ปลดล็อคการเมือง แต่ไม่ปลดล็อค ”ดอง” กสม.ชุดใหม่

ปลดล็อคการเมือง แต่ไม่ปลดล็อค ”ดอง” กสม.ชุดใหม่

คสช.ปลดล็อคการเมืองเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างจริงจังแล้ว ด้วยการประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา แต่สนช.ยังไม่ปลดล็อค “ดอง” กสม.ชุดใหม่ ที่ดองไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ ถึงปัจจุบันกว่า ๑๐๐ วันแล้ว ยังไม่นำเข้าสู่การพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ตามอำนาจหน้าที่

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ กำหนดให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระ .ให้ทำหน้าที่ดูแลด้านงานสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปตามหลักสากลและกฎหมายภายในประเทศ โดยในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ ซึ่งมีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน และมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติ เป็นกรรมการ ได้มีมติเลือกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ จำนวน ๗ คน จากนั้นนำรายชื่อทั้ง ๗ เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้การรับรอง

จนปัจจุบันสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกสม. ที่มีพลเอกอู๊ด เบื้องบน เป็นประธาน ยังดองและยื้อการพิจารณาไปเรื่อยๆอย่างไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดการพิจารณา กินเวลากว่า ๑๐๐ วันแล้ว ทั้งๆที่ในกรณีรับรองกรรมการการเลือกตั้งเพิ่มอีก ๒ คน ซึ่งเสนอเข้าสนช.หลังกสม. กลับสามารถดำเนินการตรวจสอบและพิจารณารับรองได้ใช้เวลาเพียงเดือนกว่าๆเท่านั้น

ทำให้เกิดคำถามถึงความไม่ชอบมาพากล และข้อกังขาถึงการเลือกปฏิบัติ ตลอดจนบรรทัดฐานของสนช. ในการปฏิบัติหน้าที่พิจารณารับรองกรรมการองค์กรอิสระทั้งหลาย โดยเฉพาะการรับรอง กสม.ที่ไม่เป็นไปอย่างรวดเร็ว โปร่งใส และอาจจะมีวาระซ่อนเร้นอะไรอยู่หรือไม่

ก่อนหน้านี้ สนช.ชุดนี้ได้เซ็ตซีโร่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดเก่า ไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระ โดยกำหนดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๐ ให้มีการสรรหาและแต่งตั้งกสม.ชุดใหม่ แต่พอ กสม.ชุดใหม่ได้รับการสรรหาตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกเข้ามาสู่การพิจารณา  สนช.กลับพยายามยื้อการพิจารณารับรอง กสม.ชุดใหม่อีก ในขณะที่กระบวนการตามรัฐธรรมนูญในเรื่องต่างๆ ดำเนินไปตามขั้นตอนอย่างราบรื่น รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังจะมีขึ้น

๑๐ ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล และครบรอบ ๗๐ ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยได้จัดงานให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และรัฐบาลไทยเองก็เคยประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีที่เน้นด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนถึงวาระที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นประธานอาเซียน ซึ่งดูเป็นทิศทางที่ดีในด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย

แต่การดองและยื้อการรับรอง กสม.ชุดใหม่ กลับเป็นการเดินสวนทิศทางดังกล่าว โดยเฉพาะความหวังและความพยายามที่จะมี กสม.ชุดใหม่ เพื่อยกระดับ กสม.ไทยที่ถูกลดมาเป็นระดับบี กลับไปสู่ระดับเอ เพื่อภาพลักษณ์และศักดิ์ศรีของประเทศไทยต่อนานาประเทศ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เองได้ปรับปรุงแก้ไขในส่วนของ กสม. ให้สอดคล้องกับหลักการปารีส ซึ่งเป็นหลักการสากลในเรื่องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยหวังว่าเมื่อมี กสม.ชุดใหม่ตามกระบวนการที่ได้รับการปรับอย่างสอดคล้องแล้ว จะทำให้ประเทศไทยกลับสู่ระดับเอโดยเร็ว

ความล่าช้าเหล่านี้แสดงให้เห็นความไม่จริงใจและความไม่ชอบมาพลกลของ สนช.  ส่งผลให้ประเทศไทยยังไม่มี กสม.ที่สามารถเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ในการตรวจสอบและดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงที่การเลือกตั้งกำลังจะมาถึงนี้