มหากาพย์ ไม่ห้าม แต่ไม่คุ้มครอง ทนายความหญิงสวมกางเกง

มหากาพย์ ไม่ห้าม แต่ไม่คุ้มครอง ทนายความหญิงสวมกางเกง

กฎหมายหรือข้อบังคับ ต้องพัฒนาตาม​ความจำเป็นแห่งสภาพของสังคม ทว่าจวบจนปัจจุบัน ทนายความหญิงยังคงต้องสวมกระโปรงว่าความตามข้อบังคับเมื่อ 35 ปีก่อนเท่านั้น เนื่องจากสภาทนายความฯ ได้ตีความแล้วว่า ตามข้อบังคับไม่ได้ห้ามทนายความหญิงสวมกางเกง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอันสมควรแต่ประการใด ต้องแก้ไขข้อบังคับดังกล่าว?

 

ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 5 มรรยาทในการแต่งกาย ข้อ 20 ระบุว่า “ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ (2) ทนายความหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น…” โดยทนายความที่ไม่ประพฤติตนตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความดังกล่าว ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 52 คือ (1) ภาคทัณฑ์ (2) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปี หรือ (3) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ

 

การที่ทนายความหญิงถูกบังคับให้ต้องสวมกระโปรงเท่านั้น แม้จะไม่เคยมีการลงโทษตามตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 52 แต่ปรากฎมีกรณีทนายความหญิง ถูกทนายความฝ่ายตรงข้ามโจมตีและถูกศาลตำหนิจากการสวมกางเกงและสูทสากลในการว่าความ จึงเกิดการตั้งคำถามว่าข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ ที่กำหนดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2529 หรือเมื่อ 35 ปีที่แล้ว ควรได้รับการปรับแก้ให้สอดรับกับหลักความเท่าเทียมทางเพศตามรัฐธรรมนูญ หรือสอดคล้องกับแนวความคิดเรื่องเพศของสังคมไทยในปัจจุบันหรือไม่?

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ระบุว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้”

 

องค์กรอัยการ เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม ที่รับหลักการความเท่าเทียมทางเพศดังกล่าว โดยกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการแต่งกายของข้าราชการอัยการหญิงไว้ในระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายของข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2556 ข้อ 26(1)(ง) ซึ่งกำหนดให้ข้าราชการอัยการหญิงสวมกางเกงปฏิบัติงานได้

 

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เคยจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากหลากหลายสาขาอาชีพ 100 คนในช่วงอายุ 24-30 ปี ต่อกรณีการแต่งกายไปทำงานของผู้หญิงในสังคมปัจจุบัน เกินครึ่งระบุว่าไม่มีอาชีพใดต้องสวมกระโปรงไปทำงาน และปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกทนายความ คือความสามารถ ประสบการณ์ และผลการทำงาน (ดูรายการ WHAT 100 THINK : https://www.facebook.com/watch/live/?v=2541406792790595&ref=watch_permalink)

 

“ให้ทนายแต่งกายด้วยกางเกงหรือกระโปรงแบบเรียบร้อยเท่านั้นก็เพียงพอ…เดิมที่ข้อบังคับบัญญัติว่า ‘ชาย’ หรือ ‘หญิง’ ก็ให้เปลี่ยนเป็น ‘บุคคล’ แบบนั้นน่าจะง่ายกว่า…” พูนสุข พูนสุขเจริญ สมาชิกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.) และฝ่ายวิจัยกฎหมายและสิทธิมนุษยชน @ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แสดงความคิดเห็นที่สอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญไว้ในบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับการแต่งกายของทนายความหญิง (อ่านบทสัมภาษณ์ : https://www.facebook.com/naksit.org/photos/3143521535716323?fbclid=IwAR0wbrUChvEzQZeKjOuvCRu25hcPiFTAxPAvgQzkyaNmgRFqXZliP6cStc8&_rdc=1&_rdr)

 

จากหลักความเท่าเทียมทางเพศตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรอง รวมทั้งตัวอย่างองค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่รับรองหลักความเท่าเทียมทางเพศ กระทั่งผลสำรวจความคิดเห็นจากประชาชน ทำให้ สนส. ตัดสินใจดำเนินการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ที่กำหนดให้ทนายความไม่น้อยกว่า 100 คนมีสิทธิเสนอขอให้คณะกรรมการสภาทนายความพิจารณาแก้ไขข้อบังคับฯ ได้

 

  •  10 มิถุนายน 2563 สนส. เข้าพบตัวแทนจากสภาทนายความฯ ยื่นรายชื่อทนายความ 126 รายชื่อ เพื่อขอแก้ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการแต่งกายของทนายความหญิง โดยเสนอให้ใช้ถ้อยคำที่มีเนื้อความดังต่อไปนี้ “ทนายความ แต่งกายตามแบบสากลนิยมหรือแต่งเสื้อชุดไทยแบบแขนสั้นหรือยาว กระโปรงยาวคลุมเข่าหรือกางเกงขายาวสีดำหรือสีกรมท่าเข้ม หรือสีสุภาพไม่พับปลายขา รองเท้าหุ้มส้น ทั้งนี้เครื่องแต่งกายต้องเป็นสีสุภาพไม่ฉูดฉาด” ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบฯ ว่าด้วยการแต่งกายขององค์กรอัยการ และเป็นการรับรองหลักการความเท่าเทียมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
  •  22 กรกฎาคม 2563 @สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีหนังสือตอบกลับมายัง สนส. ใจความสำคัญระบุว่า “…เนื่องจากในข้อบังคับฯ ดังกล่าวมิได้ห้ามทนายความหญิงมิให้สวมใส่กางเกงว่าความไว้ ในชั้นนี้เห็นว่ายังไม่มีเหตุผลอันสมควรในการแก้ไขข้อบังคับฯ” (หนังสือฉบับเต็ม : https://www.facebook.com/naksit.org/photos/3122168387851638?fbclid=IwAR0wbrUChvEzQZeKjOuvCRu25hcPiFTAxPAvgQzkyaNmgRFqXZliP6cStc8&_rdc=1&_rdr)

 

“หนังสือตอบกลับจากสภาทนายความดังกล่าว ทำให้รู้สึกราวกับว่าที่ผ่านมา การที่ทนายความหญิงถูกตักเตือน และเชื่อว่ายังมีทนายความหญิงคนอื่นๆ ที่ในเวลาว่าความสวมใส่กางเกงแล้วถูกศาลตักเตือน หรือทนายความฝ่ายตรงข้ามกล่าวว่าแต่งกายผิดมรรยาททนายความนั้น กลายเป็นว่าทั้งศาล และทนายความอุปทานหมู่ไปเองว่าข้อบังคับสภาทนายความฯ ห้ามทนายความหญิงสวมใส่กางเกงไปว่าความ ซึ่งหากสภาทนายความตีความเช่นนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าสภาทนายความได้ปลดล็อคเรื่องการแต่งกายของทนายความ โดยไม่จำกัดเรื่องเพศวิถีเนื่องจากข้อบังคับสภาทนายความฯ ไม่ได้เขียนหรือห้ามการแต่งกายดังกล่าวไว้แต่อย่างใด” คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน หนึ่งในทนายความหญิงที่เคยถูกศาลตักเตือนเรื่องการสวมกางเกงว่าความ (อ่านบทสัมภาษณ์ : https://www.facebook.com/naksit.org/photos/3129980800403730?fbclid=IwAR3x171oMlZTm11JDsuwHlpGZf8SYaBTpU4lpcvEesvxMWHSCXgWJ9hxVlw&_rdc=1&_rdr)

 

  •  26 มกราคม 2564 สนส. ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและสภาทนายความฯ ขอให้ประกาศแนวปฏิบัติว่า “สภาทนายความฯ ได้ตีความเป็นหนังสือแล้วว่า ไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้ทนายความหญิงสวมใส่กางเกงในการว่าความตามข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 5 มรรยาทในการแต่งกาย ข้อ 20 (2) ดังนั้น ทนายความหญิงสามารถแต่งกายโดยสวมใส่กางเกงว่าความในศาลได้ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความเสมอภาค และขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ อันเป็นหลักสิทธิมนุษยชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้คุ้มครองไว้”
  •  14 พฤษภาคม 2564 สำนักประธานศาลฎีกา ได้มีหนังสือตอบกลับ เนื้อความระบุว่า “…การแต่งกายของบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ทนายความในเวลาว่าความนั้น หากบุคคลนั้นมีสิทธิสวมครุยเนติบัณฑิต ย่อมต้องสวมเสื้อครุยนั้นด้วย ตามข้อ 20(4) ของข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 รวมทั้งต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 17 แห่งข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ด้วย” (หนังสือฉบับเต็ม : https://www.facebook.com/naksit.org/photos/a.559642024104300/3964016730333462/) ทั้งนี้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 17 แห่งข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 คือ สมาชิกที่เป็นหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงขาว กรมท่า ดำ หรือสีอื่นซึ่งเป็นสีเข้มและไม่ฉูดฉาด เสื้อสีขาว หรือสีตามกระโปรง รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาล สีดำ เข้าชุดกันกับเครื่องแต่งกาย

 

สภาทนายความฯ ระบุว่าไม่มีเหตุผลอันสมควรในการแก้ไขข้อบังคับฯ โดยการตีความว่า ข้อบังคับที่ 20(2) ไม่ได้ห้ามทนายความหญิงสวมกางเกง แต่ทั้งสภาทนายความฯ และประธานศาลฎีกากลับไม่ดำเนินการออกแนวปฏิบัติเพื่อรับรองหลักการความเท่าเทียมตามรัฐธรรมนูญ และคุ้มครองทนายความหญิงที่ถูกทนายความฝ่ายตรงข้ามทักท้วงเรื่องการแต่งกายตามข้อบังคับ ถูกศาลตักเตือน และยังมีโอกาสถูกลงโทษภาคทัณฑ์,ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปี หรืออาจถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ กลับกัน ประธานศาลฎีกายังเน้นย้ำถึงการแต่งกายของทนายความหญิงที่เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาที่ต้องสวมกระโปรงตามหลักเกณฑ์เท่านั้น ดังนั้น สนส. ยังไม่บรรลุเป้าประสงค์ที่ต้องการปกป้องหลักการความเท่าเทียมทางเพศ และเสรีภาพในการแต่งกายของบุคคล จึงยังไม่ลดละที่จะยืนยันและดำเนินการตามจุดยืนต่อไป

 

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์