วิชาชีพทนาย: ผู้ใช้กฎหมายรักษาความยุติธรรมกับการตกเป็นเป้าหมายในการฟ้องกลั่นเเกล้ง

วิชาชีพทนาย: ผู้ใช้กฎหมายรักษาความยุติธรรมกับการตกเป็นเป้าหมายในการฟ้องกลั่นเเกล้ง

กรณีนายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ ถูกนายทุนที่ดินใน จังหวัดลำพูนแจ้งความดำเนินคดี ฐานนำสืบพยานหลักฐานเท็จ พร้อมกับชาวบ้านบ้านสันตับเต่า อีก 2 ราย ข้อหาเบิกความเท็จ ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พยานหลักฐานที่นายทุนกล่าวหายังไม่มีน้ำหนักที่จะสามารถส่งฟ้องได้ นัดครั้งที่ผ่านมาจึงถือเป็นนัดเรียกพบ โดยกำหนดนัดครั้งต่อไปคือวันที่ 15 มีนาคม 2562

ต่อมาวันนี้ (14 มีนาคม 62) พนักงานสอบสวน สภ.นิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน แจ้งมายังทนายสุมิตรชัยว่า สำนวนคดีเบิกความเท็จและนำสืบพยานเท็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบพยานหลักฐาน ของพนักงานสอบสวน สภ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน ดังนั้นการนัดเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในวันที่ 15 มีนาคม 2562 นี้ จึงขอเลื่อนการแจ้งข้อกล่าวหาไปไม่มีกำหนด (ข้อมูลจาก Facebook ศูนย์ข้อมูลพิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

ข้อสังเกตต่อกรณี การเเจ้งความดำเนินคดีกับทนายสุมิตรชัย ในข้อหานำสืบพยานหลักฐานเท็จ เเละชาวบ้าน 2 ราย ข้อหาว่าความเท็จ กรณีดังกล่าวนี้สามารถบอกอะไรกับสังคมได้พอสมควร 

ประการแรก กรณีที่นายทุนที่ดิน ผู้เข้าเเจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน  สภ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน  นั้นเป็นกรณี 1) คดีของนางสายทอง เตชะระ และนางสมรัตน์ วรรณภิระ ที่ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาเมื่อปี 2556  ในข้อหาร่วมกันบุกรุกยึดถือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาตัดสินยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุก และไม่เป็นการบุกรุกเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 แต่เป็นการบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ซึ่งเป็นคดีที่ยอมความได้ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญาอาญา มาตรา 96 แต่ในทางนำสืบของโจทก์ ปรากฏตามคำให้การของพยานโจทก์ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหาย ได้เบิกความว่าได้รู้ว่าผู้บุกรุกที่ดินของผู้เสียหายคือนางสายทอง  เตชะระและนางสมรัตน์  วรรณภิระ (จำเลยทั้งสองในคดี) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 และได้แจ้งให้ผู้เสียหายทราบแล้ว แต่มาร้องทุกข์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) พนักงานอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดเมื่อปี 2557

และ 2) คดีแพ่ง เมื่อปีในปี 2560  โดยนายทุนฟ้องขับไล่  นางสายทอง เตชะระ 1 คดี และฟ้องนางสมรัตน์ วรรณภิระ อีก 1 คดี ต่อศาลจังหวัดลำพูนเป็นคดีแพ่งให้ขับไล่ออกจากที่ดิน ศาลจังหวัดลำพูนพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาเมื่อตุลาคม 2561 ให้ยกฟ้องโจทก์และมีคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ (โฉนดที่ดิน) ของนายทุน โดยวินิจฉัยว่านางสายทองและนางสมรัตน์ มีสิทธิครอบครองที่ดินดีกว่านายทุนในขณะที่มีการออกโฉนดที่ดิน จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 วรรคสอง และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) และมีอำนาจเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกไปโดยคลาดเคลื่อนได้ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด แม้จำเลยจะไม่ได้ขอให้ศาลเพิกถอนก็ตาม จึงพิพากษายกฟ้องและให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของนายทุน คดีอยู่ระหว่างโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์

คดีที่นายทุนกล่าวหาว่า นางสายทอง เตชะระ และนางสมรัตน์ วรรณภิระ เบิกความเท็จต่อศาลทั้งในคดีอาญาและคดีแพ่ง และกล่าวหาทนายความ ว่านำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในคดีอาญา  ทั้ง 2 คดีเป็นคดีที่มีคำพิพากษาตัดสินเเล้ว อีกทั้งยังไม่เป็นสาระสำคัญที่ศาลรับพิจารณา 

ประการต่อมา  การเเจ้งความดำเนินคดี ซึ่งไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่พนักงานสอบสวนจะส่งให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องได้ และเห็นได้ชัดว่าผู้ฟ้องมีเจตนาฟ้องที่ไม่สุจริต กล่าวคือ เป็นการเเจ้งความดำเนินคดีที่มุ่งผลให้ทนายความและชาวบ้าน มีภาระค่าใช่จ่าย เเละพร่าเลือนเวลาในการทำงานช่วยเหลือคดีแก่ชาวบ้าน ซึ่งโดยส่วนมากเป็นคดีความที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน และสร้างภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีให้เเก่ชาวบ้าน

ทั้งนี้  แม้ว่ากรณีนี้พนักงานสอบสวนจะยังไม่ส่งสำนวนฟ้องทนายความสุมิตรชัยและชาวบ้าน 2 ราย ก็ตาม แต่ภาระที่ทนายสุมิตรชัย และชาวบ้าน ที่ต้องทำคำให้การเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดลำพูน  รวมไปถึงผลกระทบในด้านจิตใจ และสุขภาพทั้งต่อผู้ที่ถูกฟ้องเเละคนรอบข้าง

 ปรากกฎการณ์เช่นนี้นับได้ว่าเข้าข่ายเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อข่มขู่ ตอบโต้ หรือขัดขวางการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ ( Strategic Lawsuit Against Public Participation-SLAPP)

ประการสุดท้าย  สำหรับผู้ที่ติดตามกลุ่มชาวบ้าน ขบวนการเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ เช่น สิ่งเเวดล้อม ทรัพยากร แรงงาน การเมือง ฯลฯ ที่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคมเพื่อเรียกร้องสิทธิและความยุติธรรม เเก้ไขผลกระทบที่ได้รับจากการดำเนินนโยบายของรัฐ เเละโครงการของบริษัทเอกชน มักจะเห็นปรากฏการณ์การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อข่มขู่ ตอบโต้ หรือขัดขวางการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ ( Strategic Lawsuit Against Public Participation-SLAPP) ต่อเเกนนำกลุ่ม หรือขบวนการมาโดยตลอด

แต่ทราบหรือไม่ว่า ไม่เพียงเเค่กลุ่มบุคคลที่เป็นเเกนนำชุมชน สื่อมวลชน แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหว เท่านั้น หากเเต่ผู้ที่ประกอบวิชาชีพอื่นๆ อย่างเช่น ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ โดยเฉพาะทนายความสิทธิมนุษยชน เองสามารถตกเป็นเป้าหมายของการถูกดำเนินคดี โดยเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานรัฐ เเละบริษัทเอกชนได้เช่นกัน เนื่องจากการทำงานของทนายความกลุ่มดังกล่าวไม่เพียงแค่ให้ความช่วยเหลือทางด้านคดีแก่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในการเสริมสร้างด้านความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่ประชาชนในสังคม  เครือข่ายทนายความกลุ่มนี้จึงถือได้ว่าเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders)

กล่าวโดยสรุป ไม่เพียงเเค่ชาวบ้าน กลุ่มแกนนำเคลื่อนไหว ที่ออกมาเเสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ร้องเรียนในประเด็นที่เป็นสาธารณะเท่านั้น ที่สามารถตกเป็นเป้าหมายของการถูกดำเนินคดี เเต่ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ ที่มีบทบาทในการสื่อสารกับสังคม อย่างสื่อมวลชน  หรือผู้ที่ให้ความช่วยเหลือคดี อย่างนักกฎหมาย ทนายความ ก็สามารถตกเป็นเป้าหมายในการฟ้องร้องเพื่อกลั่นเเกล้งได้เช่นเดียวกัน และผลการแจ้งความก็ไม่ได้มุ่งหมายที่จะต่อสู้ความถูกผิด เเต่เพื่อพร่าเลือนเวลา เบี่ยงเบนประเด็นของการต่อสู้เรียกร้อง เเละทำให้มีความกลัวที่จะเเสดงความเห็นเเละสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางสังคม

 

อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่น :

ทนายสุมิตรชัยและชาวบ้านสันตับเต่า จังหวัดลำพูน 2 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “นำสืบพยานหลักฐานเท็จและข้อหาเบิกความเท็จ” สภ.นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดลำพูน