5 คดีสิทธิปี 2561 กับประเด็นที่กระบวนการยุติธรรมต้องทบทวนปี 2562

5 คดีสิทธิปี 2561 กับประเด็นที่กระบวนการยุติธรรมต้องทบทวนปี 2562

ในปี 2561 ที่ผ่านมา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ติดตามคดีด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอย่างน้อย 5 คดี  โดยคดีเหล่านี้มีประเด็นที่สะท้อนถึงปัญหาบางประการของกระบวนการยุติธรรมไทยได้เป็นอย่างดี

เริ่มจากเดือนเมษายน 2561 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดี 4 แรงงานชาวเมียนมาร์ที่ตกเป็นจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น คดีนี้มีการตั้งข้อสงสัยว่าจำเลยทั้ง 4 ใช่ผู้กระทำความผิดที่แท้จริงหรือไม่ และในคำพิพากษาของศาลก็ยังไม่กระจ่างเท่าใดนัก เพราะศาลให้น้ำหนักกับคำรับสารภาพของจำเลยเป็นสำคัญ

ถัดมาปลายเดือนพฤษภาคม 2561 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาคดีอภิชาต ชูป้ายต้านรัฐประหารของ คสช. หน้าหอศิลป์เมื่อปี 2557 โดยศาลยังคงรับรองว่า คสช. มีอำนาจตามระบอบแห่งการรัฐประหาร และประกาศห้ามชุมนุมไม่ขัด ICCPR

เดือนมิถุนายน 2561 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งไต่สวนการชันสูตรพลิกศพหรือไต่สวนการตายกรณีเจ้าหน้าที่ทหารที่ด่านรินหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ยิงนายชัยภูมิ ป่าแส  หลังจากนั้นคำถามถึงภาพจากกล้องวงจรปิดก็ดังขึ้นอีก พร้อมคำตอบกลับของกองทัพว่าข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิดถูกบันทึกทับไปแล้ว

เดือนเดียวกันนั้น 12 มิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีเจ้าหน้าที่เผาบ้านและทรัพย์สินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยบน/ใจแผ่นดิน  โดยศาลพิพากษารับรองว่าบ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดินคือชุมชนดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถจะให้กลับไปอยู่ที่เดิมได้ เพราะมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว อีกทั้ง ศาลยังบอกว่ากระปฏิบัติการเผาบ้านและทำลายทรัพย์สินโดยเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิด จึงให้กรมอุทยานฯชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี 6 คน เฉลี่ยรายละประมาณ 50,000 บาท  แต่หลังจากศาลมีคำพิพากษาไม่นาน เจ้าหน้าที่สังกัดกรมอุทยานฯบางคนก็ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านที่ฟ้องคดีดังกล่าวว่าพวกเขาบุกรุกอุทยานฯ

ปิดท้ายปลายปี 11 ตุลาคม 2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสงครามยาเสพติด โดยศาลฏีกาพิพากษายกฟ้องตำรวจ 6 คนที่ตกเป็นจำเลย คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวถือว่าพลิกความคาดหมาย เพราะก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ต่างพิพากษาโดยเชื่อข้อเท็จจริงในทำนองเดียวกันว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด แม้จะเห็นต่างในกรณีจำเลยบางคนก็ตาม เมื่อคำพิพากษาออกมาเช่นนี้จึงทำให้เกิดคำถามอย่างมากต่อแนวทางการรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยของเท็จจริงของศาลฎีกา การต่อสู้ของญาติผู้ตายตลอดระยะเวลากว่า 14 ปี พวกเขายอมเสี่ยงต่อการถูกคุกคามนานาด้วยหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ดีคดีนี้มีอายุความ 20 ปี ยังพอมีเวลาที่จะหาคนผิดมาลงโทษ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใส่ใจหรือไม่

…………………………………

คดี 4 แรงงานชาวเมียนมาร์ : คำรับสารภาพโดยสมัครใจ ? และดีเอนเอที่หายไปเพราะการชำระล้างศพด้วยน้ำแรงดันสูง

คดีนี้เป็นคดีสะเทือนขวัญและได้รับความสนใจจากสาธารณะชนอย่างมาก และมีการตั้งคำถามว่าจำเลยซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ทั้ง 4 คนเป็นผู้กระทำความผิดตัวจริงหรือไม่

(ภาพจากกล้องวงจรปิดก่อนเกิดเหตุ)

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมนางสาวอรวี สำเภาทอง หรือแอปเปิ้ล อายุ 18 ปี เหตุเกิดในซอยสำนักสงฆ์สะพานปลา ข้างโรงเจ หมู่ที่ 5 ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง  ผู้ตายถูกแทงถึง 17 แผล

ต่อมามีการดำเนินคดีกับแรงงานชาวเมียนมาร์ 4 คนในข้อหาร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในที่สาธารณะ และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา โดยพวกเขาถูกแยกฟ้องเป็น 2 ศาล คือคดีในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง เนื่องจากมีจำเลย 2 คนยังเป็นเยาวชนอยู่  และอีก 2 คนถูกดำเนินคดีในศาลจังหวัดระนอง

วันที่ 19 เมษายน 2561 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษา  โดยคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง ศาลมีคำพิพากษาว่านายโมซินอ่าว มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ให้จำคุกเป็นเวลา 4 ปี พร้อมชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง 810,000 บาท และนายจอโซวิน  มีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตายให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง 270,000 บาท

ส่วนคดีของศาลจังหวัดระนองนั้น ศาลมีคำพิพากษาว่านายเมาเซ้น หรือเซกะดอ  และนายซอเล มีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนแก่ความตาย ให้จำคุกคนละ 6 ปี พร้อมร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง 570,000 บาท ส่วนนายเมาเซ้น เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ศาลพิจารณาเห็นว่าไม่หลาบจำจึงเพิ่มโทษจำคุกอีก 2 ปี เป็นต้องจำคุกเป็นเวลา 8 ปี

ปัจจุบันทั้งสองคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์

คดีนี้มีประเด็น ในชั้นจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกมาจับกุมจำเลย และมีการนำไปควบคุมตัวไว้เพื่อการถามคำให้การ โดยไม่มีการแจ้งสิทธิและพบทนายได้ในตอนแรก ซึ่งต่อมาจำเลยมีการร้องเรียนเรื่องการถูกซ้อมทรมาน และในการเบิกความต่อศาล จำเลยก็ยื่นยันว่าถูกซ้อมทรมานและข่มขู่ แต่ศาลไม่เชื่อ

ประเด็นถัดมาคือ ในคดีนี้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 4 โดยฟังจากคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสืบสวน ซึ่งได้บันทึกวีดีโอไว้เป็นหลัก  ศาลดูจากวีดีโอที่ตำรวจบันทึกไว้ และเห็นว่าขณะให้การรับสารภาพ จำเลยมีท่าทีสมัครใจและเนื้อหาในคำให้การก็ปรากฏเรื่องส่วนตัว แสดงให้เห็นถึงความไว้ใจ และมีการให้การในรายละเอียดที่ชัดเจน ชี้จุดเกิดเหตุได้ถูกต้อง ศาลจึงเชื่อว่าเป็นการรับสารภาพโดยสมัครใจ และจำเลยมิได้ถูกทำร้ายร่างกายหรือบังคับขู่เข็ญ

เหตุที่ศาลเชื่อว่าจำเลยรับสารภาพโดยสมัครใจ ไม่มีการทำร้ายร่างกายหรือบังคับให้รับสารภาพนั้น มีประเด็นโดยสรุปดังนี้

  • คำให้การรับสารภาพในชั้นสืบสวนของจำเลย มีรายละเอียดแห่งการกระทำผิดตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ
  • ดูจากบันทึกวีดีโอการรับสารภาพ จำเลยที่ 1 ไม่มีอากัปกิริยาใดๆที่บ่งชี้ว่าถูกบังคับขู่เข็ญ จำเลยที่ 1 นำชี้ที่เกิดเหตุและทำแผนประกอบคำรับสารภาพได้ถูกต้องและไม่ได้แสดงอาการเคร่งเครียดหรือหวาดกลัวสิ่งใด
  • จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูง สื่อมวลชนที่มาร่วมดูการทำแผน  โดยศาลเห็นว่าสื่อมวลชนที่มาทำข่าว ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 1 จะต้องเกรงกลัวและอาจเป็นโอกาสอันดีที่จำเลยจะได้บอกต่อบุคคลภายนอกและผู้สื่อข่าวว่าจำเลยที่ 1 ถูกทำร้าย บังคับขู่เข็ญให้รับสารภาพ แต่จำเลยก็ไม่ได้แจ้งข้อมูลเช่นนั้นแก่ผู้สื่อข่าว
  • แม้จำเลยจะต่อสู้ว่าในวันนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมาร์ในทำนองว่าไม่ได้ทำผิด แต่ก็เป็นการตอบคำถามแบบปฏิเสธลอยๆ ไม่มีเหตุผลใดๆประกอบ ง่ายต่อการกล่าวอ้างเพื่อให้ตนพ้นผิด
  • และรายงานผลการตรวจร่างกายโดยแพทย์ ก็ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย พบเพียงรอยแผลบนใบหน้าบริเวณแก้มซ้ายของจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลเชื่อว่าเกิดจากการข่วน ส่วนจำเลยปฏิเสธว่าเป็นแผลที่เกิดจากรถจักรยานล้ม

จากเหตุผลทำนองดังกล่าว มีคำถามตามมาว่า คำรับสารภาพของจำเลยที่ให้ไว้ในชั้นสืบสวนหรือสอบสวน โดยมีรายละเอียดแห่งการกระทำผิดตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ  ขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุนั้น  แสดงถึงการให้การโโยสมัครใจและไม่ได้ปรุงแต่งขึ้นจริงหรือไม่?  เพราะในชั้นสืบสวนหรือสอบสวนเป็นการกระทำฝ่ายเดียวของเจ้าหน้าที่  จะมั่นใจได้อย่างไรว่าถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้ไว้แก่เจ้าหน้าที่ดังกล่าว จะเป็นข้อมูลที่มาจากความสมัครใจของผู้ต้องหาจริงๆและไม่ได้ถูกปรุงแต่งขึ้น เพราะสภาพที่ผู้ต้องหาอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่คือสภาวะที่ขาดหลักประกันการคุ้มครองสิทธิ โดยเฉพาะเมื่อผู้ต้องหาไม่สามารถเข้าถึงญาติหรือทนายความที่ไว้ใจได้ในทันที  ดังนั้น ในความเป็นจริงจึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยากว่าการรับสารภาพและข้อมูลที่ผู้ต้องหาให้ไว้นั้นมาจากจำเลยด้วยความสมัครใจอย่างแท้จริง และยิ่งในชั้นสืบสวนสอบสวนไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหมือนกับในศาล ก็ยิ่งต้องรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นในชั้นสืบสวนสอบสวนด้วยความระมัดระวัง และเมื่อใดที่ศาลรับฟังพยานโดยให้น้ำหนักพยานในชั้นสืบสวนสอบสวนมากกว่าในชั้นศาล ก็เท่ากับว่าเป็นการลดทอนความสำคัญของการค้นหาความจริงในชั้นศาลที่มีความเป็นอิสระและมีหลักประกันการให้โอกาสจำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่มากกว่า

ประเด็นการไม่ได้ร้องเรียนหรือแจ้งต่อผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ หรือไม่ร้องเรียนต่อสื่อมวลชนช่วงที่ทำข่าวการทำแผนประกอบคำรับสารภาพนั้น เห็นว่า ในสภาพจริงแล้ว หากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีญาติหรือทนายความที่ไว้ใจได้อยู่ร่วมด้วยแล้ว หรือกรณีที่จำเลยอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ และยิ่งเป็นกลุ่มเปราะบางอย่างแรงงามข้ามชาติด้วยแล้ว โอกาสที่จำเลยจะกล้าให้ข้อมูลแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะแม้จะเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายเดียวกับเจ้าหน้าที่ที่จำเลยจะร้องเรียน หรือแม้แต่การให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนเองก็ดี ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะในวันที่ทำแผนประกอบคำรับสารภาพนั้น มีเจ้าหน้าที่ควบคุมอยู่  ดังนั้น การให้ข้อมูลอาจจะเป็นภัยแก่จำเลยมากกว่าผลดี

ประเด็นเรื่องรายงานการตรวจร่างกายผู้ต้องหา ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่จะนำเสนอต่อศาลเสมอเพื่อพิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำร้ายร่างกายจำเลย ซึ่งหากผลการตรวจไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย  และเมื่อศาลพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์อื่นๆดังที่กล่าวมา เช่น คำรับสารภาพมีรายละเอียดชัดเจนยากแก่การปรุงแต่ง จำเลยไม่ร้องเรียนเรื่องดังกล่าว ฯลฯ  ศาลก็มักจะไม่เชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกทำร้ายร่างกายหรือซ้อมทรมานให้รับสารภาพ  อย่างไรก็ดี  การใช้ผลการตรวจร่างกายอาจจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากวิธีการซ้อมทรมานไม่ได้มีแค่วิธีที่ทำให้เกิดบาดแผลทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีวิธีการอื่นที่ทำให้ไม่ปรากฎบาดแผลทางร่างกาย เช่น การคลุมศีรษะด้วยถุงพลาสติกให้ขาดอากาศหายใจเป็นระยะๆ  การบังคับถอดเสื้อผ้าให้อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำเป็นระยะเวลานาน การกดศีรษะลงน้ำ ให้อดอาหาร บังคับให้รับประทานสิ่งที่ปกติไม่พึงรับประทาน  ใช้ปืนจ่อศีรษะ  หรือการกระทำต่อความเชื่อทางศาสนา เป็นต้น  หรือบางกรณีไม่ได้เป็นการทรมานต่อผู้นั้นโดยตรง แต่ใช้รูปแบบการข่มขู่ว่าจะทำร้ายครอบครัว ฆ่าพ่อแม่หรือลูก หรือกระทำต่อบุคคลอันเป็นที่รัก ทำให้ผู้ต้องหาต้องรับสารภาพ อย่างเช่นคดีนี้ ที่จำเลยบางคนให้ข้อมูล รวมทั้งได้เบิกความต่อศาลว่า เจ้าพนักงานตำรวจข่มขู่เขาว่า หากยังไม่ยอมรับสารภาพ จะนำมารดาและพี่น้องที่ถูกควบคุมตัวไว้ไปยิงทิ้งกลางทะเล เป็นต้น

ประเด็นที่น่ากังวลประการถัดมาในคดีนี้คือ ศาลได้พิพากษารับรองการดำเนินการที่ต่ำกว่ามาตรฐานการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ กล่าวคือ ศาลได้รับฟังถ้อยคำของจำเลยที่ให้ไว้แก่พนักงานตำรวจตามบันทึกคำให้การชั้นสืบสวน โดยเห็นว่าเป็นการกระทำก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุมจำเลยเป็นผู้ต้องหา  ไม่ใช่เป็นการให้ถ้อยคำให้ฐานะผู้ถูกจับ จึงไม่จำเป็นต้องมีการแจ้งสิทธิตามกฎหมายแก่จำเลยก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย ถ้อยคำดังกล่าวจึงสามารถนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ได้

ด้วยความเคารพต่อศาล ไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะเรียกการกระทำเช่นนั้นว่าเป็นการจับกุมหรือการเชิญตัว หรืออะไรก็ตาม หากการกระทำนั้นมีลักษณะเป็นการเอาตัวบุคคลไปไว้ในอำนาจของเจ้าหน้าที่  โดยบุคคลนั้นตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และไม่มีอิสระที่จะตัดสินใจได้ด้วยตนเองว่าจะไปไหนมาได้  ย่อมถือว่าบุคคลนั้นตกอยู่ในฐานะที่ถูกกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตหรือร่างกาย การกระทำดังกล่าวของเจ้าพนักงานตำรวจโดยไม่มีหมายจับและไม่มีอำนาจตามกฎหมายจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ข้อ 9 (1) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น รวมถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 ซึ่งบังคับใช้ในปัจจุบันด้วย โดยบัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ  การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตหรือร่างกายจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ

และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจอ้างว่าจำเลยไม่ใช่ผู้ถูกจับด้วยแล้ว บุคคลนั้นยิ่งต้องได้รับหลักประกันการคุ้มครองสิทธิที่สูงกว่าผู้ถูกจับหรืออย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่ผู้ถูกจับควรจะได้รับ ดังนั้น การปฏิบัติการของเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ในทางหลักการศาลจึงไม่ควรรับฟังถ้อยคำรับสารภาพและถ้อยคำใด ๆ ที่จำเลยให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย

หากตัดการรับฟังคำรับสารภาพของจำเลยออกไป แล้วมาพิจารณาในส่วนของพยานหลักฐานอื่นของฝ่ายโจทก์ พบว่า แทบไม่มีพยานหลักฐานใดเลยที่จะสามารถพิสูจน์จนสิ้นสงสัยได้ว่าจำเลยทั้ง 4 เป็นผู้กระทำความผิดตัวจริง ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคลที่ไม่มีพยานคนใดที่เห็นหรือยืนยันอย่างชัดเจนว่าทั้ง 4 คนเป็นผู้กระทำความผิด  ส่วนผลการตรวจสารพันธุกรรมที่ติดอยู่ในเล็บมือของผู้ตายอันเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพิสูจน์ความผิดของจำเลยนั้น ศาลก็ได้วินิจฉัยว่าอาจจะถูกชะล้างหายไปด้วยการใช้น้ำที่มีแรงดันสูงในการฉีดชำระล้าง การที่ไม่สามารถตรวจพบดีเอ็นเอของคนร้ายที่เล็บของผู้ตายจึงเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ส่วนข้อมูลจากกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุก็ไม่ปรากฎและระบุตัวจำเลยทั้ง 4 ได้เช่นกัน

ดังนั้น เมื่อพิจารณาในแง่หลักการสิทธิของจำเลยที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งถูกรับรองไว้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ข้อ 14 (2) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้  รวมถึงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227  ก็ได้บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย แล้วนั้น การที่ฝ่ายโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์จนสิ้นสงสัยได้ว่าจำเลยทั้ง 4 ได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ศาลจะต้องยกประโยชน์เห็นความสงสัยให้แก่จำเลย และพิพากษายกฟ้อง ปล่อยจำเลยไป

อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม

แนวโน้มการรับฟังพยานหลักฐานในลักษณะเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการสิทธิในการได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการดำเนินคดีอาญาที่ให้ความสำคัญกับหลักการตรวจสอบและค้นหาความจริงในเนื้อหาของคดี  โดยหลักการดังกล่าวกำหนดให้ภาระพิสูจน์จนสิ้นสงสัยตกเป็นของฝ่ายโจทก์ และประกันว่าจำเลยจะได้รับประโยชน์จากความสงสัย เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐและคุ้มครองประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่บกพร่อง ดังนั้น เมื่อรัฐกล่าวหาว่าประชาชนคนใดกระทำความผิดอาญา รัฐจึงต้องมีหน้าที่พิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริง  หากพิสูจน์ไม่ได้ ศาลในฐานะองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบอำนาจรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องยกฟ้องโจทก์ โดยการยกประโยชน์จากข้อสงสัยให้แก่จำเลย

ด้วยหลักการดำเนินคดีอาญาที่ให้ความสำคัญกับการค้นหาความจริงในเนื้อหา และรับรองสิทธิของจำเลยว่าต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และการให้สิทธิแก่จำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่นั้น พยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดที่ศาลจะรับฟังประกอบการวินิจฉัยคดีต้องเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นพยานหลักฐานที่มีการนำเข้ามาสืบในชั้นศาลโดยตรง ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีการตรวจสอบผ่านการถามซักถาม ถามค้าน ถามติงต่อหน้าศาล  ศาลได้เห็นตัวและสังเกตอากัปกิริยาของพยานเพื่อประกอบการชั่งน้ำหนักพยาน และวินิจฉัยคดีตามเหตุผลที่ได้มาจากการสืบพยาน ดังนั้น ศาลจึงต้องนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาในชั้นศาลมาประกอบการวินิจฉัยคดีเป็นสำคัญ ส่วนข้อเท็จจริงในชั้นสืบสวนและสอบสวน โดยเฉพาะคำรับสารภาพของจำเลย คำซัดทอดของจำเลย และคำให้การพยาน ซึ่งเป็นพยานที่เกิดจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียว  โดยที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน ถือเป็นพยานหลักฐานที่มีข้อบกพร่องและมีความน่าเชื่อถือน้อย ศาลจึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย

การรับฟังพยานหลักฐานของศาล โดยอาศัยคำรับสารภาพและคำซัดทอด ยังเป็นแนวทางที่ถูกใช้กับคดีอื่นด้วย เช่น คดีปล้นทรัพย์ชาวต่างชาติ  รวมถึงคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่บังคับใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงอย่างในจังหวัดชายแดนใต้ด้วย  และหากศาลใช้แนวทางในการรับฟังคำรับสารภาพ คำซัดทอดเช่นนี้ต่อไป โดยไม่สนใจที่จะค้นหาความจริงจนสิ้นสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ก็ย่อมมีความเสี่ยงที่ผู้ถูกลงโทษอาจจะไม่ใช่ผู้กระทำความผิดตัวจริง และไม่อาจช่วยยกระดับมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในชั้นสืบสวนสอบสวนที่มีปัญหาอยู่ในปัจจุบัน และอาจทำให้เป็นมาตรฐานว่าต่อไปการสืบสวนสอบสวนไม่จำเป็นต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์แล้ว  เพียงเอาคำรับสารภาพและคำซัดทอดของผู้ต้องหาหรือจำเลยก็เพียงพอ และจะทำให้การบังคับเอาคำรับสารภาพไม่ว่าด้วยวิธีการใดจะเกิดขึ้นอีกมากในอนาคต

…………………………………………………………………………………………

คดีอภิชาต ต้านรัฐประหาร : คสช. มีอำนาจตามระบอบแห่งการรัฐประหาร และประกาศห้ามชุมนุมไม่ขัด ICCPR

วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาคดีนายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ชูป้ายต้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หนึ่งวัน  วันดังกล่าวมีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านการรัฐประหาร  อภิชาตได้เข้าร่วมทำกิจกรรมในครั้งนั้นเพราะเห็นว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยและละเมิดรัฐธรรมนูญ   โดยเขาได้ชูป้ายกระดาษเอ 4 มีข้อความว่า “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน”  และในช่วงค่ำของวันนั้นเอง เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าเคลียร์พื้นที่และสลายกลุ่มประชาชน  อภิชาตถูกทหารจับกุมและนำตัวไปควบคุมไว้ตามอำนาจของกฎอัยการศึก 7 วัน ต่อมาเขาถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ 7/2557  และชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง   ไม่เลิกชุมนุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก  ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามหน้าที่ตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้  ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันควร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก มาตรา 216 และมาตรา 368

(ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)

การต่อสู้คดีดำเนินไปเพื่อยืนยันว่าการต่อต้านรัฐประหารไม่ได้เป็นความผิด  แต่เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และเป็นการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เดิมเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง  พนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์  ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2559 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลแขวงปทุมวันว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง  และย้อนสำนวนไปให้ศาลแขวงปทุมวันพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่

วันที่ 19 ธันวาคม 2559 ศาลแขวงปทุมวันได้มีคำพิพากษาใหม่ว่า อภิชาตมีความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 ให้พิจารณาโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ข้อ 12 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า และศาลยังพิพากษาว่าเขามีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรกด้วย  แต่การกระทำความผิดเป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ศาลจึงให้ลงโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558  ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด โดยให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท  แต่เนื่องจากศาลเห็นว่าอภิชาตไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสในการกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี

วันที่ 31 พฤษภาคม 2018 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาว่าเขามีความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 แต่ไม่ให้ลงโทษจำคุก ให้ลงเฉพาะโทษปรับ เพราะเห็นว่าเขาเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ  ไม่มีการใช้กำลังรุนแรงก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือความเสียหายใดๆต่อผู้อื่น  ไม่ได้ต่อต้านขัดขวางหรือขัดขืนการจับกุม พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าไม่ร้ายแรง   และได้พิพากษายกฟ้องความผิดชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคแรก เพราะเห็นว่าการชุมนุมของจำเลยเป็นไปโดยสงบ ไม่เข้าข่ายเป็นการมั่วสุมฯ ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีนี้ยังคงยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร กล่าวคือ ศาลยังเห็นว่าเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้กำลังยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามนัยของระบอบแห่งการรัฐประหารได้เป็นผลสำเร็จแล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติย่อมมีอำนาจที่จะออกประกาศหรือคำสั่งใดๆอันถือเป็นกฎหมายตามระบอบแห่งการรัฐประหารมาใช้ในการบริหารประเทศชาติได้  ส่วนสิทธิในการต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการทำรัฐประหารและหน้าที่พิทักษ์รักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 69 และ 70 ที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้นั้น  ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยไม่อาจยกรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างได้อีก จำเลยจึงยังมีความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558  ข้อ 12

อ่านคำพิพากษาทั้งหมดของทุกศาล

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ยังคงเดินตามแนวทางของคำพิพากษาศาลฎีกาก่อนหน้านี้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกา 45/2496 และคำพิพากษาศาลฎีกา 1662/2505 โดยยอมรับว่าเมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองสำเร็จแล้ว จึงมีสถานะเป็น “รัฐาธิปัตย์” ย่อมมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งอันมีผลเป็นกฎหมายขึ้นใช้บังคับได้  แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้  โดยการวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์ ได้หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “รัฐาธิปัตย์” แต่ได้มีการประดิษฐ์ถ้อยคำใหม่ขึ้นมาคือ ระบอบแห่งการรัฐประหาร ซึ่งไม่เคยปรากฏในคำพิพากษาฉบับก่อนหน้านี้เลย จะใกล้เคียงหน่อยก็คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 ที่ใช้ถ้อยคำว่า ระบบแห่งการปฏิวัติ

สำหรับประเด็นว่า ระบอบแห่งการรัฐประหาร คืออะไรนั้น ยังไม่ได้มีคำอธิบายที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในบทสัมภาษณ์ของสำนักข่าวประชาไท ว่า “ระบอบแห่งการรัฐประหารที่ใช้ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นี้ มันเป็นระบอบโดยตัวมันเองหรือจริงๆเป็นแค่ระบบ สำหรับผมการรัฐประหารไม่ใช่ระบอบ เรียกว่าระบบรัฐประหารน่าจะถูกกว่า มันเป็นระบบแห่งการรัฐประหาร ซึ่งสังกัดกับระบอบที่ครอบระบบอีกที ส่วนระบอบที่ครอบรัฐประหารคืออะไร ก็สุดสติปัญญาผมที่จะอธิบายได้” ซึ่งความเห็นดังกล่าวก็ค่อนข้างสอดคล้องกับถ้อยคำที่เคยปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 ที่ใช้คำว่า ระบบแห่งการปฏิวัติ ไม่ได้ใช้คำว่าระบอบ การที่ศาลอุทธรณ์ใช้คำว่าระบอบนั้น ย่อมมีนัยสำคัญอะไรบางอย่าง หรืออาจแสดงให้เห็นว่าศาลยอมรับการรัฐประหารว่าเป็นระบอบหนึ่งไปแล้ว

นอกจากนี้ ศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกประเด็นของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) ที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบตามที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้มาวินิจฉัยด้วย แต่เป็นการนำเงื่อนไขข้อจำกัดสิทธิตามข้อ 19 และ 21 ของกติกาฯดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัย โดยอ้างถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศก่อนการยึดอำนาจตามที่ปรากฎในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และวินิจฉัยว่าเมื่อสถานการณ์ของ “…ประเทศไทยก่อนการรัฐประหารอยู่ในสภาพที่ไม่มีความสงบเรียบร้อย ย่อมเข้าเงื่อนไขตามข้อยกเว้นดังกล่าว  จึงนับว่ามีความจำเป็นที่ คสช. จะได้ออกประกาศอันถือเป็นกฎหมายมาจำกัดสิทธิในการชุมนุมทางการเมือง  เพื่อให้สถานการณ์ของบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วได้..”

จากคำวินิจฉัยดังกล่าว มีข้อสังเกตอย่างน้อย 2 ประเด็น

ประเด็นแรก ข้อเท็จจริงในคำปรารภของรัฐธรรมนูญตามที่อ้างถึงนั้นถือเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องหรือยุติแล้วหรือไม่ เพราะคำปรารภในรัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกเขียนขึ้นโดยกลไกที่อาจเรียกได้ว่าเป็นคนของฝ่าย คสช. เอง จึงเป็นไปได้ที่จะเขียนขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การรัฐประหาร  ทั้งที่ในความเป็นจริงสถานการณ์ของประเทศอาจไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่ปรากฎในคำปรารภดังที่ศาลหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยทั้งหมด

ประเด็นถัดมาคือ ศาลหยิบยกเงื่อนไขเรื่อง ความสงบเรียบร้อย ขึ้นมาวินิจฉัย แต่ศาลไม่ได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนว่าสถานการณ์บ้านเมืองที่ศาลเชื่อตามคำปรารภของรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการคุกคามความสงบเรียบร้อยอย่างไร เพราะการตีความการใช้ข้อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมไม่ว่าจะเป็น ความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยสาธารณะ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ความปลอดภัยสาธารณะ การสาธารณสุข  หรือการปกป้องสิทธิของบุคคลอื่น ดังที่ระบุในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองนั้น  ถ้อยคำเหล่านี้มีแนวทางการตีความที่ระบุในเอกสารที่ชื่อ Siracusa Principles on the Limitation and Derogation Provisions in the International Covenant on Civil and Political Rights หรือเรียกสั้นๆว่า  หลักการไซราคูซา (Siracusa Principles) ซึ่งเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นเพื่อช่วยในการตีความการจำกัดหรือการรอนสิทธิตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ดังนั้น การที่ศาลจะบอกว่าสถานการณ์ใดเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นเรื่องใด ศาลก็ควรให้เหตุผลที่ชัดแจ้งกว่านี้ว่าเหตุใดศาลจึงเชื่อเช่นนั้น เพราะการไม่ให้เหตุผลหรือคำอธิบายที่ชัดเจน ย่อมเสี่ยงที่จะเป็นการตีความอย่างไม่สอดคล้องกับแนวทางการตีความข้อจำกัดตามที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองระบุไว้

ปัจจุบันคดีนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ฝ่ายโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคแรก  ส่วนฝ่ายจำเลยได้โต้แย้งทุกประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับศาลอุทธรณ์ โดยเฉพาะประเด็นอำนาจของคณะรัฐประหารในการออกประกาศหรือคำสั่งให้มีฐานะเป็นกฎหมาย และประเด็นการตีความข้อจำกัดเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงออกตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ด้วยหวังว่าศาลฎีกาจะได้ตีความใหม่เพื่อสร้างบรรทัดฐานการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลมากขึ้น  ดังนั้น คดียังต้องติดตามกันต่อว่าผลสุดท้ายแล้วศาลฎีกาจะมีคำวินิจฉัยต่อเรื่องเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร

…………………………………………………………………………………………

คดีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส : เค้ารางของการลอยนวลพ้นผิด และภาพจากกล้องวงจรปิดที่หายไป

วันที่ 6 มิถุนายน 2561 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อ่านคำสั่งไต่สวนการชันสูตรพลิกศพนายชัยภูมิ ป่าแส แกนนำเยาวชนชาวลาหู่ นักกิจกรรมทางสังคมที่ถูกทหารสังกัดกองร้อยทหารม้าที่ 2 บก. ควบคุมที่ 1 หน่วยเฉพาะกิจกรรมทหารม้าที่ 5 ที่ตั้งจุดตรวจค้นยาเสพติดบริเวณด่านตรวจบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า นายชัยภูมิมียาเสพติดและต่อสู้เจ้าหน้าที่ โดยในคำสั่งไต่สวนของศาลระบุว่า ผู้ตายคือ นายชัยภูมิ ป่าแส  ตายที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง ถนนหมายเลข 1178 สายรินหลวง – แม่นะ หมู่ที่ 3 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ถูกพลทหารสุรศักดิ์ รัตนวรรณ ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิง กระสุนเข้าที่ต้นแขนด้านนอกทะลุต้นแขนด้านในและกระสุนแตกทะลุเข้าไปในลำตัวบริเวณสีข้างด้านซ้ายเหนือราวนม กระสุนปืนทำลายเส้นเลือดใหญ่หัวใจและปอดจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย”

คำสั่งไต่สวนการตายดังกล่าวเป็นขั้นตอนหนึ่งในชั้นสอบสวน คดีนี้ยังต้องมีการดำเนินคดีต่อไปเพื่อการค้นหาความจริงและหาผู้รับผิดชอบ  โดยพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการสอบสวนไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีข่าวคราวความคืบหน้าของคดีนี้มากนัก

พยานหลักฐานสำคัญที่อาจจะช่วยบอกความจริงและคลี่คลายคดีนี้ได้คือ ข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ ซึ่งมีความพยายามอย่างต่อเนื่องจากทั้งสาธารณะชน ทนายความ ครอบครัว และองค์กรต่างๆ ในการเรียกร้องให้มีการเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดดังกล่าว  รวมทั้งขอให้ศาลเรียกข้อมูลดังกล่าวมาพิสูจน์ในชั้นไต่สวนการตาย แต่ก็ไม่เป็นผล ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลบันทึกภาพดังกล่าวแต่อย่างใด ไม่ว่าจะในทางสาธารณะ หรือในชั้นศาล

และหลังจากมีคำสั่งไต่สวนการตายของชัยภูมิ ป่าแสออกมาไม่นาน เครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการทหารบก เพื่อขอข้อมูลภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดเหตุการณ์ดังกล่าว  แต่ปรากฏว่าสำนักงานเลขานุการกองทัพบก ได้มีหนังสือลงวันที่ 6 สิงหาคม 2561 ตอบกลับมาว่า  ไม่มีภาพของวันที่ 17 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ เนื่องจากเป็นระบบบันทึกซ้ำอัตโนมัติของเครื่อง”

»กองทัพบกตอบกลับทนายชัยภูมิ ป่าแส ระบุไม่พบภาพข้อมูลใดๆในกล้องวงจรปิดวันเกิดเหตุ

คำชี้แจงดังกล่าวทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าภาพกล้องวงจรปิดหายไปจริงหรือไม่ หายไปได้อย่างไร และใครจะต้องรับผิดชอบกรณีที่พยานหลักฐานสำคัญเช่นนี้หายไป ทำไมถึงมีการไปถอดเครื่องบันทึกข้อมูลกล้องวงจรปิดภายหลังจากวันที่เกิดเหตุการณ์ล่าช้าถึง 7 วัน ซึ่งเสี่ยงที่ระบบจะบันทึกข้อมูลทับข้อมูลเดิม  และการให้หน่วยงานต้นสังกัดของทหารที่เป็นผู้วิสามัญฆาตกรรมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวัตถุพยานเป็นวิธีการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่  แล้วทำไมกองทัพถึงต้องเก็บกล้องวงจรปิดไว้เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน ไม่รีบส่งให้กับพนักงานสอบสวนเพื่อตรวจสอบ และสุดท้ายจริงๆแล้วภาพของกล้องวงจรปิดถูกบันทึกทับหรือหายไปจริงหรือไม่

»ข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิดวิสามัญชัยภูมิ ป่าแสหายไป ใครต้องรับผิดชอบ?

วันที่ 9 สิงหาคม 2561 พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3  ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสำนักงานเลขานุการกองทัพบก มีหนังสือชี้แจงกรณีขอให้เปิดเผยภาพในกล้องวงจรปิดดังกล่าวว่า  ไม่พบอยู่แล้วเพราะกล้องไม่มีตรงนั้น กล้องวงจรปิดมีก่อนถึง ก็อย่างที่เคยเห็นกันนั้นละ มีคนเดินผ่านหน้ากล้องเฉยๆ และภาพทั้งหมดเราก็ส่งไปให้หมดแล้ว” (ลิ้งค์ข่าว)

คำสัมภาษณ์ของแม่ทัพภาค 3 ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของเขาที่เคยให้ไว้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560 ในช่วงนั้นสื่อมวลชนรายงานว่า พลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่าได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว พบว่าทหารทำทุกอย่างตรงกับคำให้การของพล.ต.ท.พูลทรัพย์ฯ พร้อมกล่าวว่า ผมว่าสมเหตุสมผลในการยิงป้องกันตัว ถ้าเป็นผมอาจกดออโต้ก็ได้” (คลิปข่าว) และไม่สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนในวันที่ 28 มีนาคม 2560 ว่า “ภาพไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด ต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปเพราะถือว่าเป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่ง” (คลิปข่าว) รวมถึงไม่สอดคล้องกับคำให้การของร้อยโทธรรมรัตน์ ทิมกลางดอน ที่ให้ไว้ในชั้นสอบสวนในฐานะพยานเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 ว่า บริเวณจุดตรวจรินหลวงมีกล้องวงจรปิด 9 ตัว เสีย 3 ตัวใช้ได้ 6 ตัว และในบริเวณลานสำรวจตรวจค้นรถยนต์มีกล้องวงจรปิดส่องบริเวณจุดเกิดเหตุจำนวน 1 ตัว และขณะเกิดเหตุกล้องบริเวณจุดตรวจใช้การได้  หลังเกิดเหตุได้เปิดดูภาพที่กล่องบันทึกข้อมูล ดูภาพบันทึกเหตุการณ์ขณะตรวจค้น เห็นเป็นการตรวจค้นธรรมดาเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชา แต่ดูไม่จบ โดยดูให้เห็นแต่เพียงว่ามีการบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ในกล่องบันทึกข้อมูลเท่านั้น เมื่อเห็นว่ามีบันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าวจึงรายงานผู้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชาสั่งห้ามไม่ให้ไปยุ่งกับกล่องบันทึกข้อมูลนั้น”

จากคำสัมภาษณ์ คำให้การดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ และกล้องดังกล่าวสามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุไว้ได้ และเจ้าหน้าที่บางส่วนทั้งฝ่ายทหารและตำรวจน่าจะได้ดูภาพแล้ว แต่ทำไมอยู่ๆภาพจากกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุซึ่งถือเป็นพยานหลักฐานชิ้นสำคัญถึงหายไป  หากหายไปเพราะบันทึกซ้ำจริง เหตุใดไม่มีการให้ข้อมูลแก่สาธารณะชนแต่แรก ทั้งที่สามารถให้ข้อมูลได้โดยไม่กระทบต่อรูปคดี  แล้วใครจะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ การหายไปของข้อมูลเกิดจากความบกพร่อง หรือความจงใจ เรื่องนี้จะต้องมีการตรวจสอบ และจะต้องมีผู้รับผิดชอบ

…………………………………………………………………………………………

คดีเผาบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยบน/ใจแผ่นดิน  : ศาลปกครองสูงสุดรับรองความเป็นชุมชนดั้งเดิม แต่ก็กลับไปไม่ได้ ซ้ำร้ายยังจะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี

เมื่อกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแล้ว กลุ่มที่เป็นที่รับรู้ในทางสาธารณะมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกไล่รื้อและอพยพลงมาจากพื้นที่ดั้งเดิมคือบ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบน หลังการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

หลังเหตุการณ์ไล่รื้อและเผาทำลายบ้านและทรัพย์สินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดังกล่าวเมื่อกลางปี 2554 พวกเขาได้พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยการได้รับความช่วยเหลือจากสภาทนายความ  รวมทั้งการสนับสนุนจากบุคคลหรือองค์กรที่รับไม่ได้รับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่หนทางในการเรียกร้องความเป็นธรรมไม่ไช่เรื่องง่าย ผู้คนที่เป็นปากเป็นเสียงให้พวกเขาประสบชะตากรรมที่น่าเศร้า นายทัศกมล โอบอ้อมหรืออาจารย์ป๊อด ผู้ที่ช่วยเหลือชาวบ้านหลังเหตุการณ์เผาบ้านไล่รื้อ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2554 และสุดท้ายไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้  ส่วน บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ แกนนำในการปกป้องสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย – ใจแผ่นดิน ผู้เป็นปากเสียงให้ชาวบ้านและทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความในคดีฟ้องศาลปกครอง ก็ได้หายตัวไปหลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวไว้เมื่อ 17 เมษายน 2557 ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม แต่ก็มีข่าวดีเล็กๆเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้มีมติรับกรณีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ หลังจากรอคอยมาเกือบ 4 ปี

»จากปู่โอี้ถึงบิลลี่ การเรียกร้องสิทธิชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย

»ประเทศไทยในวันผู้สูญหายสากล บิลลี่และคนอื่นยังคงหาย กฎหมายก็ยังไร้วี่แวว

»รายงาน 4 ปีการบังคับสูญหายบิลลี่ ความยุติธรรมที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

หลังปฏิบัติการที่เรียกว่า “ยุทธการตะนาวศรี” เมื่อปี 2554 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังบังคับให้ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมต้องโยกย้ายออกจากที่ดินและชุมชนบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน อันเป็นถิ่นกำเนิด ที่ทำกินและอยู่อาศัยของพวกเขามาหลายชั่วอายุคน ทั้งได้เผาทำลายบ้านเรือน ยุ้งฉาง เรือกสวนไร่นาของพวกเขา  มีบ้านที่ถูกเผาทำลายเกือบ 100 หลัง ทำให้ในปี 2555 ชาวกะเหรี่ยง 6 คน นำโดยนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อศาลปกครองกลาง

วันที่ 7 กันยายน 2559  ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาว่าการเผาบ้านและยุ่งฉางโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการเผาทำลายเครื่องใช้ส่วนตัวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นเงินคนละ 10,000 บาท

ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษารับรองว่าบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และวินิจฉัยว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการรื้อถอน เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 เป็นการละเมิด เป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นไม่สมควรแก่เหตุ  รวมถึงไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ตลอดจนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนของการจัดการทรัพยากรที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม จึงพิพากษาให้กรมอุทยานฯต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 จากการรื้อถอนเผาทำลายบ้านและยุ่งฉาง โดยเฉลี่ยแล้วรายละประมาณ 50,000 บาท

อ่านคำพิพากษาศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดฉบับเต็ม

หลังจากมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว แทนที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะรับผิดชอบดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูเยียวยาและให้ความคุ้มครองแก่ชาวกะเหรียงที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่  ซึ่งรวมถึงการทำให้ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวสามารถดำเนินวิถีชีวิตตามภูมิปัญหาของชาวกะเหรี่ยงได้ แต่กลับปรากฎว่าในช่วงวันที่ 25-31 ตุลาคม 2561 มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อกล่าวโทษและให้ดำเนินคดีกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมที่ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง  ว่าพวกเขาได้กระทำความผิดฐานบุกรุกครอบครองพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงก่อนที่เจ้าหน้าที่จะบังคับโยกย้ายให้ชาวกะเหรี่ยงดังกล่าวออกจากพื้นที่บ้านบางกลอยบน- ใจแผ่นดิน และเผาทำลายเผาบ้านเรือนของพวกเขาในปี 2554

ชาวกะเหรี่ยงที่ตกเป็นเป้าหมายของการที่จะถูกดำเนินคดีคือ ชาวกะเหรี่ยง 6 คนหรือทายาทของพวกเขา  หนึ่งในนั้นคือทายาทของนายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ผู้นำจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน วัย 107 ที่เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2561

การที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่ากลุ่มชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมหมายความว่ากะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวอยู่ที่นั้นมานานก่อนการประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จึงย่อมไม่ถือว่าเป็นผู้บุกรุก  และเมื่อชุมชนของพวกเขาถูกรับรองจากศาลปกครองสูงสุดว่าเป็นชุมชนดั้งเดิม พวกเขาก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา รวมถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 และ 57 และยังได้รับความคุ้มครองตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงตามที่ศาลปกครองสูงสุดเน้นย้ำไว้อีกด้วย ดังนั้น การอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวย่อมไม่ถือว่ามีเจตนาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอันจะถือเป็นความผิดตามกฎหมายได้

ความพยายามของเจ้าหน้าที่บางคนในสังกัดของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่พยายามแจ้งความดำเนินคดีปู่คออี้ และชาวกะเหรี่ยงผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองดังกล่าว  นอกจากแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับต่อคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ยาก มีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งหรือพยายามแก้แค้นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ฟ้องคดี  รวมถึงมีผลเป็นการข่มขู่ไม่ให้ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบอีกหลายสิบคนที่บ้านเรือนถูกเผาทำลายในคราวเดียวกันนั้น กล้าออกมาเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมเช่นเดียวกับผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน

ปัจจุบัน (2 มกราคม 2562) แม้การพยายามดำเนินคดีกับชาวกะเหรี่ยงดังกล่าวจะยังไม่มีความคืบหน้าใดๆมากนัก แต่ก็ไม่อาจวางใจได้ จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในปี 2562 นี้

…………………………………………………………………………………………

คดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์ช่วงสงครามยาเสพติด : 14 ปีของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม สุดท้ายก็ไม่มีใครต้องรับผิด

วันที่ 11 ตุลาคม 2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง วัยรุ่นในจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ถูกฆาตกรรมในช่วงสงครามยาเสพติดปี 2546 โดยให้ยกฟ้องตำรวจ 6 คน ที่ตกเป็นจำเลย เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนางสาว อ. (ขอใช้อักษรย่อแทนชื่อพยาน) มีพิรุธไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ  ประกอบกับจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธมาโดยตลอด  เมื่อมีพฤติกรรมน่าสงสัยว่าจำเลยทั้งหกกระทำความผิดจริงหรือไม่  จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

คดีนี้ต่อสู้มายาวนานถึง 14 ปี และเป็นกรณีเดียวที่มีความคืบหน้าในทางคดีมากที่สุด จากนับพันคดีที่เกิดขึ้นช่วงสงครามยาเสพติดและจากกว่า 20 คดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตมีลักษณะการตายของที่คล้ายกันคือ ถูกยิงหรือถูกแขวนคอ แล้วนำศพมาแขวนคอ และบางรายหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ผู้เสียชีวิตหลายรายถูกยิงกลางเมืองในเวลากลางวันต่อหน้าประชาชนเป็นจำนวนมาก ผู้เสียชีวิตบางรายถูกพนักงานสอบสวนดำเนินคดีและส่งฟ้องศาล และศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ต่อมาถูกลอบยิงเสียชีวิต ส่วนผู้เสียชีวิตที่ถูกแขวนคอมีหลายรายที่ศพจะถูกนำมาแขวนในที่สาธารณะ หลังวัด ริมถนน ที่พักผู้โดยสาร หรือสถานที่อื่นๆ ที่ไม่ลับตาคน เพื่อให้ได้มีผู้พบเห็น โดยมีจุดประสงค์ในลักษณะเพื่อประจานศพ และข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวแก่ผู้กระทำผิดรายอื่นๆ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้แม้แต่รายเดียว   อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอายุความยังไม่สิ้นสุด เพราะคดีฆ่าผู้อื่นมีอายุความ 20 ปี  จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องดำเนินการให้มีการสืบสวนสอบสวนหาคนร้ายที่แท้จริงมาลงโทษให้ได้

ตลอดระยะเวลาของการดำเนินคดี ญาติของผู้ตายต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงความยุติธรรม พวกเขาต้องเดินทางร้องเรียนหลายหน่วยงาน เกิดการคุกคามญาติและพยานอยู่บ่อยครั้ง พยานสำคัญบางส่วนหายไป บางรายเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ

สุดท้ายมีการดำเนินคดีกับตำรวจ 6 นาย การต่อสู้คดีเหมือนจะไปได้ดี เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงตามที่ฝ่ายโจทก์และโจทก์ร่วมนำเสนอ และได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลย โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ และจำเลยที่ 6 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนจำเลยที่ 4 ศาลยกฟ้อง  และต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ด้วย ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ

อย่างไรก็ดี วันที่ 11 ตุลาคม 2561 ศาลฎีกาได้พิพากษาให้ยกฟ้อง ให้จำเลยทั้งหมดพ้นผิด โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นข้อเท็จจริง โดยหยิบยกข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานปากนางสาว อ. มาวินิจฉัยเป็นหลัก ซึ่งศาลเห็นว่า คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ที่ผู้ตายถูกฆ่า  โจทก์และโจทก์ร่วมมีเพียงนางสาว อ เป็นพยานปากเดียวที่เบิกความยืนยันว่าเห็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 นำตัวผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวนชั้น 2 ของสถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์  การรับฟังพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนี้จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง

เหตุที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพยานปากนางสาว อ. ไม่มีน้ำหนักนั้น เพราะศาลเห็นว่านางสาว อ ไม่ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรจังหาร และพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเช่นเดียวกับที่ให้การไว้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเบิกความต่อศาล ซึ่งศาลเชื่อว่าพยานสามารถให้การต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าวได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวอันตรายใดๆ เพราะอยู่ในความคุ้มครองของตำรวจกองบังคับการปราบปรามแล้ว  เมื่อพยานไม่ให้การในรายละเอียดต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าว จึงถือว่ามีพฤติการณ์เป็นพิรุธส่อแสดงให้สงสัยว่าพยานถูกข่มขู่เพื่อให้การเท็จในชั้นสอบสวนและเกรงกลัวอันตรายตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่  พยานปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้แตกต่างไปจากคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ที่ได้เคยวินิจฉัยว่าการที่นางสาว อ ให้การกับพนักงานสอบสวนไว้ในลักษณะที่แตกต่างจากให้การไว้กับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและชั้นศาลนั้น ดูจากพฤติการณ์และพยานหลักฐานอื่นประกอบแล้วน่าเชื่อได้ว่าเกิดจากความเกรงกลัวจากการถูกคุกคาม ดังนั้น พยานปากนางสาว อ. จึงถือเป็นประจักษ์พยานและมีความน่าเชื่อถือ

นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกายังให้น้ำหนักการวินิจฉัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนางสาว อ  กับนาง พ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม  โดยศาลฏีกาได้ตั้งคำถามต่อประเด็นดังกล่าวว่าเหตุใดนาง พ  จึงไปรับพยานออกมาจากแฟลตตำรวจของกองบังคับการปราบปรามแล้วพาไปให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน  เหตุใดจึงไม่ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไปสอบปากคำพยานที่กองบังคับการปราบปราม ทั้งๆที่นาง พ ทราบอยู่แล้วว่าพยานอยู่ในความคุ้มครองของกองบังคับการปราบปรามและสามารถจะทำเช่นนั้นได้ แต่กลับไม่กระทำโดยไปรับพยานออกมาจากการคุ้มครองของกองบังคับการปราบปราม  และอีกหนึ่งประเด็นที่ศาลหยิบยกขึ้นมาตั้งคำถามคือ กรณีที่นางสาว อ ได้ขอเงินจำนวนหนึ่งจากนาง พ เพื่อเดินทางไปจังหวัดสระแก้ว  และเพื่อใช้วางมัดจำห้องเช่า

อีกหนึ่งประเด็นที่ศาลฎีกาหยิบมาวินิจฉัยคือประเด็นสัญญาณโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1   ศาลฎีกาเห็นว่า ช่วงเวลาที่นางสาว อ เห็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 นำตัวผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวนคือช่วงเวลาหลังจาก 19 นาฬิกาไปแล้วแต่ไม่เกิน 19.15 นาฬิกา เมื่อพิจารณาข้อมูลการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่จำเลยที่ 1 ใช้อยู่ประจำ ปรากฏว่ามีการใช้โทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวในวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 เวลา 19.12.08 นาฬิกา ที่บริเวณถนนบายพาสกาฬสินธุ์ และเวลา 19.12.36 นาฬิกา ที่เชียงขวัญ  จังหวัดร้อยเอ็ด หากดูระยะเวลานับตั้งแต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เริ่มพาผู้ตายออกไปจากห้องสอบสวนช่วงเวลา 19 ถึง 19.15 นาฬิกา ศาลจึงเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะออกจากห้องสืบสวนเดินไปขึ้นรถแล้วเดินทางไปใช้โทรศัพท์ที่ถนนบายพาสกาฬสินธุ์และที่เชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ดในเวลาดังกล่าว ซึ่งประเด็นนี้ เดิมศาลอุทธรณ์เห็นว่าแม้คำเบิกความของพยานปากนางสาว อ จะเบิกความเรื่องเวลาคาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ไม่ได้กระทบสาระสำคัญของคดี โดยศาลอุทธรณ์ได้ฟังพยานหลักฐานอื่นๆประกอบแล้วเห็นว่าระยะเวลาที่จำเลยนำตัวผู้ตายออกไปสอดคล้องกับระยะเวลาที่ปรากฏสัญญาณโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1

อ่านคำพิพากษาทุกชั้นศาลฉบับเต็ม

แม้ในทางคดีจะสิ้นลงลงแล้วโดยคำพิพากษาศาลฎีกาให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด แต่คดีนี้ยังมีประเด็นปัญหาที่ต้องนำมาศึกษาวิเคราะห์ในทางวิชาการเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นบทบาทของศาลฎีกาในการพิจารณาข้อเท็จจริง ประเด็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เน้นหยิบยกคำให้การของพยานเพียงปากเดียวมาวินิจฉัย ทั้งที่คดีที่มีพยานหลักฐานจำนวนมาก มีพยานบุคคลหลายปาก และยังมีประเด็นน่าสงสัยอีกหลายเรื่องที่ศาลไม่กล่าวถึง อาทิ ประเด็นการที่มีบุคคลมาประกันตัวผู้ตายไปโดยญาติไม่รู้เรื่อง ซึ่งบุคคลที่มาประกันตัวนั้นเป็นบุคคลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของโรงพักติดต่อมา แล้วมีการทำบันทึกประจำวันว่าได้มีการปล่อยตัวเด็กกลับไป ลงประจำวันไว้ พยานหลักฐานเหล่านี้มีปรากฏในสำนวนคดีที่พนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำไว้อย่างละเอียด แต่ศาลฎีกากลับมิได้หยิบยกมาวินิจฉัย

คำถามที่อาจจะต้องทิ้งท้ายไว้ก็คือบทบาทของศาลฎีกาในการพิจารณาประเด็นข้อเท็จจริงจะมีขอบเขตเพียงใด โดยเฉพาะหากข้อเท็จจริงนั้นยุติแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และการที่ศาลฎีกาทำการวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่โดยไม่ได้นั่งพิจารณาถือว่าถูกต้องตามหลักการหรือไม่เพียงใด ซึ่งประเด็นนี้ ควรต้องมีการทบทวนกันอย่างจริงจังต่อไป

โดยหลักการในหลายประเทศ ศาลที่มีบทบาทหลักในการพิจารณาและวินิจฉัยข้อเท็จจริงคือศาลชั้นต้น ซึ่งถือเป็นศาลข้อเท็จจริงที่ต้องมีการพิจารณาข้อเท็จจริงโดยการนั่งพิจารณา ไต่สวนหรือสืบพยาน (Trial Court) และประเด็นข้อเท็จจริงที่ผ่านศาลชั้นต้นมาแล้ว อาจจะถูกตรวจสอบอีกครั้งโดยศาลอุทธรณ์ ในการพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ศาลอุทธรณ์จะมีฐานะเป็นศาลพิจารณาชั้นที่สอง (Second Trial Court) โดยมีหน้าที่ตรวจสอบค้นหาความจริงด้วยวิธีการสืบพยานหลักฐานและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในประเด็นข้อเท็จจริงที่คู่ความอุทธรณ์โต้แย้งนั้นด้วยตนเอง  เพราะการได้เห็นและได้ฟังพยานหลักฐานนั้นด้วยตนเองย่อมทำให้การวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้อย่างกระจ่างชัดและเป็นไปโดยถูกต้องที่สุด และประเด็นข้อเท็จจริงจึงควรยุติอยู่ที่ศาลอุทธรณ์  ส่วนศาลฎีกาจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย (Review Court) เพราะการฎีกาเป็นการเรียกร้องบรรทัดฐานทางกฎหมาย อีกทั้งการให้ศาลสูงสุดพิจารณาข้อเท็จจริงโดยไม่ได้นั่งสืบพยานเลยเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ โดยเฉพาะหลักจิตวิทยาพยานหลักฐาน และหากกำหนดให้ศาลฎีกาเป็นศาลพิจารณาอีกชั้น ก็จะทำให้มีการพิจารณาข้อเท็จจริงถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและยิ่งกลับทำให้ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้ เนื่องจากเมื่อระยะเวลาผ่านไปนานพยานอาจหลงลืมและยังเป็นช่องว่างที่ยาวนานทำให้เกิดการข่มขู่หรือชักจูงพยานให้ทำการให้การในทางที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงได้

»กระบวนการยุติธรรมกับรัฐธรรมนูญใหม โดย คณิต ณ นคร

»แนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย