บ้านในมุมมองของกะเหรี่ยง : เก็บความเวทีเสวนาวิชาการ “จากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย”

บ้านในมุมมองของกะเหรี่ยง : เก็บความเวทีเสวนาวิชาการ “จากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย”

สืบเนื่องจากวันที่ 27 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ครอบครัวนายพอละจี (บิลลี่) รักจงเจริญ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และกลุ่มดินสอสี ได้ร่วมกันจัดเวทีวิชาการ ในหัวข้อ จากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเพื่อความเข้าใจในวิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งสืบหาตัวบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่สูญหายไปหลังจากถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจากตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557

งานครั้งนี้ มีทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย นักกิจกรรม ตัวแทนภาครัฐ ชาวบ้านบางกลอย เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และผู้สนใจอื่นๆ เข้าร่วมงานผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เห็นว่าเนื้อหาของการเสวนาครั้งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจประเด็นปัญหาความเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชนร่วมสมัยหลายเรื่อง โดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร จึงได้ถอดความจากงานเสวนาในแต่ละช่วงมาเผยแพร่ให้คนที่สนใจและไม่ได้เข้าร่วมงานได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป

ตอกแรก คำกล่าวเปิดงาน เวทีเสวนาวิชาการ “จากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย” โดย คุณสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม 

ตอนที่สอง ปาฐกถา ความสำคัญของ “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ….”  โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตอนที่สาม เสียงจากพื้นที่ : จากปู่คออี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย

**************************************************************************

บ้านในมุมมองของกะเหรี่ยง : เก็บความเวทีเสวนาวิชาการ “จากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย”

โดยวุฒิ บุญเลิศ
เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี

บ้านชาวกะเหรี่ยงจะไม่เหมือนบ้านของคนเมือง การที่คนเราจะมีความคิดความเชื่อเกี่ยวกับบ้านอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับคนๆนั้นอยู่ในภูมินิเวศอย่างไร บ้านบนภูเขาก็อย่างหนึ่ง พื้นราบก็อย่างหนึ่ง ในเกาะก็อีกอย่างหนึ่ง ลักษณะภูมินิเวศและสิ่งแวดล้อมจะกำหนดว่าคนเราจะอยู่อาศัยและปรับตัวกับสภาพนั้นๆอย่างไร

ในภาพจะเห็นบ้านของปู่คออี้ ที่บิลลี่และมึนอ ได้เคยเห็นตอนที่ไปเยี่ยมปู่คออี้ บ้านปู่หลังนี้แหละที่ถูกเจ้าหน้าที่เผา

ลักษณะภูมินิเวศจะบังคับให้คนต้องปรับตัวให้เข้ากับลักษณะสภาพอย่างนั้นเอง และจะทำให้ความเชื่อที่จะอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นตามมา คนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่บนเทือกเขา พวกเขาก็จะมีความเชื่อและวิถีปฏิบัติในการอยู่ในพื้นที่ภูเขา

ขอย้อนอดีตไปช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ประมาณปี พ.ศ. 2408 – 2410 สยามกับอังกฤษมีข้อตกลงร่วมกันเรื่องการจัดทำแนวเขตแดน เจ้าพยาศรีมหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุณนาค) เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการให้มีการสำรวจแนวเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ มีบันทึกว่าปลายต้นน้ำเพชร มีกะเหรี่ยงและละว้าอาศัยอยู่ คนเหล่านี้ข้ามไปข้ามมา ดังนั้น เรื่องของดินแดน แผ่นดิน และคนในพื้นที่แก่งกระจาน จึงมีหลักฐานบันทึกไว้อยู่แล้ว คนเหล่านี้จึงไม่ใช่คนแปลกหน้าหรือเป็นคนกลุ่มน้อยตามที่ถูกกล่าวหา  ในช่วงปี พ.ศ. 2444 หลังการปฏิรูปการปกครอง ได้มีการแต่งตั้งนายด่าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในมณฑลราชบุรีแล้ว ซึ่งคนกะเหรี่ยงก็ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่และหมู่บ้านเหล่านั้นมานานแล้วและก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติด้วย

เมื่อพูดถึงความเชื่อ  ชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อในเรื่องการนับญาติถือญาติ หรือถือผีทางผู้หญิง ให้ผู้หญิงเป็นใหญ่ เวลาที่ชาวกะเหรี่ยงจะไหว้ผี จะไม่กลับไปไหว้ผีทางพ่อ แต่จะกลับไปไหวผีทางแม่  บ้านจึงถือเป็นจิตวิญญาณและความเชื่อแบบผู้หญิงเป็นใหญ่

ความเชื่อของคนกะเหรี่ยงอีกอันหนึ่งก็คือ ถ้าเราขึ้นบ้านกะเหรี่ยง แล้วทำเงินหรือสร้อยหล่นบนบ้าน ก็จะถือเป็นของเจ้าของบ้านเลยไม่ใช่ของเราแล้ว ถ้าเราขึ้นบันได แล้วบันไดหัก เจ้าของบ้านจะดีใจมาก เพราะถือว่าคนที่มาเยี่ยมนำโชคลาภหรือนำของดีมาให้ แต่ถ้าตอนกลับ ทำบันไดหักถือว่าไม่ดี นี้เป็นความเชื่อเกี่ยวกับการเยี่ยมเยียน การต้อนรับและเรื่องของบ้าน

ความเชื่อเรื่องบ้านอีกอันหนึ่งก็คือ การเรียกขวัญ ชาวกะเหรี่ยงจะมีการเรียกขวัญที่บันไดก่อน แล้วไปที่ห้องครัวและห้องนอนตามลำดับ บ้านจึงเป็นพื้นที่ปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อด้วย

แผนที่ทำมือที่ชาวบ้านทำขึ้น แสดงให้เห็นความหลากหลายในพื้นที่

บ้านใจแผ่นดินถ้าดูในแผ่นที่ทหารจะอยู่ที่ความสูงประมาณ 700-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล และจะมีหลุมลึก ใช้หวาย 10 เส้นหย่อนลงไปไม่ถึง และจะมีแท่งหินสูงตั้งขึ้นไป ตรงนี้เราเรียกว่า “ใจแผ่นดิน” ซึ่งใจแผ่นดินเป็นคำภาษาไทย ไม่ใช่ภาษากะเหรี่ยง ผมสันนิษฐานว่าช่วงที่สยามเริ่มมีการสำรวจแนวเขตแดน คนสยามโดยการนำทางของคนกะเหรี่ยงน่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ จึงทำให้มีชื่อเหล่านี้ปรากฏอยู่

แผนที่นี้เป็นแผนที่ 1 : 50,000 จัดทำขึ้นเมื่อปี 2512 แผนที่นี้เป็นแผนที่หลักที่เราใช้อ้างอิงในปัจจุบัน ชื่อหมู่บ้านที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ แสดงให้เห็นว่ามีการพบชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่บริเวณนี้มาอย่างน้อยๆก็ปี พ.ศ. 2512

ภาพนี้ ถ่ายประมาณ 2493 ตอนนี้ปู่คออี้อยู่ที่ต้นน้ำภาชี พ่อของผมเป็นครูและเป็นเพื่อนร่วมน้ำสาบานของปู่คออี้ อันนี้ถือเป็นภาพแรกที่ภาพของปู่และพ่อของผม

กล่าวโดยสรุปแล้ว คนอยู่ในภูมินิเวศอย่างไร ก็จะมีการปรับตัวให้อยู่กับภูมินิเวศแบบนั้น