มาตรา 112 กระบวนการยุติธรรมแบบโกงตาชั่ง

มาตรา 112 กระบวนการยุติธรรมแบบโกงตาชั่ง

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเอาผิดประชาชนที่แสดงความคิดเห็น หรือออกมามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง โดยจากการบังคับใช้มาตรา 112 เท่าที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นปัญหาของตัวบทกฎหมาย โดยเฉพาะปัญหาในการตีความที่กว้างจนเกินขอบเขตและปัญหาการบังคับใช้ที่สร้างภาระให้กับจำเลยจนเกินสมควรจนเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันเป็นสิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างคุกรุ่นในปัจจุบัน บทบัญญัติกฎหมายต่าง ๆ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมของประชาชนเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2563 ที่ผ่านมา หนึ่งในบทกฎหมายที่กลายมาเป็นเครื่องมือของรัฐในการปิดปากประชาชน คือ “ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” โดยจากสถิติ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 55 ราย 42 คดี และเป็นเยาวชนอย่างน้อย 3 ราย

 

จากสถิติดังกล่าว สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ว่า ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลทั่วไปซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชนที่แสดงความคิดเห็น หรือออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงมีการแจ้งความมาตรา 112 ครอบคลุมไปถึงกรณีการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ในอดีต โครงการในพระราชดำริ สถาบันพระมหากษัตริย์ รัชทายาท พระราชินี ราชวงศ์จักรี รวมทั้งสุนัขทรงเลี้ยงอีกด้วย โดยลักษณะของการกระทำที่ตกเป็นเป้าหมายของการดำเนินคดีมาตรา 112 มีทั้งการปราศรัยและแถลงการณ์ในที่สาธารณะ การเผยแพร่ข้อมูลและการวิพากย์วิจารณ์โดยสุจริตผ่านสื่อออนไลน์ การจัดทำปฏิทินเป็ดเหลืองที่มีการยกถ้อยคำปราศรัยมาใส่ในปฏิทิน การแต่งกายชุดคอสเพลย์ครอปท็อปและชุดไทยในการชุมนุม “เพราะทุกที่คือรันเวย์” การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อพระบรมฉายาลักษณ์ หรือแม้กระทั่ง การให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุม ดังเช่นกรณีของทราย เจริญปุระ ที่โดนแจ้งมาตรา 112 โดยตำรวจระบุว่ามูลเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ทรายให้การสนับสนุนการชุมนุมที่มีการปราศรัยเรื่องปลดอาวุธศักดินาไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

 

การใช้มาตรา 112 เอาผิดกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็น หรือแสดงออกทางการเมือง แสดงให้เห็นถึงปัญหาของมาตรา 112 ในหลายมิติ ทั้งปัญหาในแง่ของตัวบทกฎหมายที่มีอัตราโทษที่สูง ไม่มีบทยกเว้นความผิดหรือบทยกเว้นโทษ อีกทั้งยังถูกบัญญัติไว้ในหมวดความมั่นคง ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มองว่ากษัตริย์คือราชอาณาจักร รวมไปถึงปัญหาในแง่ของการตีความกว้างเกินขอบเขต ปัญหาการปรับใช้ตัวบท และปัญหาอื่นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปจนถึงพนักงานอัยการ ศาลและกรมราชทัณฑ์ที่ยังไม่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ กล่าวคือ พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตั้งข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงเกินความเป็นจริง มีการดำเนินกระบวนการที่มิชอบด้วยกฎหมาย เช่น การจำกัดสิทธิของผู้ต้องหาในการเข้าถึงทนายและญาติที่บุคคลนั้นไว้ใจ เป็นต้น พนักงานอัยการก็มักสร้างภาระให้จำเลยด้วยการเลื่อนฟังคำสั่งหลาย ๆ ครั้ง และไม่ค่อยใช้ดุลพินิจที่เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน นอกจากนี้ ศาลยังดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเป็นการสร้างอุปสรรคแก่จำเลยและญาติ เช่น ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีกึ่งพิจารณาลับ ไม่อนุญาตให้ญาติเข้าไปในห้องพิจารณาคดี หรือทำคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว ซึ่งส่งผลให้จำเลยต้องถูกควบคุมตัวภายใต้การดูแลของกรมราชทัณฑ์ ที่ยังถูกกังขาในเรื่องศักยภาพในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ถูกคุมขัง อันทำให้จำเลยต้องตกอยู่ในความเสี่ยง รวมไปถึงทำให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกของตัวเองเกิดความกลัวไม่กล้าใช้สิทธิเสรีภาพของตน เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของตน หากถูกดำเนินคดี

 

จากการบังคับใช้มาตรา 112 ในลักษณะที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร ทำให้สังคมในปัจจุบันเริ่มมีการถกเถียงถึงแนวทางในการบังคับใช้มาตรา 112 ในอนาคต โดยมีทั้งฝ่ายที่ต้องการให้แก้ไขมาตรา 112, ฝ่ายที่ต้องการให้ยกเลิกมาตรา 112 และฝ่ายที่ต่อต้านการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ในส่วนของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเอง ก็ยังคงแสดงจุดยืนในการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกของประชาชน และย้ำถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพดังกล่าว ในฐานะที่เป็นกุญแจสำคัญในการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และผลักดันประเทศไปสู่การพัฒนาต่อไปในอนาคต

 

คลิกเพื่ออ่านรายงานฉบับเต็ม