ลำดับเหตุการณ์กรณีการหายไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ

ลำดับเหตุการณ์กรณีการหายไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ

บิลลี่คือใคร?
นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ เกิดที่บางกลอยบน หรือ ใจแผ่นดิน เป็นหลานชายของปู่คออี้ แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ของชาวบ้านบางกลอย บิลลี่ได้แต่งงานกับนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มุนอ และมีบุตรด้วยกัน 5 คน บิลลี่ไม่มีที่ดินทำกินภายหลังจากที่ถูกบังคับอพยพออกมาจากพื้นที่ดั้งเดิม จึงต้องออกไปรับจ้างเฝ้าสวน ส่วนภรรยามีอาชีพรับจ้างรายวันทั่วไป แต่เนื่องจากบิลลี่เป็นเด็กชาติพันธุ์เพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือจึงมีความรู้ และสามารถสื่อสารภาษาไทยได้อย่างชัดเจน เขาจึงมีส่วนสำคัญในการทำงานในด้านต่างที่ได้รับมอบหมายจากปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่หมูบ้านใจแผ่นดิน รวมถึงการเข้ามาทำงานในด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อปกป้องชุมชนที่ตนเองเกิด และอยู่อาศัยด้วย จนกระทั่งมีเหตุการณ์การรื้อเผาบ้านชาวกระเหรี่ยงที่หมู่บ้านบางกลอยบน บิลลี่ได้เข้ามาเป็นปากเป็นเสียงสำคัญของชาวกะเหรี่ยง เขาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความ และเป็นพยานปากสำคัญในคดีที่ชาวบ้านกระเหรี่ยงยื่นฟ้องต่อ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำเลยที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลยที่ 2 ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 การฟ้องร้องในครั้งนี้นอกจากบิลลี่จะเข้ามาเป็นพยานปากสำคัญในคดีแล้วนั้น บิลลี่ยังเป็นแกนนำในการยื่นฟ้องคดีอีกด้วย นอกจากนั้นบิลลี่ยังเตรียมตัวที่จะถวายฎีกาเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อีกด้วย (อ่านเพิ่มเติมคดีเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน )

 

บิลลี่หายไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่เดินทางออกมาจากบ้านบางกลอย หลังจากกลับจากเยี่ยมแม่ และมีข้อมูลว่าเขาจะนำฎีการ้องทุกข์ของชาวกะเหรี่ยงไปยื่น แต่เมื่อรถจักรยานยนต์ของเขาเคลื่อนผ่านด่านเขามะเร็ว ซึ่งเป็นด่านตรวจของอุทยาน และเป็นเหมือนประตูของการเข้าออกหมู่บ้านบางกลอย บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเรียกให้หยุดและถูกควบคุมตัว โดยอ้างว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองเป็นจำนวน 6 ขวด ซึ่งการครอบครองน้ำผึ้งป่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่อุทยานฯจึงควบคุมตัวบิลลี่ไว้ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่เจอตัวบิลลี่อีกเลย แม้เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ได้ว่ามีการปล่อยตัวบิลลี่ไปจริงหรือไม่ ในวันนั้นเองบิลลี่หายไประหว่างที่พยายามจะต่อสู้เพื่อเรียกคืนความเป็นธรรมแก่บ้านเกิดของตนเอง และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และเช้าของวันที่ 18 เมษายน 2557 บิลลี่ยังไม่กลับบ้าน มึนอ ภรรยาของบิลลี่ จึงเดินทางไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน และออกค้นหาตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ก็ไม่พบร่องรอยของบิลลี่แต่อย่างใด

 

เส้นทางการตามหาบิลลี่และเรียกคืนความยุติธรรม
หลังจากที่บิลลี่หายตัวไป องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลชุมชน และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ก็ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ช่วยดำเนินการร้องเรียนหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น การยื่นหนังสือต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการหายตัวไปของบิลลี่ และดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งใช้มาตรการทางศาลเพื่อให้ศาลเข้าไปตรวจสอบการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ควบคุมตัวบิลลี่ไว้

วันที่ 24 เมษายน 2557 มึนอ ภรรยาของบิลลี่ พร้อมด้วยทนายความได้เดินทางไปยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจากเชื่อว่าบิลลี่ยังคงถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ด้วยความเชื่อว่าศาลจะช่วยให้ทราบได้ว่าบิลลี่อยู่ที่ไหน หากเจ้าหน้าที่อุทยานฯยังควบคุมตัวไว้โดยที่ไม่มีอำนาจควบคุม ก็ขอให้ปล่อยตัวบิลลี่ออกมา แต่ก็ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาต่างยกคำร้องเนื่องจากศาลเห็นว่าคำร้องไม่มีมูล

วันที่ 2 กันยายน 2558 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ยกคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 โดยมีประเด็น และข้อเท็จจริง ดังนี้
1. เมื่อศาลชั้นต้นรับคำร้องของนางสาวพิณนภา ผู้ร้อง ที่ยื่นขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่ ศาลชั้นต้นต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวแล้วพิจารณาคำร้องของผู้ร้องและพยานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนก่อนว่าคดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ หากเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลจึงมีหมายเรียกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องมาศาล แต่ศาลชั้นต้นกลับหมายเรียกนายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่ฯ มาไต่สวนโดยไม่ได้มีคำสั่งก่อนว่าคดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจนำคำเบิกความของพยานดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้
2. ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลขั้นต้นพิจารณามีคำสั่งอีก โดยพิจารณาเฉพาะคำเบิกความพยานของผู้ร้อง คือ มุนอ และนายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านโป่งลึก ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่ได้รู้เห็นว่านายชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้หรือไม่ ส่วนนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนเป็นพยานเพิ่มเติมนั้นก็เป็นเพียงพยานแวดล้อมกรณีข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ฯ กับชุมชนกะเหรี่ยง โดยไม่ได้รู้เห็นเรื่องการหายตัวไปของนายบิลลี่แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่านายชัยวัฒน์ กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนคำเบิกความของนายชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่ฯ กับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น ไม่สามารถรับฟังได้เนื่องจากเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูล จึงพิพากษายกคำร้อง
(อ่านเพิ่มเติม เปิดคำพิพากษาการดำเนินคดีมาตรา 90 ขอให้ปล่อยตัวบิลลี่ออกจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ)

วันที่ 16 มกราคม 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แจ้งเรื่องที่คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติไม่รับกรณีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ ชี้แจงเหตุผลว่า ทางดีเอสไอทำการสอบสวนคดีนี้อยู่นานแล้วกว่า 2 ปี และไม่มีความคืบหน้า รวมถึงสาเหตุที่มึนอ หรือนางสาวพิณนภา ผู้ยื่นคำร้องไม่ใช่ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในคดี โดยต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2561 คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติรับกรณีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ และหลังจากนั้นมีการดำเนินการสอบพยานเพิ่มเติมหลายปาก
วันที่ 3 กันยายน 2562 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกลุ่มคณะทำงานในการตรวจสอบคดีการหายตัวไปของบิลลี่ ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับเบาะแสการหายตัวไปของบิลลี่ โดยกล่าวว่า “ช่วงแรกของการหายตัวไป ได้ทำการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ 4 คนที่เกี่ยวข้องและส่งให้ป.ป.ท. ดำเนินการต่อ และได้มีการสอบสวนพยานต่างๆ และมีการใช้หุ่นยนตร์สำรวจใต้น้ำ พร้อมโดรน เพื่อตรวจหาวัตุต้องสงสัยใต้น้ำ หลังจากพบว่ามีเงาของวัตถุต้องสงสัยใต้น้ำ จึงให้เจ้าหน้าที่ดำน้ำเพื่อสำรวจ และพบถังน้ำเป็นถัง 200 ลิตร ลักษณะเบื้องต้นมีการเจาะรู ผุ รอยดำไหม้บางส่วน รวมถึงพบเหล็กเส้น 2 เส้นอยู่ใต้ถัง และพบกระดูกคล้ายกระดูกมนุษย์ ซึ่งหลักจากการตรวจพบว่าเป็นกระดูกบริเวณศีรษะ หากไม่มีกระดูกในส่วนนี้ มนุษย์จะถึงแก่ความตาย รวมถึงพบว่าสารพันธุกรรมที่ตรวจจากกระดูกดังกล่าวสัมพันธ์กับสายโลหิตของมารดาบิลลี่ จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า บิลลี่เสียชีวิตแล้ว ส่วนรายละเอียดในส่วนอื่นต้องขอเวลาเพื่อรอการสอบสวนเพิ่มเติม และ ดีเอสไอยืนยันว่า ไม่ว่าผู้ใดจะเป็นผู้กระทำความผิด ก็ต้องได้รับการลงโทษทั้งสิ้น” (อ่านเพิ่มเติม ดีเอสไอแถลงพบเบาะแสบิลลี่เสียชีวิต หลังจากหายตัวไปกว่า 5 ปี )

วันที่ 27 สิงหาคม 2562 ครอบครัวบิลลี่ พร้อมทีมทนาความเดินทางไปศาลจังหวัดเพชรบุรี เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บิลลี่เป็นบุคคลสาบสูญ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 ภายหลังจากที่บิลลี่หายไปอย่างไร้ร่องรอยเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว โดยศาลมีกำหนดนัดไต่สวนในวันที่ 28 ตุลาคม 2562

วันที่ 3 กันยายน 2562 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และกลุ่มคณะทำงานในการตรวจสอบคดีการหายตัวไปของบิลลี่ ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับเบาะแสการหายตัวไปของบิลลี่ โดยกล่าวว่า “ช่วงแรกของการหายตัวไป ได้ทำการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ 4 คนที่เกี่ยวข้องและส่งให้ป.ป.ท. ดำเนินการต่อ และได้มีการสอบสวนพยานต่างๆ และมีการใช้หุ่นยนตร์สำรวจใต้น้ำ พร้อมโดรน เพื่อตรวจหาวัตุต้องสงสัยใต้น้ำ หลังจากพบว่ามีเงาของวัตถุต้องสงสัยใต้น้ำ จึงให้เจ้าหน้าที่ดำน้ำเพื่อสำรวจ และพบถังน้ำเป็นถัง 200 ลิตร ลักษณะเบื้องต้นมีการเจาะรู ผุ รอยดำไหม้บางส่วน รวมถึงพบเหล็กเส้น 2 เส้นอยู่ใต้ถัง และพบกระดูกคล้ายกระดูกมนุษย์ ซึ่งหลักจากการตรวจพบว่าเป็นกระดูกบริเวณศีรษะ หากไม่มีกระดูกในส่วนนี้ มนุษย์จะถึงแก่ความตาย รวมถึงพบว่าสารพันธุกรรมที่ตรวจจากกระดูกดังกล่าวสัมพันธ์กับสายโลหิตของมารดาบิลลี่ จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า บิลลี่เสียชีวิตแล้ว ส่วนรายละเอียดในส่วนอื่นต้องขอเวลาเพื่อรอการสอบสวนเพิ่มเติม (อ่านเพิ่มเติม ดีเอสไอแถลงพบเบาะแสบิลลี่เสียชีวิต หลักจากหายตัวไปกว่า 5 ปี )

วันที่ 30 กันยายน 2562 นางไพเราะจี รักจงเจริญ แม่ของบิลลี่ และนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ เดินทางไปกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อรับมอบค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา กรณีความผิดต่อชีวิต เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 140,000 บาท ซึ่งประกอบไปด้วยค่าตอบแทนกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ค่าจัดการศพ และค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูบุตร

วันที่ 28 ตุลาคม 2562 ครอบครัวของบิลลี่ และทีมทนายความขอเลื่อนการไต่สวนคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บิลลี่เป็นบุคคลสาบสูญไปเป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อรอผลการสอบสวนของดีเอสไอ

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งหมดที่รวบรวมได้ ดีเอสไอขออนุมัติหมายจับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวกรวม 4 คน ในข้อหาทำร้ายผู้อื่นจนเสียชีวิต ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับตามที่ขอ และในวันต่อมา นายชัยวัฒน์ และพวกรวม 4 คน ได้เข้ามอบตัว และในวันเดียวกันนายชัยวัฒน์ และพวกรวม 4 คนได้รับการประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นจำนวนคนละ 8 แสนบาท

วันที่ 23 ธันวาคม 2562 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะทำงานพบ นางสาวพิณนภา พฤษาพรรณ หรือ มึนอ พร้อมทีมทนาย เพื่อแจ้งผลการสอบสวน กรณีการหายตัวของ นายพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) คดีพิเศษที่ 13/2662 คดีระหว่าง นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ กับพวกรวม 2 คน ผู้กล่าวหา นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกรวม 4 คน ผู้ต้องหา ซึ่งตอนนี้การสอบสวนเป็นที่เสร็จสิ้นแล้ว และส่งสำนวนต่อให้กับพนักงานอัยการ (อ่านเพิ่มเติม กรมสอบสวนคดีพิเศษ สรุปสำนวน “คดีบิลลี่” ตั้ง 6 ข้อหา ส่งให้พนักงานอัยการ )

วันที่ 24 ธันวาคม 2562 ดีเอสไอส่งหนังสือรับรองการเสียชีวิตของบิลลี่ให้กับมึนอ ภรรยาของบิลลี่ โดยแจ้งว่าทางกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสอบสวนกรณีการหายตัวไปของบิลลี่ จนกระทั่งพบชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะ ซึ่งได้ตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์รับฟังได้ว่าเป็นชิ้นส่วนของบิลลี่

วันที่ 23 มกราคม 2563 พนักงานอัยการมีหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เรื่องการสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กับพวกรวม 4 คน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/naksit.org/posts/2690401297695018?__tn__=K-R )

วันที่ 27 มกราคม 2563 มึนอ ภรรยาบิลลี่ พร้อมทีมทนายความ เข้ายื่นหนังสือขอให้พนักงานอัยการชี้แจงเหตุที่มีคำสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์ และพวกจำนวน 4 คน เป็นลายลักษณ์อักษร โดยในวันนั้นนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย นายจิตภัทร พุ่มหิรัญ อัยการสำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ 4 ร่วมแถลงข่าวชี้แจงเหตุผลคำสั่งความว่า เห็นว่าทางคดีไม่มีประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมใดๆ เพียงพอที่จะเชื่อมโยงว่า ผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำผิด พยานหลักฐานไม่พอฟ้องจึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง อีกทั้งวิธีการตรวจ DNA ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าคือบิลลี่, คำให้การของพยานนักศึกษา 2 คน เชื่อถือไม่ได้ เพราะมีการกลับคำให้การและการยกคำร้องของมึนอ ป.วิอาญา มาตรา 90 แปลว่า ปล่อยตัวแล้ว

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บิลลี่เป็นบุคคลสาบสูญ เนื่องจากในปัจจุบันบิลลี่ไม่ได้อยู่ในสถานะเป็นบุคคลสูญหาย โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำร้อง

 

*ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอฟังคำสั่งของอัยการสูงสุดว่าจะมีคำสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกรวม 4 คน หรือไม่ ภายหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้ทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการในกรณีนี้ส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา