ข้อเสนอถึง ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ประเด็นเรื่องการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ(SLAPPs)

ข้อเสนอถึง ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ประเด็นเรื่องการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ(SLAPPs)

การมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ (Public Participation) ถือเป็นหลักการและแนวทางปฏิบัติทางการเมืองที่เป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย ทั้งนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองสิทธิเสรีภาพประการต่างๆ เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนได้เข้ามีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะได้ เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการสมาคม สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ สิทธิชุมชน สิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  เป็นต้น แต่ในปัจจุบันนี้ประชาชนซึ่งใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เพื่อเรียกร้องการปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น กลับต้องเผชิญกับการถูกฟ้องคดีทั้งคดีแพ่งและอาญาต่อศาล

การฟ้องประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะเช่นนี้เรียกว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” (Strategic Lawsuits Against Public Participation: SLAPPs) หรือการฟ้องคดีปิดปาก เป็นปรากฏการณ์ที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบริษัทเอกชน ฟ้องคดีต่อประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น การรายงานข่าว การร้องเรียน การชุมนุมหรือการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าวไม่เพียงทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับการแก้ไข ยังเป็นการสร้างอุปสรรคในการการใช้สิทธิและเสรีภาพในการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ความวิตกกังวลสร้างภาระในการต่อสู้คดี อันเป็นการลดทอนทรัพยากรทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา การฟ้องคดีเช่นนี้เป็นการจงใจจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้วยังเป็นการสร้างต้นทุนให้แก่ภาครัฐและกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

 

สถานการณ์ปัญหา

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้รวบรวมข้อมูล “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” (Strategic Lawsuits Against Public Participation: SLAPPs) ในประเทศไทย คลิก  

พบว่ามีการดำเนินคดีผ่าน 2 ช่องทางคือแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน หรือยื่นฟ้องคดี โดยในจำนวน 212 กรณี ผู้ที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องคดี ได้แก่ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง (27.06%) รองลงมาคือกลุ่มชุมชนหรือประชาชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการพัฒนาที่ก่อผลกระทบต่อชุมชน (22.93%) กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน/นักพัฒนาเอกชน (ด้านสิทธิสตรี แรงงาน การตรวจสอบทุจริต พลังงาน สิ่งแวดล้อม ชาติพันธุ์) (15.59%) กลุ่มประชาชนที่สนใจการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนใจและเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง แต่ไม่ถึงขั้นเป็นแกนนำ (11.92%) สื่อมวลชน (8.25%) กลุ่มอื่นๆ (โฆษกวัด ทนายความ แอดมินเพจ) (5.50%) กลุ่มผู้ถูกละเมิดหรือญาติที่เรียกร้องความเป็นธรรม (5.04%) และนักวิชาการ/อาจารย์มหาวิทยาลัย (3.66%) ตามลำดับ

การกระทำที่ตกเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องมากที่สุดคือ การเผยแพร่ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ (25.47%) รองลงมาคือการชุมนุมสาธารณะ (15.09%) การจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ (กิจกรรมล้อเลียน ดนตรี ละคร ชูป้าย เดิน เป็นต้น) (12.73%) การทำหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ (8.01%) การให้สัมภาษณ์หรือเขียนบทความเผยแพร่ผ่านสื่อ (5.66%) การชุมนุมหรือจัดกิจกรรมในพื้นที่โครงการ (5.66%) การเผยแพร่ข่าวหรือบทความในสำนักข่าวออนไลน์ (3.77%) การแจกเอกสาร (3.77%) การแถลงข่าวหรือออกแถลงการณ์ (3.30%) การเข้าไปในพื้นที่ดำเนินโครงการเพื่อตรวจสอบ (3.30%) การสนับสนุนการจัดกิจกรรม (มอบดอกไม้ให้กำลังใจ ให้ที่พัก ช่วยเหลือทางกฎหมาย สังเกตการณ์การจัดกิจกรรม ฯลฯ) (2.83%) การทำหน้าที่สื่อมวลชน (2.35%) การดำเนินการอื่นๆ (การนำหลักหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่และสาธารณะ การไม่บรรจุวาระประชุม) (1.88%) การพูดในเวทีสัมมนา (1.41%) และการเผยแพร่ผลการวิจัยหรือรายงานการละเมิดสิทธิ (0.94%) ตามลำดับ

ประเด็นที่มีการฟ้องร้องมากที่สุดคือประเด็นเกี่ยวกับการปกครอง (ความชอบธรรมของรัฐบาล การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญและการออกกฎหมาย) (39.13 %) รองลงมาคือประเด็นสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (เหมืองแร่, โรงงานอุตสาหกรรม, โรงไฟฟ้า) (32.07 %) ประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ กระบวนการยุติธรรมและการตัดสินคดีของศาล (12.26%) ประเด็นการทุจริต (5.66%) ประเด็นแรงงาน (5.18%) ประเด็นสาธารณสุข และการแพทย์ (2.35%) ประเด็นพลังงาน (2.35%) ตามลำดับ

อ่านรายงานข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี

 

กฎหมายที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดี

  1. คดีอาญา (กฎหมายปกติ)

1.1 ข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ถูกนำมาใช้มากที่สุด (26.23%) ทั้งโดยเอกชนและหน่วยงานรัฐ ในจำนวนนี้มีทั้งการดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทเพียงข้อหาเดียว การดำเนินคดีร่วมกับหมิ่นประมาททางแพ่ง และหลายกรณีเป็นการดำเนินคดีร่วมกับมาตรา 14             ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยเดิมทีนั้น หากเป็นกรณี ที่มีการแสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ ข้อหาหมิ่นประมาทจะถูกใช้ควบคู่กับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขมาตรา 14 (1) เพื่อไม่ให้มีการนำ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯมาใช้กับคดีหมิ่นประมาท ทำแนวโน้มการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทควบคู่กับมาตรา 14 (1) ก็ลดลงแต่ยังคงมีอยู่

1.2 ข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (25.41%) ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะมาตรา 14 มักถูกนำมาใช้กับการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ และถูกใช้ควบคู่กับกฎหมายอื่นๆ ซึ่งพบอยู่ 2 มิติคือ มิติด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล มาตรา 14 (2) (3) จะถูกใช้ควบคู่กับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 แต่อีกมิติหนึ่งคือกรณีที่กระทบชื่อเสียงส่วนตัว เช่น การวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบริษัทเอกชน มาตรา 14 (1) จะถูกใช้ร่วมกับข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 แต่ปัจจุบันการใช้มาตรา 14 (1) ควบคู่กับข้อหาหมิ่นประมาทลดลง เพราะพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ได้แก้ไขมาตรา 14 (1) ไม่ให้ใช้กับการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

1.3 ข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงและความสงบเรียบเรียบร้อยของประชาชน (15.57) ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216 รวมถึงมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือที่เรียกว่า “ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น” ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หากเป็นการแสดงความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ ข้อหานี้จะถูกใช้ควบคู่กับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) (3)

1.4 ความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (9.43%) เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นภายหลังการรัฐประหารของ คสช. หลังจากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 เป็นต้นมา มีประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมในเรื่องต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต การเมือง ฯลฯ ถูกดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ ตามกฎหมายนี้แล้วไม่น้อยกว่า 218 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561)

กรณีการใช้เสรีภาพในการชุมนุม นอกจากผู้ชุมนุมมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว ยังเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาอื่นๆ อีก เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 (ข่มขืนใจ) ซึ่งพบเห็นมากขึ้นในระยะหลังๆ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216 (มั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140 (ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535

1.5 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ (7.37%) ประกอบด้วย ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 (ลักทรัพย์) มาตรา 352 (ยักยอกทรัพย์) มาตรา 358, 360 (ทำให้เสียทรัพย์) และมาตรา 362, 364, 365 (บุกรุก) ซึ่งข้อหาบุกรุกเป็นข้อหาที่พบมากที่สุด และมักจะมาพร้อมกับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่ต้องเข้าไปในสถานที่ของคู่พิพาท สถานที่ดำเนินโครงการของเอกชน รวมทั้งสถานที่ของหน่วยงานราชการ

