ดีเอสไอแถลงพบเบาะแสบิลลี่เสียชีวิต หลังจากหายตัวไปกว่า 5 ปี

ดีเอสไอแถลงพบเบาะแสบิลลี่เสียชีวิต หลังจากหายตัวไปกว่า 5 ปี

กรณีการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ภายหลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัว เป็นกรณีที่หลายคนให้ความสนใจ และติดตามมาเป็นเวลานาน โดยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 ไทยพีบีเอสรายงานว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พบถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ที่ในถังมีชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ บริเวณใกล้สะพานแขวน ซึ่งคาดว่าจะเป็นชิ้นส่วนของบิลลี่

ซึ่งวันนี้ (3 กันยายน 2562) เวลา 13.00 น. อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกลุ่มคณะทำงานในการตรวจสอบคดีการหายตัวไปของบิลลี่ ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับเบาะแสการหายตัวไปของบิลลี่ โดยกล่าวว่า “ช่วงแรกของการหายตัวไป ได้ทำการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ 4 คนที่เกี่ยวข้องและส่งให้ป.ป.ท. ดำเนินการต่อ และได้มีการสอบสวนพยานต่างๆ และมีการใช้หุ่นยนตร์สำรวจใต้น้ำ พร้อมโดรน เพื่อตรวจหาวัตุต้องสงสัยใต้น้ำ หลังจากพบว่ามีเงาของวัตถุต้องสงสัยใต้น้ำ จึงให้เจ้าหน้าที่ดำน้ำเพื่อสำรวจ และพบถังน้ำเป็นถัง 200 ลิตร ลักษณะเบื้องต้นมีการเจาะรู ผุ รอยดำไหม้บางส่วน รวมถึงพบเหล็กเส้น 2 เส้นอยู่ใต้ถัง และพบกระดูกคล้ายกระดูกมนุษย์ ซึ่งหลักจากการตรวจพบว่าเป็นกระดูกบริเวณศีรษะ หากไม่มีกระดูกในส่วนนี้ มนุษย์จะถึงแก่ความตาย รวมถึงพบว่าสารพันธุกรรมที่ตรวจจากกระดูกดังกล่าวสัมพันธ์กับสายโลหิตของมารดาบิลลี่ จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า บิลลี่เสียชีวิตแล้ว ส่วนรายละเอียดในส่วนอื่นต้องขอเวลาเพื่อรอการสอบสวนเพิ่มเติม และ DSI ยืนยันว่า ไม่ว่าผู้ใดจะเป็นผู้กระทำความผิด ก็ต้องได้รับการลงโทษทั้งสิ้น”

ทางนางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) กล่าวว่า “เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ก่อนหน้าที่จะมีการแถลงความคืบหน้าอย่างเป็นทางการจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีการหายตัวไปของนายพอละจี  รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมุนอ ภรรยาของบิลลี่ พร้อมทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีเพื่อขอให้ศาลสั่งให้บิลลี่เป็นคนสาบสูญ โดยศาลได้นัดไต่สวนในวันที่ 28 ตุลาคม 2562 การยื่นคำร้องขอให้บิลลี่เป็นคนสาบสูญนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 คือ เมื่อบุคคลใดได้หายตัวไปจากภูมิลำเนา ขาดการติดต่อ ไม่มีผู้ใดพบเห็น และไม่มีใครทราบว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เป็นเวลาติดต่อกัน 5 ปี ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญได้ เมื่อศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญแล้วก็จะถือว่าบุคคลนั้นได้เสียชีวิตไปแล้วโดยผลของกฎหมาย ทั้งนี้ การยื่นคำร้องดังกล่าวเป็นเพียงกระบวนการทางแพ่งเพื่อจัดการทรัพย์สินหรือนิติกรรมต่าง ๆ ของคนสาบสูญเท่านั้น

หากปรากฏข้อเท็จจจริงจากการสอบสวนของ DSI จนเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า บิลลี่ได้เสียชีวิตแล้วจากการพบชิ้นส่วนกระดูกและได้มีการพิสูจน์ตามขั้นตอนในทางนิติวิทยาศาสตร์จนสามารถยืนยันได้ว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกของบิลลี่ สถานะของบิลลี่หลังจากนี้จึงไม่ใช่ผู้สูญหายอีกต่อไป จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการขอให้ศาลสั่งเป็นคนสาบสูญ โดยจากการแถลงความคืบหน้าของ DSI ในวันนี้ พบว่าผลการตรวจ DNA ในชิ้นส่วนกระดูกดังกล่าวตรงกับแม่ของบิลลี่ และต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน จึงจะสามารถยืนยันได้ว่าชิ้นส่วนกระดูกดังกล่าวเป็นของบุคคลใด เป็นชิ้นส่วนกระดูกของบิลลี่หรือไม่ ดังนั้น หลังจากนี้ต้องรอความชัดเจนในการตรวจสอบจาก DSI อีกครั้ง เมื่อ DSI ยืนยันผลการตรวจสอบชัดเจนแล้ว ภรรยาของบิลลี่และทนายความจะประสานกับทาง DSI เพื่อขอรวบรวมเอกสารหลักฐานที่ยืนยันว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้วเพื่อแถลงต่อศาลต่อไป ในส่วนของคดีอาญาการแถลงความคืบหน้าในวันนี้ ในแง่ของกระบวนการทางคดีถือว่าเป็นทิศทางที่ดี  ซึ่งภารกิจใหญ่ของ DSI หลังจากนี้ก็คือการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสืบหาตัวผู้กระทำให้บิลลี่เสียชีวิตโดยเร็วที่สุด”

บิลลี่หายไป วันที่จะยื่นถวายฎีกาต่อในหลวงรัชการที่ 9 ขอความเป็นธรรมกรณีเผาบ้านกะเหรี่ยง

เมื่อปี พ.ศ.2509 เขื่อนแก่งกระจานได้สร้างเสร็จอย่างเป็นทางการ ก็เริ่มมีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการกดดันปราบปรามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฯ และแนวร่วมอย่างหนักระหว่างปี พ.ศ.2508-2514 ชาวบ้านกระเหรี่ยงจึงอพยพโยกย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ในเขตป่าดงดิบเข้าไปถึงต้นน้ำเพชรบุรี ห้วยแม่ประโดน ห้วยแม่เพรียง แม่น้ำบางกลอยโป่งลึก บ้านใจแผ่นดิน แต่วิถีชีวิตก็ไม่เหมือนเดิม เนื่องจากการหาอาหารประทังชีวิตเป็นได้อย่างยากลำบาก อีกทั้งพื้นที่ทำมาหากินก็มีจำกัดอีกด้วย จนกระทั่งมีการกดดันให้ชาวบ้านกระเหรี่ยงออกจากป่าอย่างจริงจัง และในเหตุการณ์ช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2554  เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยง มีการเผาบ้านและเผายุ้งฉางจำนวนกว่า 20 ครอบครัว ตาม “โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทยพม่า” เพื่อขับไล่ชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่

จากเหตุการณ์รื้อเผาบ้านชาวบ้านกระเหรี่ยงที่หมู่บ้านบางกลอยนี้เอง บิลลี่ได้เข้ามาเป็นปากเป็นเสียงสำคัญของชาวกะเหรี่ยง เขาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความ และเป็นพยานปากสำคัญในคดีที่ชาวบ้านกระเหรี่ยงยื่นฟ้องต่อ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำเลยที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลยที่ 2 ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 การฟ้องร้องในครั้งนี้นอกจากบิลลี่จะเข้ามาเป็นพยานปากสำคัญในคดีแล้วนั้น บิลลี่ยังเป็นแกนนำในการยื่นฟ้องคดีอีกด้วย (อ่านเพิ่มเติมคดีเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน : https://naksit.net/2018/06/คำพิพากษาศาลปกครองสูงส/ )

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่เดินทางออกจากบ้านบางกลอย มีข้อมูลว่าเขาจะนำฎีการ้องทุกข์ของชาวกะเหรี่ยงไปยื่นขอความเป็นธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แต่เขาถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเรียกให้หยุดและถูกควบคุมตัว โดยอ้างว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองเป็นจำนวน 6 ขวด หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่เจอตัวบิลลี่อีกเลย แม้เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ได้ว่ามีการปล่อยตัวบิลลี่ไปจริงหรือไม่

ภรรยาบิลลี่ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวบิลลี่

หลังจากที่บิลลี่หายไปเพียงวันเดียวมุนอ ภรรยาของบิลลี่ เดินทางไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน และออกค้นหาตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ก็ไม่พบร่องรอยของบิลลี่แต่อย่างใด

จนเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2557 มุนอ ภรรยาของบิลลี่ พร้อมด้วยทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้เดินทางไปยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจากเชื่อว่าบิลลี่ยังคงถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หากเจ้าหน้าที่อุทยานฯยังควบคุมตัวไว้โดยที่ไม่มีอำนาจควบคุม ก็ขอให้ปล่อยตัวบิลลี่ออกมา โดยต่อมาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว อ้างเหตุว่าพยานหลักฐานที่นำมาไต่สวนไม่สามารถเชื่อได้ว่านายบิลลี่ยังอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ โดยมีประเด็น และข้อเท็จจริง ดังนี้

1. เมื่อศาลชั้นต้นรับคำร้องของนางสาวพิณนภา ผู้ร้อง ที่ยื่นขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่ ศาลชั้นต้นต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวแล้วพิจารณาคำร้องของผู้ร้องและพยานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนก่อนว่าคดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ หากเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลจึงมีหมายเรียกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องมาศาล แต่ศาลชั้นต้นกลับหมายเรียกนายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่ฯ มาไต่สวนโดยไม่ได้มีคำสั่งก่อนว่าคดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจนำคำเบิกความของพยานดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้

2. ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลขั้นต้นพิจารณามีคำสั่งอีก โดยพิจารณาเฉพาะคำเบิกความพยานของผู้ร้อง คือ มุนอ และนายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านโป่งลึก ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่ได้รู้เห็นว่านายชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้หรือไม่ ส่วนนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนเป็นพยานเพิ่มเติมนั้นก็เป็นเพียงพยานแวดล้อมกรณีข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ฯ กับชุมชนกะเหรี่ยง โดยไม่ได้รู้เห็นเรื่องการหายตัวไปของนายบิลลี่แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่านายชัยวัฒน์ กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนคำเบิกความของนายชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่ฯ กับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น ไม่สามารถรับฟังได้เนื่องจากเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูล จึงพิพากษายกคำร้อง

DSI มีมติรับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ

เริ่มแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 DSI แจ้งว่าคณะกรรมการคดีพิเศษมีมติไม่รับกรณีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ โดยให้เหตุผลว่า ทาง DSI ทำการสอบสวนคดีนี้อยู่นานแล้วกว่า 2 ปี และไม่มีความคืบหน้า รวมถึงสาเหตุที่นางสาวพิณนภา ผู้ยื่นคำร้องไม่ใช่ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในคดี แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน2561 กลับมีมติอีกครั้งหนึ่งว่าให้รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ ซึ่งทาง DSI ได้ทำการสอบสวน หาพยานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนคดีมานับแต่นั้น จนกระทั่งวันนี้ (3 กันยายน 2562) มีการแถลงถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับเบาะแสการหายตัวไปของบิลลี่

ครอบครัวบิลลี่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บิลลี่เป็นบุคคลสาบสูญ

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ครอบครัวบิลลี่ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้บิลลี่เป็นบุคคลสาบสูญ โดยศาลมีกำหนดนัดไต่สวนวันที่ 28 ตุลาคม 2562 โดยหากศาลมีคำสั่งให้บิลลี่เป็นบุคคลสาบสูญ บิลลี่จะถือว่าเป็นบุคคลที่ตายแล้วโดยผลทางกฎหมาย (อ่านเพิ่มเติมเบื้องหลังการหายไปมีเรื่องราว : การหายไปของบิลลี่และจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานที่ปลิดปลิว : https://naksit.net/2019/08/billy-enforceddisappearanceday2019/?fbclid=IwAR39SyejAq1GJn24jeCA5M1xxPO4idHxAKCECtg0T8JGFDMYC_vpQZqqlT0 )

สอบถามเพิ่มเติม

นางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี   ทนายความ   092-4725511