7 ปีที่รอคอย : มุมมองของเหยื่อซ้อมทรมานหลังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

7 ปีที่รอคอย : มุมมองของเหยื่อซ้อมทรมานหลังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

 

กรณีการซ้อมทรมานนายอิสมาแอ เตะ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฎยะลาที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ บ่งชี้ว่าการซ้อมทรมานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย นายอิสมาแอถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2551 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เพียงเพราะมีพยานซัดทอดว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยในระหว่างการควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกฯ เขาได้ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย เพื่อให้รับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ผ่านวิธีการต่างๆ ทั้งใช้ผ้าปิดตา ให้นั่งคุกเข่าหน้าอกแนบราบไปกับต้นขา แล้วใช้เก้าอี้วางครอบไปบนหลัง มีทหารนั่งอยู่บนเก้าอี้ และทหารคนอื่นๆ รุมเตะทำร้าย ใช้ยางในรถจักยานยนต์คล้องที่คอแล้วดึงขึ้น ทำให้หายใจไม่ออกและทรมาน ให้กินข้าวกลางฝนที่ตกหนัก ให้อยู่ในห้องที่เปิดแอร์เย็นจัดในขณะที่ตัวเปียก เป็นต้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นายอิสมาแอ เตะ และนายอามีซี มานาก ได้ตัดสินใจยื่นฟ้องกองทัพบกและกระทรวงกลาโหมต่อศาลปกครองจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 ฐานละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดสังกัดต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และขอให้ศาลสั่งให้หน่วยงานดังกล่าวเยียวยาความเสียหายแก่นายอามีซีและนายอิสมาแอจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 32 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

“เราอยากให้กฎหมายดำเนินการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ที่ทำร้ายร่างกายประชาชน และอยากให้คดีของเราเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อให้รัฐรับทราบว่าขณะนี้ในประเทศไทยยังคงมีการซ้อมทรมานอยู่แม้ว่าประเทศไทยจะมีการลงนามตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ(CAT) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่ภาคใต้และทั้งประเทศยังคงมีกรณีของการซ้อมทรมาน จึงอยากให้เรื่องนี้รับทราบสู่สาธารณะว่าการซ้อมทรมานประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเกิดขึ้นจริง” นายอิสมาแอกล่าว

การต่อสู้ของอิสมาแอและเพื่อนเกือบ 2 ปี จนนำไปสู่การได้มาซึ่งคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่พิพากษาให้กองทัพบกรับผิดในผลแห่งการละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากควบคุมตัวไว้เกินกำหนด 7 วันตามกฎอัยการศึกฯ โดยให้ชำระเงินแก่นายอามีซี จำนวน 250,000 บาท และนายอิสมาแอ เตะ จำนวน 255,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนกระทรวงกลาโหมนั้น ศาลปกครองได้มีคำพิพากษายกฟ้อง ซึ่งนายอามีซีและนายอิสมาแอ เห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวยังไม่ให้ความยุติธรรมที่เพียงพอแก่พวกเขา พวกเขาจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 โดยขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กองทัพบกรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกทำร้ายร่างกายและการใช้ชีวิตอย่างปกติสุข จากการต้องสูญเสียศักดิ์ศรี ถูกดูหมิ่นจากเพื่อนบ้านและเพื่อนนักศึกษา ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 32 และการจัดการให้ชื่อเสียงของทั้งสองคนกลับคืนดีใหม่อีกครั้ง

ความยากลำบากในการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตัวเอง

การต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยืนยันสิทธิไม่ใช่เรื่องง่าย ในหลายกรณีที่ผู้ถูกละเมิดมีความยากลำบากในการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง เพราะเสี่ยงต่อการถูกข่มขู่คุกคามในรูปแบบต่างๆ ในกรณีนี้ของอิสมาแอก็เช่นเดียวกัน

“เรามีความหวาดกลัวตลอดว่าเจ้าหน้าที่จะฟ้องกลับเรา ถึงแม้ท้ายที่สุดศาลจะมีคำพิพากษาให้เราชนะคดีและเจ้าหน้าที่ยอมจ่ายค่าเสียหายให้เรา แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ อาจไม่พอใจที่เรามีการฟ้องคดี จึงมีความกังวลเรื่องการคุกคาม และการฟ้องคดีกลับทั้งการดูหมิ่นเจ้าหน้าที่เรื่องที่บอกว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายประชาชน หรืออาจบอกว่าเรามีข้อมูลเท็จ แต่การทำงานของเรานั้นเรามีเครือข่ายในพื้นที่มีการทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ และยังคงมีคนให้กำลังใจเราอยู่ เราจึงยืนหยัดที่จะสู้ต่อไป” นายอิสมาแอกล่าว

7 ปี แห่งการรอคอย

กว่าจะได้รับการยืนยันถึงสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาจากการถูกละเมิด กระบวนการยุติธรรมต้องใช้เวลาถึง 7 ปีนับแต่วันที่ฟ้องคดีจนกระทั่งวันที่ 19 ตุลาคม 2559 ที่ศาลปกครองสูงสุดจะได้มีคำพิพากษาให้กองทัพบก (ผู้ถูกฟ้องคดีที่1) รับผิดในผลแห่งการละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นาย อิสมาเอ เตะ (ผู้ฟ้องคดีที่ 1) เป็นเงินจำนวน 305,000 บาท และนายอามีซี มานาก(ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ) 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

“ความรู้สึกตอนแรกรู้สึกตื่นเต้นว่าศาลจะมีคำพิพากษาไปในแนวทางใด แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้วบางส่วนก็รู้สึกภูมิใจ คือในส่วนของการที่ให้มีการรับผิดชอบในการกระทำละเมิดเนื่องจากการควบคุมตัวตามกฎหมายที่ใช้ในสามจังหวัด โดยศาลยอมให้มีการจ่ายค่าเสียหายทั้งหมด แต่ในส่วนที่ให้มีการออกสื่อหนังสือพิมพ์ 2 วัน เดือนละหนึ่งฉบับทั้งหมดสามฉบับศาลไม่ยอมรับในส่วนนี้ทำให้ไม่ค่อยภูมิใจในสักเท่าไหร่” นายอิสมาแอกล่าว

การเยียวยาที่หล่นหายไป….

บุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหา ถูกจับกุมควบคุมตัว นอกจากเขาจะเสี่ยงต่อการถูกทรมานแล้ว ยังมีสิ่งอื่นที่พวกเขาต้องสูญเสียไปอีก ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายทางด้านจิตใจ ผลกระทบด้านสังคมและการใช้ชีวิตตามปกติสุข เพราะระหว่างที่เขาตกอยู่ในสภาวะการเป็นผู้ต้องหานั้น หลายคนถูกป่าวประกาสให้สังคมรับรู้ผ่านสื่อมวลชน ทำให้เขาถูกตีตรา ดังนั้น ความเสียหายเหล่านี้ก็จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาด้วย แต่น่าเสียดายในคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดปฏิเสธสิทธิการเยียวยาในเรื่องนี้

“คดีนี้ภายหลังจากมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อปี 2554 ตนได้สานต่อทำกิจกรรมในพื้นที่ โดยดำเนินการจัดตั้งองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี เพื่อสร้างเครือข่ายในพื้นที่ให้แก่อาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ แต่หลังจากมีคำพิพากษาทางครอบครัวมีความกังวลจึงไม่อยากให้ดำเนินงานต่อเพราะกลัวจะได้รับผลกระทบในเรื่องความเป็นอยู่ในสังคม เนื่องจากสังคมมองว่าเราเป็นกองโจรไม่อยากให้อยู่ในพื้นที่อยากให้ออกจากพื้นที่ไป แต่เรายังคงยืนหยัดว่าจะสู้กับเจ้าหน้าที่ที่กล่าวหาว่าเราเป็นกองโจร การที่สังคมมองว่าเราเป็นจองโจรจึงมีคนที่ไม่อยากทำงานด้วย แต่ก็ยังมีบางคนที่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็ยินดีที่จะทำงานร่วมกับเรา แต่การทำงานของเราบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็คุกคามข่มขู่ทั้งที่สำนักงานและที่บ้านโดยมีเจ้าหน้าที่มาเพื่อชักชวนให้เข้าร่วมโครงการต่างๆกับเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้การเดินทางตามถนนก็มีเจ้าหน้าที่ติดตามเสมอ เช่นการดักตรวจบัตรประชาชน เป็นต้น ในส่วนของการสมัครงานข้าราชการก็ลำบากเนื่องจากถูกแบล็คลิสจากทางเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเราเคยถูกหมายพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ถูกสังคมตีตรา เราจึงไม่สามารถทำงานราชการได้ การทำงานในทุกวันนี้แม้จะมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เพราะได้ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบ แต่ก็มีความหวาดละแวงบ้าง” นายอิสมาแอกล่าว

กรณีอิสมาแอช่วยสะท้อนให้เห็นข้อจำกัดของการเข้าถึงความยุติธรรมของเหยื่อการทรมาน ไม่ว่าจะเป็นความเกรงกลัวในการที่จะฟ้องร้องเพื่อปกป้องสิทธิ เพราะไม่มั่นใจว่าจะได้รับความปลอดภัยหรือไม่ และกระบวนการเรียกร้องการชดเชยเยียวยาที่ต้องใช้เวลานานแล้ว ยังไม่ครอบคลุมการเยียวยาในด้านอื่นๆ ได้แก่ การทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม การทำให้พอใจ และหลักประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกด้วย เพราะแม้คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจะยืนยันสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาของเหยื่อที่ถูกซ้อมทรมาน แต่การเยียวยานั้น ก็ยังถูกพิจารณาให้เพียงตัวเงิน แต่การเยียวยาความเสียหายในด้านอื่นๆยังถูกปฏิเสธโดยศาลอยู่