[HRLAxMember] ข้อบังคับแต่งกายทนายความ ไม่ห้าม = ไม่ผิด จริงหรอ?

[HRLAxMember] ข้อบังคับแต่งกายทนายความ ไม่ห้าม = ไม่ผิด จริงหรอ?

บทสัมภาษณ์วันนี้ ชวนพูดคุยประเด็น “ข้อบังคับแต่งกายทนายความ ไม่ห้าม = ไม่ผิด จริงหรอ?” กับ พูนสุข พูนสุขเจริญ 

“พูนสุข พูนสุขเจริญ” หรือ “เม” จากอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนของเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สู่การเป็นสมาชิกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ผู้ซึ่งสนใจประเด็นต่อต้านการทรมาน และเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม นอกจากนี้ เม ยังได้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังรัฐประหารปี 2557 ปัจจุบันทำงานที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน วันนี้เราจะมาชวน เม พูดคุยในประเด็น “ข้อบังคับแต่งกายทนายความ ไม่ห้าม = ไม่ผิด จริงหรอ?” และทางออกที่ควรจะเป็นของปัญหานี้

Q: สำหรับข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ 2529 เมื่อเป็นข้อบังคับแล้ว สิ่งใดที่ไม่อยู่ในข้อบังคับสามารถพึงปฏิบัติได้หรือไม่คะ?
A: จากหนังสือตอบกลับของสภาทนายความ ส่วนตัวเราเห็นว่า ข้อบังคับถือเป็นข้อกำหนดของการแต่งกายทนาย สิ่งใดนอกเหนือจากที่กำหนด จะเสี่ยงต่อการผิดมรรยาททนายความ ซึ่งมีผลให้ทนายต้องถูกสอบ ถูกอะไรได้ เราเลยคิดว่าการที่สภาทนายความตอบกลับมาแบบนั้น ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่า เราควรจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร เพราะถ้าสภาฯ บอกว่าห้ามหรือไม่ห้าม ก็สามารถกระทำได้ ถ้าอย่างนั้นก็สามารถแต่งกายในลักษณะอื่นได้ด้วย อย่างเช่น แต่งกายในลักษณะที่ไม่สุภาพ หรือแต่งกายในชุดลักษณะอื่นๆ ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่สภาฯ มุ่งหวังให้เกิดขึ้น เราเลยเห็นว่า หากจะแก้ไขข้อบังคับสภาฯ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แค่ใช้มติของกรรมการสภาทนายความเท่านั้น ไม่ต้องไปแก้ตัวพระราชบัญญัติทนายความ หรือ แก้ไขกฎหมายอื่น เพียงแก้ไขข้อบังคับเพื่อให้เกิดความชัดเจนเท่านั้นเอง

Q: คิดว่า เหตุใดทำไมทางสภาฯ ถึงชี้แจงในลักษณะนี้ แทนที่จะตอบรับอาจจะไปปรับแก้ข้อบังคับ?
A: อันนี้ไม่ทราบเหมือนกัน แต่เราเห็นว่า หนึ่งคือควรจะแก้ข้อบังคับเพื่อความชัดเจน สองก็คือเพื่อเป็นการยืนยันว่าองค์กรเราสามารถปรับตัวตามยุคสมัยได้ สำหรับเราการใส่กางเกงหรือว่ากระโปรง ไม่ว่าเพศสภาพไหน ก็ไม่ได้มีผลที่ทำให้ทักษะการว่าความ หรือทักษะการทำหน้าที่ในศาลมันลดทอนคุณค่าลงไป จึงควรเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้

Q: นอกจากกรณีพี่เยาะที่เคยถูกศาลเรียกไปตักเตือนว่าด้วยข้อบังคับข้อนี้แล้ว ยังมีกรณีอื่นที่โดนอีกมั้ย แล้วมีไปถึงขั้นถูกลงโทษตามพ.ร.บ. ทนายความ มาตรา 52 หรือเปล่า?
A: เท่าที่ทราบยังไม่เคยได้ยินเหมือนกัน อาจเป็นเพราะว่า ทนายความส่วนใหญ่เวลาไปศาลจะแต่งกายเรียบร้อยอยู่แล้ว อีกทั้งเวลาถูกตักเตือนก็จะปฏิบัติตาม แต่เราคิดว่า ถึงยังไม่ได้มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประเด็นที่เราไม่ต้องแก้ไข ในเมื่อเราเป็นองค์กรวิชาชีพ เราต้องดำเนินตามข้อบังคับหรือกฎหมาย หากข้อบังคับใดไม่สอดคล้องกับยุคสมัยแล้วก็ควรจะเปลี่ยนได้

Q: ถ้าหากสภาทนายความไม่ปรับแก้ข้อบังคับข้อนี้ คิดว่ามันจะเป็นการผลักภาระให้ทนายความหญิงไปพบเจอปัญหาเอาหน้างานหรือไม่?
A: ถ้าสภาทนายความไม่แก้ไขข้อบังคับข้อนี้ แล้วชี้แจงมาลักษณะดังกล่าว ถือว่าเป็นการตีความของสภาทนายความชุดนี้ ซึ่งองค์กรอื่นๆ รวมทั้งศาลและอัยการอาจไม่เห็นด้วยกับการตีความเช่นนั้น และเป็นผลให้ถูกตักเตือนจากเพื่อนทนายความด้วยกัน หากเกิดเหตุการณ์ที่ขัดแย้งกันขึ้น แล้วเรื่องไปสู่คณะกรรมการมรรยาททนายความภายใต้คณะกรรมการชุดนี้ หรือคณะกรรมการมรรยาททนายความอีกชุดในอนาคต เราจะเห็นในลักษณะดังกล่าวหรือไม่ เพราะสำหรับเรา ข้อบังคับเป็นสิ่งที่ควรแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากกว่า

Q: หากจะปรับแก้ ควรปรับแก้ให้เป็นลักษณะรูปแบบใด เพื่อให้เอื้อกับทนายความหญิง หรืออาจรวมถึงทนายความผู้มีหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน
A: ควรเสนอให้ปรับแก้ว่า ให้ทนายแต่งกายด้วยกางเกงหรือกระโปรงแบบเรียบร้อยเท่านั้นก็เพียงพอ ไม่ต้องกำหนดให้เหมือนเดิม เนื่องจากเดิมคือ ทนายความชายแต่งกายลักษณะหนึ่ง ทนายความหญิงแต่งกายอีกลักษณะหนึ่ง แต่ความจริงแล้วแค่ใส่เสื้อ ใส่สูท แล้วก็ใส่กางเกงหรือกระโปรง ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีเพศสภาพแบบใด ก็สามารถเรียบร้อยและปฏิบัติงานอย่างคล่องตัวได้

Q: ถ้าอย่างนั้นแปลว่าจากเดิมที่ข้อบังคับบัญญัติว่า ‘ชาย’ หรือ ‘หญิง’ ก็ให้เปลี่ยนเป็น ‘บุคคล’ แบบนั้นน่าจะง่ายกว่าใช่มั้ยคะ?
A: ใช่ค่ะ

Q: ข้อเสนอแนะที่อยากเสนอเพิ่มเติมไปยังสภาทนายความไหมคะ?
A: เราเห็นว่า ควรแก้ข้อบังคับเพื่อให้เกิดความชัดเจน เราเป็นองค์กรวิชาชีพ เราไม่ควรปล่อยให้เกิดการตีความข้อบังคับด้วยตนเอง ข้อบังคับควรเป็นสิ่งที่ชัดเจนมากที่สุด อยากให้สภาทนายความตระหนักเรื่องนี้ และแก้ไขให้สอดรับกับยุคสมั

Q: อยากฝากถึงเพื่อนๆ หรือรุ่นน้องทนายความหรือไม่?
A: อยากฝากถึงเพื่อนๆ ว่า ถ้าสภาทนายความตอบจดหมายกลับมาในลักษณะแบบนี้ ถ้าเพื่อนๆ สะดวกใจที่จะแต่งกายตามเพศสภาพแบบใดก็ตาม แต่ยังคงความเรียบร้อย ไม่ว่ากางเกงหรือกระโปรงก็ควรสามารถจะกระทำได้ ลองใช้สิ่งนี้ดูว่ามันเกิดปัญหาจริงหรือเปล่า และควรแก้ไขอย่างไร เพราะหากปฏิบัติตามคำตอบที่สภาทนายความบอก แสดงว่าข้อบังคับก็สามารถตีความไปได้กว้างมากเลยค่ะ

————————–————————–———————-

อ่านเพิ่มเติม :
หนังสือตอบกลับจากสภาทนายความฯ : https://bit.ly/2PeatrL
ยื่นรายชื่อทนายความแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความ : https://bit.ly/2OVC7ts
การเข้าร่วมลงชื่อ : https://bit.ly/33be5mH
ความเห็นทนายความหญิงต้องใส่กระโปรง ทนายความชายต้องใส่กางเกง : https://bit.ly/39wEufz
ชมย้อนหลัง รายการ WHAT 100 THINK ? ในประเด็นเครื่องแต่งกายทนายความ : https://bit.ly/3hIrUgq