สิทธิที่จะเลือกทนายความของผู้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม

สิทธิที่จะเลือกทนายความของผู้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม

สิทธิที่จะเลือกทนายความของผู้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม

ทนายความนับว่ามีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่ทนายความเป็นเสมือนผู้ที่คอยช่วยเหลือด้านข้อกฎหมาย การเข้าถึงทนายที่มีประสบการณ์ จะช่วยให้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาวางแผนรูปคดี หรือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริงได้ กฎหมายได้ให้ความสำคัญกับการมีทนายความ โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้รับรองสิทธิในการมีทนายความในคดีอาญา ไม่ว่าจะในชั้นการดำเนินคดีในชั้นสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง และการพิจารณาคดีของศาล จึงนับว่าการมีทนายความในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีความสำคัญและเป็นกลไกสำคัญให้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเข้าถึงความยุติธรรมได้

 

สิทธิในการมีทนายความ เป็นหลักประกันสำคัญในการต่อสู้คดีอาญา

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 (1) กำหนดว่า ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 14 (3.) ระบุว่า ในการพิจารณาคดีอาญา บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้โดยเสมอภาค (ง) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้าบุคคลนั้น และสิทธิที่จะต่อสู่คดีด้วยตนเอง หรือโดยผ่านผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายที่ตนเลือก สิทธิที่บุคคลจะได้รับแจ้งให้ทราบถึงสิทธิในการมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมาย หากบุคคลนั้นไม่มีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมาย ในกรณีใดๆ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมบุคคลนั้นมีสิทธิที่จะมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งมีการแต่งตั้งให้โดยปราศจากค่าตอบแทน ในกรณีที่บุคคลนั้นไม่สามารถรับภาระในการจ่ายค่าตอบแทน

จะเห็นได้ว่าสิทธิในการมีทนายความของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น เป็นสิทธิตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในลักษณะที่เป็นสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติการะหว่างประเทศฯ ดังกล่าว ยังได้รับรองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่สามารถเลือกบุคคลผู้ช่วยเหลือทางกฎหมาย อันเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างมากในกระบวนการยุติธรรม และเป็นหลักประกันว่าจำเลยจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม

 

สิทธิการมีทนายความตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558

ระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี พ.ศ. 2559  ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 กำหนดให้สำนักงานกองทุนยุติธรรมรวบรวมบัญชีรายชื่อทนายความเพื่อจัดทำบัญชีทนายความ สำหรับดำเนินการให้ความช่วยเหลือของกองทุนฯ ซึ่งมีผลให้การดำเนินการช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรมในการจัดหาทนายความให้กับผู้ขอรับความช่วยเหลือ ต้องเป็นทนายความซึ่งได้ขึ้นบัญชีไว้กับสำนักงานกองทุนยุติธรรมแล้วเท่านั้น และแม้ข้อ 27 ตามระเบียบคณะกรรมการฯ ดังกล่าวจะระบุว่า “…ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น ผู้ขอรับความช่วยเหลือจะเสนอทนายความที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งก็ได้ แม้ทนายความผู้นั้นจะไม่ได้ขึ้นบัญชีไว้กับกองทุนก็ตาม ทนายความดังกล่าวได้รับค่าจ้างเช่นเดียวกับทนายความที่ขึ้นบัญชีกับกองทุน…”

นั่นหมายความว่าโดยหลักแล้วกองทุนยุติธรรมจะมีทนายความที่ขึ้นบัญชีไว้ และเมื่อผู้ขอรับความช่วยเหลือได้รับอนุมัติความช่วยเหลือ ทางกองทุนฯ จะพิจารณาจัดหาทนายความที่มีชื่อในบัญชีก่อน หากผู้ขอรับความช่วยเหลือต้องการทนายความที่อยู่นอกเหนือจากบัญชีกองทุนยุติธรรม ต้องเป็นในกรณีที่คณะอนุกรรมการพิจารณาเห็นว่ามีเหตุจำเป็น จึงจะแต่งตั้งเป็นการเฉพาะรายกรณีไป ซึ่งหากคณะอนุกรรมการไม่เห็นถึงเหตุจำเป็นและผู้ขอรับความช่วยเหลือต้องการทนายความที่ไม่ได้ขึ้นบัญชีไว้กับกองทุนยุติธรรม ผู้ขอรับความช่วยเหลือต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนทนายความเอง

 

สิทธิการมีทนายความตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558 ในทางปฏิบัติ

