ศาลฎีกายกฟ้องตำรวจ 6 นายคดีฆาตกรรมอำพรางวัยรุ่นกาฬสินธุ์ช่วงสงครามยาเสพติด ทนายย้ำยังอยู่ในอายุความ เร่งหาผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษ

ศาลฎีกายกฟ้องตำรวจ 6 นายคดีฆาตกรรมอำพรางวัยรุ่นกาฬสินธุ์ช่วงสงครามยาเสพติด ทนายย้ำยังอยู่ในอายุความ เร่งหาผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษ

วันนี้ (11 ตุลาคม 2561) ณ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีฆาตกรรมอำพรางนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง วัยรุ่นในจังหวัดกาฬสินธุ์ คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3252/2552 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.2600/2555 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 โจทก์ กับ ด.ต.อังคาร ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน จำเลย ในฐานความผิดร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ

ในห้องพิจารณาคดีที่ 902 มีผู้สนใจมาร่วมฟังคำพิพากษาจำนวนมากจนเกินความจุของที่นั่งในห้องพิจารณา คนที่มาฟังส่วนใหญ่เป็นญาติฝ่ายจำเลย มีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งเข้าร่วมฟังด้วย  ในส่วนของคู่ความในคดีนั้น มีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม  ทนายโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 – 4 และจำเลยที่ 6 ทนายจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6  นายประกันจำเลยที่ 5 และที่ 6 มาศาล  ส่วนจำเลยที่ 5 ไม่มาศาลตั้งแต่นัดที่แล้ว (วันที่ 6 กันยายน 2561) ครั้งนี้ก็ไม่มา ศาลได้ออกหมายจับไปแล้ว แต่ไม่สามารถติดตามจับกุมได้

คดีนี้ต่อสู้มายาวนานถึง 14 ปี และเป็นกรณีเดียวที่มีความคืบหน้าในเชิงคดีมากที่สุด จากคดีในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์กว่า 20 คดี ในช่วงสงครามกับยาเสพติด แต่ตลอดระยะเวลาของการดำเนินคดี ญาติของผู้เสียหายต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงความยุติธรรม พวกเขาต้องเดินทางร้องเรียนหลายหน่วยงาน เกิดการคุกคามญาติและพยานอยู่บ่อยครั้ง พยานสำคัญบางส่วนหายไป บางรายเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ

จนในที่สุดการต่อสู้คดีเหมือนจะไปได้ดี เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาลงโทษจำเลย โดยศาลชั้นต้นพิพากษาคดีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ และจำเลยที่ 6 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนจำเลยที่ 4 ศาลยกฟ้อง

คดีนี้มีการอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 แก้โทษจำเลยที่ 2 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และพิพากษากลับลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

แต่วันนี้  ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในลักษณะที่เรียกว่ากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ไปเลย โดยพิพากษายกฟ้อง จำเลยทั้งหมดไม่มีความผิด เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนางสาว อ. มีพิรุธไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ  ประกอบกับจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธมาโดยตลอด  ดังนั้น  เมื่อมีพฤติกรรมน่าสงสัยว่าจำเลยทั้งหกกระทำความผิดจริงหรือไม่  จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งหก

สำหรับเหตุผลของการยกฟ้องของศาลฏีกานี้ ศาลได้หยิบยกข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานปากนางสาว อ. มาวินิจฉัยเป็นหลัก โดยศาลเห็นว่า คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ที่ผู้ตายถูกฆ่า  โจทก์และโจทก์ร่วมมีเพียงนางสาว อ เป็นพยานปากเดียวที่เบิกความยืนยันว่าเห็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 นำตัวผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวนชั้น 2 ของสถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์  การรับฟังพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนี้จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง

หนึ่งในประเด็นที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพยานปากนางสาว อ. ไม่มีน้ำหนัก ก็คือประเด็นที่นางสาว อ ไม่ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรจังหาร และพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเช่นเดียวกับที่ให้การไว้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเบิกความต่อศาล โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่าพยานได้ยินผู้ตายพูดโทรศัพท์ว่า เขาจะเอาผมไปฆ่า  และไม่ได้ระบุว่าเจ้าพนักงานตำรวจคนใดบ้างล็อคคอผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวน  ซึ่งศาลเชื่อว่าพยานสามารถให้การต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าวได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวอันตรายใดๆ เพราะอยู่ในความคุ้มครองของตำรวจกองบังคับการปราบปรามแล้ว  เมื่อพยานไม่ให้การในรายละเอียดต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าว จึงถือว่ามีพฤติการณ์เป็นพิรุธส่อแสดงให้สงสัยว่าพยานถูกข่มขู่เพื่อให้การเท็จในชั้นสอบสวนและเกรงกลัวอันตรายตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่  พยานปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ได้เคยวินิจฉัยโดยเห็นว่าการที่นางสาว อ ให้การกับพนักงานสอบสวนไว้ในลักษณะที่แตกต่างจากให้การไว้กับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและชั้นศาลนั้น ดูจากพฤติการณ์และพยานหลักฐานอื่นประกอบแล้วน่าเชื่อได้ว่าเกิดจากความเกรงกลัวจากการถูกคุกคาม ดังนั้น พยานปากนางสาว อ. จึงถือเป็นประจักษ์พยานและมีความน่าเชื่อถือ

มีอีกประเด็นที่ศาลฎีกาหยิบมาวินิจฉัยคือประเด็นสัญญาณโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1   ศาลฎีกาเห็นว่า ช่วงเวลาที่พยานนางสาว อ เห็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 นำตัวผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวนคือช่วงเวลาหลังจาก 19 นาฬิกาไปแล้วแต่แม่เกิน 19.15 นาฬิกา เมื่อพิจารณาข้อมูลการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่จำเลยที่ 1 ใช้อยู่ประจำ ปรากฏว่ามีการใช้โทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวในวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 เวลา 19.12.08 นาฬิกา ที่บริเวณถนนบายพาสกาฬสินธุ์ และเวลา 19.12.36 นาฬิกา ที่เชียงขวัญ  จังหวัดร้อยเอ็ด หากดูระยะเวลานับตั้งแต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เริ่มพาผู้ตายออกไปจากห้องสอบสวนช่วงเวลา 19 ถึง 19.15 นาฬิกา ศาลจึงเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะออกจากห้องสืบสวนเดินไปขึ้นรถแล้วเดินทางไปใช้โทรศัพท์ที่ถนนบายพาสกาฬสินธุ์และที่เชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ดในเวลาดังกล่าว

ซึ่งประเด็นนี้ เดิมศาลอุทธรณ์เห็นว่าแม้คำเบิกความของพยานปากนางสาว อ เวลาจะคาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ไม่ได้กระทบสาระสำคัญของคดี โดยศาลอุทธรณ์ได้ฟังพยานหลักฐานอื่นๆประกอบแล้วเห็นว่าระยะเวลาที่จำเลยนำตัวผู้ตายออกไปสอดคล้องกับระยะเวลาที่ปรากฏสัญญาณโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1

อีกประเด็นที่น่าสนใจในคำพิพากษาศาลฎีกาคือ ศาลให้น้ำหนักกับความสัมพันธ์ระหว่างนางสาว อ พยาน กับนาง พ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม  เช่น ทำไม นาง พ  จึงไปรับพยานออกมาจากแฟลตตำรวจของกองบังคับการปราบปรามแล้วพาไปให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน  เหตุใดจึงไม่ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไปสอบปากคำพยานที่กองบังคับการปราบปราม ทั้งๆที่นาง พ ทราบอยู่แล้วว่าพยานอยู่ในความคุ้มครองของกองบังคับการปราบปรามและสามารถจะทำเช่นนั้นได้ แต่กลับไม่กระทำโดยไปรับพยานออกมาจากการคุ้มครองของกองบังคับการปราบปราม  อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องที่นางสาว อ พยานได้ขอเงินจำนวนหนึ่งจากนาง พ เพื่อเดินทางไปจังหวัดสระแก้ว  และเพื่อใช้วางมัดจำห้องเช่า

นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความหนึ่งในคณะทำงานคดีนี้ กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า ในฐานะทนายความ ตนเคารพในคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ก็ยังไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากการที่ศาลฎีกาหยิบยกคำให้การของพยานปากเพียงปากเดียวมาวินิจฉัย ทั้งที่คดีที่มีพยานหลักฐานจำนวนมาก พยานบุคคลก็อีกหลายปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งย่าของผู้ตายที่ไปติดตามหาผู้ตายที่โรงพัก  และยังมีประเด็นน่าสงสัยอีกหลายเรื่องที่ศาลไม่กล่าวถึง อาทิ ประเด็นการที่มีบุคคลมาประกันตัวผู้ตายไปโดยญาติไม่รู้เรื่อง ซึ่งบุคคลที่มาประกันตัวนั้นเป็นบุคคลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของโรงพักติดต่อมา แล้วมีการทำบันทึกประจำวันว่าได้มีการปล่อยตัวเด็กกลับไป ลงประจำวันไว้ พยานหลักฐานเหล่านี้มีปรากฏในสำนวนคดีที่พนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำไว้อย่างดีและละเอียด แต่ศาลฎีกากลับมิได้หยิบยกมาวินิจฉัย

ทนายกล่าวต่อว่า มีเรื่องสำคัญที่อยากจะฝาก คือในจังหวัดกาฬสินธุ์มีคนเสียชีวิตในช่วงเวลาเดียวกันกับเกียรติศักดิ์อีกถึง 20 กว่าศพ ปัจจุบันยังหาตัวคนร้ายไม่ได้ แต่อายุความยังไม่สิ้นสุด เพราะคดีฆ่าผู้อื่นมีอายุความ 20 ปี  ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องดำเนินการให้มีการสืบสวนสอบสวนหาคนร้ายที่แท้จริงมาลงโทษให้ได้  เพราะญาติพี่น้องของคนที่ตาย เขาก็ยังสงสัยอยู่ว่าคนร้ายที่ทำให้ลูกเขาตาย ให้คนในครอบครัวเขาตาย เมื่อไหร่จะได้ตัวคนร้ายมาลงโทษ

ประเด็นถัดมา คดีนี้เป็นคดีสำคัญ และพยานที่ออกมาทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ของรัฐถือว่ามีความเสี่ยง เขาเสียสละที่จะมาพูดความจริงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น หน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยาน ไม่ว่ากรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ คุณต้องรับผิดชอบคุ้มครองความปลอดภัยของพยานให้ตลอด มิใช่คุณคุ้มครองแค่คำพูดของพยาน เมื่อเขาเบิกความในศาลเสร็จแล้วคุณก็เลิกการคุ้มครอง นี้เป็นเรื่องสำคัญ ผมจึงอยากฝากไปถึงผู้บังคับการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ

อ่านคำพิพากษาทุกชั้นศาลได้ที่นี้ ฐานข้อมูลคดี