ชุมนุมสาธารณะ คุ้มครองเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ?

ชุมนุมสาธารณะ คุ้มครองเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ?

ในการชุมนุมสาธารณะ เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ให้ความสะดวกแก่การชุมนุมสาธารณะตั้งแต่ระยะก่อนมีการชุมนุมไปจนถึงระยะหลังการชุมนุมเสร็จสิ้นลง เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปได้อย่างราบรื่นและสอดคล้องกับพันธกรณีของรัฐที่มีหน้าที่ต้องคุ้มครองและประกันเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามกติการะหว่างประเทศ ทั้งนี้ แม้การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและการสลายการชุมนุมจะสามารถกระทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย การกระทำดังกล่าว ก็ย่อมต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศและแนวปฏิบัติของสหประชาชาติด้วย

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยเข้าเป็นรัฐภาคี ได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบเอาไว้ และรัฐภาคีมีพันธกรณีในการให้ความคุ้มครองและประกันเสรีภาพของประชาชนดังกล่าวให้ได้ตามมาตรฐานสากลที่วางไว้ภายใต้กติการะหว่างประเทศ โดยรัฐจะต้องไม่ออกกฎหมายและไม่บังคับใช้กฎหมายอันเป็นการริดรอนเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนเกินสมควร เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวนั้นได้อย่างเต็มที่

ในประเด็นเรื่องการคุ้มครองและประกันเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบนั้น เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองและควบคุมการชุมนุมสาธารณะทั้งหมด 3 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะก่อนการชุมนุมสาธารณะ

ในช่วงก่อนที่จะมีการชุมนุมสาธารณะเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องไม่แทรกแซง โดยการห้าม จำกัด ขัดขวาง หากแต่ต้องอำนวยความสะดวกเพื่อให้การชุมนุมโดยสงบสามารถเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเข้ามาช่วยกันพื้นที่เพื่อให้สามารถจัดการชุมนุมสาธารณะได้ จัดให้มีหน่วยรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม รวมไปถึง เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลกฎหมายและนโยบายในการจัดการชุมนุมสาธาณะของรัฐได้ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่การเผยแพร่ข้อมูลนั้นจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคมอย่างมากจนเกินส่วนไปกว่าประโยชน์สาธารณะที่จะได้จากการเผยแพร่ข้อมูลนั้น เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐสามารถกำหนดขั้นตอนให้ผู้จัดการชุมนุมแจ้งการชุมนุมก่อนได้ ดังที่พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะของไทย ซึ่งใช้บังคับในสถานการณ์ปกติ ได้กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมก่อนเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี การกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมก่อนนั้น เป็นไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าอำนวยความสะดวกแก่ผู้จัดการชุมนุม และช่วยดูแลสถานการณ์ไม่ให้กระทบสิทธิของผู้อื่นมากจนเกินสมควรเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการขออนุญาตชุมนุมแต่อย่างใด ทั้งนี้ ต่อให้ผู้จัดชุมนุมไม่ได้แจ้งการชุมนุมก่อนเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่รัฐยังคงมีหน้าที่จะต้องคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบอยู่ดี

  1. ระหว่างการชุมนุมสาธารณะ

เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ควบคุมการชุมนุม โดยจะต้องช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมและบุคคลอื่นๆ เช่น นักข่าว บุคลากรทางการแพทย์ และรวมถึงประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นผู้ชุมนุมด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่การชุมนุมมีความตึงเครียด โดยเจ้าหน้าที่ควรเข้าเป็นตัวกลางช่วยเจรจาเพื่อให้สถานการณ์สงบลง เพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้ชุมนุม รวมถึงต้องป้องกันมิให้เกิดการขัดขวางการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้าม

นอกจากนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ระหว่างการชุมนุมนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องไม่กระทำการใดๆที่เป็นการแทรกแซงหรือเป็นอุปสรรคต่อการชุมนุมโดยสงบโดยไม่มีเหตุอันสมควร และต้องไม่ใช้อำนาจในการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลเกินขอบเขต เช่น การค้นตัวผู้ชุมุนมจะต้องจำกัดเฉพาะในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลได้กระทำหรือกำลังจะกระทำผิดร้ายแรงในที่ชุมนุม เป็นต้น

  1. ระยะหลังการชุมนุมสาธารณะ

ภายหลังจากการชุมนุมสาธารณะสิ้นสุด เจ้าหน้าที่รัฐยังคงมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับประชาชนผู้ร่วมชุมนุมและบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางออกจากพื้นทีการชุมนุมได้อย่างปลอดภัย รวมไปถึงช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้จัดการชุมนุมในการขนย้ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการชุมนุมออกจากพื้นที่อีกด้วย

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องไม่กระทำการคุกคามหรือดำเนินคดีใดๆโดยมิชอบกับผู้ร่วมชุมนุม และหากมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รัฐจะต้องจัดให้มีองค์กรอิสระและเป็นกลางเข้าสอบสวนการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดดังกล่าว และต้องจัดให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าว สามารถเข้าถึงกระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหายที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอ รวดเร็ว และเป็นธรรมได้

รัฐสามารถจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้ แต่การจำกัดเสรีภาพจะต้องเป็นไปตามหลักสากลตามกติการะหว่างประเทศ

การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมนั้น จะต้องกระทำโดยมีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง ไม่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมตามอำเภอใจ และกระทำโดยมีเหตุอันชอบด้วยกฎหมาย อันได้แก่ เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ การสาธารณสุขหรือศีลธรรมของสังคม หรือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นเท่านั้น นอกจากนี้ การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมนั้น จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น ได้สัดส่วน ไม่เป็นการจำกัดการชุมนุมแบบปูพรมโดยไม่มีเหตุอันควร และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ โดยจะต้องไม่ก้าวล่วงถึงการจำกัดเนื้อหาและไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

  1. การห้ามให้มีการจัดการชุมนุม

การห้ามการชุมนุมได้การชุมนุมหนึ่งจะต้องถูกพิจารณาในฐานะทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจำกัดสิทธิในการชุมนุมเจ้าหน้าที่รัฐควรพิจารณาใช้มาตรการที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิน้อยที่สุดเป็นมาตรการแรก นอกจากนั้นรัฐควรพิจารณาอนุญาตให้มีการชุมนุมก่อน และพิจารณาในภายหลังว่ามีความจำเป็นต้องใช้มาตรการใดๆ ต่อการทำความผิด ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมหรือ ใหม่แทนการกำหนด ข้อจำกัดไว้เป็นการล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงทั้งหมดในการชุมนุม

  1. การใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการสลายการชุมนุม

ตามกติการะหว่างประเทศ ความเห็นทั่วไปหมายเลข 37 (General Comment No.37) ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) และแนวปฏิบัติด้านสิทธิมุนษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement)  การชุมนุมใดๆ ก็ตามที่เป็นการชุมนุมโดยสงบ แม้การชุมนุมนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากรัฐได้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมไว้ หรือเป็นการแสดงออกเพื่อแสดงอารยขัดขืน การชุมนุมเช่นว่านั้น ก็ยังคงได้รับความคุ้มครองภายใต้กติการะหว่างประเทศอยู่ และรัฐยังคงมีพันธกรณีที่จะต้องให้ความคุ้มครองและประกันเสรีภาพเช่นว่านั้นให้กับประชาชน

อย่างไรก็ดี สืบเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่มีหน้าที่จะต้องเข้าควบคุมการชุมนุมสาธารณะให้เป็นอย่างราบรื่นและป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับผู้ชุมนุมและบุคคลอื่นๆ ในบางกรณี เจ้าหน้าที่รัฐอาจใช้ดุลพินิจในการเข้าสลายการชุมนุมได้ ทั้งนี้ การเข้าสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่นั้น มีข้อพึงระวังว่าจะต้องกระทำตามมาตรฐานสากลตามกติการะหว่างประเทศและแนวปฏิบัติของสหประชาชาติด้วย กล่าวคือ การเข้าสลายการชุมนุมนั้นจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น เช่น การชุมนุมนั้นไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ เป็นต้น โดยมาตรการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ต่อผู้ชุมนุมนั้น จะต้องเริ่มจากการใช้มาตรการที่ไม่ใช่การใช้กำลังก่อนเสมอ

หากมาตรการที่ไม่ใช่การใช้กำลังไม่ได้ผลและมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐในการสลายการชุมนุมจะต้องกระทำโดยมีอำนาจตามกฎหมาย โดยกระทำเท่าที่จำเป็น ได้สัดส่วน ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือการบาดเจ็บเกินสมควร และไม่เลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ การเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ในเบื้องต้น จะต้องไม่เป็นการใช้กำลังสลายการชุมนุมอย่างไม่เลือกหน้า กล่าวคือ การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่นั้น จะต้องกระทำต่อกลุ่มที่ใช้หรือกำลังจะใช้ความรุนแรงเท่านั้น เว้นแต่ว่าจะไม่สามารกระทำเช่นว่านั้นได้ เจ้าหน้าที่จึงค่อยใช้มาตรการสลายการชุมนุมแบบวงกว้าง เช่น แก๊สน้ำตา โดยจะต้องมีการเตือนผู้ชุมนุมก่อนและต้องให้เวลาผู้ชุมนุมพอสมควรในการยุติการชุมนุมอย่างปลอดภัยก่อนจึงจะใช้มาตรการดังกล่าวได้ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่อาจไม่ต้องเตือนก่อนใช้มาตรการดังกล่าวก็ได้ หากการการเตือนนั้นจะทำให้เกิดความล่าช้าที่อาจทำให้มาตรการนี้ใช้ไม่ได้ผลหรืออาจนำไปสู่อันตรายร้ายแรง

ข้อควรคำนึงประการสำคัญในการเข้าสลายการชุมนุมคือ เจ้าหน้าที่จะต้องเข้าสลายการชุมนุมโดยใช้ความระมัดระวัง ไม่ควรใช้แผงกั้นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุม เช่น ลวดหนามหีบเพลง และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ที่ชุมนุมโดยสงบ และกลุ่มบุคคลอื่นๆ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ นักข่าว และบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุม รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ต้องจัดให้บุคลากรทางแพทย์สามารถเข้าให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงทีหากเกิดกรณีมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมดังกล่าวด้วย

ในประเด็นการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐนี้ มีข้อพึงสังเกตอีกประการหนึ่งว่า แนวปฏิบัติด้านสิทธิมุนษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมายได้กำหนดอาวุธที่เจ้าหน้าที่จะสามารถใช้ในการสลายการชุมนุมได้นั้น จะต้องเป็นอาวุธที่มีความรุนแรงต่ำเท่านั้น เช่น รถฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา ซึ่งจะต้องใช้ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และห้ามใช้อาวุธร้ายแรง เช่น กระสุนจริงหรืออาวุธสงครามทำลายล้างสูง เข้าสลายการชุมนุมโดยเด็ดขาด

 ตัวอย่างการใช้อาวุธที่มีความรุนแรงต่ำในการเข้าสลายการตามมาตรฐานสากล

  • การใช้แก๊สน้ำตา: แก๊สน้ำตาที่ใช้ไม่ควรมีปริมาณสารเคมีที่เป็นอันตรายเกินสมควร และควรยิงจากมุมสูง ไม่ควรยิงไปที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือเล็งไปที่หน้าหรือศีรษะของผู้ชุมุนม
  • รถฉีดน้ำแรงดันสูง: ใช้เฉพาะกับกรณีที่เป็นการชุมนุมโดยไม่สงบอย่างร้ายแรง และควรยิงจากระยะไกล ไม่ควรยิงใส่บุคคลที่เคลื่อนไหวไม่ได้
  • กระสุนยาง: ควรเล็งไปที่ท้องส่วนล่าง หรือขาเท่านั้น ไม่ควรเล็งไปที่ศีรษะ หน้าหรือคอ และจะต้องใช้ต่อผู้ที่กำลังเข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นเท่านั้น

ท้ายนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจในการควบคุมการชุมนุมสาธารณะพึงตระหนักไว้เสมอว่า โดยหลัก เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชนตั้งแต่ก่อนมีการชุมนุม ระหว่างที่มีการชุมนุม จนกระทั่งภายหลังสิ้นสุดการชุมนุม การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมหรือการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมสาธารณะเป็นเพียงข้อยกเว้นเท่านั้น ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องระวังไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขตจนเป็นการขัดต่อมาตรฐานสากลตามกติการะหว่างประเทศและแนวปฏิบัติของสหประชาชาติ และเป็นการริดรอนเสรีภาพของประชาชนโดยมิชอบ

 

อ้างอิง

  1. Human Rights Committee, General Comment No.37 (2020) on the Right of Peaceful Assembly (Article 21), (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564,https://digitallibrary.un.org/record/3884725?ln=en
  2. United Nations, United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564,https://www.un-ilibrary.org/content/books/9789210050692
  3. United Nations Human Rights Office of the High Commissioner, Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564,https://www.ohchr.org/en/professionalinterest/pages/useofforceandfirearms.aspx
  4. ILaw, “หลักสากล” สำหรับการชุมนุมและการสลายการชุมนุม, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564, https://ilaw.or.th/node/5765
  5. มติชน, เปิดหลักสากล การใช้กระสุนยาง สลายการชุมนุม, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564, https://www.matichon.co.th/foreign/news_2602112
  6. ประชาไท, iLaw เปิดแนวทางการใช้กระสุนยางตามหลักสากล, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564, https://prachatai.com/journal/2021/03/91908
  7. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR), เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564, https://deepsouthwatch.org/sites/default/files/archives/docs/iccpr_th.pdf
  8. United Nations, 10 Principles for the Proper Management of Assemblies, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564, https://www.ohchr.org/Documents/Issues/FAssociation/10PrinciplesProperManagementAssemblies.pdf