ปัญหาที่ผู้ถูกฟ้องคดีปิดปากเผชิญในชั้นก่อนการพิจารณา

ปัญหาที่ผู้ถูกฟ้องคดีปิดปากเผชิญในชั้นก่อนการพิจารณา

การคุกคามประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการเข้าไปมีส่วนร่วมสาธารณะ ด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม หรือที่เรียกว่า การฟ้องคดีปิดปาก  เพื่อหยุดการเคลื่อนไหว การเเสดงความคิดเห็น และการเรียกร้อง รวมถึงสร้างความกลัวให้กับประชาชนทั่วไปที่จะออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออก และมีส่วนร่วมสาธารณะในรูปแบบต่างๆ ที่กระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของบริษัทเอกชน การดำเนินนโยบายการพัฒนาของรัฐบาล หรือตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นนโยบายสาธารณะต่างๆ
จากการรวบรวมข้อมูลของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่า โดยส่วนมากของคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะในประเทศไทยเกิดจากการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน โดยข้อกล่าวหาที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดี จำนวนมากเป็นความผิดเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ซึ่งรัฐเป็นผู้เสียหาย ทำให้คดีจำนวนมากถูกดำเนินคดีผ่านช่องทางอัยการ

ทั้งนี้ แม้รัฐจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และมาตรา 165/2 เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการจัดการกับคดีที่มีการฟ้องโดยไม่สุจริต ซึ่งอาจรวมถึงคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะด้วยก็ตาม แต่กฎหมายดังกล่าวยังมีข้อจำกัดด้านขอบเขตในการบังคับใช้ กล่าวคือ มาตรา 161/1 ไม่ใช้กับกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ทั้งที่ในข้อเท็จจริง คดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะจำนวนมากถูกฟ้องโดยพนักงานอัยการ อีกทั้งบทบัญญัติทางกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการที่ชัดเจน จึงไม่อาจประกันได้ว่าจะสามารถรักษาความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของพลเมืองในการเข้าไปมีส่วนร่วมสาธารณะของคู่กรณีที่ถูกฟ้อง กับสิทธิในชื่อเสียงและการเข้าถึงศาลของคู่กรณีฝ่ายที่ฟ้องคดีได้

โดยจากตัวอย่างคดีฟ้องปิดปากที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนนั้น เมื่อคดีเข้าสู่ชั้นพนักงานอัยการ หลายคดีพบความล่าช้าในการดำเนินการ บางคดีพนักงานอัยการมีการเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องถึง 17 ครั้ง อาทิ คดีทนายจูน ที่ถูกดำเนินคดีจากการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ
ในปกป้องสิทธิของลูกความซึ่งเป็น นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน โดยการไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าค้นรถของตน โดยไม่มีหมายค้นเพื่อยึดโทรศัพท์มือถือของลูกความ โดยคดีนี้มีการเลื่อนฟังคำสั่ง 12 (ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน) คดีสำนักงานศาลยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่แจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับแกนนำและสมาชิกเครือข่ายคัดค้านการสร้างบ้านพักตุลาการในพื้นที่ป่าดอยสุเทพที่ สน. พหลโยธิน ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องเดินทางไกลเพื่อมารายงานตัวเเละฟังคำสั่งของอัยการ อีกทั้งในคดีนี้พนักงานอัยการได้เลื่อน ฟังคำสั่งถึง 3 ครั้ง (อ่านรายละเอียดเพิ่ม) เป็นต้น การเลื่อนคดีบ่อยครั้งดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ต้องหาต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อมาฟังคำสั่งตามนัด หากผู้ต้องหามีภูมิลำเนาอยู่ไกล ก็จะยิ่งเป็นภาระมากขึ้น

นอกจากนี้ บางคดีที่เห็นชัดว่ามูลเหตุของกรฟ้องร้องคดีมาจากการพูด การแสดงความเห็น หรือการเคลื่อนไหวในประเด็นสาธารณะ และเป็นคดีที่ไม่ควรฟ้อง แต่พนักงานอัยการไม่กลั่นกรองออกไปตั้งแต่แรก เมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ศาลได้พิพากษายกฟ้อง อาทิ คดีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานฟ้องหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ต่อนายวุฒิ บุญเลิศ นักวิชาการกะเหรี่ยงกับพวก จากกรณีการแชร์เนื้อหาข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบการครอบครองไร่ชัยราชพฤกษ์อยู่ในเขตป่าสงวนฯ โดยในคดีนี้ศาลเห็นเจตนาของผู้โพสต์คือเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจสอบการปฏิบัติราชการ และการครอบครองไร่ชัยราชพฤกษ์ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงไม่ถือว่าเป็นข้อความที่หมิ่นประมาทตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง (อ่านรายละเอียด) เป็นต้น กรณีเช่นนี้ ทำให้ผู้ต้องหาเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรจะต้องเสียเพื่อต่อสู้คดีที่ไม่มีสาระ อีกทั้งยังเป็นการปล่อยให้คู่ขัดแย้งเอกชนมาใช้ทรัพยากรของรัฐเล่นงานกัน ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ดคีเหล่านี้ พนักงานอัยการจึงควรกลั่นกรองออกไปโดยเร็วตั้งแต่ต้น

  • การเลื่อนนัดฟังคำสั่งของพนักงานอัยการหลายครั้ง

1) คดีของทนายศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ
โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานซ่อนเร้นพยานหลักฐานและทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142 และมาตรา 368 จากการที่ทนายศิริกาญจน์ทำหน้าที่ทนายความปกป้องสิทธิของลูกความโดยการไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าค้นรถของตน โดยไม่มีหมายค้นเพื่อยึดโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาทั้ง 14 คน คดีนี้อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2562 หลังจากเลื่อนนัดฟังคำสั่งมาตลอดระยะเวลา 3 ปี ทำให้ทนายศิริกาญจน์ต้องเข้ารายงานตัวเเละรับทราบคำสั่งเลื่อนดังกล่าว ณ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ดุสิต รวม 12 ครั้ง นับเเต่พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เเจ้งข้อกล่าวหาต่อศิริกาญจน์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2559

2) คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพ
โดยภายหลังการชุมชนมีการตั้งข้อกล่าวหากับบุคคล 30 คน ด้วยข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และข้อหาชุมนุมในสถานที่หวงห้ามตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ประกาศ/คำสั่งคณะปฏิวัติ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ในคดีนี้แม้ว่าอัยการจะมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง แต่คดีนี้อัยการเลื่อนนัดฟ้องคำสั่งเป็นจำนวน 17 ครั้ง

3) คดีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งความข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 ต่อ 3 นักกิจกรรมทางการเมือง
จากกรณีการจัดชุมนุมหยุดโกงเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องความโปร่งใสของการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ในการทำกิจกรรมมีการชูป้าย เช่น #หยุดโกงเลือกตั้ง #RespectMyVote และอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ กกต. เปิดผลคะแนนเลือกตั้งรายหน่วย และเปิดโต๊ะให้ประชาชนร่วมลงชื่อถอดถอน กกต. ในกรณีนี้ กกต. ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและโปร่งใส แต่การปฏิบัติหน้าที่ที่สร้างความเป็นห่วงเรื่องความเป็นกลางในจัดการเลือกตั้ง ความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ การนับคะแนนเสียง และการประกาศผลคะแนนการเลือกตั้งทำให้ประชาชนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่ง กกต ได้ดำเนินคดีต่อผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่แทนจะที่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติหารที่หรือออกมาชี้แจงในประเด็นปัญหาที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันคดีดังกล่าวกำลังอยู่ในชั้นอัยการ ซึ่งถูกเลื่อนการฟังคำสั่งมา 3 ครั้งแล้ว

4) การดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 8 คน เนื่องมาจากการจัดกิจกรรมของเครือข่าย People Go
เมื่อวันที่ 19 และ 20 มกราคม พ.ศ.2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ภายใต้ชื่อกิจกรรม “We walk เดินมิตรภาพ” โดยพ.ท.ภูษิต คล้ายหิรัญ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป คดีนี้แม้ว่าอัยการจะสั่งไม่ฟ้องด้วยระบุเหตุผลว่า การชุมนุมของผู้ต้องหาทั้งแปดในคดีนี้ เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ มิได้กระทบความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2560 อีกทั้งผู้ต้องหา ได้แจ้งการชุมนุมและวัตถุประสงค์ของการชุมนุมต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว โดยการชุมนุมไม่ได้มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด การกระทำของผู้ต้องหาทั้งแปดจึงยังไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา แต่ในช่วงที่รอฟังคำสั่ง อัยการได้เลื่อนฟ้อง 5 ครั้ง ซึ่งสร้างภาระในด้านการเดินทางไปรายงานตัวทุกครั้งที่จังหวัดปทุมธานี เนื่องจากส่วนมากผู้ต้องหาทั้ง 8 คน มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และบางคนอยู่ต่างจังหวัดก็ต้องเดินทางมารายงานตัวทุกนัด โดยไม่มีหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบค่าเดินทางทั้งหลายที่เกิดขึ้นให้กับผู้ต้องหา

  • คดีเข้าสู่กระบวนการไต่สวนมูลฟ้องของศาลเเล้วศาลกลับยกฟ้อง 

1) คดีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ต่อนายวุฒิ บุญเลิศ นักวิชาการกะเหรี่ยงกับพวก
จากกรณีการแชร์เนื้อหาข่าวจากสำนักพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ในเฟสบุ๊คส่วนตัว เกี่ยวกับการตรวจสอบการครอบครองไร่ชัยราชพฤกษ์อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นเนื้อความที่เกิดจากการตรวจสอบของสื่อมวลชนและถูกรับรู้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะมาก่อนหน้านี้แล้ว การแจ้งความดำเนินคดีจึงเข้าข่ายกลั่นแกล้งและการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริตต่อจำเลย ในการนี้จำเลยจึงได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมขอให้อัยการสอบเพิ่มเติมและสั่งไม่ฟ้องต่ออัยการจังหวัดมีนบุรี แต่ในที่สุดอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลมีนบุรี ภายหลังจากศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วศาลเห็นว่าข้อความที่มีการโพสต์ตามที่นายชัยวัฒน์ กล่าวอ้างตามคำฟ้อง ไม่ได้กล่าวถึงหรือมีพยานหลักฐานใดที่จะทำให้วิญญูชนหรือประชาชนทั่วไป อ่านแล้วเข้าใจได้ว่าเป็นการกล่าวถึงนายชัยวัฒน์ หรือ เข้าใจได้ว่า นายไพโรจน์ ลิ้มลิขิตอักษร ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ครอบครองตามที่ดินแทนนายชัยวัฒน์ และเมื่อพิจารณาเนื้อหาตามโพสต์แล้ว ผู้โพสต์มุ่งหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจสอบการปฏิบัติราชการ และการครอบครองไร่ชัยราชพฤกษ์ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงไม่ถือว่าเป็นข้อความที่หมิ่นประมาทตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

2) คดีชาวบ้านจากกลุ่ม ‘ฅนรักษ์บ้านเกิด’ ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันข่มขืนใจสมาชิก อบต.เขาหลวง เเละเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม

จากการเข้าร่วมการนั่งประท้วงบริเวณด้านนอกที่ทำการสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดเลยเมื่อเดือน พ.ย. 2559 เพื่อติดตามการประชุมสภาในวาระการพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และเรียกร้องให้ยกเลิกการประชุมในวาระดังกล่าว ในคดีนี้ศาลได้พิพากษายกฟ้องทั้ง 2 ข้อหา โดยเหตุผลที่ศาลยกฟ้องนั้น เนื่องจากศาลมองว่าการที่ อบต.จัดการประชุมและเชิญชาวบ้านเข้าไปร่วมรับฟังนั้น ศาลมองว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมขึ้น แต่เป็นเรื่องของการเข้าไปร่วมรับฟังการประชุมซึ่งจัดขึ้นโดยทางราชการ โดยการประชุมของ อบต.นั้นเป็นการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่ใช้บังคับแก่การประชุมในลักษณะนี้

ด้านข้อหาเรื่องข่มขื่นใจที่ สมาชิก อบต. กล่าวหานั้น ศาลเห็นว่าการที่จำเลยไปร่วมประชุมในวันนั้นเป็นไปโดยสงบ ไม่มีการบังคับขู่เข็ญหรือใช้ความรุนแรงใดๆ ประกอบกับผู้ร่วมเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะมีการอนุมัติเหมืองแร่นั้น ศาลเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดและยกฟ้องข้อหานี้ด้วย