1.6 ข้อหาเกี่ยวกับการปกครองและกระบวนการยุติธรรม (5.73%) ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 (แจ้งความเท็จ), มาตรา 172, 173 (แจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา) ประมวลกฎหมายมาตรา 198 (ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา) และความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งถูกระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 และ 31

1.7 ข้อหาความผิดเกี่ยวกับร่างกายและเสรีภาพ (2.45%) มักถูกนำมาใช้กับกรณีการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน กรณีที่มีการใช้ข้อหาความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 296

 

  1. คดีอาญา (กฎหมายเฉพาะกิจ)

เป็นความผิดตามกฎหมายที่ถูกกำหนดขึ้นในบางช่วงเวลา เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกของประชาชน ประกาศและคำสั่งเหล่านี้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางเพื่อสร้างภาระและข่มขู่ผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและ คสช. หรือเคลื่อนไหวกระทบต่อนโยบายของ คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มีกลไกในการบีบบังคับให้ประชาชนที่ถูกกล่าวหาต้องจำยอมที่เข้าอบรมและยอมรับเงื่อนไขหยุดการเคลื่อนไหวเพื่อแลกกับการปลดเปลื้องภาระที่ต้องแบกรับจากการถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะการต้องเดินทางไปศาลทหาร ซึ่งบางพื้นที่ไม่ได้อยู่ใกล้กับภูมิลำเนาของผู้ถูกดำเนินคดี

 

  1. คดีแพ่ง

ในส่วนของคดีแพ่งนั้น พบว่ามีการฟ้องคดีละเมิดเพื่อเรียกค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 423 โดยมีทั้งที่ยื่นฟ้องคดีแพ่งอย่างเดียวหรือฟ้องคดีอาญาแล้วฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายอีกต่างหากด้วย และในการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้นพบว่าบางคดีมีการเรียกค่าเสียค่าสูงสุดถึง 300 ล้านบาท เช่น กรณีบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการพลังงานฟ้องนักเคลื่อนไหวด้านพลังงานทางเลือกและสื่อมวลชน จากการจัดรายการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายพลังงานและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงาน และกรณีบริษัทเอกชนฟ้องอานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยและนักสิทธิมนุษยชนที่จัดทำและเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัทดังกล่าว และยังมีกรณีของชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลยที่เคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ ถูกบริษัทผู้ประกอบการเหมืองแร่ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง 4 คดี รวมค่าเสียหาย 320 ล้านบาท

 

ตัวอย่างการฟ้องคดีปิดปาก

กรณีพิพาทระหว่างบริษัทธรรมเกษตร จำกัด กับ แรงงานข้ามชาติ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ และผู้สื่อข่าว ซึ่งออกมารายงานถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ

เมื่อปี 2559 งานชาวพม่า 14 คน ยื่นคำร้องต่อสำนักสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่า มีการใช้แรงงานบังคับและการละเมิดสิทธิแรงงานในฟาร์มไก่ของบริษัทธรรมเกษตร มีการยึดเอกสารเดินทาง ซึ่งบริษัทแห่งนี้ทำสัญญาส่งไก่ให้กับบริษัทเบทาโกร แรงงานระบุว่า พวกเขาทำงานวันละ 20 ชั่วโมง ตั้งแต่ 07.00-17.00 น. และต้องทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-05.00 น. ต้องนอนในเล้าไก่ข้ามคืน ไม่มีวันหยุดประจำปีหรือวันหยุดตามประเพณี ได้ค่าจ้างเพียงวันละ 230 บาท พวกเขาถูกยึดใบอนุญาตทำงานและหนังสือเดินทาง และได้ออกจากฟาร์มเพียงสัปดาห์ละสองชั่วโมง โดยอยู่ในการควบคุมของผู้แทนนายจ้าง ซึ่งการออกจากฟาร์มจะต้องขออนุญาตทุกครั้ง และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลพบุรี พิจารณาข้อร้องเรียนแล้วได้มีคำสั่งให้บริษัทธรรมเกษตร จำกัด จ่ายชดเชยเงินให้กับกลุ่มแรงงาน

