ยาแรงยับยั้งโควิด-19 ของปอท. อาจเป็นมาตรการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ยาแรงยับยั้งโควิด-19 ของปอท. อาจเป็นมาตรการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

26 มีนาคม 2563 เป็นครั้งแรกของการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 หรือ ศบค. โดยมีพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานศูนย์ ซึ่งมีหลายหน่วยงานเข้าประชุมนำเสนอและชี้แจงรายละเอียดของหน้าที่ความรับผิดที่เกี่ยวข้องกับมาตรการในสถานการณ์นี้ โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้เสนอประเด็นทางกฎหมายเพิ่มเติมจากการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 6 ซึ่งเป็นเรื่องของ “การนำเสนอข่าว” ว่า ห้ามเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 อันไม่เป็นความจริง และอาจะทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดย 3 ประเด็นที่ปอท.เสนอมีดังนี้

  1. เพิ่มการดำเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอม (บัญชีอวตาร) โดยใช้ข้อมูลของผู้อื่นมาเปิดบัญชีสื่อสังคมออนไลน์และนำไปใช้กระทำความผิด เช่น สร้างข่าวปลอมหรือหลอกลวงประชาชน
  2. สามารถดำเนินคดีกับผู้นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ กรณีโรคโควิด-19 ได้ทุกกรณี โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าก่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือก่อให้เกิดความไม่สงบหรือไม่
  3. ผู้ให้บริการตามนิยามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยเคร่งครัด

(อ้างอิง : https://www.matichon.co.th/politics/news_2096044)

จากข้อเสนอข้างต้นนั้น หากมีการนำข้อเสนอไปดำเนินการปฏิบัติเป็นมาตรการหนึ่งของการยับยั้งสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มีข้อสังเกตและข้อห่วงกังวล ดังนี้

ประการแรก “การแสดงความคิดเห็น” ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมในสังคมประชาธิปไตยที่พึงกระทำได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 34 ที่กำหนดว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียนการพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น” และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 19 ระบุว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และบุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก” การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่จำกัดสิทธิจนเกินสมควรแก่เหตุ รวมถึงไม่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน

ประการที่สอง ตามมาตรา 29 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้กำหนดไว้ว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นบริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด การเสนอให้สามารถดำเนินคดีกับดำเนินคดีกับผู้นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ กรณีโรคโควิด-19 ได้ทุกกรณี โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าก่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือก่อให้เกิดความไม่สงบหรือไม่ เสมือนการตีตราว่าผู้ต้องสงสัยได้เป็นผู้กระทำผิดแล้วจริงโดยปราศจากโอกาสที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง อาจเข้าข่ายการใช้อำนาจรัฐที่กระทบต่อหลักการที่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทยได้รับรองไว้

ในสถานการณ์เช่นนี้ที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังประสบวิกฤติที่เราต่างคนต้องร่วมมือกันให้ก้าวผ่านไปได้นั้น การฟังเสียงสะท้อนอย่างเปิดกว้างถึงปัญหาของประชาชน และชี้แจงการดำเนินการและมาตรการของรัฐอย่างกระจ่างและชัดเจน จะเป็นวิธีการที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและมั่นใจในมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล มากกว่าการสร้างความหวาดกลัว และสร้างมาตรการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เนื่องจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลการบังคับใช้กฎหมายและการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมจะต้องพึงตระหนักว่าการแก้ไขสถานการณ์โดยกำหนดมาตรการที่เปิดเผยข้อมูลเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบและประเมินได้ถูกต้องว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อมากน้อยระดับใด หรือประชาชนมีความเข้าใจผิดประการใด และข้อมูลที่ถูกต้องเป็นอย่างไร น่าจะเป็นมาตรการที่จะทำให้ผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปได้ และการทำงานของรัฐบาลจะสำเร็จไม่ได้ หากขาดความเชื่อมั่นและความร่วมมือของประชาชน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) คาดหวังว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างรวดเร็ว โดยการกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพและเคารพเสียงสะท้อนของประชาชนเป็นสำคัญ