บทสัมภาษณ์นคร ชมพูชาติ : ประสบการณ์จากทนายความรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง บทบาททนายความเพื่อประชาชน

บทสัมภาษณ์นคร ชมพูชาติ : ประสบการณ์จากทนายความรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง บทบาททนายความเพื่อประชาชน

สัมภาษณ์ :ธนาธร ทนานนท์, อัครยา สองสมุทร, ผรัณดา ปานแก้ว

เรียบเรียง: ธนาธร ทนานนท์

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้มีโอกาสได้เข้ามาคุยกับทนายนคร ชมพูชาติ ทนายรุ่นพี่ ที่ถือได้ว่ามีความอาวุโสในการทำงานด้านวิชาชีพทนายมานานหลายปี เป็นพี่ที่คอยสร้างน้องทนายให้มีความพร้อมทั้งทางทักษะวิชาชีพและมุมมองในการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาสังคม ที่ผ่านมาได้ทำงานคดีช่วยเหลือในคดีสำคัญหลายคดี เช่น คดีกบฏไอทีวี , คดีบิ๊กขี้หลี พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ,คดีชินคอร์ปฟ้องคุณสุภิญญา,คดีเกี่ยวกับสิทธิบัตรยา กรณียาต้าเชื้อเอชไอวี เป็นต้น จนกลายเป็นแบบอย่างให้กับทนายรุ่นน้องอีกหลายคน

ประเด็นที่ทางทีมสมาคมฯเข้ามาคุย นอกจากจะได้มาทำความรู้จักกับทนายรุ่นพี่คนนี้มากขึ้น ถือเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานให้กับน้องๆช่วยลดระยะเวลาแห่งการเรียนรู้ผ่านการตกผลึกทางความคิดและการทำงานอย่างมืออาชีพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับนักกฎหมาย ทนายความที่เพิ่งเข้ามาทำงานและข้อคิด ข้อระวัง ในการทำงานอีกมากมายที่จะได้รับจากทนายผู้นี้

ความรู้จากการทำงานเคลื่อนไหว กลายมาเป็นทักษะพื้นฐานในการเป็นทนายความ

ทนายนคร : วงสมัยเป็นนักศึกษา ภารกิจการเคลื่อนไหว คือ การทำงานจัดตั้งทางความคิดให้แก่ประชาชน  โดยกระบวนการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา  จะมีการทำงานความคิดทั้งในด้านกว้างและด้านลึก การทำงานด้านกว้าง คือ การเคลื่อนไหวที่สร้างผลกระทบทางความคิดด้านการจัดการปัญหาสังคม  ให้ประชาชนทั่วๆ ไปมาสนใจกับปัญหาของตนเองและหาทางแก้ไข  ส่วนนักศึกษาด้วยกันเองทำให้เกิดความตระหนักในการรับผิดชอบต่อสังคม  จนเกิดสามประสาน คือ นักศึกษา กรรมกร ชาวนา ให้เกิดการรวมตัวที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เพราะถ้านักศึกษามีจิตสำนึกที่เป็นสาธารณะและเห็นประโยชน์ในการมีส่วนร่วมต่อปัญหาสังคม  ก็ย่อมจะเกิดความรู้จากการเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชน  โดยนักศึกษาจะรู้ปัญหาพวกนี้ได้จากกิจกรรมนอกห้องเรียนควบคู่กับการเรียนรู้ในห้องเรียน

ส่วนการทำงานด้านลึก คือ การจัดตั้งทางความคิดให้กับตัวบุคคลที่กระตือรือร้น โดยการให้ความรู้และ ความคิดที่ถูกต้อง  ซึ่งมีประเด็นการศึกษาที่ว่า ความคิดที่ถูกต้องมาจากไหน ย่อมไม่ได้หล่นมาเองจากฟากฟ้าแต่ได้มาจากการปฏิบัติ คือ การทำงานจนได้ประสบการณ์  โดยหลักการพิจารณาความถูกต้อง คือ ต้องแยกแยะให้ออกว่าอะไรจริงอะไรเท็จ รู้กฎเกณฑ์ต่างๆ ของสรรพสิ่ง  ซึ่งทฤษฎีที่อ่านส่วนใหญ่จะเป็นของเหมาเจอต๋ง ถ้าได้ศึกษาอย่างจริงจัง ก็จะรู้ว่าความคิดที่ถูกต้องของคนเรามาจากไหน  การที่อยู่ในกระบวนการทำงานเคลื่อนไหว เช่นนี้  ทำให้เกิดพื้นฐานที่จะมาทำงานทนายความ  เพราะอาชีพนี้ งานหลักจริงๆ ก็คือ การทำงานความคิดเช่นกัน

เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นทนายความ

ทนายนคร : เริ่มจากการที่มีคนชวนให้เข้าไปทำงานในสำนักงานกฎหมายธรรมนิติ โดยเมื่อเข้าไปสัมผัสงานทนายความนี้แล้ว  ก็พบว่า คล้ายกับงานที่เคยทำ  แม้ว่าความรู้ทางกฎหมายจะมีไม่มาก  เพราะหาความรู้นอกห้องเรียนเป็นส่วนใหญ่  แต่งานทนายความนี้ หลักๆ ก็เป็นเรื่องปัญหาข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมาย การที่จะเรียนรู้การแยกแยะปัญหาข้อเท็จจริงให้ได้ชัดเจน  ก็ต้องอาศัยหลักตามทฤษฎีในเรื่องปรากฏการณ์กับธาตุแท้ ปรากฏการณ์ คือ เรื่องที่ยังไม่ชัดเจนอะไร  เพราะเป็นภาพที่ผิวเผิน  ซึ่งหากจะทำความเข้าใจให้ชัดเจนได้ ก็จะต้องพิจารณาให้ถึงธาตุแท้ของมัน  จนสามารถพบกฎเกณฑ์ของเหตุการณ์นั้นๆ ได้

อาชีพทนายความจะเกี่ยวพันกับปัญหาข้อเท็จจริงหลายเรื่อง การเรียนรู้กฎหมาย ก็จะต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่า กฎหมายเป็นเรื่องโครงสร้างส่วนบนของสังคม  เพราะเป็นตัวกำหนดหลักเกณฑ์ของสังคมมาให้คนปฏิบัติเป็นหลักเกณฑ์กว้างๆ เป็นนามธรรม แต่พอใช้กับคน ก็มาปรับใช้กับข้อเท็จจริงด้านพฤติกรรมเป็นเรื่องๆไป จุดที่สำคัญ คือ จะนำข้อเท็จจริงมาปรับใช้กับข้อกฎหมายให้เป็นไปอย่างถูกต้องได้อย่างไร  จึงเห็นได้ว่า หัวใจสำคัญของงานนี้ คือ การแยกแยะข้อเท็จจริง ถ้าได้มีการไปศึกษาหลักเกณฑ์ทางกฎหมายชัดเจนดีแล้ว ก็จะรู้ว่า ข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับข้อกฎหมายเรื่องใด  จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาทั้งสองส่วนควบคู่กันไป

การศึกษาสภาพสังคมก็มีผลต่อการทำงานทนายความ เพราะจะทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ง่ายขึ้น การที่จะเป็นทนายความให้ได้ดี  จึงจำเป็นต้องผ่านการศึกษาเรื่องพวกนี้  ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจรูปคดีได้ง่ายและทำงานทนายความให้ได้ดียิ่งขึ้น

 

มองระบบการศึกษากฎหมายของไทย

ทนายนคร : ระบบการศึกษากฎหมายของประเทศเรา  วางแนวทางการเรียนเพื่อให้ออกไปทำงานในฐานะผู้ใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นทนายความ  อัยการ  ผู้พิพากษา  นิติกรในหน่วยงานต่างๆ ที่ล้วนเป็นบุคลากรในฐานะผู้ใช้กฎหมายตามที่คนทั่วไปเรียกกันว่า นักกฎหมาย ทั้งสิ้น  แต่กรณีของนักนิติศาสตร์ จะหมายถึง คนที่เข้าใจปรัชญาทางกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายธรรมชาติ  (Natural Law) ได้ดี จนสามารถพัฒนากฎหมายได้จากการประเมินผลกระทบของกฎหมายหรือการนำกฎหมายไปใช้ในสภาพที่เป็นจริง  แต่คนที่จะเป็นนักนิติศาสตร์ได้จริงนั้น มีน้อย  เพราะเกิดขึ้นได้ยากแม้จะมีนักกฎหมายในประเทศอยู่มาก  รวมทั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา  ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายโดยตรง  แต่ถ้านักกฎหมายไม่ปรับตัวให้เป็นนักนิติศาสตร์  การออกกฎหมายหรือการเขียนกฎหมาย  ก็จะทำได้ไม่ดีพอ เพราะไม่เข้าใจสภาพแท้จริงของคนที่จะถูกบังคับใช้กับกฎหมายที่ออกมานั้น  สภาพของการออกกฎหมายตอนนี้  เลยมีปัญหาเรื่องคุณภาพของกฎหมาย  ระบบการศึกษากฎหมายปัจจุบันจึงรองรับแต่การผลิตนักกฎหมาย  ส่วนนักนิติศาสตร์จะเกิดขึ้นได้  ก็จากนักกฎหมายที่มีการแปรสภาพโดยพัฒนาตนเองให้มีวิสัยทัศน์กว้างขึ้น

บทบาทที่ปรึกษากฎหมายและทนายความ

ทนายนคร : งานที่ปรึกษากฎหมายที่เคยทำมา  ก็คล้ายๆ กับงานทนายความ แต่ไม่ต้องวางแผนต่อสู้คดี คือ ไปศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับข้อเท็จจริงที่มีการนำเรื่องมาปรึกษา ก็นับเป็นงานอีกแบบหนึ่ง แต่งานทนายความเป็นงานที่ต้องมีการวางรูปคดีเพื่อเตรียมการว่าความ  ถ้าสามารถเข้าใจเรื่องการแยกแยะข้อเท็จจริงและปัญหาสังคมแล้ว  พอเข้าไปทำงานเป็นที่ปรึกษาหรือทำงานเตรียมคดี  ก็จะสามารถทำความเข้าใจงานได้เร็ว  สำหรับงานนิติกรที่เป็น In-House Lawyer  จะเป็นงานที่มุ่งเน้นการลงแรงและเวลาให้กับเรื่องของบริษัทที่รับผิดชอบหรือทำงานให้  จึงสามารถมุ่งดูข้อเท็จจริงในบริษัทนี้ได้เพียงบริษัทเดียว แต่สุดท้าย หากมีปัญหาทางคดี บริษัทนี้ก็ต้องใช้ทนายความ  แต่นิติกรประจำบริษัท  ก็ยังมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและควบคุมงานคดีที่เกิดขึ้น ภารกิจของ In-House Lawyer  นี้ คือ การสรุปข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนและหากมีความชำนาญพอ  ก็จะวางรูปคดีไว้เสนอแก่ทนายความ  ถ้าคดีไม่ซับซ้อน  ทนายความก็จะยอมรับแนวคดีที่นิติกรเสนอไว้  ส่วนนิติกรก็มักมีหน้าที่เป็นผุ้รับมอบอำนาจฟ้องคดี  แต่งทนายความและไปเบิกความ แต่บางคดีที่อีกฝ่ายขาดนัดยื่นคำให้การ  นิติกรก็อาจเบิกความได้เอง  ตัวอย่างเหล่านี้จะเห็นได้จากคดีของสถาบันการเงินจำนวนมากที่ส่งออกไปให้สำนักงานทนายความข้างนอกทำซึ่งสมัยนี้ก็ใช้วิธีการเดียวกัน  หน่วยงานราชการก็คล้ายกัน  ที่ตามระเบียบจะต้องส่งให้พนักงานอัยการดำเนินคดี  นิติกรในหน่วยงาน  ก็ต้องสรุปข้อเท็จจริงให้อัยการ  แต่ไม่ต้องวางรูปคดี  เพราะเป็นภาระหน้าที่ของอัยการ  แต่นิติกรต้องรับผิดชอบต่อข้อเท็จจริงที่ส่งให้อัยการ

เมื่อเริ่มทำงานกฎหมาย  ก็ได้อยู่ในแวดวงของทนายความด้วย  เมื่อทำงานจึงได้เริ่มศึกษากฎหมายจริงจังมากขึ้น  และมีความชัดเจนมากกว่าสมัยเรียน  ตอนทำงานได้อาศัยการศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นจริงในสังคมมาปรับใช้กับการปรับข้อเท็จจริงต่างๆ  จนในช่วงปี 2530-2532  ขณะเป็น In-House Lawyer  ในบริษัทปิโตรเคมี  มีคดีกรณีสันติอโศก  พระโพธิรักษ์ถูกฟ้อง ข้อหา พระสังฆราชสั่งให้สึก แล้วไม่ยอมสึก ส่วนสงฆ์อื่นที่บวชตามธรรมวินัย แต่ไม่มีอุปัชฌาย์ตามกฎหมายบวชให้  จึงโดนข้อหาแต่งการเลียนแบบพระ  เพราะกฎหมายถือว่า พระต้องได้รับการบวชโดยอุปัชฌาย์ที่ว่า  แต่ตามธรรมวินัยกำหนดการบวช ว่า กระทำโดยหมู่สงฆ์ ถ้าหมู่สงฆ์ยอมรับก็ใช้ได้  อุปัชฌาย์เป็นแต่เพียงผู้นำเสนอ  ในทางกฎหมายไม่ยอมรับการบวชแบบนี้  เพราะถ้าใช้หมู่สงฆ์อย่างเดียว  อุปัชฌาย์ก็ไม่มีความหมาย  การบวชพระในเถรสมาคมยังถือแนวปฏิบัติตามกฎหมายสงฆ์อยู่  ทนายทองใบ  ทองเปาด์  เป็นหัวหน้าคณะทนายความจำเลย

คดีนี้  ตอนแรกศาลเชื่อว่า พระโพธิรักษ์ควรต้องถูกสึกตามการวินิจฉัยของสงฆ์ในเถรสมาคม  ถึงขนาดที่พระสังฆราชต้องใช้อำนาจตามกฎหมายสั่งให้สึก  แต่การสึกบังคับกันไม่ได้  เพราะตามธรรมวินัยต้องสึกโดยมีเจตนาที่ต้องการสึกแท้จริง  แม้จะมีการบังคับให้เปล่งวาจาสึก  ถ้าไม่ได้มีเจตนาสึก ก็ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ  กรณีพระโพธิรักษ์ เห็นว่า หากจะแกล้งยอมเปล่งวาจาสึกเช่นนั้นโดยไม่มีเจตนา  ก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้องเพราะถือเป็นการพูดปด ผิดศีล  เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาขณะนั้น  จึงขอให้พระโพธิรักษ์ไปทำบัตรประชาชนเสียและอย่าเรียกตนเองว่าพระสงฆ์  จึงทำให้มีคำว่านายเป็นคำนำหน้าในทะเบียนราษฎร์  พร้อมทั้งให้เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย  ซึ่งตามหลักเกณฑ์นี้เถรสมาคมน่าจะถือว่า ขาดจากความเป็นพระตามกฎหมายแล้ว  อันเป็นความพยายามของฝ่ายการเมืองที่ต้องการให้เรื่องยุติโดยสันติ  แต่เมื่อทางสันติอโศกยอมทำไปแล้ว  ทางเถรสมาคมก็ยังไม่ยอม  อธิบดีกรมการศาสนาขณะนั้น  จึงต้องทำการฟ้องคดีอาญาสมณะโพธิรักษ์และสมณะรูปอื่น  โดยก่อนฟ้อง มีการถามว่า ท่านยังคงเป็นพระอยู่หรือไม่  สมณะโพธิรักษ์จึงกล่าวว่า ไม่ขอตอบใดๆ (ให้พิจารณาดูเอาเอง)  จึงถูกฟ้องข้อหาขัดคำสั่งพระสังฆราช  คดีที่ฟ้องสมณะรูปอื่นว่าแต่งกายเลียนแบบพระ  ศาลยึดข้อกฎหมายในเรื่องอุปัชฌาย์  จึงถือว่า ไม่ได้บวชตามกฎหมาย มีความผิดฐานแต่งกายเลียนแบบพระ  แต่คดีสมณะโพธิรักษ์ศาลยึดถือธรรมวินัย  คือไม่มีเจตนาสึกด้วยตนเอง จึงถือว่ายังเป็นพระอยู่  อันเป็นการขัดคำสั่งพระสังฆราช  จึงมีความผิดตามฟ้อง

เรื่องสึกในสมัยนี้ ก็น่าจะยึดถือตามนี้  คือ ต้องให้พระที่น่าจะทำผิดธรรมวินัยและกฎหมาย  ยอมสึกเองเพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีได้  ทั้งที่ความจริงความผิดที่มีการกล่าวหาหลายเรื่องมักเป็นกรณีที่ขาดจากความเป็นพระเพราะเหตุเข้าข่ายปาราชิกตามธรรมวินัยแล้ว  การที่บุคคลนั้นยังแสดงตนเป็นพระอยู่  ก็ถือว่า ผิดกฎหมายฐานแต่งกายเลียนแบบสงฆ์  แต่ตำรวจก็ไม่กล้าตั้งข้อหานี้  ซึ่งที่ถูกต้องหากให้ทางเถรสมาคมมาชี้ว่า ขาดจากความเป็นพระแล้ว  ปัญหาก็หมดไป  แต่ก็ไม่ค่อยได้ทำกัน

คดีดังกล่าวสู้กันมาจนถึงปี 39  คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์  ตอนนั้นหมดสภาพการเป็น In-House Lawyer  แล้ว  จึงมีคนมาขอให้ช่วยทำอุทธรณ์ร่วมกับทนายอื่น  จึงเห็นความสำคัญของอาชีพทนายความในเรื่องการช่วยเหลือประชาชนและตัดสินใจเข้ามาเป็นทนายความเต็มตัวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  ที่ลังเลเพราะเห็นว่า ไปทำงานเป็น In-House Lawyer  มา 15 ปี  ย่อมไม่มีลูกความของตนเอง  แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่เป็นลูกจ้างใคร  และอาศัยความรู้พื้นฐานจากประสบการณ์การทำงานกับบริษัทที่ทำด้านธุรกิจมา  และนำมาใช้เป็นหลักในการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและสภาพทางสังคม  เพื่อนำมาวิเคราะห์ประเด็นข้อเท็จจริงในคดี  ส่วนการวิเคราะห์ข้อกฎหมายนั้นไม่ยาก  เพราะเพียงแต่ต้องแยกแยะประเด็นข้อกฎหมายในคดีให้ชัดเจน  แล้วจึงศึกษากฎหมายเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น  จนสามารถนำมาวางรูปคดีและกำหนดแนวทางการต่อสู้ต่อไปได้

 

ทนายความ/นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ต้องมีความเข้าใจหลักกฎหมายพื้นฐานก่อนเป็นสำคัญ

“ถ้าคิดแต่เพียงว่า การที่ได้ทำคดีสิทธิมนุษยชนแล้ว ก็จะเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนได้เลย นั้น ก็อาจเป็นความคิดที่ยังไม่น่าจะถูกต้องนัก  เพราะอาจเป็นได้เพียงส่วนหนึ่ง  เนื่องจากคุณลักษณะของการเป็นนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ต้องมีความเข้าใจไม่เฉพาะประเด็นปัญหาสิทธิที่ซับซ้อน เท่านั้น หากแต่ยังต้องเข้าใจกฎหมายพื้นฐานของกฎหมายทุกเรื่อง  เพราะกฎหมายเหล่านั้น  ล้วนมีเรื่องสิทธิอยู่แทบทั้งสิ้น”  ทนายนครกล่าว

ดังนั้น เวลาเห็นปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิ  จึงต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า สิทธินั้นมาจากพื้นฐานของกฎหมายเรื่องอะไร  เพราะหลักสิทธิไม่ได้อยู่ลอยๆ ของมันเอง  แต่จะอยู่บนฐานของกฎหมายเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสมอ ถ้าจะบอกว่า ตนเองเป็นนักกฎหมายสิทธิ  ก็ต้องเข้าใจเรื่องสิทธิทั้งหมด  ไม่ใช่ดูแค่สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือข้ามไปดูสิทธิตามหลักสากลเสียทีเดียว  หลักสากลนี้ก็มีเรื่องสิทธิมนุษยชน  แต่ต้องมีการศึกษาว่า มีหลักสิทธิพื้นฐานอิงแอบอยู่ในกฎหมายอะไรและมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง  โดยเฉพาะเวลาต่อสู้คดีในศาล  ศาลก็จะพิจารณากฎหมายพื้นฐานก่อน  เมื่อมีการนำสืบเรื่องหลักแห่งสิทธิ  และหากสามารถทำให้ศาลเห็นได้ว่า มีข้อเท็จจริงที่จะขยายหรืออธิบายหลักพื้นฐานทั่วไปได้  ศาลก็อาจยอมรับข้อเท็จจริงเหล่านี้และนำมาวินิจฉัยในคดีด้วย  ซึ่งก่อนที่จะใช้หลักสิทธิมนุษยชน  จึงควรทำความเข้าใจหลักพื้นฐานก่อน เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง  โดยเฉพาะเรื่องนิติกรรมกับหนี้และเรื่องละเมิด  หรือสัญญาไม่เป็นธรรม  เมื่อเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ดีแล้ว  ก็ต้องดูต่อไปว่า จะสามารถโยงกับสิทธิเรื่องอะไร  เมื่อเข้าใจเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ได้ดีแล้ว  ก็จะสามารถเตรียมการเรื่องการว่าความในคดีสิทธิมนุษยชนให้ได้ดีต่อไป

ถ้าดูตามกฎหมายเรามีหลักแห่งสิทธิบัญญัติไว้เยอะ แต่ในทางปฏิบัติสิทธินี้มักใช้ไม่ค่อยได้

ทนายนคร : ปัญหา คือ เราเข้าใจหลักกฎหมายพื้นฐานนี้เพียงพอหรือยัง  เพราะมีหลักสิทธิแทรกอยู่ในกฎหมายพื้นฐานเป็นจำนวนมาก  การที่จะเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้ได้ดี นั้น  จำเป็นที่จะต้องทำการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งในกฎหมายทั้งสองส่วน ว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร  และเชื่อมโยงกันแบบไหน  และจะใช้สิทธิได้อย่างไร  จะใช้หลักเหตุผลใดในการนำเสนอต่อศาล  และจะเอาแง่มุมไหนเข้าไปเสนอศาล  ต้องมองเห็นภาพใหญ่ของระบบกฎหมาย  ความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายพื้นฐานและหลักสิทธิมนุษยชน   โดยต้องทำให้ความรู้นี้สอดรับกับระบบความคิดของศาลที่ใช้หลักกฎหมายพื้นฐานเป็นหลักในการวินิจฉัยคดี  ตามประสบการณ์และหลักคิดของศาลโดยทั่วไปในปัจจุบัน

 

แต่หลักคิดของทนายความ ควรมีข้อพิจารณาในเรื่องที่ว่า ความคิดที่ถูกต้องมาจากไหน ด้วย

ทนายนคร : เพราะไม่ว่าความรู้ใดๆ นอกเหนือจากที่ได้เรียนรู้จากตำราแล้ว  การเรียนรู้สิ่งที่ถูกต้องยังต้องอาศัยความรู้ที่มาจากการปฏิบัติด้วย  ทำให้ทนายความมีความจำเป็นต้องว่าความในคดีต่างๆ ให้หลากหลาย  การทำคดีแต่ละคดีและแต่ละประเภทก็จะให้ความรู้เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ  ทั้งในเรื่องข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย  ปัญหาของพวกเรา ก็คือ  ทนายความใหม่ๆ จะไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำคดีที่หลากหลาย  ส่วนใหญ่ที่เรามีโอกาสได้ทำ คือ คดีที่ชาวบ้านขอให้ช่วยเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม  แต่เราจะมีความชำนาญมากพอที่จะทำคดีเหล่านี้ไหม  ก็เป็นปัญหาหลักของพวกเราในการที่จะหาความชำนาญให้มากขึ้น  แล้วเราจะหาความรู้ทางคดีต่างๆ ได้จากไหน  ที่ผ่านมา  ในเรื่องความรู้และการเตรียมตัวว่าความ  ก็ต้องอาศัยทนายความอาวุโสที่มีอยู่และเต็มใจจะถ่ายทอดให้ตามเงื่อนไขเวลา  ดังนั้น  สิ่งแรกที่จะต้องทำความเข้าใจกับตัวเอง คือ การกำหนดวิถีชีวิตของตนเองและมีความชัดเจนในอาชีพทนายความ  ว่าพร้อมไหมที่จะทำงานในอาชีพนี้  ที่ไม่ใช่อาชีพที่โรยด้วยกลีบกุหลาบเพราะต้องล้มลุกคลุกคลานเป็นเวลานาน  ซึ่งในจุดเริ่มต้นเราอาจลองเริ่มจากการเดินตามทนายความไปขึ้นศาล และศึกษาคดีต่างๆ อย่างลึกซึ้ง  เพื่อทำให้รู้อย่างชัดเจนว่าอาชีพทนายความเป็นอย่างไร  แนวทางการฝึกฝน คือ ต้องให้มีการรับผิดชอบคดีทั้งหมด  ก็จะทำให้รู้ชัดว่า ในทางปฏิบัติของงานทนายความนั้น  จะต้องเจอกับปัญหาเรื่องอะไรบ้าง  และจะมีแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ได้อย่างไร

การจัดตั้งความคิดของคนในวิชาชีพทนายความ

ทนายนคร : ส่วนใหญ่ การจัดตั้งความคิดคนที่ว่านี้ ก็คือ พยานบุคคลที่ทนายความต้องเตรียมการ  ทั้งการซักถามและถามติง  กรณีที่เป็นพยานของเรา  แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปให้ข้อมูลใหม่เพิ่มเติมจากการรู้เห็นของเขา  หากแต่เป็นการจัดระบบความคิดให้เข้ากับประเด็นของคดีและสามารถเรียบเรียงออกมาเป็นคำพูดที่สามารถจะทำให้ศาลเข้าใจได้โดยง่าย  ทนายความนั้นจะต้องรู้ความคิดและบุคลิกของพยานให้ชัดเจน  รู้จนถึงขนาดที่ว่า ถ้าพยานคนนี้ขึ้นเบิกความในศาลแล้วเขาจะมีสภาวะแบบใด  โดยทนายความจะต้องทำความคุ้นเคยลักษณะนิสัย  ของพยานว่า ชอบพูดมาก หรือเป็นคนพูดน้อย  โมโหง่ายหรือไม่  ซึ่งเราต้องรู้ให้หมดเพื่อกุมสภาพของพยานในทุกสถานการณ์  โดยเฉพาะเวลาถูกซักค้านจากทนายความอีกฝ่าย  จึงต้องมีการซักซ้อมพยานให้เกิดความพร้อมในการตอบคำถามให้ได้ทุกรูปแบบ  ซึ่งถือเป็นงานจัดตั้งทางความคิดที่สำคัญของทนายความทุกคน

นอกจากที่จะเป็นการจัดตั้งทางความคิดโดยตรงกับพยานเองแล้ว  ในบางครั้งทนายความก็ต้องช่วยให้พยานหลัก คือตัวความ นำไปใช้ปฏิบัติกับพยานอื่นในคดีด้วย  โดยอาจต้องมีการไปสร้างสัมพันธ์กับพยานอื่นที่เกี่ยวข้อง  และอาจต้องไปหาพยานเป้าหมายแทนทนายความ  เพื่อไปสร้างความคุ้นเคยกับพยาน  ทำให้พยานอื่นอยากช่วยเขา  อย่างนี้ก็ถือเป็นการจัดตั้งทางความคิดอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน  เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระการเตรียมคดีของทนายความในบางกรณีที่ทนายความทำเองไม่ได้หรือเกิดความไม่สะดวกที่จะทำเอง  ซึ่งถือเป็นการช่วยซักซ้อมพยานอีกแบบหนึ่ง  แต่ทนายความก็ต้องติดตามผลด้วย  เพราะสุดท้ายทนายความจะต้องซักพยานเหล่านั้นด้วยตัวเอง  หลักการที่สำคัญในเรื่องนี้ ก็คือ ไม่มีพยานคนใดที่วิเคราะห์ไม่ได้

 

ถ้าทนายความเจอลูกความเป็นทุกข์

ทนายนคร : ลูกความทุกคนที่เกิดคดี  ล้วนเป็นทุกข์ ทั้งสิ้น  งานในเบื้องต้นของทนายความ คือ ต้องให้เขาคลายทุกข์ทางใจเสียก่อน  โดยทนายความต้องเข้าใจปัญหาให้ชัดเจนเสียก่อน และต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า ลูกความมีความยึดมั่นถือมั่น เพียงใด  และช่วยให้เขาปล่อยวางลงให้ได้  แล้วจึงศึกษาต่อไปว่า ปัญหาของเขาเป็นยังไง  แล้วอธิบายให้เห็นถึงเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา แล้วก็คิดแก้กันไปตามสภาวะที่เป็น  โดยพยายามให้เขาคลี่คลายทางจิตใจ (Calm down) คือ ต้องทำให้เขาสงบลงให้ได้เสียก่อน  จนทำให้เกิดสติปัญญาที่แจ่มชัดในปัญหา  โดยต้องดูอาการของลูกความอย่างใกล้ชิด  และเมื่อเห็นว่า ลูกความมีสติมั่นคงดีแล้ว  ก็คุยกันเรื่องของปัญหาได้  เพราะถ้าลูกความยังนั่งอมทุกข์และว้าวุ่นอยู่  จนไม่คิดจะแก้ปัญหา  คดีก็จะไปต่อไม่ได้  การที่เราจะเป็นผู้ที่ช่วยทำให้ปัญหาความทุกข์ของตัวความคลี่คลายลงได้  ตัวทนายความเองก็ต้องรู้จักทุกข์ของคนให้ได้ก่อน  เพื่อทำให้เกิดทักษะกับตัวเองในการที่จะไปช่วยปลดปล่อยทุกข์ทางใจให้เขา  หลังจากนั้น  จึงทำการวิเคราะห์และทำความเข้าใจถึงเหตุแห่งปัญหาว่า ที่เกิดขึ้นมานั้น  เป็นเพราะอะไร  และจะมีทางแก้ไขปัญหานี้กันอย่างไร ต่อไป

 

หลักการที่จะทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ

ทนายนคร : อย่างแรกต้องเข้าใจสภาพปัญหาสังคมก่อน  เพราะเป็นภาพรวม  แล้วจึงเข้าไปดูปัญหาของลูกความที่เข้ามา ว่า เป็นส่วนไหนของปัญหาสังคม  แล้วก็มาดูว่าปัญหาเรื่องนั้น  เกี่ยวข้องกับปัญหาพื้นฐานของสังคมในเรื่องอะไร  ลักษณะเฉพาะของปัญหาในคดีนั้น เป็นอย่างไร  โดยทำการสอบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน  แล้วจึงวิเคราะห์ต่อไปว่า จะมีแนวทางสู้คดีกันยังไง  ถ้าเห็นว่า สู้ไม่ได้  ก็ต้องหาทางเจรจาต่อรอง  เพื่อหาทางปิดคดีให้ดีที่สุด ถ้าแนะนำไปแล้วลูกความไม่เชื่อ ก็อาจเป็นทนายให้เขาไม่ได้  เว้นแต่ยังมีโอกาสอยู่บ้าง  ก็ต้องอธิบายให้ตัวความเห็นถึงความเสี่ยง  และยอมรับผลที่จะเกิด  หากพร้อมจะเสี่ยง  เราก็พยายามทำคดีให้ดีที่สุด  แต่โดยหลักการแล้ว  ถ้าตัวความไม่เชื่อความเห็นและการตัดสินใจของทนายความ  ก็ไม่ควรรับงาน  เพราะผลเสียที่เกิดภายหลังจะมีมาก

 

ข้อเท็จจริงต่างๆที่สอบมาได้ต้องเอาใส่ตะกร้าก่อน

ทนายนคร : แล้วค่อยหยิบจับมาเรียบเรียง แต่ต้องค้นหาและเอาออกมาให้ได้มากที่สุด ค่อยๆ ถามตัวความและพยานที่รู้เห็น เก็บข้อมูลไว้ทั้งหมด แล้วมาแยกแยะตามลักษณะความสำคัญของข้อเท็จจริงแต่ละเรื่อง เนื้อหาหลักที่จะมุ่ง คืออะไร เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายเรื่องอะไร  ข้อกฎหมายบางทีก็เป็นหลักในการชี้แนวทางการรวบรวมข้อเท็จจริงที่เป็นข้อสำคัญในคดี  เพื่อกำหนดข้อเท็จจริงที่จะใช้ (ประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดี)  ต้องรวบรวมประมวลจัดระบบ อะไรขาดไปก็หามาเพิ่มเติม  พยานจะร่วมมือหรือไม่ในแต่ละปาก ก็ค่อยๆ ดูไปเพราะอาจต้องพยายามสอบเพิ่มเติมในภายหลัง  หากเห็นว่า มีพยานปากอื่นที่สำคัญ  และประเมินแล้วว่า เป็นประโยชน์ในคดี  ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย คือ เราอาจไม่สามารถนำพยานที่เป็นประโยชน์ต่อคดีมาขึ้นให้การต่อศาลได้อย่างที่ตั้งใจ  ทำให้ต้องหาทางแก้ปัญหา  โดยให้พยานชั้นสองมาช่วยเบิกความประกอบแทนพยานที่เราคาดหวังไว้  ซึ่งเรื่องเหล่านี้มักจะเกิดจนเป็นปกติในการทำคดีของทนายความทุกคน

 

การซักความ การว่าความ

ทนายนคร : หลักคิดที่ใช้ก็เอามาจากพื้นฐานความรู้จากทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษ (Dialectical materialism)  ซึ่งหลักนี้ถือเป็นวิธีการใช้คำพูด เช่น อภิปรายหรือโต้วาที  และเป็นกระบวนการทางความคิดที่นำไปสู่การตระหนักรู้อย่างแจ่มแจ้งในข้อขัดแย้งประเด็นต่างๆ และเป็นการใช้คำพูดหักล้างกัน  รายละเอียดที่จะช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้  จะปรากฏในหนังสือ พูดดีหรือพูดเก่ง (จากจอร์เจียส์ ของเพลโต) ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพูดคุยของโสเครติส กับนักพูดชั้นนำที่หลงตัวเอง  โดยเถียงกันในประเด็นที่ว่า นักพูดมีศาสตร์ของตนเองหรือไม่  เพราะนักพูดคิดว่าตนเองรู้ทุกด้าน  และเชื่อว่า การพูดก็เป็นศาสตร์โดยตัวของมันเอง  และย่อมหมายถึงว่า นักพูดเป็นคนที่มีความรู้ทุกเรื่องเป็นพิเศษ  และมีมากกว่าเจ้าของศาสตร์นั้นๆ ด้วย  เพราะสามารถนำเสนอได้ดีกว่า  แต่ โสเครติสได้โต้แย้งไปว่า ไม่ใช่ความรู้จริง  เป็นเพียงการใช้คารมทำให้คนคิดว่า มีความรู้เท่านั้น  และมีการยกศาสตร์แต่ละเรื่อง  จนได้ข้อสรุปสุดท้ายว่า  นักพูดเป็นพวกที่ไม่รู้จริง  แต่ทำเป็นรู้  เพราะไม่ได้ศึกษาในศาสตร์นั้นๆ อย่างจริงจัง  จึงทำให้เกิดอันตรายแก่คนฟังได้  เพราะเข้าใจไปว่า  สิ่งที่นักพูดพูดมานั้นเป็นความรู้ที่ถูกต้อง  จึงทำให้เห็นไปได้ว่า นักพูด ก็คือ นักโกหก  ทำให้เราต้องกลับมาคิดและตัดสินใจให้ชัดเจนว่า เราจะเป็นคนพูดดี  หรือเป็นคนพูดเก่ง

อย่างไรก็ตาม  ทนายความมีความแตกต่างจากนักพูดดังกล่าว  แม้ว่าจะดูคล้ายกัน  เพราะทนายความมีฐานะเป็นกลไกในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่ต้องนำความรู้อันเป็นข้อเท็จจริงในคดีมาสู่ศาลให้ครบถ้วน  ควบคู่ไปกับการนำเสนอข้อกฎหมายที่ทำให้ศาลยอมรับและเห็นคล้อยตาม  จนสุดท้าย  ตัดสินให้ฝ่ายที่มีตัวแทนซึ่งนำเสนอข้อมูลที่ดีที่สุดให้เป็นผู้ชนะคดีไป

ในคดีแพ่งที่มีการชี้สองสถานก่อนนำสืบ  ศาลก็ยังจะต้องอาศัยการวิเคราะห์คำฟ้องกับคำให้การดูว่า มีประเด็นอะไรบ้างและกำหนดหน้าที่นำสืบในแต่ละประเด็นไว้ให้คู่กรณี  เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้หลักการเหล่านี้  เพื่อทำการแยกแยะสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์กับธาตุแท้ ให้ชัดเจนและมองเห็นการเกาะเกี่ยวของข้อเท็จจริงต่างๆ  เพราะปรากฏการณ์กับธาตุแท้นั้น  ไม่ได้แยกกันเด็ดขาดและมีความเกี่ยวพันกันอยู่  โดยมีทั้งส่วนที่เป็นความขัดแย้งหลักและความขัดแย้งรองหลายๆ ความขัดแย้งเป็นลำดับไป  ซึ่งบทความที่ควรอ่านกัน ก็คือ ว่าด้วยความขัดแย้งและการปฏิบัติ  กับความคิดที่ถูกต้องของคนเรามาจากไหน  โดยสามารถหาอ่านได้จากสรรนิพนธ์ของเหมาเจ๋อตุงที่ได้เขียนไว้เป็นจำนวนมาก

 

ทนายความต้องตั้งประเด็นให้ถูก

ทนายนคร : ปัญหาที่สำคัญซึ่งมักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ ในการทำคดี คือ การตั้งประเด็นที่ไม่ถูกต้องกับประเด็นแห่งคดี  จนทำให้แนวทางสู้คดีผิดเพี้ยนไปและส่งผลให้ลูกความเสียหาย  ทนายความจึงควรต้องอาศัยความรู้ทางกฎหมาย  มาพิเคราะห์ว่า ในการโต้แย้งสิทธิกันนั้น เขาอ้างสิทธิอะไร  และเรามีสิทธิอะไร สิทธิใครดีกว่ากัน โดยต้องสามารถเห็นได้ชัดเจนต่อหลักกฎหมายในสิทธิเรื่องนั้นๆ  แล้วจึงมาดูข้อเท็จจริงว่า เข้ากับข้อกฎหมายที่เราเห็นอย่างไรบ้างและได้ตั้งประเด็นไว้ไหม  ถ้าสอดคล้องและเข้ากันได้  นั้นก็คือ รูปคดีที่จะต่อสู้กันต่อไป  แต่ถ้าตั้งประเด็นผิด  รูปคดีก็ผิดหมด  ตรงนี้สำคัญ  ถ้าเห็นว่า มันซับซ้อน ก็ต้องช่วยกันคิด ว่าจะเอาแบบไหนดี  ในบางครั้งเมื่อสู้คดีกันไป  แล้วเกิดข้อเท็จจริงใหม่  ข้อเท็จจริงนั้น ก็อาจทำให้รูปเรื่องเปลี่ยนไปได้ ก็มี  บางกรณีที่เห็นข้อเท็จจริงบางเรื่องได้ชัดเจนมากกว่า  ก็ย่อมจะส่งผลต่อข้อกฎหมายที่ชัดเจนตามไปด้วย

 

การว่าความให้ได้อย่างมั่นใจ  จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องในคดีเป็นอย่างดี

ทนายนคร : โดยหลักการต้องรู้อย่างทะลุปรุโปร่งและกุมสภาพข้อมูลได้  สามารถรู้เรื่องราวทั้งหมดและความเป็นมา  พยานแต่ละคนรู้เห็นอะไร อย่างไร ต้องชัดเจนหมด  ปัญหาของพยานในเรื่องความกลัวหรือไม่กล้าพูดบางเรื่อง คือ จะมีเรื่องอะไรที่เราไม่คาดฝันมาก่อน หรือไม่  แต่ถ้าเราสามารถรู้ได้ชัดเจนว่า กระบวนการจะเป็นอย่างไร  จะใช้คำถามอะไร  ซักค้านอย่างไร  ศาลจะมีท่าทีเป็นแบบไหน  ถ้าเป็นอย่างที่ควรเป็น  ก็ว่าความตามสถานการณ์นั้นไป  แต่ถ้าศาลมีปัญหาแปลกๆ ก็ต้องเตรียมพร้อมว่า เราจะมีท่าทีอย่างไรได้บ้าง  ซึ่งคงต้องเริ่มจากเบาไปสู่หนักและเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากอาการที่เป็นปฏิปักษ์กับการทำคดีของเรา

การศึกษาหาความรู้ให้ชัดเจนในเรื่องที่เกี่ยวกับคดีที่รับผิดชอบ  หากมีมากเพียงพอ  ก็จะช่วยให้เราตระหนักรู้และสามารถทำคดีได้อย่างเยือกเย็น ไม่ตื่นเต้น ไม่สับสน ไม่ประหม่า ขึ้นว่าความได้อย่างราบรื่น  ในอีกด้านหนึ่ง  ต้องกุมสภาพการถามค้านให้ได้  โดยต้องวิเคราะห์พยานของอีกฝ่ายให้ออก  และประเมินให้ได้ว่า  พยานถูกซักซ้อมมายังไง  พยานมีข้อเท็จจริงอะไรที่ปฏิเสธไม่ได้และเป็นประโยชน์กับรูปคดีเรา  ก็เอาไปถามปิดปากพยาน  คนพูดไม่จริง  ย่อมไม่ยากที่จะซัก  โดยเฉพาะต้องเตรียมคดีให้ดี  เพื่อที่จะเข้าว่าความในคดีให้ได้ง่ายขึ้นอย่างชัดเจน  และทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถบิดเบือนคดีได้  บางคดี  ถ้าเราสามารถรู้ก่อนได้ เช่น ลูกเล่นเก่าๆ ว่าจะต้องซักอย่างนี้และก็ออกมาแบบนี้  โดยต้องเลยไปถึงการวิเคราะห์ลักษณะทนายความอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ว่ามีความชำนาญในระดับใด  แต่รูปคดีมักเป็นสิ่งที่กำหนดความได้เปรียบเสียเปรียบของคดีเสมอ  แต่ก็ต้องขอยอมรับว่า ไม่เคยมีคดีไหนที่จะสามารถเตรียมคดีได้สมบูรณ์เต็มร้อย  แต่ก็ต้องพยายามทำให้ได้มากที่สุด

 

การติดต่อขอข้อมูลจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในคดี

ทนายนคร : กรณีนี้  เป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องหาความรู้เพิ่มเติมจากข้อเท็จจริงในคดี  โดยในเบื้องต้นต้องกุมสภาพให้ได้ว่าเราจะพูดกับใคร และเขาเชี่ยวชาญเรื่องไหน  เราไปเพื่อให้เขาถ่ายทอดความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องที่เกี่ยวกับเรา จึงต้องกุมสภาพหน่วยงานที่จะไปติดต่อให้ได้ว่า เข้าพบง่ายหรือไม่ หัวหน้ากอง อธิบดีเป็นยังไง พอรู้ว่าเราจะพบใคร เราค่อยมีพื้นฐานเพียงพอที่จะถามเขา  แต่ถ้าเขามีความรู้หลายเรื่อง หลายอย่างแต่เราอยากได้ตรงไหน ต้องให้ชัดว่าเราจะคุยเรื่องอะไร  และจะบอกหรือถ่ายทอดยังไงให้เขารู้ว่าเราต้องการอะไร ประเมินว่าเขาจะยุ่งยากในการให้ข้อมูลแค่ไหน  ความเต็มใจที่จะให้ มีมากน้อยเพียงใด  ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญ คือ ต้องทำตัวให้เป็นนักเรียนน้อย  เพื่อจะทำให้ง่ายขึ้นในการขอให้เขาช่วยบอกในฐานะผู้มีความรู้สูง

 

การทำตนให้น่าเชื่อถือ ก็ต้องมีความรู้

ทนายนคร : ต้องทำตัวให้รู้กฎหมายทุกเรื่องตามที่คนเขาเข้าใจกันว่า นักกฎหมายหรือทนายความจะต้องเป็นเช่นนั้น คือ รู้เรื่องราวเหตุการณ์ความเป็นไปของกฎหมายต่างๆ ทั้งที่ออกมาแล้วและที่ออกมาใหม่ทุกเรื่อง  แม้ว่าจะยังไม่รู้รายละเอียดทั้งหมด  แต่ก็ต้องขวนขวายศึกษาให้รู้ในภายหลังได้  เพื่อนำไปปรับใช้กับประเด็นในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีให้ได้  และต้องรู้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ยังไง  เพราะการช่วยเขาไม่ใช่แค่ช่วยให้มีสิทธิเท่านั้น  แต่ต้องช่วยเขาแก้ปัญหาของเขาด้วยในขอบเขตที่เราสามารถจะทำได้  เพราะคนเรามักจะเจอปัญหาหลายอย่าง  ซึ่งทำให้เราต้องเรียนรู้อีกมาก

 

รูปแบบการดำเนินคดีสิทธิมนุษยชน แตกต่างกับคดีทั่วไปอย่างไร

ทนายนคร : คดีสิทธิมนุษยชนมีประเด็นข้อต่อสู้มากกว่าคดีทั่วไป  โดยเน้นหลักแห่งสิทธิที่จะทำให้รูปคดีเปลี่ยน กล่าวคือ มีหลักกฎหมายพื้นฐานและมีหลักสิทธิมนุษยชนเป็นตัวแปร  แต่จะต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนเสียก่อนว่า จะเป็นตัวแปรได้จริงไหม  เป็นกรณีที่มีหลักแห่งสิทธิมนุษยชนอยู่ ใช่หรือไม่  โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดสิทธิเหล่านั้นที่ชัดเจนคืออะไร มีสถานะอย่างไร  โดยเริ่มจากการพิจารณากฎหมายพื้นฐานเสียก่อน  แล้วค่อยดูความเป็นไปได้ของหลักมนุษยชนต่อไป

 

การทำคดีเป็นทีมทนายความช่วยให้ทนายใหม่มีโอกาสที่จะฝึกฝนมากขึ้น

ทนายนคร : การทำงานเป็นทีมจะช่วยให้เกิดระบบความคิด  การแบ่งงานทำให้มองเห็นภาพรวมและเฉพาะส่วนได้ชัดเจนขึ้น  การทำคดีเป็นทีมมักจะทำกันในคดีที่มีความซับซ้อน  แต่คดีเป็นทีมเป็นทางผ่านของการเข้าสู่การทำงานแบบเป็นผู้รับผิดชอบคนเดียว  หากมีการพัฒนาตัวเองให้สามารถวางแผนคดีได้  เพราะสุดท้ายทนายความทุกคนก็จะต้องรับผิดชอบคดีของตนเอง  ซึ่งอาจจะไม่มีทีมงานมาคอยช่วยเหลือ  การทำงานเป็นทีมจึงถือเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีความสามารถและทักษะมากขึ้น  หรืออาจใช้วิธีการเป็นผู้ช่วยทนายความในคดีต่างๆ ที่มีทนายความอาวุโสรับผิดชอบอยู่  เพื่อให้มีโอกาสค่อยๆ ได้เรียนรู้และไม่หนักไปในช่วงแรก แต่ถ้าถึงเวลาที่เป็นทนายเจ้าของสำนวนแล้ว  จะต้องทำให้ได้หมดทุกเรื่อง  ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิเคราะห์ วางรูปคดี  เตรียมพยาน วางแผนการดำเนินคดีทั้งหมด  ควบคู่ไปกับสถานการณ์การทำงานที่เป็นจริง  และการเกิดภาวการณ์กดดันจากการถูกกำหนดด้วยกรอบเวลาและเงื่อนไขต่างๆ

 

ข้อคิดฝากถึงทนายความสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่

ทนายนคร : ต้องมีความเข้าใจในอาชีพทนายให้ชัดเจนและตัดสินใจให้ได้ว่า เอาจริงหรือเปล่า มั่นใจแค่ไหน มีความพร้อมหรือไม่  สามารถที่จะมุ่งมั่นกับอาชีพนี้ได้หรือไม่  พร้อมที่จะดูแลลูกความได้ไหม  ศึกษาคดีที่เป็นกรณีศึกษาให้เพียงพอ  ชอบในการที่จะถกเถียงแลกเปลี่ยนความรู้ทางคดีแก่กัน  จนทำให้เกิดความรู้พื้นฐานอย่างเพียงพอรวมทั้งการรับรู้ต่อปัญหาสังคม  เพราะนักกฎหมายสิทธิต้องรู้ปัญหาสังคมเป็นอย่างดี ปัญหาสิทธิ ก็คือ ปัญหาสังคมที่มาจากความไม่เท่าเทียมกัน ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม  การถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้มีอำนาจทางการเงินที่ได้เปรียบในทางเศรษฐกิจ  ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะต้องมีการเรียนรู้ว่า จะเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องใด  และต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชนในแต่ละเรื่องให้ได้พอสมควร

 

ภารกิจของทนายความสิทธิมนุษยชน

ทนายนคร : คือ เป็นผู้ปกป้องผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนด้วย นักต่อสู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน  มักจะโดนดำเนินคดีกันบ่อย ภารกิจของเรา คือ การเป็นทนายให้พวกเขา ไม่ว่าเป็น  NGOs หรือแกนนำที่เคลื่อนไหว  ซึ่งเรื่องนี้ต้องศึกษาและเตรียมความคิดไว้ได้เลย  เพราะต้องพร้อมที่จะช่วยเขาเพื่อไม่ให้ขบวนการต่อสู้ต้องกระทบกระเทือน  ต้องรู้จริงชัดเจนในปัญหาการเมือง  เศรษฐกิจและสังคม  ประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ไม่ใช่แค่ประเด็นสิทธิมนุษยชนเพียงอย่างเดียว  การกำหนดบทบาทของทนายความที่ควรจะรู้ว่า มีได้เพียงใด  มีหลักการชัดเจน ไม่หลักลอย ไม่เช่นนั้น  จะไม่เป็นที่ยอมรับและเกิดปัญหาในการทำงานอีกมาก  และอาจมีผลกระทบต่อองค์กรที่ทำงานให้  ไม่ว่าจะเป็นการทำอยู่แบบเป็นประจำ หรือไม่ ก็ตาม  สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ วิถีการดำเนินชีวิต  ที่ต้องมีทั้งชีวทัศน์และโลกทัศน์อย่างถูกต้องสอดคล้องกับภารกิจของทนายความสิทธิมนุษยชน

ฝากถึงสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ทนายนคร : ต้องมีความชัดเจนในเรื่องเข็มมุ่ง  ซึ่งเป็นจุดหมายทางยุทธศาสตร์  โดยมีความชัดเจนในการกำหนดบทบาทและภารกิจ ว่า ควรเป็นอย่างไร  สามารถที่จะแสดงตัวเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่แสดงออกอย่างเท่าเทียมทุกกลุ่มทุกฝ่าย  และสามารถแสดงบทบาทได้ทุกสถานการณ์ และกล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างเท่าเทียมทุกฝ่าย  ต้องแสดงตัวให้ได้อย่างเป็นมืออาชีพ

 

การเปลี่ยนแปลงสังคมต้องเข้าใจในพัฒนาการ

ทนายนคร : ทรรศนะพื้นฐานของวิภาษวิธี ก็คือ ความเป็นเอกภาพของด้านตรงกันข้าม  ซึ่งเป็นการดำรงอยู่ของความขัดแย้งตามหลักวิภาษวิธี  เพราะไม่มีที่ใดที่ไม่มีความขัดแย้งดำรงอยู่  เนื่องจากเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสรรพสิ่ง  โดยยึดหลักแยกหนึ่งเป็นสอง  ในปรากฏการณ์ทั่วไป ซึ่งก็คือ วิภาษวิธี

สรรพสิ่งนั้น ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย  ทั้งภายในและภายนอก  ซึ่งสอดคล้องกับกับหลักทางพุทธศาสนาในเรื่อไตรลักษณ์  และคำที่ว่า  ใดๆย่อมเป็นไปตามกฎแห่งอนิจจัง กำหนดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไปตามปัจจัยเงื่อนไข  แต่โดยหลักการ ทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปสู่คุณภาพใหม่เสมอ  โดยการเปลี่ยนแปลง  จะพัฒนาจากด้านปริมาณไปสู่คุณภาพใหม่  เช่น  การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำร้อนให้สูงขึ้นจนกลายเป็นไอ

การมองโลกแบบวิภาษวิธี คือ มองให้เห็นสิ่งเดิมที่เป็นอยู่ เห็นสิ่งใหม่ที่เข้ามาท้าทาย และเห็นการก่อกำเนิดของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาจเหมือนเดิม หรือไม่เหมือนเดิมเลยก็ได้

หลักความเป็นจริงเหล่านี้  เมื่อนำมาใช้ในการมองสังคม  สังคมก็มีกฎเกณฑ์เหล่านี้ เช่นกัน แต่จะมีความซับซ้อนมากขึ้น  โดยเฉพาะสังคมที่มีชนชั้น ล้วนเต็มไปด้วยความขัดแย้งทั้งสิ้น  จนเกิดการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา  ซึ่งมีขั้นตอนหลายระดับ  โดยในแต่ละระดับ  ก็จะใช้เวลามากหลายชั่วอายุคน

หมายเหตุ*** บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นราวปี 2557