แจ้งข่าว : 6 ธันวานี้ ชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 6 ราย นัดรับเงินชดเชยเยียวยากรณีถูกไล่รื้อและเผาบ้านเมื่อปี 2554  

แจ้งข่าว : 6 ธันวานี้ ชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 6 ราย นัดรับเงินชดเชยเยียวยากรณีถูกไล่รื้อและเผาบ้านเมื่อปี 2554  

วันที่ 6 ธันวาคม 2561 เวลา 13.00 น. ณ ศาลปกครองกลาง ผู้ฟ้องคดีหรือทายาทของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ราย จะเดินทางมารับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด  ในคดีหมายเลขดำที่ ส.58/2555 หมายเลขแดงที่ ส.660/2559 ระหว่าง นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน ผู้ฟ้องคดี กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ราย เป็นเงินเฉลี่ยรายละประมาณ 50,000 บาท ซึ่งในขณะนี้ผู้ถูกฟ้องคดีได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาวางไว้ที่ศาลแล้ว

มูลเหตุของคดีนี้มีที่มาจากการที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ปฏิบัติการตามโครงการขยายผลการอพยพผลักดัน จับกุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-สหภาพเมียนมาร์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ครั้งที่ 4 บริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยนายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร  หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ได้ทำการรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง รวมถึงของผู้ฟ้องคดีทั้งหกด้วย รวมแล้วมีบ้านพักอาศัย และยุ้งฉางถูกจุดไฟเผาจำนวน 98 หลัง

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ครั้งนั้น เป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 นายโคอิ หรือคออี้  มีมิ กับพวกรวม 6 คน โดยได้รับความช่วยเหลือจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะหน่วยงานซึ่งกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น

วันที่ 7 กันยายน 2559  ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาว่าการเผาบ้านและยุ้งฉางโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการเผาทำลายเครื่องใช้ส่วนตัวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นเงินคนละ 10,000 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2559 ผู้ฟ้องคดีทั้งหกยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางยังมีความบกพร่องคลาดเคลื่อน และยังวินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี

วันที่ 12 มิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา โดยมีประเด็นสำคัญที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยตามอุทธรณ์ของคู่กรณีใน 2 ประเด็น  คือ

ประเด็นแรก สิทธิในการฟ้องคดีและการยื่นฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสูดวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง และผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแล้ว

ประเด็นที่สอง เป็นการวินิจฉัยว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการรื้อถอน เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 หรือไม่ และหากเป็นการละเมิด จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียงใด ซึ่งในประเด็นนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ให้ชดใช้ค่าเสียหายรายละเฉลี่ยประมาณ 50,000 บาท

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้ระบุสรุปไว้ว่า

  1. บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
  2. การกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ รื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่
    2.1 เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทำดังกล่าว
    2.2 เป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นไม่สมควรแก่เหตุ
    2.3 ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
    2.4 ไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนการจัดการทรัพยากร ที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม
  3. ความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฎิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่

อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่ คดีเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน