บันทึกเสวนาวิชาการเรื่อง “SLAPP :เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกใช้ปิดปากประชาชน”
เมื่อวัน 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จัดงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง SLAPP: เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกใช้ปิดปากประชาชน “ ณ ห้อง จี๊ด เศรษฐบุตร (ห้องLT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี ทนายพูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด, นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ที่ปรึกษาด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ(กฎหมาย) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ ตัวแทนจากองค์กร ARTICLE 19 เป็นวิทยากร และ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ผู้สื่อข่าว voice TV เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสาระสำคัญในวงเสนา สรุปได้ดังนี้
101 SLAPP: ฟ้องปิดปากคืออะไร การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองจำนวนมากใช้ฟ้องปิดปากหรือไม่?
พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายที่มาและลักษณะของการฟ้องปิดปาก ว่ามาจากชื่อเติมว่า Strategic Lawsuit Against Public Participation ย่อว่า SLAPP (ออกเสียงเหมือน SLAP ที่แปลว่าตบปาก) ซึ่งเป็นงานศึกษาของ Pring & Canan ที่อธิบายลักษณะของการใช้กฎหมายแพ่ง และกระบวนการทางศาล มาฟ้องต่อประชาชน สื่อมวลชน NGOs ที่ออกมาสื่อสารข้อมูลเพื่อตรวจสอบการดำเนินการของรัฐบาลและบริษัทเอกชน
การฟ้องคดีปิดปากเกิดขึ้นแพร่หลายในประเทศ แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นและให้ความสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเติมที่ก็ตาม แต่การจำกัดเสรีภาพโดยรัฐและผู้มีอำนาจสามารถเกิดขึ้นทุกประเทศ ทำให้ในบางประเทศจึงต้องออกกฎหมาย anti SLAPP เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพไม่ให้ตกเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องคดี อย่างไรก็ตาม ความเหมือนกันของการฟ้องคดีปิดปากในต่างประเทศ ผู้ฟ้องจะดำเนินคดีทางแพ่ง โดยการเรียกค่าเสียหายที่สูงเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องเกิดความกลัว
สำหรับประเทศไทย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ทำรายงานศึกษาเรื่อง SLAPP การฟ้องคดีปิดปากในบริบทประเทศไทย นิยามว่า SLAPP คือ การคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อยุติการเคลื่อนไหวของบุคคลหรือกลุ่มเคลื่อนไหวที่เห็นต่าง หรือคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือสถาบัน โดยมีทั้งที่ดำเนินคดีแพ่งและอาญา แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นคดีอาญา เช่น กรณีฟาร์มไก่ ดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทต่อนักข่าวว้อยซ์ ทีวี, นักวิชาการ, นักวิจัย และนักสิทธิมนุษยชนจากการทวีตข้อความเกี่ยวการทำงานของแรงงานในฟาร์มไก่ กรณีสำนักงานศาลยุติธรรม จังหวัดเชียงใหม่เนินคดีต่อสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านบ้านพักตุลาการ (ป่าแหว่ง) กรณีเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลยดำเนินคดีต่อสมาชิกกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งในจำนวนผู้ที่ถูกฟ้องมีเยาวชนด้วย เป็นต้น
สถานการณ์ฟ้องปิดปากในประเทศไทย
พูนสุข กล่าวว่า การใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว สถานการณ์ตอนสิบปีก่อน ส่วนใหญ่จะเจอเรื่องสิ่งแวดล้อม และมีการใช้ความรุนแรงทางกายภาพอื่นๆด้วย อย่างไรก็ตามตั้งแต่มีการก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังวันรัฐประหาร 2557 พบว่า กฎหมายได้ถูกนำมาใช้ค่อนข้างกว้าง อาทิ พ.รบ.คอมฯ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมาตรา 112 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อยุติเคลื่อนไหวและการแสดงออก โดยสถิติที่ศูนย์ฯ ตั้งแต่รัฐประหารพบผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาชุมนุมทางการเมืองจำนวน 428 คน ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำนวน 169 คน ข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 197 คน เป็นต้น ถ้าจะถามว่ากรณีออกมาเรียกร้องของคนอยากเลือกตั้งเป็นการยุยงปลุกปั่นอย่างไร และท้ายที่สุดศาลยกฟ้อง ส่วนใหญ่คดีของศูนย์ ศาลก็จะยกฟ้อง แม้ว่าศาลจะยกฟ้องแต่การตกเป็นผู้ต้องหาก็ได้สร้างภาระแล้วตั้งแต่เริ่มเป็นคดี เช่น ทางจิตใจ ทางการงาน และในปัจจุบัน เยาวชนออกมาเยอะก็กระทบต่อการเรียน อันนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมีการกลั่นกรองการดำเนินคดีเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องดำเนินคดีทุกคดี
มากไปกว่านั้นในยุคคสช. มีการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร ซึ่งสร้างภาระเป็นอย่างมากในศาลปกติใช้เวลาเพียง 3 วัน ก็จะเสร็จสิ้นกระบวนการสืบ แต่ในศาลทหารใช้เวลายาวนานกว่า 5 ปี และสุดท้ายศาลยกฟ้อง ภาระเหล่านี้ไปตกอยู่ที่ตัวจำเลย และสังคมส่วนรวมคือ เสียทรัพยากรตำรวจและอัยการมาดำเนินการกรณีเหล่านี้ แทนที่จะไปดูแลกรณีเพื่อส่วนรวมอื่น กรณีนี้ไม่มีผู้ชนะ มีเพียงกระบวนการยุติธรรมที่พ่ายแพ้ พูนสุขกล่าว
เหตุผลที่รัฐไทยใช้ ม.112 มาปิดปากประชาชน ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีนโยบายว่าจะไม่นำกฎหมายนี้มาใช้แล้ว
พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ จากองค์กร ARTICLE 19 ได้นำเสนอข้อมูลการชุมนุมในประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปีว่า วิ่งไล่ลุง การยุบพรรคอนาคตใหม่ และการชุมนุมในรั้วมหาวิทยาลัย จนกระทั้งมาถึงช่วงที่มีการอุ้มหายวันเฉลิม ศักดิ์สิทธิที่มีการชุมนุมของกลุ่มเช่น free youth สนท. ประชาชนและเยาวชนที่ไม่พอใจกรณีการเป็นเห็นต่างทางการเมืองจนต้องมีการบังคับให้สูญหาย ในเดือนมิถุนายน เรื่อยมาจนถึงการชุมนุมของกลุ่ม free youth สนท.ทื่ราชดำเนิน หลังจากนั้นการชุมนุมก็เริ่มมีผู้เข้าร่วมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางการชุมนุม มีผู้เข้าร่วมมากถึง 7 หมื่น ถึง 1 แสนคน ที่สนามหลวง 19 กันยายน
พิมพ์สิริ ชี้ถึงเหตุผลที่รัฐไทยกลับมาใช้มาตรา 112 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ในปี 2561 มีนโยบานว่าจะไม่มาต่างนี้มาใช้แล้ว และหากจะมีการนำมาตรา 112 มาใช้จะต้องผ่านการกลั่นกรองของอัยการสูงสุดก่อน ซึ่งหมายความว่ากรณี112 จะไม่สามารถนำมาฟ้องหรือร้องทุกข์กันได้อย่างเป็นการทั่วไปเหมือนในอดีต เหตุผลนั้นเพราะว่าในช่วงระยะเวลาที่มีการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 18 กรกฎาคม ถึง 10 ธันวาคม มีการชุมนุมมากกว่า 898 กิจกรรมทั่วประเทศ ยกเว้น จังหวัดอุทัยธานีและชุมพรที่ไม่มีการชุมนุม เฉลี่ยวันละ 6 กิจกรรม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่รัฐไม่เคยรับมือมาก่อน เมื่อก่อนการชุมนุมของเสื้อแดง เสื้อเหลือง ไม่ไปทั่วประเทศขนาดนี้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ใหม่แค่เพียงสำหรับรัฐไทย แต่ใหม่สำหรับคนทำงานภาคประชาสังคมเช่นกัน
ข้อสังเกต คือ การใช้กฎหมายที่ไม่ได้มีโทษรุนแรงไม่สามารถหยุดการประท้วง จึงมีการพยายามใช้กฎหมายที่มีทารุนแรงมากขึ้น โดยใช้ลักษณะของการดำเนินคดีแบบไม่เลือกว่าเป็นใคร หรือการหว่านแห เพื่อให้เกิดความกลัวและให้การประท้วงยุติ โดยรัฐมองว่ายิ่งใช้กฎหมายแรงขึ้น ผู้ชุมนุมจะหยุดการเคลื่อนไหว ในขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมมองว่ายิ่งรัฐใช้กฎหมายแรงขึ้น ยิ่งสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมของรัฐ และการพยายามลิดรอนสิทธิเสรีของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 เสรีภาพในการแสดงออกจะถูกจำกัดได้เพียง 3 กรณีคือ การจำกัดสิทธินั้นต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย กฎหมายต้องชอบธรรม และได้สัดส่วน ขณะที่ข้อ 21 ระบุว่าการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง โดยรัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและรัฐต้องประกันว่า กฎหมายรวมถึงการตีความและการบังคับใช้กฎหมายจะไม่มีผลเป็นการเลือกปฏิบัติต่อการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ สุดท้ายพิมพ์สิริ ชวนตั้งคำถามถึงกรณีที่รัฐไทยใช้มาตรา 112 ซึ่งที่มีโทษสูง ต่อเฉพาะกับผู้ชุมนุมที่แสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐและสถาบันเท่านั้น ว่าชอบธรรมและได้สัดส่วนแล้วหรือไม่
การปกครองระบอบนิติรัฐ ประชาชนต้องมีความมั่นคงแน่นอนว่าทำอะไรผิดและไม่ผิด และโทษต้องได้สัดส่วน
พูนสุข ยกตัวอย่างคดีอากงเป็นคดีแรกที่ศาลอาญาให้ลงโทษกรรมละห้าปี ช่วงนั้นมีการเคลื่อนไหวให้ยกเลิกมาตรา 112 ไปถึงสภาแต่ถูกพิจารณาว่าไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ต่อมาในกรณีที่ไปศาลทหาร ลงโทษกรรมละสิบปี คนที่ถูกเรียกรายงานตัวส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 และคดีส่วนใหญ่ในตอนนั้นไม่ได้ประกันตัว
ในปี 2561 มีการเปลี่ยนนโยบาย ตำรวจ ทหาร ศาล อัยการมีการใช้ดุลพินิจที่เปลี่ยนไปในทางเดียวกัน ต่อมาในปี 2563 รัฐกลับมาใช้ 112 อย่างเข้มข้น แค่ในช่วงสิบปี การใช้กฎหมายมาตราเดียว เราจะเห็นความไม่แน่นอนของการใช้กฎหมาย ซึ่งในรัฐประชาธิปไตยไม่สามารถรับการใช้กฎหมายเช่นนี้ได้
อาจารย์คณิต ณ นคร “กระบวนการยุติธรรมไทยแพง และไม่มีประสิทธิภาพ” มันมีภาระทั้งในด้านภาครัฐและประชาชนเอง กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ซึ่งเราปกครองด้วยระบบนิติรัฐ ประชาชนต้องมีความมั่นคงแน่นอนในระดับหนึ่ง รู้ว่าทำอะไรผิดและไม่ผิด อาญาต้องตีความอย่างแคบ
พิมพ์สิริ เสริมต่อเรื่องปัญหาในการสลายการชุมนุมของรัฐไทย ไม่ได้ระบุและแจ้งต่อผู้ชุมนุมอย่างชัดเจนว่าการกระทำใดที่จะเข้าข่ายให้เจ้าหน้าที่ต้องทำการสลายการชุมนุม มิใช่ให้ผู้ชุมนุมคาดเดาเอง แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชนให้ประชาชนทราบโดยทั่วไป เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม และเพื่อให้การบังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ
บทบาทของรัฐในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม: เส้นบางระหว่างคุ้มครองพยานกับการจำกัดสิทธิ
นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ที่ปรึกษาด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ(กฎหมาย) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวถึงบทบาทของรัฐ ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน เมื่อเกิดประเด็นปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน 3 ส่วน คือ (1) ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ โดยสิทธิเสรีภาพดังกล่าวต้องเป็นไปตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศรับรองไว้ (2) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ โดยกำหนดในกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองพยานในคดีอาญา ซึ่งนักปกป้องสิทธิก็สามารถได้รับการคุ้มครองพยานได้ด้วย (3) บทบาทในการช่วยเหลือเยียวยา โดยมีการช่วยเหลือทางกฎหมาย และมีการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ที่ผ่านมาเรื่องการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ หรือผู้ที่เคลื่อนไหวในประเด็นสาธารณะ กำหนดอยู่ใน พ.ร.บ.ตอบแทนผู้เสียหายให้เงินเยียวยา ในกรณีบาดเจ็บ ถูกทำร้าย เป็นต้น และสุดท้าย (5) สร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชน กรมคุ้มครองสิทธิฯ ดูแลอยู่ 5 อนุสัญญา ทั้งหมดนี้เราทำโดยไม่เลือกปฏิบัติ ในประเด็นของการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ
ประชาชนที่ถูกดำเนินคดี ม.112 สามารถใช้กองทุนช่วยเหลือในการต่อสู้คดีจากรัฐได้หรือไม่?
นงภรณ์ ยืนยันว่ากองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือประชาชนในการต่อสู้คดี ของกระทรวงยุติธรรมนั้น มีสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ แม้ว่าประชาชนจะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหา และกฎหมายใดก็ตาม การพิจารณาสามารถทำได้ในหลักการเดียวกัน
กระบวนการยุติธรรมเหมือนมีด จะใช้ประโยชน์หรือใช้ฆ่าคนก็ได้
ด้าน ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เปรียบกระบวนการยุติธรรมเหมือนมีด จะใช้ประโยชน์หรือใช้ฆ่าคนก็ได้ กล่าวคือ หากเจ้าหน้าที่รัฐเห็นสิ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมาย ถ้าใช้กฎหมายถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ก็ถือเป็นการใช้กฎหมายในมุมที่ดี ประเด็นที่ยากคือกฎหมายกำหนดให้เป็นเรื่องของดุลพินิจในการบังคับใช้กฎหมายว่าการใช้ดุลพินิจแค่ไหน เพียงใดถึงจะเพียงพอ
ทั้งนี้ ในกระบวนการ กรณีมีบุคคลธรรมดาหรือผู้ใด ใช้กฎหมายไปกลั่นแกล้งประชาชน กฎหมายก็มีเครื่องมือเอาคืนผู้ที่ใช้กฎหมายกลั่นแกล้งผู้อื่นเช่นกัน เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 และ 175 และมีช่องทางให้ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมพนักงานอัยการมีสิทธิตั้งสำนวนสอบเพิ่มเติม
เราไม่สามารถบอกได้ว่า จะต้องใช้กฎหมายไปในทางด้านดีแต่ด้านเดียว แต่ระบบที่เข้มแข็ง ถ้าเราสามารถสร้างเครื่องมือทางกฎหมาย เหนือสิ่งอื่นใด ความถูกต้องก็คือความถูกต้อง ถามว่าเรามีกลไกอะไรที่จะปกป้องหรือไม่ ตอบว่ามี ไม่จำเป็นต้องมีการปรับแก้เพิ่ม
เหตุผลที่กำหนดให้ศาลยกฟ้องได้เฉพาะคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์เท่านั้น(ป.วิอาญา ม. 161/1) เพราะถ้ากำหนดให้รัฐเป็นโจทก์เท่ากับเราสันนิษฐานว่ากระบวนการยุติธรรมทั้งระบบไม่ดี
นอกจากนี้ มาตรา 161/1 ที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลยพินิจในการกลั่นกรองคดีที่เข้าข่ายว่าเป็นคดีฟ้องปิดปากเพื่อให้คดียุติลงโดยเร็วเพื่อไม่เป็นภาระต้องผู้ที่ถูกฟ้อง แต่เหตุผลที่กำหนดเฉพาะแต่กรณีที่ราษฎรเป็นโจทย์ เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตลอดสาย เมื่อพนักงานสอบสวนทำสำนวนก็จะต้องเสนอผู้บังคับบัญชา เสนอพนักงานอัยการ ตลอดกระบวนการนี้ไม่ได้หมายถึงคนๆเดียว หรือกลุ่มบุคคลเดียว ไม่ได้สังกัดอยู่ในหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่งเพียงหน่วยงานเดียว มีขั้นตอนของการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ถ้าจะบอกว่ามีการฟ้องกลั่นแกล้ง โดยโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ นั่นหมายความว่ากฎหมายกำลังจะบอกว่าทั้งกระบวนการยุติธรรมที่ประกอบไปด้วยคนจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง และรวมสุมหัวกันเพื่อแกล้งประชาชน ถ้าหากเขียนแบบนั้น แปลว่าเราสันนิษฐานว่ากระบวนการยุติธรรมของเราไม่ดี
สำหรับกลไกกลั่นกรองอื่นด้วย คือ หากผู้ชุมนุมเห็นว่ามีหลักเกณฑ์ใดที่เจ้าหน้ารัฐใช้ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผู้ชุมนุมสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้และคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญผูกพันหน่วยงานรัฐทั้งหมดด้วย
ในมุมมองของ ดร. มาร์ค เห็นว่าปัญหาไม่ใช่อยู่ที่มีกลไกป้องกันการฟ้องคดีปิดปากที่เพียงพอแล้วหรือยัง แต่ปัญหาคือประชาชนไม่ทราบว่ามันมีกลไกต่างๆอยู่ ยกตัวอย่างกรณีเคสที่บุคคลสองคนไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมแต่ถูกดำเนินคดี กรณีแบบนี้ กลไกมีอยู่แล้ว ถ้าตำรวจพิจารณาว่าผิด ส่งมาที่อัยการ ถ้าผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการ กลไกมีอยู่แล้วเพียงแต่ต้องสร้างความรู้ให้แก่ประชาชนว่ามีกลไกเหล่านี้อยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราประชาชนไม่รับทราบสิทธิตามกฎหมาย คิดว่าในโครงสร้าง กมอาจไม่ได้เป็นปัญหาหลัก แต่เจ้าหน้าที่อาจเป็นปัญหาเนื่องจากการใช้ดุลพินิจ เมื่อใช้ไปในทางที่ไม่ถูก ประชาชนรู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้ง และขาดความรู้เรื่องสิทธิของตนเอง คิดว่าการแก้กฎหมาย ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ต้องเป็นภาระหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่จะต้องกระตุ้นให้ประชาชนรับรู้สิทธิของตนเอง และช่องทางการร้องเรียน เข้าถึงช่องทางดังกล่าว
ตรงกันข้าม: ภาคประสังคมมองกลไกป้องกันการฟ้องคดีปิดปากที่มีอยู่ไม่เพียงพอ เสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
พูนสุข กล่าวเห็นด้วยว่าประเทศมีกลไกหลายอย่าง แต่ทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมยังมีปัญหาหลายประการอย่างเห็นได้ชัด ยกอย่างกรณีสรวิชญ์ หรือจ่านิวถูกทำร้าย หรือกรณีที่ถูกอุ้มไป หรือกรณีของเอกชัยที่ถูกทำร้าย ทุกวันนี้ยังไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ซึ่งในกรณีนี้มีการขอคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิคุ้มครองพยานได้ระยะหนึ่ง ก็จำเป็นต้องขอยกเลิกเพราะไม่สามารถออกไปใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมได้ จากเป้าหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิจึงกลายเป็นการจำกัดสิทธิแทน
ด้านกฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก ในต่างประเทศมีกลไก Anti-SLAPP แต่ในประเทศไทยมีมาตรา 161/1 ซึ่งต้องเป็นกรณีที่ราษฎรเป็นโจทย์ ซึ่งคดีของศูนย์ทนายความฯ ไม่สามารถยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณาได้เลย เนื่องจากคดีของศูนย์ทนายความฯ ทั้งหมดเป็นกรณีที่อัยการเป็นคนสั่งฟ้อง หากจะไม่แก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมกรณีที่อัยการเป็นโจทก์ อัยการจะต้องใช้กลไกที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ คือ สั่งไม่ฟ้องได้หากไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ตลอดเวลากว่าสิบปี สิ่งที่ถูกทำลายมากที่สุดคือหลักนิติรัฐ โดยกฎหมายและกระบวนการยุติรรมถูกรัฐนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หนทางในการป้องกันการฟ้องปิดปาก ลำพังเพียงการออกกฎหมายหรือแก้กฎหมายไม่เพียงพอ ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และวิธีคิดของคนทำงานในกระบวนการยุติธรรมด้วย พูนสุขเสนอ
พิมพ์สิริ กล่าวเสริมว่า สิ่งที่รัฐไทยสามารถทำได้ทันทีในปัจจุบันเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ทั้งต่อประชาชนและต่างประเทศ ซึ่งในปีหน้าประเทศไทยต้องผ่านกระบวนการทบทวนรายงานสิทธิมนุษยชน (universal prediction) นั้น คือ การยุติการดำเนินคดีต่อผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และการแก้ไขกฎหมายที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ม.112 กฎหมายยุยงปลุกปั่น ม. 116 กฎหมายกฎหมายหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ม. 326 และ ม.328 ตามประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แม้ว่าจะยกเลิกไม่ได้ในขณะนี้ แต่รัฐสามารถพิจารณาลดโทษให้เบาลงได้