ในเวลาต่อมา ศาลได้แรงงานภาค 1 ได้มีคำพิพากษาให้บริษัทธรรมเกษตร จำกัด จ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานชาวพม่า 14 คน จำนวน 1.7 ล้านบาท โดยคำตัดสินของศาลสอดคล้องกับคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลพบุรี ที่ก่อนหน้านั้นมีคำสั่งให้เจ้าของฟาร์มไก่ชดเชยเงินให้กับกลุ่มแรงงาน

ซึ่งในการเรียกร้องสิทธิของตนเองนี้แรงงานได้รับความช่วยเหลือจาก องค์กรพัฒนาเอกชนคืนเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ได้มีการรายงานข่าวเกียวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ สื่อหลายช่องทาง ทั้งนี้การเผยแพร่ข้อมูลต่างๆต่อสาธารณะชนเนื่องจากเป็นประเด็นที่ควรได้รับการแก้ไข

ต่อมาบริษัทธรรมเกษตรได้ยื่นฟ้องบุคคลต่างเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา เช่นฟ้องแรงงานในข้อหาแจ้งความเท็จ เบิกความเท็จ ฟ้องนักป้องสิทธิมนุษยชนและนักข่าวในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย นักปกป้องสิทธิมนุษยชน คนที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด จนถึงปัจจุบันนี้บริษัทธรรมเกษตรได้ดำเนินคดีกับบุคคลต่างๆไปแล้วอย่างน้อย 17 คดี รายละเอียดปรากฏตามสรุปตารางข้อมูลการดําเนินคดีโดย บริษัท ธรรมเกษตร จํากัด ต่อบุคคลต่างๆ อันสืบเนื่องจากข้ออพิพาทด้านแรงงานสิ่งที่ส่งมาด้วย

คดีที่น่ากังวัลคือ คดีที่บริษัทธรรมเกษตรจำกัด ได้ฟ้องนักข่าวจากวอยซ์ทีวีว่าได้ทำความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328)และ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านศาลจังหวัดลพบุรี ได้พิพากษาลงโทษจำคุก นางสุชาณี คลัวเทอนักข่าวที่รายงานข่าวการละเมิดสิทธิแรงงานผ่านการทวิตข้อความและลิงค์คำพิพากษาของศาล และให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำพิพากษา

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีธุรกิจและสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นสําคัญ ว่าการทำธุรกิจนั้นต้องความเคารพสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อบริษัทเอกชนถูกร้องเรียนว่าได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในชั้นการผลิต และบริษัทเอกชนดังกล่าวมาฟ้องผู้ร้องเรียนและบุคคลต่างๆ ซึ่งเป็นการขัดกับหลักการในแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกละเมิด และต้องดำนินการเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหรือถูกละเมิดจาการประกอบธุรกิจนั้น แต่ถึงปัจจุบันนี้ผู้ที่ถูกบริษัทฟ้องยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองตาม แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

ปัจจุบันนี้ บริษัทเบทาโกร จำกัด มหาชน ซึ่งประกอบธุรกิจหลักเกี่ยวกับการผลิตไก่และจำหน่ายไก่สดแช่เย็นและแช่แข็งและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไก่ยังคงรับซื้อรับซื้อสินค้าจากบริษัทธรรมเกษตร จำกัด  นอกจากนี้บริษัทเบทาโกร จำกัด มหาชน และบริษัทไทยฟู๊ดกรู๊ป จำกัด มหาชน(TFG) บริษัทซึ่งประกอบธุรกิจหลักเกี่ยวกับการผลิตไก่และจำหน่ายไก่สดแช่เย็นและแช่แข็งและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไก่ คือหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยจำกัดในผู้ส่งออกไก่ใหญ่ที่สุดของไทยยังคงนิ่งเฉยและไม่มีการตรวจสอบเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงาน ว่าสินค้าในบริษัทของตนนั้นได้มีการผลิตโดยละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

 

ข้อเสนอแนะ

การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีต่อประชาชนที่ในสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือการฟ้องคดีปิดปากนั้น เป็นการสร้างภาระและความยุ่งยากให้ผู้ถูกฟ้องคดี ทำให้ผู้ถูกฟ้องได้รับความกดดันและเกิดความกลัว สร้างความกลัวในสังคม ทำให้ขาดพื้นที่ในการสื่อสารและเป็นการปิดโอกาสในการที่จะมีสังคมที่เปิดกว้างที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างสร้างสรรค สมาคมนักกฎหมายฯ ขอเรียนเสนอข้อเสนอแนะในการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี ดังนี้

  1. กรณีพิพาทระหว่างบริษัทธรรมเกษตร จำกัด กับ แรงงานข้ามชาติ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ และผู้สื่อข่าว เรียกผู้เกี่ยวข้องกับเช่น สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย บริษัทเบทาโกร จำกัด มหาชน และบริษัทไทยฟู๊ดกรู๊ป จำกัด มหาชน(TFG) มาชี้แจงว่าในการทำธุรกิจนั้นได้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่รัฐกำหนดหรือไม่
  2. ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้รัฐกำหนดให้หมิ่นประมาทเป็นเพียงความผิดทางแพ่งเท่านั้น เนื่องจากความเสียหายต่อชื่อเสียงกับการลงโทษจำคุกนั้นไม่ได้สัดส่วนกันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้เมื่อบุคคลใดอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด บุคคลนั้นย่อมเรียกค่าเสียหายเป็นตัวเงินได้ตามกฎหมายแพ่งอยู่แล้ว การที่มีกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญานั้นเป็นการใช้กฎหมายฟุ่มเฟือย ทั้งยังเป็นสร้างภาระให้กระบวนการยุติธรรมซึ่งส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมโดยรวมอีกด้วย
  3. ดำเนินการเพื่อให้มีการออกกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีปิดปาก หรือ Anti-SLAPP Law เพื่อป้องกันการใช้กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการยุติการมีสวนร่วมในประเด็นสาธารณะของประชาชน รวมถึงปกป้องคุ้มครองและชดเชยเยียวยาประชาชนจากการถูกฟ้องคดีปิดปาก
  4. ดำเนินการเพื่อให้รัฐหรือหน่วยงานรัฐ ยุติการใช้กฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีต่อประชาชนที่แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ร้องเรียนในประเด็นที่เกี่ยวกับสาธารณะ โดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์อันแท้จริงของกฎหมาย และหลักการสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและและการแสดงความคิดเห็น ตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ เมื่อเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน หน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐหากเห็นว่าสิ่งที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ไปนั้นคาดเคลื่อนต่อความเป็นความจริง ควรใช้วิธีการชี้แจ้งข้อเท็จจริงในประเด็นที่ถูกวิจารณ์หรือกล่าวหาแทนการฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชน
  5. ดำเนินการเพื่อให้รัฐมีมาตรการเร่งด่วนในการรับมือกับคดีฟ้องปิดปากจนกว่าจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมาบังคับใช้ เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกฟ้องคดี SLAPPs โดยเฉพาะในคดีอาญา กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการกลั่นกรองคดี SLAPPs เพื่อสามารถจะยุติคดีได้โดยเร็ว รวมถึงกระบวนการยุติธรรมไม่ควรซ้ำเติมหรือเพิ่มภาระโดยไม่จำเป็นให้แก่ผู้ถูกฟ้อง และควรมีนโยบายให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวได้โดยไม่ต้องมีการวางหลักประกัน
  6. ดำเนินการเพื่อสร้างกลไกสนับสนุนที่เพียงพอให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี เช่นกองทุนยุติธรรมควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับคดี SLAPPs เพราะคดีนี้ไม่เหมือนกับคดีทั่วไปและถือเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยกองทุนยุติธรรมควรกำหนดให้สามารถเลือกทนายที่มีความเข้าใจเรื่องนี้เข้ามาช่วยเหลือคดีได้ เพราะหากทนายความไม่เข้าใจและใช้วิธีการสู้ต่อคดีแบบคดีทั่วไป อาจเกิดผลกระทบทางลบแก่ผู้ถูกฟ้องและชุมชนของผู้ถูกฟ้องได้