ในทางปฏิบัติพบว่าสิทธิการเลือกทนายความของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม กรณีเมื่อไม่ใช่ทนายความที่ขึ้นบัญชีไว้กับสำนักงานกองทุนยุติธรรมแล้ว การได้รับค่าจ้างของทนายความเป็นไปได้ยาก ทิตศาสตร์ สุดแสน จากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ทนายความผู้ให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่กลุ่มชาวบ้านที่ต้องถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการออกมาคัดค้านโครงการที่จะมีผลกระทบต่อทรัพยากระรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวรชุมชน ในฐานะผู้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ได้ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ”คดีเดินเทใจให้เทพา (อ่านคดีเดินเทใจให้เทพาได้ที่นี้ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/810) “พวกเรา (ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน) ได้ให้ความช่วยเหลือทางคดีกับกลุ่มชาวบ้าน และขอใช้สิทธิขอรับค่าทนายความจากกองทุนยุติธรรม แต่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสงขลา บอกว่าพวกเราเป็นทนายความที่ให้ความช่วยเหลือทางคดีอยู่แล้ว หรือมีกรณีลูกความคดีของเขาสุ่มเสี่ยงที่จะถูกจำคุกหรือถูกปรับ เขาก็เลือกทนายที่อื่นที่ไม่ใช่ทนายความที่ขึ้นบัญชีไว้กับสำนักงานกองทุนยุติธรรม พอเลือกทนายที่อื่นก็ไม่สามารถเบิกเงินจากกองทุนยุติธรรมได้ เนื่องจากไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนยุติธรรม แม้จริงๆ แล้ว ระเบียบของกองทุนยุติธรรมจะระบุว่าคุณสามารถเอาทนายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้ได้จริง ซึ่งโดยหลักการจำเลยควรมีสิทธิที่จะเลือกทนายความได้

จากบทสะท้อนดังกล่าวทำให้เห็นว่า ข้อ 27 ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี พ.ศ. 2559  ซึ่งกล่าวถึงกรณีที่มีเหตุจำเป็นอาจใช้ทนายความนอกเหนือจากที่ขึ้นบัญชีไว้กับกองทุนยุติธรรมได้นั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้

 

สิทธิในการเลือกทนายความคือกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 68 ระบุไว้ว่า รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร และรัฐพึงมีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใด ๆ รัฐพึงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมแก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมตลอดถึงการจัดหาทนายความให้

จากกรณีในทางปฏิบัติที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ในฐานะผู้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ไม่สามารถเลือกทนายความ หรือเมื่อใช้ทนายความที่ตนเลือกมาเองแล้วไม่สามารถที่จะรับค่าจ้างจากกองทุนยุติธรรมได้ เนื่องจากผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ในฐานะผู้ขอรับความช่วยเหลือต้องใช้ทนายความที่ขึ้นบัญชีไว้กับสำนักงานกองทุนยุติธรรม ทั้งนี้มีข้อสังเกตุว่าในคดีที่กลุ่มชาวบ้านผู้ขอรับความช่วยเหลือต้องถูกดำเนินคดีนั้น มีต้นเหตุการกระทำมาจากการใช้สิทธิในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนรวม หากทนายความที่ไม่ได้ยึดโยงหรือมีความเข้าใจต่อประเด็นนี้โดยตรง คิดว่าเป็นคดีอาญาทั่วไป อาจมีการเสนอให้ยอมรับสารภาพเพื่อให้โทษลดลง แต่กรณีดังกล่าวมูลเหตุของเรื่องเป็นการใช้สิทธิในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีการดำเนินการเพื่อยืนยันสิทธิดังกล่าวต่อไป เมื่อเป็นลักษณะคดีดังกล่าวทนายความทั่วไป อาจไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องที่กลุ่มชาวบ้านกำลังต่อสู้อยู่ จึงอาจทำให้กลุ่มชาวบ้านผู้ขอรับความช่วยเหลือ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริงได้

ดังนั้นคณะอนุกรรมการจึงควรอย่างยิ่งที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมสามารถมีสิทธิที่จะเลือกทนายความและทนายความผู้นั้นที่ผู้ขอรับความช่วยเหลือเลือกมา สามารถที่จะเบิกค่าใช้จ่ายกับกองทุนยุติธรรมได้ โดยควรมีการทบทวนการดำเนินการช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรมในการจัดหาทนายความให้กับผู้ขอรับความช่วยเหลือ ว่าไม่จำเป็นต้องพิจารณาจากทนายความที่ขึ้นบัญชีไว้กับกองทุนยุติธรรม ควรเป็นสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะสามารถเลือกทนายความในการดำเนินคดีช่วยตนได้ ทั้งนี้เพื่อให้หลักการที่ระบุในระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี พ.ศ. 2559  ข้อ 27 สามารถบังคับใช้ได้จริง และกองทุนยุติธรรมสามารถอำนวยความยุติธรรม ตลอดจนถึงสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นโดยมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร