ใบแจ้งข่าวเรื่อง การส่งหนังสือเพื่อขอให้พิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวนายอิสมะแอ หนิยุหนุ๊ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานวางเพลิง โดยมูลเหตุคดีเกิดจากการประท้วงท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อ ๑๘ ปีที่แล้ว

ใบแจ้งข่าวเรื่อง การส่งหนังสือเพื่อขอให้พิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวนายอิสมะแอ หนิยุหนุ๊ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานวางเพลิง โดยมูลเหตุคดีเกิดจากการประท้วงท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อ ๑๘ ปีที่แล้ว

ใบแจ้งข่าว

เรื่อง การส่งหนังสือเพื่อขอให้พิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวนายอิสมะแอ หนิยุหนุ๊ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานวางเพลิง โดยมูลเหตุคดีเกิดจากการประท้วงท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อ ๑๘ ปีที่แล้ว

                                                ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒

ด้วยสมาคมฯ ได้รับแจ้งจากสมาชิกทนายความถึงปัญหาการขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวในศาลจังหวัดนาทวี ของนายอิสมะแอ หรือดาแระ หนิยุหนุ๊  โดยนายอิสมะแอฯ ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีอาญาของศาลจังหวัดนาทวี  ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานวางเพลิงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๑๘ มูลเหตุคดีเกิดจากการประท้วงท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อ ๑๘ ปีที่แล้ว และระหว่างประท้วงมีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้น                          มีชาวบ้านถูกฟ้องหลายคน โดยชาวบ้านที่ถูกฟ้องมาก่อนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ในคดีนั้น มีการให้การว่า นายอิสมะแอมีส่วนร่วมในการชุมนุม เจ้าหน้าที่จึงยกคดีนี้ขึ้นมาดำเนินการอีกเนื่องจากคดีใกล้ขาดอายุความ

เมื่อได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่าถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด นายอิสมะแอได้เข้าพบพนักงานสอบสวนและให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนมาตลอด แต่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่คัดค้านการประกันตัว และตลอดกระบวนการในชั้นสอบสวนและพนักงานอัยการ นายอิสมะแอไม่ถูกควบคุมตัวและได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันตลอดมาและยืนยันให้การปฏิเสธและจะใช้สิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง

แต่ทั้งที่นายอิสมะแอให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนและอัยการมาโดยตลอด ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นไม่มีประวัติการกระทำความผิดมาก่อน แต่เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนาทวีเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ปรากฏว่าศาลจังหวัดนาทวีไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และทนายความได้ยื่นคำร้องถึง ๓ ครั้งก็ได้รับการปฏิเสธมาตลอด ดังนี้

ครั้งที่ ๑  ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินในราคาประเมินที่ดิน    ๗๖๒,๗๖๒  บาท  โดยศาลกำหนดวงเงินประกันตัวเป็นเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท  ศาลมีคำสั่งยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าคดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับผู้ประกันเป็นเพียงคนรู้จักกับจำเลย ไม่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

ครั้งที่ ๒ จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินของน้องสาวร่วมมารดาของจำเลย ราคาประเมิณที่ดิน ๗๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ศาลมีคำสั่งยกคำร้องด้วยเหตุผลว่า คดีมีอัตราโทษสูง        หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยอาจจะหลบหนี  จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว  ให้ยกคำร้อง  แจ้งผู้ประกันทราบ  ตรวจคืนหลักประกัน

ครั้งที่ ๓ จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยหลักทรัพย์เป็นสลากออมสิน มูลค่า ๕๐๐,๐๐๐ บาท  ศาลมีคำสั่งยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

สมาคมฯ เมื่อได้รับเรื่องจากสมาชิก จึงได้ส่งหนังสือถึงศาลจังหวัดนาทวี เลขาธิการกระทรวงยุติธรรม ประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เพื่อขอให้พิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราว นายอิสมะแอ ตามเจตนารมณ์ในการปล่อยชั่วคราวได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๒ มาตรา ๒๙ วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจําเลยให้กระทําได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”  วรรคท้ายบัญญัติว่า “คําขอประกันผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมวด ๓ การปล่อยชั่วคราว  มาตรา ๑๐๗  ยืนยันหลักการว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว นอกจากจะเข้าข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนด

ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวฉบับใหม่ เป็นครั้งที่ ๔ และศาลจังหวัดนาทวีได้มีคำสั่งอนุญาตให้นายอิสมะแอได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันเดียวกัน โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบกับหลักประกันน่าเชื่อถือ หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยจะไม่หลบหนี
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเชื่อว่าการสื่อสารประเด็นสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมกับศาลอย่างเป็นทางการเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการทำงานเพื่อสร้างความตระหนักรับรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนกับผู้ที่อยู่ในบทบาทการอำนวยความความยุติธรรมแก่ประชาชน ให้ทำหน้าที่โดยคำนึงถึงและให้คุณค่าความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สมาคมฯ มีแผนงานที่จะรวบรวมปัญหาและข้อเสนอเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนของทนายความ  และการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน เพื่อนำเข้าสะท้อนและหารือต่อประธานศาลฎีกาในการแสวงหาแนวทางที่เป็นมาตรฐานการปฏิบัติสำหรับผู้พิพากษาทั่วประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นการปล่อยตัวชั่วคราว โดยทางสมาคมฯ ยินดีและขอเรียนเชิญสมาชิกร่วมให้ข้อมูลสะท้อนปัญหาที่ได้ประสบจากการปฏิบัติหน้าที่นักกฎหมายทนายความ ตลอดจนมุมมองความคิดเห็นและข้อเสนอ ในการแก้ไขปัญหา เพื่อร่วมกันทำงานผลักดันยกระดับกระบวนการยุติธรรมไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล