ฝันสุดท้ายของปู่คออี้และบิลลี่คือการต่อสู้เพื่อผืนแผ่นดินเกิด : งานเสวนาฆาตกรรมอำพรางบิลลี่ ใครต้องรับผิดชอบ

ฝันสุดท้ายของปู่คออี้และบิลลี่คือการต่อสู้เพื่อผืนแผ่นดินเกิด : งานเสวนาฆาตกรรมอำพรางบิลลี่ ใครต้องรับผิดชอบ

“5 ปีที่ผ่านมา มีความลำบาก เสาหลักของบ้านไม่มี บ้านก็ไม่มั่นคง ไม่แข็งแรง เปรียบเสมือนบ้านที่เสาหลักหายไป ก็ต้องทำเท่าที่ทำได้ ตัวหนูต้องทำงานในบ้านด้วย นอกบ้านด้วย ในใจก็รอคอยว่าบิลลี่หายไปไหน เป็นอย่างไร และมีหลายเรื่องต้องออกมาติดตาม รวมทั้งคดีด้วย หนูรู้สึกว่าความยุติธรรมมันมีไม่จริง สำนักงานนายกรัฐมนตรีก็เคยไปยื่นหนังสือ แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า จนวันนี้ได้รู้ว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้วจากที่หน่วยงานดีเอสไอได้ทำหน้าที่ติดตามอย่างเต็มที่” มึนอ ภรรยาของบิลลี่กล่าวภายในงานเสวนาการฆาตกรรมอำพรางนายพอละจี หรือบิลลี่ บุคคลใดต้องรับผิดชอบ

จากวันที่ 17 เมษายน 2557 วันที่นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ภายหลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลำขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ควบคุมตัวเนื่องจากมีน้ำผึ้งป่า 6 ขวดไว้ในครอบครอง และอ้างว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้วนั้น แต่ก็ไม่มีผู้ใดพบเจอหรือทราบชะตากรรมบิลลี่ตั้งแต่วันนั้นมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 เหตุการณ์ของกรณีการหายตัวไปของบิลลี่ก็ได้เปลี่ยนไป เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้แถลงว่าพบเบาะแสการหายตัวไปของบิลลี่ โดยเปิดเผยว่าพบกระดูกซึ่งได้ตรวจสอบแล้วว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกบริเวณกะโหลกศีรษะ และได้มีการตรวจสอบสารพันธุกรรมในชิ้นส่วนดังกล่าวแล้วพบว่า มีสารพันธุกรรมที่เชื่อมโยงกับสารพันธุกรรมของแม่ของบิลลี่ จึงเห็นได้ว่าบิลลี่น่าจะเสียชีวิตลงแล้ว จากคดีคนหาย จึงกลายเป็นคดีฆาตกรรมไปในทันที (อ่านเพิ่มเติมกรณีดีเอสไอแจ้งเบาะแสบิลลี่ )

 

บิลลี่หาย 1 คนเป็นเรื่องของพี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจาน

ทนายแสงชัย รัตนเสรีวงศ์ ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) กล่าวว่า “กรณีของบิลลี่ เป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากการโยกย้ายชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่า บริเวณบางกลอย/ใจแผ่นดิน ลงมาในพื้นที่ที่อุทยานจัดไว้ให้ ลงมาครั้งนั้นมีกระบวนการที่เรียกได้ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการเผายุ้งฉาง ที่อยู่อาศัย ตอนนั้นเจ้าหน้าที่สัญญาว่าจะให้ที่ดินทำกินครอบครัวละ 7 ไร่ แต่ไม่เป็นไปตามนั้น พื้นที่ทำกินไม่พอสำหรับทุกครอบครัว บ้างต้องไปเบียดเบียนคนที่อยู่มาก่อนอีก พื้นที่ที่จัดสรรให้ก็มีความลำบากมาก ชาวบ้านไม่มีทางเลือกอย่างอื่นนอกจากเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหา และกลับเข้าไปในพื้นที่เดิม คดีไล่รื้อนี่เป็นคดีที่สภาทนายความเข้ามาให้ความช่วยเหลือคือคดีที่มีการเผาบ้านกะเหรี่ยงร้อยกว่าครอบครัว ทางนักกฎหมายก็สามารถช่วยในเรื่องเรียกร้องค่าเสียหายเพียงเท่านั้น เพราะเป็นการบอกกับสังคมว่ามีเรื่องนี้

ขณะนั้นบิลลี่เป็นคนที่ช่วยเหลือคณะทำงานของสภาในการรวบรวมข้อมูลเอกสาร รวมถึงจัดทำข้อมูลถวายฎีกาต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ช่วงที่มีการตระเตรียมเรื่องร้องเรียนนี้ บิลลี่ก็ถูกควบคุมตัวฐานมีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบบิลลี่อีก

ในกรณีเช่นนี้ เมื่อคนที่พบบิลลี่คนสุดท้ายคือเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หัวหน้าอุทยานฯ ในขณะนั้น จึงทำคำร้องต่อศาลให้ปล่อยตัวบิลลี่ออกจากการควบคุม จะให้ร้องอย่างอื่นคงไม่ได้ เมื่อทราบที่สุดท้ายว่าถูกควบคุม ก็สู้กันสามศาล ศาลชั้นต้นมีหมายเรียกนายชัยวัฒน์ฯ เข้ามาในคดี เสมือนว่ามีการควบคุมตัวโดยมิชอบ เปิดให้มีการรับฟังพยานทั้งสองฝ่าย ผลคือทั้งสามศาลยกคำร้องทั้งหมด เท่ากับยังไม่มีคำวินิจฉัยและไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอว่ามีการปล่อยตัวแล้วหรือไม่ เพียงแต่บอกว่าพยานของฝั่งผู้ร้องเท่าที่มีอยู่ขณะนั้นจะพอให้ศาลวินิจฉัยว่ามีการควบคุมตัวอยู่ในขณะนั้น (อ่านเพิ่มเติมเปิดคำพิพากษาคดีมาตรา 90 คลิก  ) เพราะฉะนั้นคดีเดิมไม่ใช่ข้อยุติของคดีบิลลี่ ให้ย้อนดูว่ามีความเกี่ยวพันอะไรกับการปฏิบัติหน้าที่มิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และการทำให้สูญหาย ซึ่งในบัดนี้เป็นเรื่องการฆาตกรรม

ผมเห็นว่าคดีนี้ชื่นชมเจ้าหน้าที่มาก ไม่ใช่เพียงแค่ดีเอสไอ แต่ตั้งแต่ฝ่ายผู้ร้องเราร้องเรียนต่อตำรวจภาค7 ก็มีการรวบรวมข้อมูล และประสานงานกับชุมชนเป็นอย่างดี เห็นว่าแนวทางของ DSI ก็มาจากสิ่งนี้ด้วยเช่นกัน

เรามักบอกว่าความยุติธรรมไม่มี แต่ผมว่าความยุติธรรมเรามีได้ เมื่อชุมชนเราตื่นรู้ และเมื่อเราเห็นว่าเรื่องของบิลลี่ คือเรื่องของพี่น้อง และคนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรา เมื่อนั้นความยุติธรรมจะเกิดขึ้น และหน่วยงานจะมีการสนับสนุนที่ยิ่งใหญ่ให้กับการทำงานของพวกเขา

ทนายแสงชัยกล่าวต่อว่า “กรณีบิลลี่ สะท้อนให้เห็นเรื่องความเชื่อเรื่องการจัดสรรรัพยากรกับสิทธิของผู้อยู่ และทรัพยากร ระหว่างผู้ที่อิงอาศัยธรรมชาติและมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐ จนกลายเป็นตรงกันข้าม ซึ่งทำให้คนกับป่าอยู่ไม่ได้ เป็นต้นตอของกรณีการอพยพชุมชนกะเหรี่ยงอย่างต่อเนื่อง กรณีปู่คออี้ กรณีบิลลี่ด้วย คงไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะรับผิดชอบแก้ไขได้

ผมติดตามกรณีคนหายในอุทยานมาหลายกรณี มีการระดมคนหาร่องรอยของคนที่หายไป และกรณีบิลลี่ ผมไม่เห็นความพยายามเช่นนี้ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่มาเห็นที่ DSI ทำไมเกิดเหตุเช่นนี้ในสังคมไทย

จะทำอย่างไรกับพี่น้องกะเหรี่ยงที่สูญเสีย ไม่ใช่แค่มึนอ แต่มึนอเป็นตัวแทนของคนกะเหรี่ยงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้แบบบิลลี่ที่ต่อสู้เพื่อป่า เพื่อที่อยู่อาศัยของตนเอง ขอให้กำลังใจพี่น้องว่าอย่าได้เลิกรา เพราะนี่คือความฝันสุดท้ายของปู่คออี้ และบิลลี่ เราจะมาทำต่อร่วมกับพี่น้องชาวกะเหรี่ยงด้วย เราจะทำต่อไป”

บิลลี่ถูกฆาตกรรม ใครรับผิดชอบ

จากกรณีการหายตัวไปของบิลลี่ จนกลายมาเป็นคดีฆาตกรรมบิลลี่นั้น จากข้อเท็จจริงที่ว่าในวันที่บิลลี่หายตัวไป เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ควบคุมตัวบิลลี่ไว้ เนื่องจากบิลลี่ครอบครองน้ำผึ้งป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ได้อ้างว่าเรียกบิลลี่มาเพียงตักเตือน และได้ปล่อยบิลลี่ไปภายหลังจากนั้น ซึ่งการกระทำของเจ้าหน้าที่การกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยประการหนึ่ง

ทางด้านคุณชนม์สวัสดิ์ ประศาสน์ครุการ นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า “ หลังจากที่เราได้รับเรื่องที่ส่งมาจากพนักงานสอบสวนสภ.แก่งกระจานนั้น ในส่วนของป.ป.ท. มีอำนาจและภารกิจหลักคือ ไต่สวนข้อเท็จจริงความผิดที่เกี่ยวกับการทุจริตในภาครัฐ เช่น มาตรา 157 เป็นต้น ซึ่งในส่วนของกรณีนี้ มูลคดีคือมาตรา 157 คือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมาตรา 200 คือความผิดเกี่ยวกับเจ้าพนักงานกระทำการและไม่กระทำการอันไม่ชอบที่จะช่วยเหลือให้บุคคลได้รับโทษน้อยลง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการสูญหายของบิลลี่แต่อย่างใด

หลังจากนั้นได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง และมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าผู้เสียหายท้วงมาว่า เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงมีการเปลี่ยนแปลงชุดคณะกรรมการไต่สวน พยานที่นำมาไต่สวนข้อเท็จจริงราวสามสิบปาก ระหว่างที่มีการไต่สวน ได้ประสานกับ DSI และทราบว่ารับเป็นคดีพิเศษ และทางคณะกรรมการได้มีการชี้มูลแล้วว่ามีความผิด พบว่ามีฐานทุจริตต่อหน้าที่ที่อยู่ในอำนาจของป.ป.ท. และเห็นว่ามีความผิดฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการส่งเรื่องไปยังป.ป.ช. ไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 และยกให้ DSI เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการต่อไปในคดีนี้ เนื่องจากป.ป.ท.มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนในเรื่องการทุจริตในภาครัฐเท่านั้น ความผิดอื่นไม่มีอำนาจ”

ในส่วนของคุณกรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า “ได้มีการนำเรื่องมาร้องที่ DSI มีอยู่สองเรื่องที่ผมติดใจคือ เห็นมุนอแล้วสงสาร และคนที่เป็นสามีที่ไหนจะไม่กลับบ้าน สุดท้ายคือไม่มีใครรู้เลยว่าบิลลี่ไปอยู่ที่ไหนตั้งแต่วันนั้น

การที่ DSI จะรับคดีใดเป็นคดีพิเศษนั้น ต้องเป็นเรื่องคดีที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน คดีที่เกี่ยวกับองค์กรข้ามชาติ คดีเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคดีที่มีผู้มีอิทธิพลเป็นตัวการ ในส่วนของกรณีของบิลลี่ดูทีแรกไม่ใช่คดีที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่ภายหลังได้มีการร้องมาว่ามีเจ้าหน้าที่ถูกร้องเรื่องมาตรา 157 จนเข้าสู่ปีที่สี่ ปีที่ห้า ทำไมไม่มีอะไรเลย จึงให้สอบคุณแม่บิลลี่เป็นผู้เสียหาย เพื่อนำเข้าไปสู่คดีพิเศษให้ได้ จนกรรมการยกมือทุกคนเพื่อให้ได้เป็นคดีพิเศษ

หลังจากพบเบาะแสคือกระดูกชิ้นส่วนกะโหลกของบิลลี่ คดีเปลี่ยนเป็นคดีฆาตกรรม DSI ก็ต้องดำเนินการให้เต็มที่ เราได้ทุ่มเทศักยภาพการทำงานแบบเต็มรูปแบบเพื่อให้คดีนี้สำเร็จ ทุ่มเทหนักมาก หาทุกข่าว และขอเวลาในการสรุปเรื่องแจ้งข้อกล่าวหา เพราะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้มากที่สุด และทำงานให้ละเอียดให้รอบคอบ”

ประเทศไทยมีกลไกป้องกันการอุ้มหาย?

คุณสัณหวรรณ ศรีสด ตัวแทนจากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวว่า “กรณีของบิลลี่ เรื่องการอุ้มหายในทางระหว่างประเทศมีอนุสัญญาอยู่สองตัวที่ไทยเกี่ยวข้อง และเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย คืออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมาน ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเกี่ยวข้องเมื่อสิบปีที่แล้ว และอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับให้สูญหาย ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ในปี 55 แต่ยังไม่เป็นสมาชิกเต็มตัว โดยรัฐบาลบอกว่ารอกฎหมายภายในอยู่ เมื่อมีกฎหมายภายในก็จะเข้าไปเป็นสมาชิกเต็มตัว

การที่บุคคลที่อยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐ และหายไปหลังจากนั้น และหน่วยงานรัฐนั้นออกมาปฏิเสธหรือปกปิดชะตากรรม นี่คือการอุ้มหาย และการอุ้มหายคือการทรมานทั้งผู้ที่ถูกอุ้มและครอบครัว ในตัวอนุสัญญามีบทบัญญัติมากมาย แต่ยังไม่มาเป็นกฎหมายภายใน ครั้งล่าสุดอยู่ที่สนช.ก่อนมีการเลือกตั้ง พอสนช.หยุดทำงานไป ตอนนี้อยู่ในมือของประธานรัฐสภา

ซึ่งการมีกฎหมายภายในหรือไม่มีต่างกันอย่างไร? ตอนนี้ไม่มีกฎหมายคือ กลายเป็นว่าคดีต้องไปอยู่กับป.ป.ท. เป็นเรื่องปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบของเจ้าหน้าที่รัฐเอง หรือเป็นเรื่องการกักขังหน่วงเหนี่ยว ถ้าไม่เจอศพ ก็ไปถึงคดีฆาตกรรมไม่ได้ ซึ่งโทษน้อยกว่าคดีฆาตกรรมเยอะ ตัวพ.ร.บ.อุ้มหาย จะมาอุดช่องว่างนี้ คือการอุ้มหายเป็นความผิด และดำเนินคดีอุ้มหายได้ ซึ่งโทษสูงกว่าและมีการลงโทษคนรอบข้าง เช่น ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ รวมถึงผู้บังคับบัญชาที่ทราบด้วย มีกลไกการไต่สวนของศาลขึ้นมา ให้ศาลบังคับให้รีบเปิดเผยข้อมูลแต่เนิ่นๆ ว่ามีการจับคุม ปล่อยตัวเมื่อไหร่ มีการให้ศาลออกมาตรการชั่วคราวได้ มีการกำหนดมาตรการในการเก็บข้อมูล มีการตรวจร่างกาย บันทึกการจับกุม สถานที่การปล่อย ซึ่งจะตอบคำถามในเรื่องการปล่อยตัว จับกุมของกรณีบิลลี่ได้

แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับพ.ร.บ.คือบทนิยามที่อาจจะไปได้ไม่เท่ากับอนุสัญญา อาจมีหลายกรณีที่หลุดไป หรือว่ากรณีการบันทึกข้อมูลเรื่องการจับกุมคุมขัง ซึ่งยังมีข้อมูลบางอย่างที่เรากังวลว่าจะบันทึกแค่ไหน หรือว่าควรถูกบันทึกโดยแพทย์ หรือมีพยานรู้เห็นหรือไม่ อีกทั้งมีประเด็นความรับผิดของผู้บังคับบัญชาที่อาจไม่ครอบคลุมเท่าอนุสัญญาซึ่งกว้างกว่า และในเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนซึ่งยังไม่ได้มีการกล่าวถึงชัดเจน แต่ก็มีหลายกรณีในปัจจุบันที่มีผู้ร้องเรียนว่าถูกทรมาน และถูกฟ้องกลับ”

กรณ๊การหายตัวไปของบิลลี่นั้นไม่ใช่กรณีแรก และกรณีเดียวที่มีการบังคับให้บุคคลสูญหายขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่กรณีของบิลลี่นั้นมีเบาะแสความคืบหน้าของคดีเกิดขึ้น และทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไปอย่างเต็มที่ที่สุด แต่เรื่องที่ยังน่ากังวลอยู่ก็คือ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายภายในที่เพียงพอต่อการป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นอีก สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) หวังว่าพ.ร.บ.ต่อต้านการซ้อมทรมานและการอุ้มหายจะมีความคืบหน้า และสามารถบังคับใช้ได้ในเร็ววัน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เบื้องหลังการหายไปมีเรื่องราว : การหายไปของบิลลี่และจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานที่ปลิดปลิว : https://naksit.net/2019/08/billy-enforceddisappearanceday2019/

คดีเผาไล่รื้อบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน : https://naksit.net/2018/06/คำพิพากษาศาลปกครองสูงส/

เพราะการมองเห็นชีวิตผู้คนทำให้ทำคดีสิทธิ : ทนายแป๋ม (ทนายคดีบิลลี่) : https://naksit.net/2019/09/lawyer_interview_pam/