แถลงการณ์สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
เรียกร้องสถาบันตุลาการให้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักกฎหมาย โดยคำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และอุดมการณ์ของผู้พิพากษาตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ
ตลอดระยะเวลาของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากต้องตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในกระบวนการยุติธรรมอันเนื่องมาจากความเห็นต่างทางการเมือง อาจกล่าวได้ว่า กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบถูกใช้เป็นกลไกเพื่อสนองนโยบายรัฐในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การปล่อยชั่วคราวถูกใช้เป็นกลไกสำคัญในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ผ่านการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ห้ามไปกระทำการในลักษณะเดียวกันกับคดีเดิมอีก การกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถานในบางช่วงเวลาร่วมกับการใส่กำไล EM การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้ใส่กำไลติดตามตัว (EM) ร่วมกับคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่เข้มงวดกว่าอาชญากรที่ก่ออาชญากรรม และการมีคำสั่งถอนประกันได้โดยง่าย เหล่านี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ถูกปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไร้ซึ่งมนุษยธรรม ทั้งนี้ยังสะท้อนถึงความพยายามของศาลในการเข้ามามีบทบาทในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเสียเองทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของศาล เพราะมีองค์กรอื่นทำหน้าที่อยู่แล้ว ศาลมีหน้าที่รักษาและดำรงความยุติธรรมในสังคมอย่างเป็นอิสระโดยอาศัยหลักกฎหมายเพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนทุกคนจะได้รับความยุติธรรมแม้จะมีข้อพิพาทกับรัฐหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐก็ตาม
แต่ปรากฏว่ากรณีที่ไม่ใช่คดีการเมือง เช่นกรณีของ พ.ต.อ.หญิงวัทนารีย์ กรณ์ชายานันท์ จำเลยที่ 8 ภรรยานายตู้ห่าว ชาวจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีพยานหลักฐานว่ามีพฤติการณ์ข่มขู่พยาน เป็นการผิดเงื่อนไขการประกันของศาล ศาลกลับไม่ถอนประกัน โดยอ้างว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปเเล้ว แต่พนักงานสอบสวนมายื่นเอกสารแบบกระชั้นชิด ทำให้การยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการประกันตัว พ.ต.อ.หญิง วัทนารีย์ ดังกล่าวจึงเป็นเพียงคำร้องที่ประกอบการพิจารณา กรณีที่แตกต่างกันดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความลักลั่นและปัญหาการปล่อยชั่วคราวสำหรับผู้ต้องหาและจำเลยในคดีการเมือง
การถูกปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไร้ซึ่งมนุษยธรรมโดยกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวนำมาสู่การอดอาหารและน้ำของตะวันและแบมเพื่อทวงถามหาความยุติธรรม และเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันร่างกายของทั้งสองเข้าขั้นวิกฤติและสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตอย่างมาก
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบันศาลจะพิจารณาทบทวนบทบาทในการใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราวให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และคำนึงถึงอุดมการณ์ของผู้พิพากษาตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการในการประสาทความยุติธรรมให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนอย่างไม่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความคิดเห็นทางการเมือง ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้ง ศาลพึงเป็นสถาบันที่พิจารณาอรรถคดีไปในทางส่งเสริมความเป็นมนุษย์ให้ดำรงอยู่ พัฒนา และงอกงามขึ้นในสังคม ไม่ใช่สถาบันที่พรากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปจากประชาชน หรือกดความเป็นคนให้ต่ำลงเพื่อให้ยอมจำนนต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม
27 มกราคม 2566