คดีชาวบ้านกะเหรี่ยงดั้งเดิม ถูกจับกุมข้อหาบุกรุกในพื้นที่อุทยาน อำเภอแก่งกระจาน

คดีชาวบ้านกะเหรี่ยงดั้งเดิม ถูกจับกุมข้อหาบุกรุกในพื้นที่อุทยาน อำเภอแก่งกระจาน

วันที่ 31 มกราคม 2561 ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิพากษาคดี โดยนางแอะนอ พุกาด จำเลย ให้การรับสารภาพ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี วรรคหนึ่ง, พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรค 1, พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (1),(13),(15), 24, 27 , พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรค 1, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 16, 19, 47  ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 20 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยมีรายละเอียดความผิด ดังนี้

  1. ฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดิน โดยก่นสร้าง แผ้วถางป่า ยึดถือครอบครองทำประโยชน์และอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาติ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นบทลงโทษที่หนักที่สุด จำคุก 1 ปี
  2. ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี
  3. ฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์เข้าไปภายในเขตอุทยานและฐานเข้าไปดำเนินการใดๆ เพื่อหาประโยชน์ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ปรับ 500 บาท
  4. ฐานล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง จำคุก 2 เดือน
  5. ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน

                รวมเป็นจำคุก 2 ปี 4 เดือน ปรับ 500 บาท ซึ่งจำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษกึ่งหนึ่ง เป็น จำคุก 1 ปี 2 เดือน และปรับ 250 บาท โดยศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดเพียงเพื่อนำรายได้มาดำรงชีพ และเลี้ยงดูครอบครัว ไม่ได้หวังผลเพื่อธุรกิจการค้า จำเลยประกอบอาชีพสุจริต มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่ง และไม่ปรากฏว่าเคยรับโทษมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้ริบของกลางทั้งหมด และให้จำเลยพร้อมคนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวาร ออกไปจากเขตอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนตามฟ้อง และให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากเขตอุทยานแห่งชาติ และป่าสงวนแห่งชาติ และให้นางแอะนอชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ เป็นจำนวนเงิน 61,020 บาท

(คำพิพากษาฉบับเต็ม)

ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของพนักงานอัยการ

เปิดเผยประเด็นการต่อสู้คดีของแอะนอ พุกาด

                คดีมากมายที่ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่แก่งกระจานต้องเดินทางแสนไกลมาต่อสู้คดีในศาล ในฐานความผิดที่ตนเองบุกรุกผืนดินที่ตนและครอบครัวอาศัยอยู่ และทำกิน เลี้ยงชีพมากว่าร้อยปี นางแอะนอ พุกาด ก็เป็นหนึ่งในหลายกรณีเช่นกัน ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 นางแอะนอ พุกาด จำเลย ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระหว่างที่กำลังจะออกไปทำไร่ตามปกติ บริเวณห้วยแม่ประเร็ว บ้านบางกลอย โดยในวันดังกล่าวนางแอะนอตกเป็นผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดรวม 9 ฐานความผิด ซึ่งต่อมาซึ่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานได้สอบสวน และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องนางแอะนอต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2561 โดยมีรายละเอียดแบ่งเป็นประเด็น ดังนี้

  1. จำเลยบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ ทำให้เกิดความเสียหายของรัฐ เป็นจำนวนเงิน 61,027 บาท
  2. จำเลยมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต
  3. จำเลยได้นำอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเป็นความผิด ติดตัวเข้าไปในบริเวณป่าบ้านบางกลอย ซึ่งในเขตอุทยานแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้
  4. จำเลยล่าสัตว์ป่าสงวน และมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าสงวน

                โดยในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ

                ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 จำเลยได้ยื่นคำให้การ โดยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมด โดยแบ่งเป็นประเด็น ดังนี้

  1. จำเลยเป็นชาติพันธุ์ เป็นชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมติดแผ่นดิน อาศัยอยู่และทำกินที่ป่าแก่งกระจานมาก่อนรัฐประกาศผืนป่าแก่งกระจานเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ โดยบรรพบุรุษของจำเลยได้อาศัยอยู่ในผืนป่าแก่งกระจานมากกว่า 4 ชั่วอายุคน หรือกว่า 100 ปี ไม่เคยย้ายไปที่อื่น
  2. ก่อนที่รัฐจะประกาศเป็นเขตป่าสงวนและเขตอุทยานแห่งชาติ รัฐมีความพยายามผลักดันกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยรัฐให้สัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่จำเลยและครอบครัว แต่ปรากฏว่าจำเลยและครอบครัวกะเหรี่ยงอีกเป็นจำนวนมากไม่ได้รับการจัดสรรที่ตามข้อตกลงที่รัฐเคยให้สัญญาไว้ ประกอบกับที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ครอบครัวกะเหรี่ยงดังกล่าวไม่มีความเหมาะสมที่จะสามารถทำการเกษตรตามวิถีชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้ บางส่วนจึงต้องกลับเข้าไปหาเลี้ยงชีพตามวิถีชีวิตดั้งเดิมในพื้นที่เดิม
  3. อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่อยู่ในครอบครองของจำเลยเป็นของสามีที่เสียชีวิตไปแล้วกว่า 2 ปี ส่วนอุปกรณ์เครื่องมือที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยมีเพียงมีด และจอบเท่านั้นสำหรับใช้ในการทำไร่หมุนเวียน แต่อุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งเป็นของกลาง ได้แก่ ค้อน ตะไบ คีม สิ่ว ตะกั่ว ไม่ใช่ของจำเลย และจำเลยไม่ได้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวในส่วนบันทึกการจับกุมที่อ้างว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อดังกล่าว เนื่องจากในขณะนั้นจำเลยไม่มีล่ามที่พอจะอธิบายให้จำเลยเข้าใจได้
  4. จำเลยควรมีสิทธิในการอยู่อาศัย และทำกินตามวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงซึ่งมีการอยู่อาศัยมาก่อนที่ทางราชการจะประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งรัฐพยายามมีกฎหมายออกมาคุ้มครอง และแก้ไข เช่น ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งในประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำที่ อส.77/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อส.4/2561 ได้วินิจฉัยรองรับไว้แล้ว (อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม)
  5. รัฐบาลไทยได้ดำเนินการยื่นเรื่องต่อ UNESCO เพื่อขอให้พิจารณาผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ด้วยเหตุมีความสมบูรณ์ และมีความหลากหลาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการดำรงชีพตามวิถีชุมชนดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงของจำเลยกับพวกในผืนป่าแก่งกระจาน นั้น ไม่ได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ของป่าแก่งกระจานแต่อย่างใด แต่ภายหลังจากที่รัฐบาลไทยได้ยื่นเรื่องขอให้ UNESCO พิจารณาผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกดังกล่าวแล้ว UNESCO ยังไม่มีมติให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลไทยยังไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการตั้งอยู่ และอาศัยทำกินของชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมของจำเลยกับพวกในผืนป่าดังกล่าว
  6. มีการวิจัย และพิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการทางด้านเกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ นิเวศวิทยา และมานุษยวิทยานิเวศ แล้วว่า เป็นการทำไร่แบบทางเลือกใหม่เชิงคุณภาพ และได้รับการยอมรับว่าการทำไร่หมุนเวียนหรือ “คึฉื่ยของกะเหรี่ยง” เป็นการทำเกษตรที่ดีที่สุด จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปี 2556

อย่างไรก็ตามยังเป็นที่น่าสังเกตอยู่ว่า เมื่อรัฐมีการประกาศพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวนแห่งชาติ ทับซ้อนกับพื้นที่ที่มีประชากรอยู่ รัฐได้มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจริงหรือไม่ หรือห่างได้รับแล้วประชาชนสามารถไปใช้ประกอบการดำรงชีพได้จริงหรือไม่

ในกรณีของนางแอะนอพบว่า ภายหลังที่รัฐมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้หลังจากที่ประกาศพื้นที่เป็นเขตอุทยาน ได้มีการอพยพมาจากพื้นที่บ้านใจแผ่นดิน หรือบ้านบางกลอยบน มาอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง แต่พื้นที่จัดสรรที่ดินทำกินมีลักษณะภูมิศาสตร์เป็นที่ลาดชัน ไม่สามารถทำกินได้ ด้วยการดำรงชีวิตแบบวิถีกะเหรี่ยงดั้งเดิมมาตลอดหลายชั่วอายุคนนั้น ทำให้ไม่สามารถเข้าใจในวิถีชีวิตของคนเมืองได้ดี อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องของภาษา ที่ไม่สามารถอ่าน ฟัง หรือ พูด สื่อสารภาษาไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง

ทำให้เห็นได้ว่า ในกรณีของนางแอะนอนี้ เมื่อรัฐไม่สามารถช่วยเหลือในเรื่องของการจัดสรรที่ดินทำกินในแบบวิถีดั้งเดิมได้ดังกล่าว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของนางแอะนอ ทำให้นางแอะนอต้องกลับขึ้นไปยังพื้นที่ดั้งเดิมที่ตนเองและบรรพบุรุษเคยอาศัยอยู่ ที่บ้านใจแผ่นดิน หรือบ้านบางกลอยบน เพื่อยังชีพในวิถีเดิม ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแหง่ชาติ เพื่อดำรงชีวิตของตนเองตามที่เคยกระทำอยู่มาตลอด

 

รายละเอียดคดีเพิ่มเติม : https://naksit.net/2017/07/แอะนอ/