ศาลฎีกาพิพากษาคดีสองชาวชาติพันธุ์กระเหรี่ยงบ้านแม่อมกิ ไม่ผิดฐานบุกรุกป่าสงวน เพราะอยู่มาก่อน แต่ต้องออกจากพื้นที่

ศาลฎีกาพิพากษาคดีสองชาวชาติพันธุ์กระเหรี่ยงบ้านแม่อมกิ ไม่ผิดฐานบุกรุกป่าสงวน เพราะอยู่มาก่อน แต่ต้องออกจากพื้นที่

วันที่ 21 มีนาคม 2560 ศาลจังหวัดแม่สอด จังหวัดตาก อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดี 2 ชาวกระเหรี่ยงบ้านแม่อมกิ คือ นางน่อเฮมุ้ยหรือหน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา และนายดิแปะโปหรือดิ๊แปะโพ ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาสรุปความได้ว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนาบุกรุก เนื่องจากเป็นคนดั้งเดิมอยู่อาศัยทำกินมาก่อนประกาศเขตป่าสงวน แต่อย่างไรก็ดี ศาลฎีกายังคงยืนยันให้จำเลยทั้งสองและบริวารต้องออกจากพื้นที่

เดินในวันนี้ (22 มีนาคม 2560) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาเฉพาะคดีของนางน่อเฮมุ้ยหรือหน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา คดีหมายเลขดำที่ อ.1770/2551 หมายเลขแดงที่ 1737/2551 คดีความผิดต่อพ.ร.บ ป่าไม้ และพ.ร.บ ป่าสงวนแห่งชาติ แต่ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกาในคดีของนายดิแปะโปหรือดิ๊แปะโพ หมายเลขดำที่ อ.1771/2551 หมายเลขแดงที่ 1738/2551 ด้วยในวันเดียวกันนี้ จากเดิมที่ศาลนัดอ่านในวันที่ 23 มีนาคม 2560

คดีนี้สืบเนื่องจากชาวกระเหรี่ยง 2 คนคือ นางน่อเฮมุ้ย เวียงวิชชา และนายดิแปะโป ที่มีอาชีพทำไร่หมุนเวียนเพื่อเลี้ยงชีพ ในชุมชนบ้านแม่อมกิ ตำบลแม่ว่าหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมในที่ดินที่ตนเองได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าบุกรุกทำลายป่า เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวน พ.ศ.2507

การต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นช่วงแรก จำเลยทั้ง 2 คนรับสารภาพตามคำฟ้อง เพราะทั้งสองไม่ได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ พอรับสารภาพก็เลยไม่มีการสืบพยานต่อ ศาลจึงมีคำพิพากษาว่าทั้ง 2 มีความผิด โดยคดีของนายดิ๊แปะโพให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือนรับ สารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 3 เดือน สำหรับคดีของนางหน่อเฮหมุ่ยลงโทษจำคุก 2 ปีรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี ไม่มีการรอลงอาญา

อย่างไรก็ดี ภายหลังที่ทนายความได้ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเห็นว่าทั้งสองไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะจำเลยไม่มีทนายความให้ความช่วยเหลือ จำเลยไม่สามารถพูดภาษาไทยได้เลย และล่ามที่มาแปลภาษาให้ไม่ได้สาบานตนต่อศาล การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและรัฐธรรมนูญ ทนายความจึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลจังหวัดแม่สอดในวันที่ 29 ตุลาคม 2551

วันที่ 22 พฤษภาคม 2552 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลจังหวัดแม่สอด โดยเห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะล่ามแปล ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์จึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่โดยให้ล่ามปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย > คลิกอ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ให้ยกฟ้องทั้งสองคดี เพราะเห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจากจำเลยได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อนแล้ว บริเวณข้างเคียงล้วนมีราษฎรคนอื่นเข้าทำประโยชน์อยู่ทั่วไป และมีการเข้ายึดถือก่อนที่ทางราชการจะกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยได้รับตกทอดมาจากบิดามารดาเข้าใจได้ว่ารัฐอนุโลมผ่อนผันให้ราษฎรที่ทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้วได้ทำประโยชน์ต่อไป เป็นการกระทำที่ขาดเจตนา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษาให้ยกฟ้อง

หลังมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พนักงานอัยการได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาช่วงปลายปี 2554 แยกเป็น 2 คดี ดังนี้

คดีนางหน่อเฮหมุ่ย ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 วินิจฉัยสรุปได้ความว่า ที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนจริง ดังนั้นเมื่อได้ข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง มีวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียน ไม่สามารถพูดอ่านและเข้าใจภาษาไทยได้ และได้เข้าทำประโยชน์มาก่อนแล้ว ทำให้จำเลยเข้าใจว่าสามารถเข้าทำประโยชน์ได้เหมือนที่เคยทำมาก่อน จึงเป็นการขาดเจตนา ย่อมไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แต่อย่างไรก็ดี ศาลเห็นว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวน แม้การกระทำของจำเลยจะขาดเจตนา แต่ก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุได้ ดังนั้นจำเลยจึงต้องออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ > คลิกอ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม

คดีนายดิ๊แปะโพ ศาลอุทธรณ์มีพิพากษาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธุ์ 2555 พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผลว่า แม้จำเลยจะทำกินในที่ดินดังกล่าวต่อจากบิดามารดาอันเป็นเวลาก่อนที่จะมีการประกาศให้เป็นเขตป่าสงวน และแม้ว่าจำเลยไม่ทราบว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อกฎกระทรวงกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายและจำเลยจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ จำเลยไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุมีไม่มากและจำเลยอายุมากแล้ว โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญามีกำหนด 1 ปีพร้อมทั้งให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่เกิดเหตุ > คลิกอ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม

ศาลจังหวัดแม่สอด ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาทั้ง 2 คดี ว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานบุกรุกป่าสงวน เพราะขาดเจตนา แต่ยังคงยืนยันให้ออกจากพื้นที่

โดยคดีนางน่อเฮมุ้ยหรือหน่อเฮมุ้ย ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คือให้ยกฟ้อง เพราะเห็นว่าจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิด และให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ > คลิกอ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม

ส่วนคดีนายดิแปะโปหรือดิ๊แพะโป ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ลงโทษจำเลย โดยศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิด จึงพิพากษาให้ยกฟ้องเช่นเดียวกับคดีนางน่อเฮมุ้ยหรือหน่อเฮมุ้ย และให้จำเลยกับบริวารออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งริบของกลางทั้งหมด  > คลิกอ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในคำพิพากษาศาลฎีกาของนายดิ๊แพะโป ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยโดยยกประเด็นเรื่องวิถีชีวิตดั้งเดิมของกระเหรี่ยงในการทำไร่หมุนเวียนมาประกอบ โดยศาลเห็นว่าจำเลยและชุมชนทำมาหากินในที่ดินพิพาทในลักษณะของการทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีชุมชนดั้งเดิมของชาติพันธุ์กระเหรี่ยง ทั้งสองได้ทำประโยชน์มาก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ และทำกินเรื่อยมาโดยไม่ปรากฎว่าหน่วยงานรัฐดำเนินการใดๆต่อภายหลังจากนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยถือทำประโยชน์โดยสุจริตใจไม่มีเจตนาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน แต่ศาลก็ยังคงเห็นว่าจำเลยและบริวารจะต้องออกจากพื้นที่นั้น เพราะเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ

ภายหลังจากมีคำพิพากษา นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความในคดี เห็นว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ออกมาถือว่าเป็นผลดีที่ศาลยกฟ้องทั้ง 2 กรณี แต่อย่างไรก็ตามคำสั่งให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ยังคงเป็นปัญหา เนื่องจากเหมือนว่าศาลยอมรับในวิถีชุมชนและเจตนาของจำเลยทั้งสองก็จริง แต่ยังคงให้จำเลยทั้งสองออกจากพื้นที่อยู่ดี แม้ผลของคดีจะเป็นเฉพาะตัวบุคคลแต่ประเด็นนี้ก็เป็นที่น่าเป็นห่วงคือชุมชนที่อยู่ทั้งหมดในพื้นที่จะมีปัญหาใดๆในภายภาคหน้าหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีผลตามมาภายหลังก็ได้ กรณีนี้ยังต้องประเมินกันต่อไป