีประชาชนทั่วไปสนับสนุนแนวคิดนี้ถึง 16,500 คน และเมื่อ 8 ธันวาคม 2564 สนส. และ  นิติฮับ (Nitihub) ได้เข้ายื่นหนังสือถึงสภาทนายความฯ ขอให้แก้ไขเรื่องการแต่งกายเพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการสภาทนายความพิจารณาแก้ไขข้อบังคับฯ อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 นางสาวจิดาภา คงวัฒนากุล ทนายความหญิงซึ่งเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาและสภาทนายความ ซึ่งได้สวมใส่กางเกงว่าความและถูกศาลตำหนิและส่งจดหมายถึงสภาทนายความฯ เพื่อตรวจสอบเรื่องมารยาทนายความ ได้ยื่นคำร้องถึงคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ให้มีคำวินิจว่าข้อบังคับของสภาทนายความฯ ขัดกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการ วลพ. พิจารณาแล้วเห็นว่าประเด็นที่ทนายความหญิงถูกกำหนดให้ต้องใส่กางเกงว่าความนั้น เกี่ยวกับสิทธิในการแต่งกาย ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 กำหนดให้ความแตกต่างในเรื่อง “เพศ” ไม่เป็นเหตุที่จะนำมาปฏิบัติต่อบุคคลแตกต่างกัน ทุกคนไม่ว่าเพศชายหรือหญิงย่อมมีสิทธิแต่งกายตามที่ประสงค์ การที่ข้อบังคับสภาทนายความและเนติฯ กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งกายของสมาชิกสำหรับเพศชายหรือหญิง  เข้าลักษณะแบ่งแยก กีดกัน จำกัดสิทธิการแต่งกาย จากข้อบังคับทั้งสองฉบับที่กำหนดให้ทนายความหญิงต้องสวมกระโปรงเท่านั้นในเวลาสวมครุยว่าความ โดยไม่สามารถสวมกางเกงที่มีลักษณะสุภาพได้ เป็นการกำหนดกฎที่กีดกันและจำกัดสิทธิประโยชน์ในการใช้สิทธิแต่งกายของทนายความหญิง ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศหญิง ซึ่งถือว่าเป็น “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” จึงมีคำสั่งให้สภาทนายความและเนติฯ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ขัดแย้งกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพื่อรับรองสิทธิทนายความหญิงให้สามารถสวมกางเกงหรือกระโปรงเมื่อสวมเสื้อครุยขณะว่าความในศาลได้ เพื่อระงับและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ 

วันนี้ (17 มกราคม 2566)  สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และนิติฮับ ซึ่งร่วมกันรณรงค์ให้มีการแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความดังกล่าวเพื่อให้ทนายความหญิงสามารถใส่กางเกงว่าความได้ จึงได้เข้าพบนายกสภาทนายความเพื่อติดตามการดำเนินการของสภาทนายความฯ ในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากทั้งทนายความ ประชาชนทั่วไป รวมถึงคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ต่างมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าข้อบังคับของสภาทนายความฯ ที่กำหนดให้ทนายความหญิงต้องสวมใส่กระโปรงว่าความนั้น ขัดกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ ดังนั้นสภาทนายความฯ จึงควรมีการแก้ไขข้อบังคับฯ ให้สอดคล้องกับกฎหมายและความเห็นของประชาชนโดยเร็วที่สุด โดยให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หลักสิทธิมนุษยชน ตอบรับกับความแตกต่างหลากหลายและไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อไป

นายกสภาทนายความฯ รับนำคำนิวิจฉัย วลพ. ไปแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความกรณีข้อบังคับฯละเมิดสิทธิทนายความด้วยเหตุแห่งการเลือกปฎิบัติทางเพศ  และได้ชี้แจ้งว่า วันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารสภาทนายความเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความ และคณะกรรมการฯ จะร่างข้อบังคับเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อลงนามต่อไปภายในกรอบเวลาที่ วลพ. กำหนด 

ทั้งนี้ นายกสภาทนายความฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เนติบัณฑิตยสภาก็อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขข้อบังคับเนติบัณฑิตด้วยเช่นกัน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) จะยังคงติดตามการดำเนินการของสภาทนายความฯ และเนติบัณฑิตยสภาฯ เกี่ยวกับการดำเนินการตามคำวินิจฉัยของทางคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมทางเพศต่อไป เพื่อให้เกิดการแก้ไขข้อบังคับและมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด