คอรีเยาะ: กระบวนการยุติธรรมไทยเปราะบางถึงขนาดไม่กล้ายืนยันสิทธิในการปล่อยชั่วคราว

คอรีเยาะ: กระบวนการยุติธรรมไทยเปราะบางถึงขนาดไม่กล้ายืนยันสิทธิในการปล่อยชั่วคราว

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้จัดวงพูดคุยเเลกเปลี่ยนปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่ทนายความและญาติของผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองต้องเผชิญ ในหัวข้อ #ปล่อยเพื่อนเรา ยืนยันสิทธิในการปล่อยชั่วคราวนักโทษทางความคิด ที่หมู่บ้านทะลุฟ้า สะพานชมัยมรุเชษฐ์ ข้างทำเนียบรัฐบาล ในงานเสวนาครั้งนี้คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้กล่าวถึงหลักสำคัญในการปล่อยชั่วคราว ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ต้องหา/จำเลย ที่กฎหมายทั้งในประเทศและหลักการสากลระหว่างประเทศได้รับรองไว้ พร้อมทั้งเสนอมุมมองต่อกระบวนการยุติธรรมที่ควรจะเป็นไว้ดังนี้ 

“ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลฎีกาจะตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิดจริง

สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวถือเป็นหลักเป็นหัวใจสำคัญ สำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนเลยเพราะหลักการนี้ถูกระบุชัดเจนในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นฉบับเดียวกับกับที่ คสช. ใช้ในการสืบทอดอำนาจและใช้เป็นเครื่องมือในการในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนถึงอย่างนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังรับรองหลักการเรื่องการสันนิษฐานให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลสูงจะตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิดจริง ซึ่งหลักการดังกล่าวก็สอดคล้องกับอนุสัญญากติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีหลักอยู่ สองฉบับด้วยกัน คือ (1) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับรองสิทธิของการที่ ต้องหาหรือจำเลยจะต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และ (2) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

นอกจากนี้ แม้ว่าไม่ว่ารัฐธรรมนูญของไทยจะถูกฉีกไปกี่ครั้ง แต่ประมวลวิธีพิจารณาความอาญาที่ถูกบังคับใช้อยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็ยังบังคับใช้ได้ในเรื่องของการสันนิษฐานว่าจำเลยหรือผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ ศาลที่ได้รับคำร้องในการขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวจะต้องพิจารณาในการปล่อยตัวชั่วคราวโดยเร็วและการควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องเป็นไปอย่างจำกัดหรือเท่าที่จำเป็น เช่น เพื่อป้องกันว่าจำเลยจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือหากปล่อยแล้วจะไปก่อเหตุอันตรายประการ เป็นต้น ศาลสามารถใช้เป็นข้อยกเว้นในการที่จะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้

ซึ่งหากพิจารณาในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ต้องหาทางการเมืองหลายคน โดยเฉพาะในคดีข้อหาความผิดตามมาตรา 112  ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ถูกกล่าวหา โดยหยิบยกเรื่องอัตราโทษสูงสุด (15 ปี) มาเป็นสาระสำคัญในการที่จะไม่อนุญาติให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งการหยิบยกข้อยกเว้นมาเป็นสรณะสาระสำคัญที่ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกลิดรอนสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราว ดิฉันในฐานะนักกฎหมายก็รู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่น่าละอาย และเห็นถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่กล้าแม้แต่จะยืนยันว่าผู้ต้องหามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

นอกจากนี้ ศาลยังหยิบยกเหตุผลอื่น ๆ ที่จะไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมืองด้วย เช่น หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก ซึ่งถือเป็นการวินิจฉัยก้าวล่วงเข้าไปในเนื้อหาแห่งคดีทั้งที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังได้รับการคุ้มครองตามข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

หากเราพิจารณาจข้อเรียกร้องของกลุ่มคนที่ถูกจับดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นขอให้นายกรัฐมนตรีลาออก ขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยกเลิกมาตรา 112 ถือเป็นข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะแสดงออกตามวิถีแห่งประชาธิปไตยการแสดงออกไม่ใช่การก่ออาชญากรรม

การที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวทำให้ผู้ต้องขังต้องถูกลิดรอนสิทธิและต้องเผชิญกันภยันตราย อย่างเช่นกรณีที่อานนท์ นำภา ส่งบันทึกข้อความลงวันที่ 16 มีนาคม 2564 ว่าไม่มีความปลอดภัยในชีวิตขณะที่อยู่ในเรือนจำ ซึ่งในวันที่ไต่สวนกรณีที่อานนท์ นำภา ดิฉันได้มีโอกาสได้แต่งเป็นทนายความร่วมกับทนายความท่านอื่น การไต่สวนคำร้องของานนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เพนกวิน ไปแถลงศาล ในวันนั้นศาลก็ใช่เหตุการณ์นั้นในการที่จะควบคุมคนที่จะเข้าไปในห้องพิจารณาในวันที่ไต่สวนคำร้อง ก็คือจำกัดให้เข้าเฉพาะทนายความและบุคคลใกล้ชิดของอานนท์ เท่านั้น นอกจากนี้ ศาลมีสั่งให้เก็บโทรศัพท์มือถือของทุกคน รวมถึงทนายความในห้องพิจารณา และให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำอยู่หน้าห้องพิจารณาคดีและในห้องพิจารณาคดีหลายคนราวกับกำลังมีการพิจารณาคดีอาชญากรรมร้ายแรง ทั้ง ๆ ที่ในห้องก็มีจำเลยซึ่งกำลังถูกไต่สวนกรณีที่เข้ายื่นคำร้องว่าเขามีความไม่ปลอดภัยในเรือนจำ ในการไต่สวนวันนั้น อานนท์ นำภา เบิกความตอนหนึ่งพูดถึงก็ก็รู้สึกสะเทือนใจ อานนท์บอกว่า “มีแค่ศาลเท่านั้นนที่จะคุ้มครองชีวิตเขาได้ และตอนนี้ศาลกำลังมองหน้าคนที่กำลังจะตาย”

โดยส่วนตัวดิฉันถือว่ามันเป็นความเปราะบางเหลือเกินของกระบวนการยุติธรรมที่อาศัยเหตุการณ์หนึ่งมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนสิทธิของจำเลยหรือผู้ต้องหาที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย

เรารู้สึกว่าศาลซึ่งเป็นกลไกเดียวและมีอิสระจากทุกอำนาจในประเทศนี้ ยังอ่อนแอถึงขนาดไม่กล้าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการที่ศาลไม่ให้จำเลยที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ การที่ผู้พิพากษากล่าวเพียงแค่ว่า “ศาลจำเป็นต้องอำนวยความเป็นธรรมอย่างที่สุด” ดิฉันคิดว่าการไม่เพียงพอที่จะรับผิดชอบชีวิตคนหนึ่ง

สิ่งที่เราอยากจะเรียกร้องก็คืออยากให้ผู้พิพากษาตระหนักว่า อำนาจที่พวกเขาถืออยู่นั้นมันกุมชะตาชีวิตของกลุ่มคนซึ่งเป็นคนสำคัญที่ประชาชนฝากความหวังไว้ ถ้าคุณไม่เห็นความสำคัญของการมีสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็อยากจะขอให้มีความละอาย และขอกล่าวว่าก็ยังไม่สายที่ผู้พิพากษาจะกลับมายืนยันหลักการที่ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าคุณจะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาอะไร การสันนิษฐานว่าทุกคนจำเลยหรือผู้ต้องหาเนี่ยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุดก็ต้องเป็นของทุกคน โดยไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าจะเป็นคดี 116 110 หรือ 112″