นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกับการถูกฟ้องคดีเมื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ: กรณี นายกฤษกร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ปากมูล

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกับการถูกฟ้องคดีเมื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ: กรณี นายกฤษกร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ปากมูล

ปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้ให้ความหมายของ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือ Human Rights Defenders ว่า  คือ “บุคคล กลุ่มบุคคล หรือสมาคม ซึ่งมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการขจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน หรือบุคคลซึ่งทำงานเพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั้งของตัวเองและผู้อื่น” เป็นการทำงานเพื่อช่วยให้สังคมสงบสุข เข้มแข็ง และเท่าเทียมกันมากขึ้น ผ่านการรณรงค์เรียกร้องให้มีการปกป้องสิทธิพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้นจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดก็ได้ ไม่จำกัดเพศ อายุ หรืออาชีพ ไม่จำกัดตำแหน่งหน้าที่หรือองค์กร และไม่จำเป็นต้องทำงานในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสิทธิมนุษยชน เช่น นักข่าว อาจารย์ ทนายความ นักกิจกรรม หรือ สหภาพแรงงาน เป็นต้น โดยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณชน มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐ รวมถึงการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ และรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุงแก้ไข กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ให้เป็นไปโดยคำถึงถึงสิทธิของประชาชนเป็นหลัก

การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Strategic Lawsuit Against Public Participation หรือ SLAPPs)

การที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทำงานเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น อาจทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าหมายในการถูกข่มขู่คุกคามจากผู้ที่เสียผลประโยชน์ ซึ่งอาจจะมีทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยการข่มขู่คุกคามนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น การทำร้ายร่างกาย การข่มขู่ด้วยคำพูด การคุกคามบนโลกออนไลน์ การโทรศัพท์ข่มขู่ หรือการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องในประเด็นสาธารณะต่างๆ เช่น การแจ้งความให้ดำเนินคดี หรือฟ้องร้องคดีแพ่ง คดีอาญา อันเกี่ยวเนื่องจากการทำกิจกรรมรณรงค์หรือเคลื่อนไหว โดยเจาะจงไปที่แกนนำหรือผู้ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของประชาชน…

(อ่านนิยามของ SLAPPs เพิ่มเติมได้ที่https://naksit.net/2019/06/20190613_slapps-anti/?fbclid=IwAR2ZJ2dv_dJSpcFmO3Kp_LoMqGZkS0NWWL60ZFodT9tRr1-lZaX5X1wcEfc )

กฤษกร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ปากมูล แกนนำการเคลื่อนไหวต่อต้านเขื่อนราศีไสล กับการเรียกร้องให้ยุติการออกโฉนดในที่ดินบนที่สาธารณะเกาะดอนคำพวงและกรณีการปิดเขื่อนปากมูล

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนถูกแจ้งความดำเนินคดีและตั้งข้อหาอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองสิทธิของประชาชน การดำเนินคดีเช่นนี้ เรียกว่าการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน(SLAPPs) เป็นแนวทางที่ใช้ทั่วโลกโดยภาครัฐและภาคเอกชนที่เผชิญกับการรณรงค์เรียกร้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายหรือโครงการต่างๆ เป็นการดำเนินคดีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความหวาดกลัวและบีบบังคับให้หยุดเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของตน

นายกฤษกร ศิลารักษ์หรือป้าย ปากมูล ซึ่งในอดีตเคยเป็นแกนนำต่อต้านการสร้างเขื่อนราษีไศลปิดกั้นแม่น้ำมูล ไปจนสู่การเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว ในปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกรณีปิดเขื่อนปากมูลและเรียกร้องให้ยุติการออกโฉนดในที่ดินสาธารณะเกาะดอนคำพวง

จากการเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดีย เรียกร้องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ติดตาม ตรวจสอบ การปิดเขื่อนปากมูล ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายให้ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดศรีษะเกษ เพราะเหตุน้ำในเขื่อนเอ่อล้น โดยมีการตั้งข้อสังเกตถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเหตุให้นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้น เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนายกฤษกร เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2445/2561  ในความผิดฐาน “นำเข้าระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะทำให้เกิดคามเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นให้เหตุให้ประชาชนตื่นตกใจและดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าด้วยการโฆษณา” และเมื่อวันที่ 4 – 5 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดอุบลราชธานีได้สืบพยานโจทก์และสืบพยานจำเลย สองฝ่ายเสร็จสิ้นศาลแล้ว และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 24 กันยายน 2562 เวลา 9:00  นาฬิกา

กรณีที่สอง นายกฤษกรได้เป็นแกนนำรณรงค์เรียกร้องให้รัฐยุติการออกโฉนดในที่ดินสาธารณะ เกาะดอนคำพวง ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำมูล  เนื่องจากมีเอกชนอ้างว่าครอบครองที่ดินบริเวณดอนคำพวงดังกล่าว ประมาณ 400 ไร่ และมีการออกโฉนดที่ดินแล้วบางส่วน ทั้งที่เกาะดอนคำพวงตั้งอยู่กลางแม่น้ำมูลบนพื้นที่ระหว่าง ตำบลกุดชมภู อำเภอพิบูลมังสาหาร และ ตำบลคันไร่ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่สาธารณะและประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันตลอดมา ทำให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงออกมาคัดค้านการออกโฉนดดังกล่าว ตลอดถึงการร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดค้านการออกโฉนดที่ดินบนเกาะดอนคำพวง รวมถึงรณรงค์ผลักดันให้มีการออกโฉนดชุมชนให้เกาะดอนคำพวงเพื่อสงวนไว้ให้สาธารณชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ในระหว่างที่ดำเนินการอยู่นั้น เมื่อต้นปี 2559 ได้มีบุคคลเข้าไปทำการตัดไม้ยืนต้นขนาดใหญ่บนเกาะดอนคำพวง เช่น ไม้ยางนา เป็นจำนวนมาก และตำรวจ สภ.พิบูลมังสาหารสามารถจับกุมและอายัดของกลางไว้ได้ และได้มีการดำเนินคดีกับผู้ทำการตัดไม้ดังกล่าว

นายกฤษกรซึ่งเป็นแกนนำในการรณรงค์เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการรังวัดออกโฉนดที่ดินบนเกาะดอนคำพวง เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการออกโฉนดที่ดินอันเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ได้ติดตามการดำเนินคดีบุคคลซึ่งไปตัดไม้ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟสบุ๊ค เกี่ยวกับการบุกรุกเกาะ การตัดไม้ และการพิจารณาคดีของศาล อย่างต่อเนื่องหลายข้อความ เป็นเหตุให้ถูกฟ้อง เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 99/2562 ในฐานความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและหมิ่นประมาทศาล ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 , 326 และมาตรา 328 โดยพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนได้ขอให้ศาลนับโทษจำคุกในคดี 2445/2561 รวมกับโทษในคดีอาญาคดีนี้ (99/2562) ด้วย โดยศาลจังหวัดอุบลราชาธานี ได้นัดสืบพยานโจทก์ และพยานจำเลยครั้งต่อไป ในวันที่ 24, 25 และ 26 กันยายน 2562   (อ่านเพิ่มเติมได้ที่https://naksit.net/2019/06/slapps_12122/ )

การที่นายกฤษกรได้เป็นตัวแทนสมัชชาคนจน รณรงค์เรียกร้องกรณีเขื่อนปากมูล กรณีเขื่อนราษีไศลรวมถึงกรณีเกาะดอนคำพวง เป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ  และเป็นการทำงานเพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งถือได้ว่านายกฤษกรเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defender) การถูกดำเนินคดีทั้ง 2 คดี ทำให้นายกฤษกรถูกกีดกันไม่สามารถใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้อย่างเต็มที่ การดำเนินการเช่นนี้ ถือเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน หรือ Strategic Lawsuit Against Public Participation (SLAPPs) หรือ การฟ้องปิดปาก อันเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการยุติการมีส่วนร่วมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

การถูกดำเนินคดีดังกล่าวยังได้สร้างภาระให้กับนายกฤษกรโดยตรง คือสร้างความกังวล หวาดกลัวว่าจะต้องถูกลงโทษ ก่อให้เกิดภาระในการต่อสู้คดีที่จะต้องใช้ทั้งเงินและเวลาในการต่อสู้คดี ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานรณรงค์และกิจกรรมเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้ประชาชนและส่วนรวมต้องถูกจำกัดหรือต้องยุติไปโดยปริยาย นอกจากนี้ยังเป็นการเบี่ยงเบนการต่อสู้ในประเด็นสาธารณะประโยชน์ให้เป็นประเด็นส่วนตัว อันทำให้การเรียกร้องในประเด็นหลักคือการปกป้องประโยชน์สาธารณะไม่ถูกพิจารณาหรือต้องยุติไป

อนึ่งการใช้ความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญามาดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวนั้น มีต้นทุนน้อย กล่าวคือ เป็นการใช้กลไกของรัฐในการดำเนินการทั้งหมด ตั้งแต่ชั้น ตำรวจ อัยการ ศาล ทั้งที่การดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิเช่นนี้ เป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐไปโดยไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง แต่นักปกป้องสิทธิที่เรียกร้องประโยชน์สาธารณะ ต้องเผชิญกับต้นทุนในการต่อสู้คดีที่สูงมาก ทั้งเงินประกันตัว ค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายในการเตรียมคดีและการเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ตามหมายเรียกในชั้นต่างๆ และอาจต้องติดคุกหากศาลพิพากษาว่ามีความผิด

การดำเนินคดีกับนายกฤษกร ซึ่งเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเช่นนี้ ถือเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Strategic Lawsuit Against Public Participation หรือ SLAPPs) ซึ่งถือเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ในการคุกคาม ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแสดงความเห็นและการแสดงออก เป็นการฟ้องร้องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือฟ้องเพื่อปิดปาก หรือเพื่อทำให้เกิดความยากลำบากกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการที่จะทำหน้าที่ของตน ซึ่งรัฐบาลไทยยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการคุกคามในรูปแบบนี้และรูปแบบอื่นๆ ทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังต้องตกอยู่ในความเสี่ยงต่อไป