7 ปีที่รอคอย : มุมมองของเหยื่อซ้อมทรมานหลังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
กรณีการซ้อมทรมานนายอิสมาแอ เตะ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฎยะลาที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ บ่งชี้ว่าการซ้อมทรมานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย นายอิสมาแอถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2551 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เพียงเพราะมีพยานซัดทอดว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยในระหว่างการควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกฯ เขาได้ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย เพื่อให้รับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ผ่านวิธีการต่างๆ ทั้งใช้ผ้าปิดตา ให้นั่งคุกเข่าหน้าอกแนบราบไปกับต้นขา แล้วใช้เก้าอี้วางครอบไปบนหลัง มีทหารนั่งอยู่บนเก้าอี้ และทหารคนอื่นๆ รุมเตะทำร้าย ใช้ยางในรถจักยานยนต์คล้องที่คอแล้วดึงขึ้น ทำให้หายใจไม่ออกและทรมาน ให้กินข้าวกลางฝนที่ตกหนัก ให้อยู่ในห้องที่เปิดแอร์เย็นจัดในขณะที่ตัวเปียก เป็นต้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นายอิสมาแอ เตะ และนายอามีซี มานาก ได้ตัดสินใจยื่นฟ้องกองทัพบกและกระทรวงกลาโหมต่อศาลปกครองจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 ฐานละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดสังกัดต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และขอให้ศาลสั่งให้หน่วยงานดังกล่าวเยียวยาความเสียหายแก่นายอามีซีและนายอิสมาแอจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 32 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 “เราอยากให้กฎหมายดำเนินการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ที่ทำร้ายร่างกายประชาชน และอยากให้คดีของเราเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อให้รัฐรับทราบว่าขณะนี้ในประเทศไทยยังคงมีการซ้อมทรมานอยู่แม้ว่าประเทศไทยจะมีการลงนามตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ(CAT) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่ภาคใต้และทั้งประเทศยังคงมีกรณีของการซ้อมทรมาน จึงอยากให้เรื่องนี้รับทราบสู่สาธารณะว่าการซ้อมทรมานประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเกิดขึ้นจริง” นายอิสมาแอกล่าว การต่อสู้ของอิสมาแอและเพื่อนเกือบ 2 ปี จนนำไปสู่การได้มาซึ่งคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน […]