การคุ้มครองนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนและการฟ้องคดีปิดปากในไทย

การคุ้มครองนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนและการฟ้องคดีปิดปากในไทย

ในหัวข้อเสวนาเรื่อง การเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคมและการเข้าถึงความยุติธรรมของแรงงานข้ามชาติและครอบครัวของงานประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงนโยบายในการนำฉันทามติอาเซียนว่าด้วยแรงงานข้ามชาติไปสู่การปฏิบัติ  จัดขึ้นโดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและองค์กรภาคี เมื่อวันที่  9 กันยายน 2562 ณ โรงแรม พาร์ค พล่าซ่า สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร

IMG-4996 (1)

ณัฐธิดา ชูมาลัยวงค์ ตัวแทนจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นำเสนอว่า นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน (หรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน Human rights defenders) ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนสามารถเป็นใครก็ได้ที่ทำงานเป็นปากเป็นเสียง และเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มต่างๆ หรือของบุคคลทั่วไป ที่ผ่านมานักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนหรือแม้กระทั่งครอบครัวของเขา มักตกเป็นเป้าหมายของการปองร้ายจากเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอิทธิพล โดยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนหลายร้อยคนถูกคุกคาม ข่มขู่ ลักพาตัว ทรมาน เข่นฆ่า หรือประสบกับภัยประหัตประหารในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ การคุกคามรูปแบบใหม่เกิดขึ้นและเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐและนายทุนหรือบริษัทเอกชน คือ การฟ้องคดีเชิงยุทธศาสตร์ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อปิดปากหรือกำจัดไม่ให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน (Strategic Lawsuits Against People’s Participation – SLAPPs) ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นการปิดปากและคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ (Judicial Harassment)

จากงานศึกษาเรื่องการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ (อ่านรายงาน: https://naksit.net/2019/06/report_slapps-public-participation/ ) พบว่า 

  • นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องคดีปิด ได้เเก่ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง กลุ่มชุมชนหรือประชาชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการพัฒนาที่ก่อผลกระทบต่อชุมชน , กลุ่มนักพัฒนาเอกชน (ในประเด็นต่างๆ อาทิ ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิของสตรี สิทธิแรงงาน การตรวจสอบทุจริต สิทธิสิ่งแวดล้อม สิทธิของคนชายขอบ), กลุ่มประชาชนที่สนใจการเมือง เป็นกลุ่มที่สนใจและเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ,  สื่อมวลชน , กลุ่มอื่นๆ (โฆษกวัด ทนายความ แอดมินเพจ), กลุ่มผู้ถูกละเมิดหรือญาติที่เรียกร้องความเป็นธรรม, และนักวิชาการ / อาจารย์มหาวิทยาลัย 
  • ส่วนกิจกรรมหรือการกระทำที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้องคดี ได้แก่ การเผยแพร่ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ รองลงมาคือการชุมนุมสาธารณะ, การจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ (กิจกรรมล้อเลียน ดนตรี ละคร ชูป้าย เดิน เป็นต้น),  การทำหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงาน,  การให้สัมภาษณ์หรือเขียนบทความเผยแพร่ทางสื่อ , การชุมนุมหรือจัดกิจกรรมในพื้นที่โครงการ,  การเผยแพร่ข่าวหรือบทความในสำนักข่าวออนไลน์ , การแจกเอกสาร , การแถลงข่าวหรือแถลงการณ์ ,  การเข้าไปในพื้นที่ดำเนินโครงการเพื่อตรวจสอบ, การสนับสนุนการจัดกิจกรรม (มอบดอกไม้ให้กำลังใจ ให้ที่พัก ช่วยเหลือทางกฎหมาย สังเกตการณ์การจัดกิจกรรม ฯลฯ) , การทำหน้าที่สื่อมวลชน , การดำเนินการอื่นๆ (การนำหลักหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่และสาธารณะ การไม่บรรจุวาระประชุม) , การพูดในเวทีสัมมนา ,  และการเผยแพร่ผลการวิจัยหรือรายงานการละเมิดสิทธิ  ตามลำดับ
Click Here
Previous
Next

กฎหมายที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดี 
 
  1. คดีอาญา (กฎหมายปกติ)
  • ข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328
  • พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.. 2550 โดยเฉพาะมาตรา 14[2] มักถูกนำมาใช้กับการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ และถูกใช้ควบคู่กับกฎหมายอื่นๆ
  • มาตรา 116, 215, 216 รวมถึงมาตรา 112
  • ความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการบังคับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ก็ถูกใช้ควบคู่กับคำสั่งดังกล่าวด้วย
  • ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 (ลักทรัพย์) มาตรา 352 (ยักยอกทรัพย์) มาตรา 358, 360 (ทำให้เสียทรัพย์) และมาตรา 362, 364, 365 (บุกรุก)
  • กฎหมายอาญามาตรา 137 (แจ้งความเท็จ), มาตรา 172, 173 (แจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา) ประมวลกฎหมายมาตรา 198 (ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา) และความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งถูกระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 และ 31
  • กฎหมายอาญามาตรา 295, 296 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309, 310 (ข่มขืนใจ) เป็นข้อหาที่นำมาใช้กับการชุมนุม
  1. คดีอาญา (กฎหมายเฉพาะกิจ)  เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 
  2. คดีแพ่ง ได้เเก่ ข้อหาหมิ่นประมาทตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423

ปัญหาการฟ้องคดีปิดปากที่เราควรให้ความสำคัญ

การฟ้องคดีปิดปากส่งผลเป็นทั้งการข่มขวัญนักป้องสิทธิมนุษยชน ทำให้สูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี เป็นการหันเหหรือพร่าเวลาของนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนไปจากงานส่งเสริมและตรวจสอบการละเมิดสิทธิ และที่ร้ายที่สุดก็คือเป็นการส่งสัญญาณ ไม่ให้คนอื่นลุกขึ้นมาเป็นปากเป็นเสียงแทนชาวบ้านผู้ถูกละเมิดสิทธิ และวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐและภาคธุรกิจ จากกรณีศึกษา พบว่า การฟ้องคดีปิดปาก ได้สร้างภาระด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. การใช้วิธีร้องทุกข์หรือฟ้องคดีในเขตอำนาจศาลที่ไกลจากภูมิลำเนาของจำเลย
  2. เหตุการณ์เดียวกัน แต่มีการฟ้องเป็นหลายคดี
  3. การกระจายความกลัวโดยการไล่ฟ้องผู้สนับสนุนด้วยข้อหาร้ายแรง
  4. การฟ้องปริมาณมากไว้ก่อน ทั้งจำนวนผู้ต้องหา และการฟ้องเรียกค่าเสียหาย
  5. กระบวนการยุติธรรมทางอาญาซ้ำเติมผู้ถูกดำเนินคดี อาทิ ปัญหาการเข้าถึงการปล่อยชั่วคราว อุปสรรคในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม เป็นต้น

 

 

3

ข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ

ข้อเสนอแนะต่อแนวทางปฏิบัติ

  1. รัฐหรือหน่วยงานรัฐ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ ควรยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อการมีส่วนร่วมสาธารณะ เนื่องจากหน่วยงานรัฐมีหน้าที่จัดให้มีการบริการสาธารณะ ต้องมีความโปร่งใสและเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ดังนั้น เมื่อเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน หน่วยงานรัฐควรใช้วิธีการโต้ตอบโดยการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงในประเด็นที่ถูกวิจารณ์แทนการฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชน
  2. การดำเนินคดี โดยเฉพาะในคดีอาญา บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่รับผิดชอบแต่ละขั้นตอนควรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยตระหนักถึงภัยคุกคามของคดี SLAPPs และพิจารณาดำเนินการกลั่นกรองให้คดียุติไปโดยเร็ว และกระบวนการยุติธรรมไม่ควรซ้ำเติมหรือเพิ่มภาระโดยไม่จำเป็นให้แก่ผู้ถูกฟ้อง

ข้อเสนอในเชิงนิติบัญญัติ

  1. การแก้ไขกฎหมายหรือลดทอดความเป็นอาชญากรรมในความผิดบางเรื่อง ได้แก่ ความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา ความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ รวมถึงการทบทวนความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216 เป็นต้น
  2. การหมิ่นประมาททางแพ่ง ควรมีการแก้ไขเพิ่มบทยกเว้นความรับผิดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ในกรณีที่เป็นการกระทำโดยสุจริตในกิจการสาธารณะ[7]
  3.  เพื่อให้มีหลักประกันเชิงกลไกที่ชัดเจน จึงควรนำแนวทางของกฎหมาย Anti SLAPPs มาพิจารณาเพื่อแก้ไขปรับปรุงหรือตรากฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการมีส่วนร่วมสาธารณะจากการถูกดำเนินคดีปิดปาก เนื่องจาก กฎหมายและกลไกที่มีอยู่ยังไม่สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก  [8]  เช่น 
  • กำหนดขอบเขตการคุ้มครองตามกฎหมาย ควรให้การคุ้มครองในขอบเขตที่กว้าง โดยกำหนดนิยามทางกฎหมายให้คุ้มครองรวมถึงการถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ หรือการดำเนินการอื่นใดเพื่อสนับสนุนการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะทั้งหมด
  • การอนุญาตให้จำเลยมีช่องทางเฉพาะในการยื่นคำร้องเพื่อให้ยกฟ้องตั้งแต่เริ่มต้นในกระบวนการดำเนินคดี กฎหมายไทยยังไม่มีการกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีปิดปาก สามารถยื่นคำร้องขอยุติการดำเนินคดีได้ จึงควรมีการกำหนดขั้นตอนนี้ในกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นในคดีอาญาหรือคดีแพ่ง ทั้งนี้ ควรกำหนดกรอบเวลาในการยื่นคำร้องให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้คดีล่าช้า
  • การไต่สวนคำร้อง ควรมีการกำหนดให้มีการไต่สวนอย่างเร่งด่วน หรือกำหนดกรอบเวลาในการไต่สวนคำร้องไว้ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความล่าช้าในการดำเนินการ
  • ภาระการพิสูจน์และหลักเกณฑ์การพิสูจน์ของคู่กรณี ควรมีการกำหนดภาระการพิสูจน์ของฝ่ายที่ยื่นคำร้อง (จำเลยในคดีหลัก) และภาระการพิสูจน์ของฝ่ายที่ต้องตอบโต้คำร้อง (โจทก์ในคดีหลัก) ให้ชัดเจน
  • บทลงโทษสำหรับคู่กรณี ควรมีการกำหนดการชดใช้ให้แก่ผู้ถูกฟ้อง/ผู้ยื่นคำร้องยุติคดี เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องตามคำร้องขอยุติคดี โดยค่าใช้จ่ายที่ศาลจะสั่งชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่สมเหตุสมผล ซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียมการฟ้อง ค่าธรรมเนียมการจัดเตรียมและคัดลอกเอกสาร ค่าธรรมเนียมพยานผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ  ค่าทนายความ เป็นต้น

 ______________

อ้างอิง

[1] มาตรา 14 (1) จะถูกใช้ร่วมกับข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 แต่ปัจจุบันการใช้มาตรา 14 (1) ควบคู่กับข้อหาหมิ่นประมาทลดลง เพราะพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ได้แก้ไขมาตรา 14 (1) ไม่ให้ใช้กับการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้ฟ้องคดีมีแนวโน้มที่จะหันไปใช้มาตรา 14 (2) กับผู้ที่ออกมาที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์มากขึ้น 

[2] แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

[3] ภายหลังการรัฐประหารของ คสช. การกล่าวหาและดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากข้อมูลที่รวมรวมโดยศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ (iLaw) (ข้อมูลถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2562) ระบุว่ามีคนถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตรานี้ถึง 117 ราย ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่ามีอย่างน้อย 14 กรณี เป็นคดีเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลในคณะรัฐบาล ทั้งประเด็นเกี่ยวกับการทุจริตในกรณีโครงการก่อสร้าง    

[4] ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย iLaw https://ilaw.or.th/node/5030 เข้าถึง 7 มกราคม 2562

[5] นักข่าวพลเมือง TPBS https://www.citizenthaipbs.net/node/5529 เข้าถึง 7 มกราคม 2562

[6] ตามคำนิยามของสหประชาชาติ (UN) พวกเขาคือคนที่ทำงานหรือเคลื่อนไหวในลักษณะต่อไปนี้ (1) เป็นตัวแทนแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนให้กลุ่มคน (2) ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ไปจนถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (3) รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน (4) เคลื่อนไหวเพื่อให้ผู้ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกลงโทษตามกฎหมาย (5) ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน (6) ช่วยพัฒนานโยบายรัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (7) สนับสนุนให้ภาครัฐปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน (8) ให้ความรู้หรือจัดอบรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน 

[7] ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับที่รองศาสตราจารย์ ดร. ปกป้อง ศรีสนิท เสนอไว้องค์การต่อต้านคอรั่ปชั่น ประเทศไทย http://www.anticorruption.in.th/2016/th/detail/152/5/Anti-SLAPP%20Law เข้าถึง 29 มกราคม 2561

[8] ในคดีอาญา แม้จะมีการเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และมาตรา 165/2 ก็ตาม แต่กฎหมายดังกล่าวยังมีข้อจำกัดด้านขอบเขตในการบังคับใช้ โดยมาตรา 161/1 ไม่ใช้กับกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ทั้งที่ในข้อเท็จจริง คดี SLAPPs จำนวนมากถูกฟ้องโดยพนักงานอัยการ อีกทั้งบทบัญญัติทางกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการที่ชัดเจน จึงไม่อาจประกันได้ว่าจะสามารถรักษาความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิทางการเมืองในการเข้าไปมีส่วนร่วมสาธารณะของคู่กรณีที่ถูกฟ้องกับสิทธิในชื่อเสียและการเข้าถึงศาลของคู่กรณีฝ่ายที่ฟ้องคดีได้